ThaiPublica > คอลัมน์ > หนี้สาธารณะกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หนี้สาธารณะกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

13 พฤษภาคม 2013


ภาวิน ศิริประภานุกูล

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สท์ (University of Massachusetts Amherst) ชื่อ Thomas Herndon ได้ร่วมเขียนงานกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันอีกสองท่าน คือ Michael Ash และ Robert Pollin โดยงานดังกล่าวมีต้นทางมาจากการพยายามผลิตซ้ำผลงานเขียนอันโด่งดังของ Carmen M. Reinhart และ Kenneth S. Rogoff ในปี ค.ศ. 2010 แต่กลับกลายเป็นว่าได้พบข้อผิดพลาดสำคัญที่เกิดขึ้นกับงานเขียนชิ้นนี้

ในช่วงนี้ นักศึกษาคนดังกล่าวมีชื่อเสียงโด่งดังในอเมริกาไปแล้วครับ เนื่องจากการค้นพบข้อผิดพลาดดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารฐานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน และเนื่องจากบทความของผมสองชิ้นก่อนหน้ามีส่วนเกี่ยวข้องในทางอ้อมกับงานเขียนของ Reinhart และ Rogoff ชิ้นดังกล่าวนี้ ในบทความนี้ผมจึงนำเอาข้อผิดพลาดที่ได้ค้นพบกันมาบอกต่อ โดยที่จะมีข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องมานำเสนอพร้อมกันด้วยครับ

1. งานเขียนของ Reinhart และ Rogoff ในปี ค.ศ. 2010

ผมจะขอเริ่มต้นจากงานเขียนของ Reinhart และ Rogoff ซึ่งมีการพบข้อผิดพลาดดังกล่าวนะครับ โดยงานเขียนชิ้นนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับหนี้สาธารณะกับอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศ โดยข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนของข้อมูลประเทศพัฒนาแล้ว 20 ประเทศ ในช่วงปี ค.ศ. 1946–2009 (แต่ละประเทศมีข้อมูลราว 60–64 ปี)

Reinhart และ Rogoff ได้แบ่งข้อมูลประเทศกลุ่มนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่มีระดับหนี้สาธารณะต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของ GDP 2) กลุ่มที่มีหนี้ในระดับ 30–60 เปอร์เซ็นต์ของ GDP 3) กลุ่มที่มีหนี้ระดับ 60–90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และ 4) กลุ่มที่มีหนี้เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยการแบ่งกลุ่มจะจัดแบ่งข้อมูลของแต่ละประเทศในแต่ละปีออกจากกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจมี 37 ปีที่มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 30–60 เปอร์เซ็นต์ และอาจมี 4 ปีที่มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีจะถูกแยกลงไปในแต่ละกลุ่มข้างต้น

ผลลัพธ์สำคัญที่ Reinhart และ Rogoff สรุปออกมา นั่นคือ กลุ่มประเทศในช่วงปีที่มีระดับหนี้สาธารณะเกินกว่าราว 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP จะมีค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตลดต่ำลงหลายเปอร์เซ็นต์ โดยจากการคำนวณของ Reinhart และ Rogoff อัตราการเติบโตเฉลี่ยจะลดลงจากระดับ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีของกลุ่มประเทศในช่วงปีที่มีหนี้ 60–90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไปสู่ระดับ –0.1 เปอร์เซ็นต์ (ระบบเศรษฐกิจหดตัวเล็กน้อย) ในกรณีของกลุ่มประเทศในช่วงปีที่มีหนี้เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

Thomas Herndon ที่มาภาพ : http://chronicle.com
Thomas Herndon ที่มาภาพ : http://chronicle.com

