Electoralism

6 มกราคม 2014


โตมร ศุขปรีชา

1

สำหรับผม ศัพท์น่าสนใจในตอนนี้คือคำว่า Electoralism

คำคำนี้เป็นศัพท์ที่ เทอร์รี คาร์ล ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากสแตนฟอร์ด บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์แปลกๆ ในบางสังคม ที่กำลังจะมีการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากระบอบ ‘อำนาจนิยม’ (Authoritarian) เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

แต่ปัญหาก็คือ สังคมที่เคยชินกับ ‘อำนาจนิยม’ มายาวนานนั้น มักเป็นสังคมที่คุ้นชินกับการ ‘ค้อมหัว’ ให้กับอำนาจใหญ่ๆ ในสังคม ผลก็คือ เมื่อจะเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นไปโดยผ่านการ ‘สั่ง’ หรือ ‘บงการ’ ของอำนาจใหญ่ๆ ในสังคมด้วยเช่นกัน

แต่ลักษณะเช่นที่ว่านี้ มันขัดแย้งกับความเป็น ‘เสรีประชาธิปไตย’ ที่พึงเป็น ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ว่า ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง แต่จะเป็นประชาธิปไตยได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ และมีโอกาสอย่างยิ่งที่ประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ ที่ได้มานั้น จะถูก ‘ริบคืน’ ไปโดยอำนาจบางอย่างเสมอ

ที่มาภาพ : http://static.cdn.thairath.co.th
ที่มาภาพ : http://static.cdn.thairath.co.th

ผมคิดว่า Electoralism นั้น ปรากฏให้เห็นชัดเจนในกรณีของประเทศไทย ผ่านรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2540 ที่บัญญัติไว้ว่าให้การเลือกตั้งเป็น ‘หน้าที่’ ไม่ใช่แค่ ‘สิทธิ’ เพราะการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ย่อมแปลว่าการเลือกตั้งก็เหมือนการเกณฑ์ทหาร เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยที่ ‘เข้าเกณฑ์’ (เช่น อายุถึง) จะต้องไป ‘ทำหน้าที่’ นั้นกันทุกคนไป ถ้าไม่ไปจะต้องได้รับโทษ แต่ก็ยังดีที่โทษหนีเลือกตั้งนั้นไม่รุนแรงเท่าโทษหนีทหาร มิฉะนั้นก็คงเป็นภาวะประหลาดอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าที่เราต้อง ‘บังคับ’ หรือ ‘โบยตี’ ประชาชนให้ไปเลือกตั้งโดยการกำหนดให้เป็นหน้าที่นั้น เข้าข่าย Electoralism ไม่น้อย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้าปี 2540 (หรือก่อนหน้าพฤษภาทมิฬปี 2535) นั้น คนไทยไม่ค่อยไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะรณรงค์กันขนาดไหนก็ตาม ผมจำได้ว่าการเลือกตั้งบางครั้งมีตัวเลขผู้ใช้สิทธิแค่ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ หรืออย่างมากก็สักสามสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้เกิดความ ‘อับอายขายหน้า’ ในความเป็น ‘รัฐประชาธิปไตย’ กันอย่างยิ่ง

เข้าใจว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 น่าจะมีการถกเถียงเรื่องจะให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิหรือเป็นหน้าที่กันมาก แต่ที่สุดแล้วผลที่ออกมาก็คือการกำหนดว่าการเลือกตั้งคือ ‘หน้าที่’ ซึ่งผมคิดว่าไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจากเป็นเพราะรัฐไทยนั้น ‘เคยชิน’ กับการใช้อำนาจแบบ ‘อำนาจนิยม’

ในช่วงแรกๆ อาจจะพยายามรณรงค์ด้วยวิธีการต่างๆ ให้คนไปเลือกตั้งในฐานะการไป ‘ใช้สิทธิ’ แต่เมื่อรณรงค์แล้วไม่ได้ผล เหมือนครูผู้ปกครองหรือพ่อแม่โอ้โลมปฏิโลมลูกแล้วยังไม่ทำตาม ก็เห็นจะต้องใช้ไม้เรียวบังคับ ด้วยการเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็น ‘สิทธิ’ ให้กลายเป็น ‘หน้าที่’ ซึ่งก็คือการใช้ ‘อำนาจนิยม’ เพื่อขู่เข็ญให้สังคมกลายเป็น ‘ประชาธิปไตย’

สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้แลดูย้อนแย้งยุ่งเหยิงแย้งเย้ยเยาะหยันอย่างไรก็ไม่ทราบ!

