ThaiPublica > เกาะกระแส > Thai PBO วิเคราะห์ผลกระทบทางการคลัง กรณีโครงการ “รถยนต์คันแรก”

Thai PBO วิเคราะห์ผลกระทบทางการคลัง กรณีโครงการ “รถยนต์คันแรก”

11 พฤษภาคม 2014


ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

นักวิชาการโครงการ Thai PBO เผยตัวอย่างผลวิเคราะห์ทางการคลังของนโยบายรถยนต์คันแรก ชี้รายจ่ายมากกว่ารายรับ เก็บภาษีเพิ่มได้เพียง 5.4 หมื่นล้านบาท แต่งบคืนภาษี 8.2 หมื่นล้าน ขาดทุนราว 2.8 หมื่นล้าน ระบุเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีนี้ แต่ผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ได้วิเคราะห์

นโยบายประชานิยมอย่างโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนมหาศาล ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่าโครงการประชานิยมอื่นๆ จะมีผลกระทบหรือลงเอยอย่างโครงการจำนำข้าวหรือไม่ โจทย์คือ ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะจัดการกับนโยบายประชานิยมที่มีต้นทุนสูงเหล่านี้กับสังคมได้อย่างไร และหากมีสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา (Thai PBO) เข้ามาช่วยวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง เสริมสร้างวินัยทางการคลังของการพิจารณาในระบบรัฐสภา จะสามารถถ่วงดุลการทำงานโดยเฉพาะด้านการคลังนโยบายประชานิยมได้มากน้อยแค่ไหน

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล นักวิชาการ โครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา หรือ Thai PBO  ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ
ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล นักวิชาการ โครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา หรือ Thai PBO ที่มาภาพ: ทีดีอาร์ไอ

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล นักวิชาการ โครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา หรือ Thai PBO เปิดเผยถึงตัวอย่างการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังของนโยบายรถยนต์คันแรก โดยระบุว่า เป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมจากคนไทยจำนวนมาก ดูจากยอดผู้ร่วมโครงการสูงถึง 1.25 ล้านคน และจะสร้างผลกระทบต่อรายรับรายจ่ายงบประมาณของรัฐบาลค่อนข้างสูง ซึ่งการวิเคราะห์โครงการลักษณะนี้ถือว่าเป็นอีกหน้าที่หลักของ Thai PBO ที่จะเพิ่มข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

ในการวิเคราะห์โครงการดังกล่าว หากมองผลกระทบในเชิงทฤษฎีจะพบว่า ราคารถที่ถูกลงชั่วคราวหรือการลดราคาที่เกิดขึ้นจากการคืนภาษีในโครงการนั้น ทำให้เกิดอุปสงค์ใหม่ต่อรถ หรือก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอุปสงค์ เช่น ผู้บริโภคเร่งปรับแผนการซื้อเร็วขึ้นเพื่อให้ทันรับสิทธิ์โครงการดังกล่าว ส่งผลให้รายได้ภาษีสรรพสามิตปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าระดับปกติในช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการ แต่ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลไปถึงอนาคตที่จะทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตปรับตัวลดลงไปจากระดับปกติเช่นกัน โดยผลกระทบสุทธิที่ตามมาอาจรวมถึงผลกระทบต่อเนื่องไปยังเงินได้นิติบุคคลของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถ และผลกระทบต่อมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนในประเทศอีกด้วย

ในบทวิเคราะห์ของ Thai PBO ตัวแปรหลักที่นำมาใช้ในการพยากรณ์คือ ข้อมูลจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท รย. 1 หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ซึ่งมีการตอบสนองต่อโครงการรถยนต์คันแรกชัดเจนกว่ารถยนต์ประเภท รย. 3 หรือ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหรือรถกระบะ

ทั้งนี้ วิธีการประเมินของ Thai PBO แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลก่อนจะมีโครงการรถคันแรกตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปี 2554 แล้วสร้างสมการเพื่อพยากรณ์ไปในอนาคต ซึ่งค่าพยากรณ์ที่ได้จะถูกกำหนดให้เป็นค่าพยากรณ์จากพฤติกรรมปกติของการซื้อรถในอดีตซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก

ขั้นตอนที่สอง เป็นการปรับปรุงค่าพยากรณ์เพื่อให้สอดคล้องกับชุดข้อมูลแวดล้อมต่างๆ โดยข้อมูลแวดล้อมแรกจะเป็นข้อมูลจริงของรถยนต์ใหม่ที่จดทะเบียนประเภท รย. 1 ในช่วงปี 2555-2556 ข้อมูลแวดล้อมชุดที่สองเป็นข้อมูลตัวเลขของผู้ใช้สิทธิ์โครงการรถยนต์คันแรก โดยกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการรถยนต์คันแรกสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ตั้งใจจะซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว และได้รับสิทธิ์ไปด้วย 2. กลุ่มที่มีการเลื่อนซื้อรถยนต์มาจากอนาคต เพื่อรับสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาลในอนาคตมากที่สุด เนื่องจากเป็นการเลื่อนซื้อรถยนต์ ฉะนั้นพฤติกรรมในอดีตจะถูกหักลบไปจากพฤติกรรรมการเลื่อนซื้อรถของคนกลุ่มนี้ ทำให้ค่าพยากรณ์ช่วงปี 2555-2556 จะมีค่าสูงกว่าปกติ ส่วนปี 2557-2558 จะมีค่าต่ำกว่าปกติ ซึ่งพฤติกรรมการซื้อรถที่ต่ำกว่าปกติก็จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลด้วย และ 3. กลุ่มผู้ซื้อรถใหม่ที่ยังไม่มีแผนซื้อรถยนต์มาก่อน

จากการวิเคราะห์ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2555 จนกระทั่งส่งมอบต่อเนื่องในปี 2556 พบว่า จำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท รย. 1 ปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ ตัวเลขจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ปีงบประมาณ 2557 รย. 1 อยู่ที่ 690,000 คัน ปรับลดลงจากปีงบประมาณ 2556 คิดเป็น 36% ซึ่งหากนำจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ รย. 1 มาพยากรณ์เปรียบเทียบในเรื่องการจัดเก็บภาษีสรรสามิตรถยนต์ในปีงบประมาณ 2557 พบว่าจำนวนตัวเลขปรับตัวลดลงราว 7 พันล้านบาท และส่งผลต่อเนื่องไปยังปีงบประมาณ 2558 ที่การจัดเก็บภาษีจะปรับตัวลดลงจากระดับปกติอีกราว 7 พันล้านบาทเช่นเดียวกัน

ขณะที่การทดสอบการพยากรณ์การจัดเก็บภาษีในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม กลับไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งผลกระทบของโครงการนี้ต่อการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตรถยนต์ของรัฐบาลสร้างความแตกต่างจากตัวเลขประมาณการในเอกสารงบประมาณของรัฐบาลค่อนข้างชัดเจน โดยค่าพยากรณ์ของ Thai PBO มูลค่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรวม ในปีงบประมาณ 2557 ปรับเพิ่ม 3.5% เมื่อเทียบกับปี 2556 ในขณะที่ตัวเลขในเอกสารงบประมาณของรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.2%

โครงการThai PBO รถคันแรก

ดร.ภาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการคืนภาษีสรรพสามิตรถคันแรก จะขาดทุนสุทธิราว 2.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกรมสรรพสามิตจะมีรายได้จากการเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้นสุทธิเพียง 5.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่รัฐบาลยังมีรายจ่ายที่ต้องตั้งงบคืนภาษีประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการประเมินในภาพรวม Thai PBO มองว่าต้นทุนสุทธิของโครงการน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท หรืออาจจะต่ำกว่านั้นหลังจากหักผลกระทบต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประเมินผลกระทบในเชิงบวกและลบของโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในช่วงปี 2555-2557 และการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทยแต่ประการใด

นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า การวิเคราะห์โครงการรถคันแรกเป็นตัวอย่างการทำหน้าที่ของ Thai PBO ในการช่วยวิเคราะห์ ติดตาม และตรวจสอบด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง และจะทำอย่างนี้กับโครงการที่มีผลกระทบต่องบประมาณ รายรับ รายจ่าย ของรัฐบาลโครงการอื่นๆ และสื่อสารผลการวิเคราะห์ให้ประชาชนได้ทราบด้วย ซึ่งจะช่วยป้องปรามหรือทำให้เกิดการบริหารการเงินการคลังที่สมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศต่อไป