2. งานเขียนของ Herndon, Ash และ Pollin

Thomas Herndon ได้ขอข้อมูลของ Reinhart และ Rogoff มาทำการผลิตซ้ำ เพื่อหาช่องทางต่อยอดงานศึกษาชิ้นดังกล่าวในอนาคต และได้พบกับข้อผิดพลาดสำคัญในงานเขียนชิ้นที่เราพูดถึงกันนี้ครับ โดยในงานศึกษาที่นักศึกษาคนนี้เขียนขึ้นกับอาจารย์ Ash และ Pollin มีชื่อว่า Does High Public Debt Consistently Stifle Economic Growth? A Critique of Reinhart and Rogoff ซึ่งผมจะขอเรียกงานเขียนชิ้นนี้ว่า HAP เพื่อประหยัดพื้นที่นะครับ

HAP กล่าวถึงข้อผิดพลาดของ Reinhart และ Rogoff เอาไว้ 3 ประการ โดยในส่วนความผิดพลาดที่ไม่ได้ครอบคลุมประเทศทั้งหมดเอาไว้ในการคำนวณอาจจะไม่กระทบกับผลลัพธ์ของงานศึกษามากนัก ในขณะที่อีก 2 ประเด็นที่เหลือส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของงานศึกษาเป็นอย่างมากครับ

ข้อผิดพลาดประเด็นถัดมาอยู่ที่การละเลยข้อมูลบางช่วงปีของประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ และข้อมูลของประเทศนิวซีแลนด์นี้สำคัญมากครับ เพราะส่วนที่ขาดหายไปเป็นช่วงที่นิวซีแลนด์มีระดับหนี้สาธารณะสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในขณะที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงราว 7.7–11.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ถึง 3 ปี

ในขณะที่ข้อมูลประเทศนิวซีแลนด์ที่ Reinhart และ Rogoff นำไปคำนวณ กลับมีช่วงปีที่มีระดับหนี้สาธารณะอยู่สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP อยู่แค่เพียงปีเดียว โดยที่อัตราการเติบโตในตอนนั้นอยู่ที่ระดับ –7.6 เปอร์เซ็นต์ (หดตัวในระดับสูง) ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่า Reinhart และ Rogoff จงใจละเลยข้อมูลของประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงพร้อมๆ กับมีอัตราการเติบโตของประเทศในระดับสูงออกไป

นอกจากนั้น HAP ยังได้กล่าวถึงวิธีการให้น้ำหนักแปลกๆ ของ Reinhart และ Rogoff ซึ่งแทนที่จะนำเอาข้อมูลของแต่ละประเทศในแต่ละปี ที่อยู่ในแต่ละระดับหนี้สาธารณะข้างต้นไปหารเฉลี่ยกันตามปกติ แต่กลับนำข้อมูลของแต่ละประเทศไปหารเฉลี่ยกันก่อน แล้วจึงค่อยนำเอาข้อมูลค่าเฉลี่ยของแต่ละประเทศมาหารเฉลี่ยกันอีกที

ยกตัวอย่างเช่น มีข้อมูลของประเทศกรีซจำนวน 19 ปีที่ตกอยู่ในกลุ่มระดับหนี้สาธารณะเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีข้อมูลประเทศนิวซีแลนด์เพียงแค่ 1 ปีที่ตกอยู่ในกลุ่มดังกล่าว แทนที่ข้อมูล 20 ข้อมูลจะถูกนำไปคำนวณค่าเฉลี่ยลักษณะปกติ แต่ Reinhart และ Rogoff กลับเลือกที่จะหาค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของกรีซในช่วง 19 ปีนั้นก่อน ก่อนที่จะนำไปหาค่าเฉลี่ยระหว่างประเทศกรีซกับประเทศนิวซีแลนด์อีกครั้งหนึ่ง

นั่นทำให้อัตราการหดตัวของนิวซีแลนด์ที่ระดับ –7.6 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลต่อค่าเฉลี่ยการเติบโตของกลุ่มประเทศในช่วงเวลาที่มีระดับหนี้สาธารณะเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็นอย่างมาก และข้อผิดพลาดสองประการหลังที่เรากล่าวถึงกันนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งส่งผลให้ Reinhart และ Rogoff คำนวณค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในช่วงเวลาที่มีระดับหนี้สาธารณะเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ออกมาเป็นค่าติดลบ (ที่ระดับ –0.1 เปอร์เซ็นต์ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น)

ภายหลังจากการแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวถึงไปนั้น HAP สามารถคำนวณอัตราการเติบโตเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในช่วงปีที่มีระดับหนี้สาธารณะเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP อยู่ที่ระดับ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแตกต่างจากที่ Reinhart และ Rogoff ได้รายงานเอาไว้อยู่พอสมควร ในขณะที่อัตราการเติบโตดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มประเทศในช่วงปีที่มีระดับหนี้สาธารณะอยู่ในช่วง 60–90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (อัตราการเติบโตที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์) อย่างมีนัยสำคัญ

3. ประเด็นต่อเนื่อง

การค้นพบข้อผิดพลาดดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อการถกเถียงเชิงนโยบายในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปในปัจจุบันในวงกว้าง เนื่องจากมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าระดับหนี้สาธารณะของหลายประเทศในกลุ่มนี้ใกล้เคียงกับเพดาน 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่บางประเทศในยุโรปมีระดับหนี้ทะลุเพดานดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วครับ

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ ในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ประเทศต่างๆ จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับเพดานหนี้สาธารณะที่ระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP นี้หรือไม่ และควรให้น้ำหนักความสำคัญมากขนาดไหน การค้นพบข้อผิดพลาดในงานของ Reinhart และ Rogoff อาจหมายความว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ อาจไม่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับเพดานหนี้สาธารณะดังกล่าวมากนักก็เป็นได้

บทความของ Betsey Stevenson และ Justin Wolfers อาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ในเว็บไซต์ Bloomberg ที่มีชื่อว่า Refereeing Reinhart-Rogoff Debate ได้แสดงข้อมูลภายหลังการปรับแก้ข้อผิดพลาดทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลดังกล่าวได้ถูกแสดงเอาไว้ในภาพที่ 1 ของบทความนี้ครับ

จะเห็นได้ว่า กลุ่มกราฟแท่งที่ 3 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ภายหลังการปรับแก้ข้อผิดพลาดของ HAP มีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มกราฟที่ 1 ซึ่งรายงานเอาไว้ในงานของ Reinhart และ Rogoff พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มประเทศในช่วงปีที่มีระดับหนี้สาธารณะเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แต่ดูเหมือนว่าข้อสรุปต่างๆ ในงานศึกษาของ Reinhart และ Rogoff จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักครับ เรายังคงสังเกตเห็นการปรับตัวลดลงของอัตราการเติบโตของระบบเศรษฐกิจภายหลังระดับหนี้สาธารณะของประเทศปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ถึงแม้ว่าการปรับตัวลดลงดังกล่าวจะไม่รุนแรงดังที่ได้แสดงเอาไว้ในงานของ Reinhart และ Rogoff

ที่มา: http://www.bloomberg.com/news/2013-04-28/refereeing-the-reinhart-rogoff-debate.html
ที่มา: http://www.bloomberg.com/news/2013-04-28/refereeing-the-reinhart-rogoff-debate.html

นอกจากนั้น ข้อผิดพลาดดังกล่าวยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อสรุปในส่วนอื่นๆ ของงาน เช่น โอกาสที่เพิ่มมากขึ้นต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจภายหลังจากระดับหนี้สาธารณะปรับตัวสูงมากขึ้น หรือแม้แต่ข้อสรุปในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังคงแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของระดับหนี้สาธารณะพร้อมๆ กันกับการปรับลดลงของอัตราการเติบโตของประเทศอย่างชัดเจน

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผมยังคงคิดว่าข้อผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้แสดงนัยว่าเราควรจะละเลยวินัยทางการคลังของประเทศแต่ประการใดครับ บทเรียนจากหลายประเทศทั่วโลกยังคงใกล้เคียงกับข้อสรุปเดิม และการป้องกันตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าการตามมาแก้ไขในภายหลัง ซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาลเป็นอย่างมากครับ