ประชาธิปไตยไทยที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นในรัฐธรรมนูญด้วยแนวคิดแบบ Electoralism นั้นสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอย่างไร สังคมไทยของเราก็คุ้นชินอยู่กับ ‘อำนาจนิยม’ ซึ่งก็คือ ‘ระบบอุปถัมภ์’ บางอย่างมาโดยตลอด เหมือนนกที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรง พอเปิดกรงแล้วแทนที่จะบินออกไปเอง ก็ต้องใช้กำลังบังคับขับไสให้นกบินออกไป แต่พอบินออกไปจากกรงหนึ่ง ด้วยความคุ้นชิน ที่สุดแล้วนกตัวนั้นก็บินไปลงเอยในอีกกรงหนึ่งอยู่ดีนั่นแหละครับ

ในการเมืองไทยก็เช่นกัน พอหลุดจากอำนาจนิยมที่อยู่ใต้ท็อปบูตของทหาร (ดังที่คุ้นชินกันมาหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคจอมพลทั้งหลายมาจนถึงยุคพลเอก คุ้นชินกับการปฏิวัติรัฐประหารจนเห็นเป็นของธรรมดาที่น่าสนุก ซึ่งจะอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ ‘แบบไหน’ หรืออยู่ ‘ใต้ใคร’ ก็เป็นเรื่องที่ไปถกเถียงกันต่อได้นะครับ) สังคมไทยก็ถูกผลักเข้าสู่การเลือกตั้งแบบ ‘บังคับเลือกตั้ง’ (Compulsory Election) ผลก็คือ เราเหมือนนกที่ถูกถีบออกจากกรงหนึ่ง แล้วโผผินเข้าสู่อีกกรงหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดมากๆ ก็คือกรงของประชานิยม

ต้องบอกกันก่อนนะครับว่าประชานิยมไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีของมันก็มี ตัวอย่างเช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้น ใครก็ต้องยอมรับว่าดี หรือนโยบายโอท็อป-ผมก็ว่าดีมาก เพราะช่วยให้ชนบทกลับมา ‘มีเรี่ยวแรง’ อีกครั้งหนึ่ง เป็นการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม ถึงเลือดถึงเนื้อ ถึงเศรษฐกิจ ไม่ใช่โยนอำนาจลอยๆ ไปให้เฉยๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีเส้นบางๆ ของการ ‘ฉวยใช้’ ประชานิยมเพื่อหาคะแนนเสียงโดยไม่ได้คิดถึงความเป็นไปได้หรือเหมาะสม เช่น นโยบายรถคันแรกหรือนโยบายจำนำข้าวด้วย

แต่จะอย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า สังคมไทยนั้นไม่เคย ‘หลุด’ หรือ ‘ข้ามพ้น’ ออกมาจาก ‘ระบอบอำนาจนิยม’ เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิยมแบบไหนก็ตาม นั่นเป็นเหตุผลที่เรามัก ‘มอบอำนาจ’ ให้กับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างถวายหัว จากนั้นก็สามารถ ‘เหยียด’ คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับตัวเองได้อย่างอัศจรรย์พันลึก

บอกตรงๆ นะครับ ผมคิดว่า ‘ระบอบทักษิณ’ (ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่พูดคำนี้จะมี ‘ความหมาย’ ตรงกันทุกคนไปหรือเปล่า) ถือกำเนิดขึ้นมาได้เพราะความชาญฉลาดในการหาช่องทางที่เป็นประโยชน์จาก Electoralism ที่มีพื้นฐานตรงความคุ้นชินกับระบอบอำนาจนิยมของสังคมไทยนี่แหละครับ ครั้นเมื่อระบอบทักษิณสามารถสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นอีก ‘กรง’ หนึ่งได้โดยผ่านหน้ากากของความเป็นประชาธิปไตย (พูดแบบนี้ไม่น่าจะผิดเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อดูจากการลักหลับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) อำนาจนิยมเก่าของสังคมก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องยื่นมือเข้ามา ‘จัดการ’ ทำอะไรสักอย่างอีกรอบหนึ่ง โดยกล่าวว่าเป็นการช่วยให้สังคมไทยรอดพ้นจากเงื้อมมือของระบอบทักษิณ

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยครับ ที่คนที่มีอำนาจนำเดิมในสังคมจะลุกขึ้นมาบอกว่า ‘ทุกคน’ ไม่ควรไปเลือกตั้ง แต่ควรจะสถาปนาการปฏิรูปเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพราะกลุ่มอำนาจเดิมในสังคมเคยเป็นผู้ ‘มอบ’ อำนาจในการเลือกตั้ง (ผ่านการ ‘บังคับเลือกตั้ง’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจนั้น) มาก่อนแล้ว เมื่อให้ได้ก็ริบคืนได้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรทั้งสิ้น เพราะทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็คือการพยายามรักษา Status Quo ของตัวเอง รักษาอำนาจเอาไว้ในกลุ่มของตนเอง เช่น ใช้วิธี Exclude หรือกีดกันคนที่ตนเห็นว่าโง่ ไร้การศึกษา เป็นคนชนบท ฯลฯ (โดยเห็นว่าคนเหล่านี้คือฐานเสียงของอีกฝ่าย) ออกจากการเลือกตั้ง หรือทำให้คนบางคนมีสิทธิในการเลือกตั้งมากหรือน้อยกว่าคนอื่น

แต่ที่อยากชวนกระตุกขากันคิดแรงๆ ก็คือ เฮ้ย! คนไทยไม่ได้มี ‘สิทธิ’ ในการเลือกตั้งมาสิบกว่าปีแล้วนะครับ (ถ้านับจากรัฐธรรมนูญปี 2540) สิ่งที่เรามีคือ ‘หน้าที่’ ที่เกิดจากการเฆี่ยนแส้บังคับของสำนึกอำนาจนิยมต่างหาก!

ในเวลาเดียวกัน คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ลิ้มรสอำนาจใหม่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วสองสามครั้ง ก็อยากรักษาการเลือกตั้งนั้นเอาไว้ให้ ‘เหมือนเดิม’ โดยไม่ต้องมีการ ‘ปฏิรูป’ อะไร ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งคือเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการรักษา Status Quo (ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ไม่กี่ปีนี้) ของอำนาจที่เกิดขึ้นใหม่นั่นเอง

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เรากำลังอยู่ในสังคมที่ต่างฝ่ายต่างอยากรักษา Status Quo ของตัวเองเอาไว้ โดยต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าตน ‘ชอบธรรม’ ทั้งคู่ ฝ่ายแรกที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิมนั้นคิดว่าตัวเองหวังดีต่อประเทศจริงๆ เห็นว่า ‘อำนาจ’ ควรอยู่ในมือของ ‘ปราชญ์’ หรือ ‘ผู้รู้’ (ที่ไม่รู้ว่ารู้จริงหรือมั่วนิ่ม) เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะว่าไปก็เป็นวิธีคิดเดียวกับอริสโตเติล เพราะฉะนั้น จะต้อง ‘ปฏิรูป’ ก่อนเลือกตั้งให้ได้ แต่ปัญหาของวิธีคิดนี้ก็คือ มันละเลยหลักการสำคัญข้อแรกสุดของประชาธิปไตยไป นั่นคือหลักความเสมอภาค คำถามก็คือ-แล้วเราจะเดินหน้าในแนวทางนี้ไปเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร มันเหมือนกลัดกระดุมเสื้อผิดตั้งแต่เม็ดแรก แล้วจะติดกระดุมเม็ดต่อไปให้ถูกทั้งหมดได้หรือ

ที่มาภาพ  เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ
ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ

ในเวลาเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ยึดแนวคิดที่ว่า การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย แต่กลับไม่ค่อยเห็นฝ่ายหลังเสนอแนวคิด ‘ปฏิรูป’ อะไรเลย (ถ้าพิจารณาจากการที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในแต่ละครั้ง จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีความตั้งใจในการตั้ง ‘คณะปฏิรูป’ ใดๆ ขึ้นมาเพื่อ ‘เปลี่ยนโครงสร้าง’ ของอำนาจในสังคมเลย จะมีก็ตอนหลังๆ ที่ถูกบีบเท่านั้น สิ่งที่มุ่งเน้นมากกว่าก็คือการสร้างนโยบายประชานิยมต่างๆ) จึงเห็นได้ชัดว่าหลายคนในฝ่ายนี้ (อาจไม่ใช่ทั้งหมด) ใช้การเลือกตั้งเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ในการรักษาอำนาจเท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการกลัดกระดุมเม็ดแรกถูก (พอให้เห็นว่าใส่เสื้อประชาธิปไตย) แต่เสร็จแล้วก็ปล่อยเสื้อให้ค้างๆ คาๆ เอาไว้อย่างนั้น ไม่คิดจะกลัดเม็ดต่อไป เพราะมี ‘อำนาจ’ บางอย่างมาค้ำเค้นเอาไว้ ทำให้ต้องเปลือยร่างครึ่งๆ กลางๆ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างที่ยากจะมองเห็น จึงไม่อาจใส่เสื้อประชาธิปไตยได้สำเร็จเสร็จสิ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ ที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากสำนึกอำนาจนิยม (ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน) มันก่อให้เกิดผลที่น่าขัน (และขมขื่น) อะไรขึ้นมาบ้างก็เท่านั้น

2

ที่จริงแล้ว ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ผมก็ไปเลือกตั้งของผมอยู่ดีๆ นี่แหละครับ แต่ครั้นพอเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา ผมก็เกิดอาการไม่อยากไปเลือกตั้งขึ้นมาเสียอย่างนั้น

เหตุผลเดียวเลยก็คือ รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ ‘สั่ง’ ว่าเอ็ง (ในฐานะประชาชน) ต้องไปเลือกตั้งนะ โดยการกำหนดให้การเลือกตั้งกลายเป็น ‘หน้าที่’ ไม่ใช่ ‘สิทธิ’

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้การเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ แบบเดียวกับการเกณฑ์ทหาร,

ซึ่งผมไม่เห็นด้วย!

วิธีคัดค้านรัฐธรรมนูญแบบที่ว่า เท่าที่สติปัญญาอ่อนด้อยของผมพอจะนึกออก ก็คือในเมื่อกำหนดกันมาแบบบังคับขู่เข็ญ ทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่อง ‘ภาคบังคับ’ (Compulsory) เหมือนมีครูผู้ปกครองถือไม้เรียวมาคอยกำกับลงโทษแบบนี้ ผมคงไม่หาญกล้าลุกขึ้นหักด้ามพร้าด้วยเข่า ดึงไม้เรียวครูมาหักทิ้งหรอกครับ สิ่งที่ทำได้ก็คือไม่เชื่อฟังคำสั่งนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 (รวมถึง 2550 ซึ่งก็กำหนดให้การเลือกตั้งเป็น ‘หน้าที่’ ด้วย) เป็นต้นมา ผมจึงตัดสินใจจะไม่ไปเลือกตั้ง

การไม่ไปเลือกตั้งแปลว่าผมจะเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่าง รวมถึงการลงชื่อถอดถอนบุคคลหรือเสนอกฎหมายด้วย แต่เมื่อไม่ได้เสียสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผมก็พร้อมจะยอมเสียสิทธิเหล่านั้นโดยไม่ยี่หระกับมัน ทั้งนี้ก็เพื่อ ‘ประท้วง’ ต่อต้านการกำหนดว่าการเลือกตั้งต้องเป็น ‘หน้าที่’ และได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้หลายครั้งหลายคราว เช่นเคยเขียนไว้ในหนังสือ Genderism ถึงสิทธิที่จะไม่ไปเลือกตั้ง โดยเปรียบเทียบกับสิทธิที่จะเป็นกะเทยของผู้คน และคราวอื่นๆ อีกหลายครั้ง

ผมคิดว่าการ ‘บังคับ’ ให้คนไปเลือกตั้งนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการ ‘ดูแคลน’ ประชาชนว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาปฏักไปแทงเอาขอไปสับให้คนพวกนี้ออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆ ตอนนั้นเราบอกกันว่าถ้ามีเสียงออกมาเลือกตั้งแค่ 20% ก็จะทำให้ได้นักการเมืองที่ไร้คุณภาพ ได้มาแต่นักการเมืองแย่ๆ เลวๆ แต่ถ้ามีคนออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆ นักการเมืองเลวๆ พวกนี้ก็จะไม่สามารถ ‘แจกเงิน’ ซื้อเสียงได้มากพอ เป็นการเอา ‘น้ำดี’ มาไล่ ‘น้ำเน่า’ ออกไป เพราะฉะนั้น วิธีการที่จะทำได้ก็คือต้อง ‘บังคับ’ ให้คนออกมาเลือกตั้งกันเสียเลย

แล้วการบังคับให้คนออกมาเลือกตั้งมีข้อเสียอย่างไรหรือ-คุณอาจถาม

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกแค่คับข้องใจว่าถูกบังคับเท่านั้น แต่ในทางวิชาการแล้ว อย่างที่บอกไว้ข้างต้น, เทอร์รี คาร์ล ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากสแตนฟอร์ด เรียกลักษณะการ ‘บังคับ’ ทำนองนี้ว่า Electoralism หรือ ‘ลัทธิคลั่งเลือกตั้ง’ ซึ่งต้องขอย้ำอีกครั้งว่าปรากฏการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับสังคมที่ยัง ‘ไปไม่พ้น’ การปกครองแบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) แม้มุ่งหน้าเข้าสู่การปกครองระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ แต่ผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมอยากผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแบบที่ตัวเองต้องการขึ้นมาโดยเร่งด่วน จึง ‘บังคับ’ ให้เกิดกระบวนการต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนผ่านนั้น โดยกลุ่มผู้มีอำนาจจะคอยควบคุมตลอดทั้งกระบวนการ

เทอร์รี คาร์ล บอกว่า วิธีการแบบนี้ ที่สุดแล้วจะทำให้กระบวนการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ นั้นล้มเหลว ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปจนเกิดสถาบัน ‘เสรีประชาธิปไตย’ ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ เพราะมันถูก ‘บังคับ’ มาตั้งแต่ต้นแล้ว แล้วมันจะเข้าสู่สภาวะที่เป็น ‘เสรีนิยม’ ได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ Electoralism จึงขัดแย้งกับ Liberal Democracy แบบถึงแก่น!

เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่อยากร่วมอยู่ในกระบวนการน่าเวทนานี้ เพราะไม่อยากเป็นลูกแกะเซื่องๆ ที่ยอมให้ ‘อำนาจนิยม’ เป็นผู้ ‘บงการ’ ว่าทุกคนต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับกระบวนการนี้

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมไม่ไปเลือกตั้ง,

จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ถึงตรงนี้ คุณก็อาจถามขึ้นมาอีกว่า แล้วทำไมผมถึงไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้วเล่า,

ก่อนอื่น ต้องบอกกันเสียก่อนว่า-ผมไม่ได้ไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้วตามที่รัฐธรรมนูญสั่ง ผมไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้วด้วยสำนึกว่าตัวเองไปใช้สิทธิ ไม่ได้ไปทำหน้าที่ และดังนั้น ผมจึงจำเป็นต้องประกาศให้ ‘รัฐ’ ทราบว่าผมไม่ได้มาเพราะมีปฏักที่ไหนเสียบติดหลังหรือมีใครเอาแส้เอาไม้เรียวมาเฆี่ยนให้มา, ด้วยการ ‘เขียน’ ลงไปในบัตรว่าผมมาใช้สิทธิ ไม่ได้มาทำหน้าที่ ซึ่งก็มีผลทำให้บัตรนั้นเป็นบัตรเสียไปในบัดดลในสายตาของรัฐ-แต่ไม่ใช่ในสายตาของผม!

ส่วนเหตุผลที่ผมไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว ก็เพราะผมเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้น สาระโดยแก่นของมันมีอะไร ‘สำคัญ’ กว่า Electoralism ที่ถูกกำหนดโดยอำนาจนิยมแบบเก่า เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมเชื่อว่าผู้คนไม่ได้ออกมาเลือกตั้งเพราะถูก ‘บังคับ’ โดยรัฐธรรมนูญมากเท่าอยากออกมา ‘แสดงความเห็น’ ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต และผลการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีคนออกมา ‘ทำหน้าที่’ (น่าเสียดายที่ไม่ใช่การ ‘ใช้สิทธิ’) มากมายเป็นประวัติการณ์จนน่าจะสมเจตนารมณ์ของการ ‘บังคับเลือกตั้ง’ (จนน่าจะเลิก ‘บังคับเลือกตั้ง’ ด้วยการกำหนดให้เป็นหน้าที่ได้แล้ว)

แล้วถ้ามีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ผมจะไปเลือกตั้งหรือเปล่า คุณอาจอยากถาม

คำตอบง่ายๆ ตรงนี้ก็คือ กับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคงต้อง ‘จำใจ’ ไปเลือกตั้งอีกที แม้ว่ารัฐธรรมนูญยังมีลักษณะอำนาจนิยมค้ำคอประชาชนให้ไปเลือกตั้งอยู่ แต่การไปเลือกตั้งครั้งนี้คือการ ‘ปฏิเสธ’ อำนาจนิยมอีกแบบหนึ่ง คืออำนาจนิยมของการ ‘สั่ง’ ว่าไม่ให้ไปเลือกตั้งด้วยวิธีการต่างๆ แต่แน่นอน ผมก็จะยังไปเลือกตั้งด้วยการเขียนแจ้งแก่ ‘รัฐ’ อยู่ดีนั่นแหละครับ ว่าผมไม่ได้มาทำหน้าที่, ทว่ามาใช้สิทธิ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกด้วยนะครับว่า การเลือกตั้งไม่ได้มีรูปแบบเดียว ประเทศประชาธิปไตยไหนๆ ในโลก ต่างก็คิดค้น ‘วิธีเลือกตั้ง’ ของตัวเองขึ้นมาให้เหมาะสมกับประเทศตัวเองกันทั้งนั้น ที่เขาต้องคิดค้นวิธีเลือกตั้งขึ้นมา ก็เพราะแต่ละประเทศมี ‘ปัญหา’ ไม่เหมือนกันไงครับ เพราะฉะนั้น ในเวลาเดียวกับที่ผมไม่เห็นด้วยกับคนที่บอกว่าประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะ ต้องการการปกครองในแบบของตัวเอง (ซึ่งมีนัยซ่อนเร้นว่าไม่เอาประชาธิปไตย) ผมก็ไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการบางคนที่ค่อนขอดคนกลุ่มแรก และบอกว่าประชาธิปไตยมีความเป็นสากล ประเทศไทยสามารถมีประชาธิปไตยได้เหมือนสากลโลกด้วย เพราะเอาเข้าจริง ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลยในรายละเอียด แม้หลักการร่วมพื้นฐานจะเหมือนกัน นั่นก็คือการได้ ‘ออกเสียง’ อย่างเสมอภาคก็ตามที

ดังนั้น-แค่เลือกตั้งอย่างเดียว, จึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสภาวะประชาธิปไตยขึ้นหรอกนะครับ

สิ่งสำคัญกว่า คือการสร้างระบบที่มีการ ‘คานอำนาจ’ กันต่างหากเล่า!

3

หากคุณจำกันได้ ผมคิดว่าสิ่งแรกๆ ที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยก็คือ ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่มีการ ‘คานอำนาจ’ ซึ่งกันและกัน

คุณครูเคยสอนมาตั้งแต่เรียนประถม ว่าประชาธิปไตยนั้นมีสามฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ (คือฝ่ายออกกฎหมาย) และฝ่ายตุลาการ ที่ต้องออกแบบให้มีถึงสามฝ่าย ก็เพื่อเอาไว้ ‘คานอำนาจ’ กัน ไม่ให้ฝ่ายไหนมีอำนาจมากกว่าฝ่ายไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ เกิด ‘สมดุล’ ของอำนาจ!

โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดมา เป็นเพราะเราไม่ ‘ใส่ใจ’ กับปรัชญาสำคัญนี้ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่อง ‘สมดุล’ ของอำนาจ ที่ในหลายประเทศได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ต้น ให้ ‘ผู้มีอำนาจ’ ทั้งหลายต้อง ‘คานอำนาจ’ ซึ่งกันและกัน

อย่างในอเมริกานั้นเห็นได้ชัด เพราะมีการออกแบบหลักการคานอำนาจหลายชั้นมาก ตั้งแต่การคานอำนาจกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของ ‘รัฐ’ ต่างๆ แต่ที่สำคัญก็คือ มีการออกแบบให้เกิดการคานอำนาจของ ‘ฝ่ายบริหาร’ (คือฝ่ายประธานาธิบดี) กับ ‘ฝ่ายนิติบัญญัติ’ (ซึ่งก็คือสภาคองเกรส) อย่างที่เราเพิ่งเห็นเมื่อเดือนสองเดือนก่อน ตอนที่เกิดการ Shut Down หน่วยงานของรัฐบาลกลางเพราะเกิดความขัดแย้งใหญ่ระหว่างประธานาธิบดีกับสภาคองเกรสขึ้น

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสเป็นพรรคที่อยู่คนละขั้วกับประธานาธิบดี ประธานาธิบดีโอบามามาจากพรรคเดโมแครต เสียงข้างมากในสภาคองเกรสเป็นรีพับลิกัน แต่จริงๆ แล้ว-ถ้าดูประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เราจะเห็นว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปหรอกนะครับ มีไม่น้อยอยู่เหมือนกันที่ประธานาธิบดีกับเสียงข้างมากในสภาคองเกรสมาจากพรรคเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ภาพที่เกิดขึ้นนี้ช่างแตกต่างเป็นตรงข้ามกับภาพของสังคมการเมืองไทย ที่หัวหน้าฝ่ายบริหารสามารถมีอิทธิพลกับหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติได้ราวกับว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเป็นฝ่ายเดียวกัน!

ที่มาภาพ : http://static.cdn.thairath.co.th
ที่มาภาพ : http://static.cdn.thairath.co.th

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ ในสหรัฐอเมริกานั้น มีการ ‘ออกแบบ’ ระบบทั้งหมดให้สามารถเกิดการ ‘คานอำนาจ’ ขึ้นมาได้ จึงไม่เกิดวงจรอุบาทว์ประเภท ‘สภาสั่งได้’ ขึ้นมา กุญแจสำคัญอยู่ที่การเลือกตั้ง ซึ่งมีการ ‘เหลื่อมเวลา’ กันในหลายระดับ เช่น ประธานาธิบดีมีการเลือกตั้งแยกขาดออกไปทุก 4 ปี สภาชิกสภาล่างดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี ส่วนวุฒิสมาชิก (ที่ก็มาจากการเลือกตั้ง) ดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี ผลก็คือเกิดการ ‘สุ่ม’ (Randomize) พอสมควร ว่าในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งนั้นๆ ความนิยมของพรรคไหนมีมากกว่า พรรคนั้นก็จะได้ครองอำนาจของส่วนนั้นๆ ไป โดยยังไปขึ้นอยู่กับความนิยมในท้องถิ่นต่างๆ ที่กว้างใหญ่ไพศาลอีกด้วย เพราะฉะนั้น ระบบ ‘คานอำนาจ’ ของอเมริกาจึงได้ผลพอสมควร

การคานอำนาจในอังกฤษโดยใช้ ‘สภาขุนนาง’ ยิ่งน่าสนใจ เพราะถ้าเราเปรียบเทียบวุฒิสภาของเรากับสภาขุนนางแล้ว จะเห็นสภาขุนนางของอังกฤษนั้นมี ‘อภิสิทธิ์’ เสียยิ่งกว่าวุฒิสมาชิกแบบคัดสรร เพราะสภาขุนนางของอังกฤษนั้นมีประเภทที่เรียกว่าเป็น Life Peers คือได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี แล้วอยู่กันไปตลอดชีพ โดยสมาชิกสภาขุนนางประเภทนี้มีมากที่สุดเสียด้วย

ฟังดูแล้วเหมือนปกครองกันแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลยใช่ไหมครับ แต่ไม่ใช่หรอกครับ เพราะยิ่งสภาสูงมีสัดส่วนของการ ‘แต่งตั้ง’ มากเท่าไหร่ ก็ได้รับการ ‘ออกแบบ’ ให้ยิ่งมีอำนาจน้อยลงเท่านั้น เช่น ไม่มีอำนาจในการปลดฝ่ายบริหาร แม้กระทั่งวุฒิสมาชิกของอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังไม่มีอำนาจในการปลดประธานาธิบดีเลยนะครับ ฝ่ายที่มีอำนาจปลดประธานาธิบดี (อย่างที่เรียกว่า Impeachment) คือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

สภาในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น เป็นระบบที่เรียกว่าสองสภา (Bicameralism) ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าประยุกต์มาจากปรัชญาของอริสโตเติล ที่มีความเห็นว่าเสียงของคนทั่วๆ ไปนั้น แม้จะสำคัญ แต่ก็ต้องการการ ‘คานอำนาจ’ จากกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็น ‘อภิชน’ คือคนที่มีความรู้หรือมีคุณธรรมบางอย่างเหนือกว่าคนทั่วไป ซึ่งต้องยอมรับนะครับ ว่าคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆ นั้น ส่วนใหญ่ต้องทำมาหากินกันเป็นหลัก จึงไม่มีเวลาไปศึกษาเรื่องเฉพาะบางเรื่องที่ละเอียดซับซ้อน เช่น เรื่องทฤษฎีการปกครอง ปรัชญาการเมือง ฯลฯ เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ‘ปวงประชามหาชน’ จะ ‘เลือกผิด’ คือเลือกเอาคนที่เป็น ‘นักหลอกลวงปวงประชามหาชน’ (อย่างที่เรียกว่า Demagogue) เข้าไป ไม่ว่าจะเพราะชอบใจเรื่องชาติตระกูลอันสูงส่ง ชอบใจนโยบายประชานิยม หรือชอบใจในบุคลิกลักษณะของคนคนนั้นก็ตามที แล้วเราก็ไม่มีวันรู้ได้แน่ชัดหรอกครับ ว่าคนคนนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือต้องออกแบบระบบให้เกิดการคานอำนาจขึ้นมา

สภาสูงจึงถือกำเนิดขึ้นด้วยแนวคิดทางปรัชญาของการเป็น ‘สภาแบบอภิชนาธิปไตย’ หรือสภาของเสียงข้างน้อยที่ถือว่าตัวเองมีความรู้หรือคุณธรรม (หรืออะไรเจ๋งๆ ก็ว่ากันไป) เพื่อคอย ‘คานอำนาจ’ ในกรณีที่เห็นว่าคนที่ปวงประชามหาชนเลือกมานั้นทำอะไรผิดพลาด โดย ‘อำนาจในการคาน’ นั้น ก็ต้องได้รับการออกแบบให้ ‘พอเหมาะ’ (ในที่นี้คือ ‘น้อย’ กว่าอำนาจของเสียงส่วนใหญ่) กับสังคมนั้นๆ

แต่นอกจากระบบสองสภาแล้ว ยังเคยมีระบบ ‘สามสภา’ (Tricameral Parliament หรือ Tricameralism) ที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงปี 1983-1994 อีกด้วย

เป็นที่รู้กันนะครับ ว่าแอฟริกาใต้นั้นมีปัญหาการกีดกันและเหยียดสีผิวรุนแรงมาก ถึงขั้นเป็นนโยบายที่เรียกว่า Apartheid เลยทีเดียว ดังนั้น ‘สภา’ ในแอฟริกาใต้ยุคนั้นจึงแบ่งออกเป็นสามสภา ได้แก่ House of Assembly ซึ่งเป็นสภาของคนขาว, House of Representatives สภาของคนผิวสีและเชื้อชาติผสม (คือผสมระหว่างคนผิวสีกับคนขาว ซึ่งมีประเด็นเรื่องเพศปน เพราะคนเหล่านี้มักมีพ่อเป็นผิวขาว แม่เป็นผิวสี-เรียกว่า Afrikaan) และ House of Delegates ซึ่งเป็นชาวเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย (เข้าใจว่าน่าจะมีรากมาจากการต่อสู้ของคานธี ซึ่งเคยไปอยู่ในแอฟริกาใต้ระยะหนึ่ง ก่อนกลับไปต่อสู้ในอินเดีย)

เหตุผลที่แอฟริกาใต้ต้องมีสามสภาก็เพราะผู้คน ‘เหยียด’ และ ‘รังเกียจ’ กันผ่านสีผิว จึงไม่สามารถมาร่วมอยู่ในสภาเดียวกันได้ คนแต่ละกลุ่มจึงต้องมีสภาของตัวเองเพื่อเลือกคนมาปกครองดูแลกันเองในเรื่องที่เรียกว่า Own Affairs คือเรื่องของแต่ละกลุ่มที่ไม่ใหญ่นัก แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ เช่น การป้องกันประเทศ การเงิน การค้า กฎหมาย จะเรียกว่า General Affairs ที่แต่ละสภาต้องส่งคนมาตกลงร่วมกัน ถ้าสามสภาขัดแย้งกัน เรื่องถึงจะขึ้นไปถึง ‘สภาประธานาธิบดี’ ที่มีคนของแต่ละสภาส่งเข้าไปผสมกับคนของประธานาธิบดี เพื่อตัดสินความขัดแย้ง ส่วนประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกของกลุ่มคนที่เรียกว่า Electoral College อันเป็นกลุ่มคนที่แต่ละสภาส่งตัวแทนมา

อย่างไรก็ตาม ระบบสามสภานี้ไม่ยืนยาวนัก เพราะในปี 1994 เมื่อผู้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าการแบ่งแยกกันด้วยสีผิว ด้วยการ ‘เหยียด’ กันนั้น-เป็นเรื่องไร้สาระแค่ไหน (อันเป็นผลจากการต่อสู้ของเนลสัน แมนเดลา ด้วย) ในที่สุดจึงเกิดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดสภาที่ไม่แบ่งแยกสีผิวขึ้นมา แต่อย่างน้อยที่สุด ระบบสามสภานี้ก็แสดงให้เห็นความพยายามในการ ‘คานอำนาจ’ ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอย่างมาก

ทุกวันนี้ เรามักเรียกร้องให้ ‘คนทั่วไป’ ต้องหมั่น ‘ตรวจสอบ’ ทั้งฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้าม แต่การตรวจสอบโดยปราศจากอำนาจแห่งการตรวจสอบนั้นมักให้ผลที่เปล่าประโยชน์ เช่น รวบรวมรายชื่อได้ห้าหมื่นคน จะตรวจสอบบุคคลหรือเสนอกฎหมาย แต่กว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นก็กินเวลาเนิ่นนานจนบางครั้งล้าสมัยไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดความไม่พอใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา จึงต้อง ‘สร้างอำนาจ’ ขึ้นมาด้วยการสร้างม็อบ หรือการเรียกร้องรัฐประหาร หรือการบุกไปยึดที่โน่นที่นี่ ทั้งนี้ก็เพื่ออำนาจต่อรองเพื่อจะได้ ‘คาน’ กันได้

แต่เรากลับไม่เคยคิดที่จะสร้าง ‘ระบบ’ ที่ก่อให้เกิดการ ‘คานอำนาจ’ โดยอยู่ในตัวระบบ

การเมืองไทยนั้นได้รับการออกแบบมาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีลักษณะ Electoralism ไม่น้อย (แต่ที่ย้อนแย้งมากก็คือ-ถือกันว่านี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ประชาชน’ ที่สุดเท่าที่เคยมีมา!) เพราะนอกจากจะ ‘บังคับ’ คนให้ไปเลือกตั้งเหมือนไปเกณฑ์ทหารแล้ว ยังพยายามใช้หลักการ ‘นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง’ แต่ไม่ไว้วางใจประชาชนเต็มที่ จึงออกแบบให้ ‘ผูก’ นายกรัฐมนตรีเอาไว้กับสภา(ซึ่งบ่งเป็นนัยว่า-รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ใจนักการเมืองมากกว่าประชาชน เหตุผลอาจเป็นเพราะคนร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายคือนักการเมืองหรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองก็เป็นได้!)

ผลก็คือ เหมือนเอาดินน้ำมันไปปั้นฝ่ายบริหารให้เป็นก้อนเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ทั้งสองฝ่ายนี้ไม่มีการ ‘คานอำนาจ’ กันเลย!

ในเมื่อสังคมไทยของเราได้ดำเนินมาถึงจุดนี้ จุดที่เปราะบางและพร้อมแตกหักเป็น Failed State ผมจึงอยากชวนเรามา ‘ออกแบบ’ ระบบการคานอำนาจใหม่ที่ทำให้เกิดสมดุลของอำนาจขึ้นมาได้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี แต่รวมไปถึงการออกแบบสภาฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยต้องให้ความสำคัญกับทั้งอำนาจของประชาชนคนทั่วไป ซึ่งแบ่งออกเป็นเสียงส่วนใหญ่ เสียงก้ำกึ่ง เสียงส่วนน้อย เสียงสวิงโหวต รวมถึงอำนาจของอภิชน (ที่ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงและไม่ควรละเลยหรือเกลียดชัง แต่ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์) โดยให้อำนาจต่างๆ เหล่านี้มีการคานกันจนเกิด ‘สมดุลของอำนาจ’ อย่างแท้จริง

ตอนนี้เราอยู่ในระบบที่บิดเบี้ยว และใช้อาวุธคือการ ‘เกลียด’ และ ‘เหยียด’ กันเข้าห้ำหั่น แต่เราไม่อาจแยกประเทศหรือแบ่งเชื้อชาติกันได้ง่ายๆ เรายังต้องอยู่ร่วมกัน เราจึงต้องคิดจริงจังว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้ ‘นับรวม’ (Include) ผู้คนที่คิด ทำ และเชื่อต่างจากเราเข้ามาอยู่ในสมการของเราด้วย

อย่ากลัวการเลือกตั้ง เพราะการแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมนั้นไม่ใช่ทำได้โดยการหยุดเลือกตั้ง แต่ควรทำโดยการเลือกตั้งให้เข้มข้นและบ่อยครั้งมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อคืน ‘สิทธิ’ ในการเลือกให้กับประชาชน โดยไม่ต้องกลัวว่าคนจะเบื่อหน่ายการเมืองจนต้องบังคับโบยตีให้เป็น ‘หน้าที่’ โดยเฉพาะในสภาวะที่ทุกฝ่ายพูดกันว่า ประชาชนได้ ‘ตื่นตัว’ ทางการเมืองขึ้นมาแล้วอย่างนี้ จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะสลัดแอกของ ‘อำนาจนิยม’ ทิ้งไป (ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิยมแบบไหน-โดยใคร, ก็ตาม) แล้วลุกยืนขึ้นมาเป็น ‘ประชาชน’ บนขาของตัวเอง

การตื่นตัวทางการเมืองนั้นมีหลายระดับ แต่ที่ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอก็คือ-เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว เรามักไม่ได้ตื่นเต็มตัวในทันที บางคนก็ตื่นขึ้นมาอยู่ในความฝันของตัวเองด้วยซ้ำ เราจึงต้องพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นตลอดเวลา เลิกงัวเงียกับการถูกชี้นำ (ไม่ว่าจะโดยใคร) แล้วหันมาศึกษาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง พร้อมกับทำความเข้าใจคนที่เป็นอื่นไปจากความเชื่อของเราให้ถ่องแท้ด้วย

นั่นจึงจะเป็นภูมิคุ้มกันอำนาจนิยมและภาพลวงตาของ Electoralism ได้!