ThaiPublica > เกาะกระแส > มท.1 แจงปมถอนร่างผังเมืองรวมหวังระงับศึกภาคเกษตร-อุตสาหกรรม – 10 ปี ประกาศใช้แค่ 9 จังหวัด

มท.1 แจงปมถอนร่างผังเมืองรวมหวังระงับศึกภาคเกษตร-อุตสาหกรรม – 10 ปี ประกาศใช้แค่ 9 จังหวัด

31 พฤษภาคม 2013


"จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
“จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หลังจากคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดมาตรฐานการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานของผังเมืองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545

ทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้มอบให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทำการวางและจัดผังเมืองจำนวน 73 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2547

กระทั่งขณะนี้ ระยะเวลาได้ผ่านพ้นมาจะเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว แต่ผังเมืองรวมจังหวัดกลับมีการประกาศใช้ได้แค่เพียง 9 จังหวัด เท่านั้น!

ที่ผ่านมา ตัวแทนภาคประชาชนพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการพิจารณาผังเมืองรวมจังหวัดให้มีการประกาศใช้โดยเร็ว โดยหวังว่าผังเมืองรวมจังหวัดจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการอุด “ช่องว่าง” ในทางปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวรุกข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น

กระนั้น เมื่อการบริหารราชการแผ่นดินย้อนกลับเข้ามาสู่กลุ่มอำนาจเดิมที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยอีกครั้งหนึ่ง แนวนโยบายเรื่องผังเมืองดูเหมือนจะเปลี่ยนไป อันมีสาเหตุมาจากจากข่าวการถอนร่างผังเมืองรวมจังหวัดกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ในเรื่องนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ถึงการคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการผังเมืองเห็นชอบให้มีการทบทวนร่างผังเมืองรวมจังหวัด โดยนายจารุพงศ์ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่ามีการร้องเรียนทั้งจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการทบทวนใหม่ อย่างกรณีการเคลื่อนไหวของประชาชนในภาคตะวันออกว่า ภาคเกษตรในจังหวัดทางภาคตะวันออกบอกว่าเขาได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ขยะ สารพิษ ทำให้การประกอบอาชีพทั้งประมง หรือการเพาะปลูกได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีสารพิษปนเปื้อนในน้ำ จึงมีการเรียกร้องมาให้มีการกำหนดผังเมืองให้ดี

นายจารุพงศ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมองได้ 2 มุม คือ ในส่วนของภาคเกษตร มีคนประกอบอาชีพนี้จำนวนมาก และใช้พื้นที่ในการผลิตเยอะ แต่ผลิตออกมาแล้วส่งขายมีรายได้เข้าประเทศแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ที่ดินน้อยเพียง 100-200 ไร่ แรงงานในการผลิตก็น้อย แต่เวลาผลิตสินค้าออกมาในเวลา 59 วินาที สามารถซื้อรถคันยนต์ได้คันหนึ่งในราคาล้านกว่าบาท เพราะฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมก็บอกว่าจะไม่สนับสนุนเขาได้อย่างไร เพราะเมื่อเขาลงทุนก็และจะมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก นี่คือที่มาว่าทำไมต้องทำผังเมืองรวม เพราะต้องการให้สองฝ่ายนี้มาอยู่ด้วยกันและเข้าใจกันได้

“เกษตรเขาก็บอกว่า ถ้าคุณประกาศไม่ชัดผมอยู่ตรงนี้ผมก็เดือดร้อน แต่พอประกาศปุ๊บชาวบ้านบอกว่าอยู่มาชั่วนาตาปีเป็นภาคเกษตรแล้วจะมาประกาศเป็นอุตสาหกรรมทับได้อย่างไร ฉันไม่ยอม แต่จะบอกทางภาคอุตสาหกรรมให้เลิก ก็จะเลิกได้อย่างไรเพราะพื้นที่ตรงนี้เขาบอกให้ตั้งโรงงานได้ เลยไปซื้อที่แถวระยองมาพันไร่ ลงทุนไปกี่หมื่นล้านล่ะ เพื่อที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ขึ้นมา แล้วอยู่ๆ จะมาถอนได้อย่างไร เพราะลงทุนไปเยอะแล้ว” นายจารุพงศ์กล่าว

นายจารุพงศ์กล่าวว่าอย่างในกรณีของแคทเธอร์พิลล่าร์ ซึ่งจะมาตั้งโรงงานการผลิตที่ จ.ระยอง ได้ซื้อที่ดินไว้จำนวน 200 ไร่ มูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท ตอนซื้อบอกว่าสามารถทำอุตสาหกรรมได้ แต่พอเวลาซื้อที่ดินไปแล้วผังเมืองก็กลายเป็นสีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) แล้ว และไม่สามารถทำอุตสาหกรรมได้แล้ว เขาก็ตาย เขาก็ไม่ยอม อันนี้คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นสาเหตุที่มีการถอนผังเมืองรวมจังหวัดที่จะมีการประกาศออกไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ควรจะมีการเยียวยาภาคเกษตรที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า ก็ใช่ ทุกคนพูดได้ทั้งนั้นแหละ แต่ตนยังไม่สามารถตอบได้ เพราะอุตสาหกรรมเองบอกว่าเขาทำถูก ส่วนเกษตรบอกว่าอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียมา เถียงกันไม่จบ ในขณะเดียวกัน ถ้าบอกไปว่าทำตามเกษตรก็แล้วกันเพราะเขาคนเยอะ อุตสาหกรรมบอกว่าเกษตรคนเยอะก็จริง แต่อุตสาหกรรมทำเม็ดเงินให้กับรัฐบาลมากกว่า

“หากทุกคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ โดยนิคมอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้ารู้ว่ามีสารพิษอยู่ก็ต้องทำให้ถูกต้องก่อนจะปล่อยน้ำออกไป เรื่องมันก็ไม่เกิด แต่วันนี้เรื่องเกิด ปลาตาย ที่ตรงนี้มีสารพิษ แต่ของใครบ้างไม่รู้ มันเลยเป็นปัญหาที่ต้องดูแลควบคุม และนี่คือปัญหาของผังเมืองรวม และการประกาศเขตต่างๆ ซึ่งพอเวลาจะดำเนินการจริงๆ ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะทุกอย่างจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล แต่ละกลุ่ม แต่ละอาชีพ ซึ่งมีความขัดแย้งในตัวมันเองอยู่เสมอ นี่คือความยาก ข้าราชการเองก็เหนื่อยใจตรงนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระบุ

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ขั้นตอนการพิจารณาผังเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น เพราะขณะนี้สามารถประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดเพียง 9 จังหวัด เท่านั้น นายจารุพงศ์กล่าวว่า มันเร็วไม่ได้ เพราะคุยกับชุมชนอย่างหนึ่ง ภาคเกษตรอย่างหนึ่ง ท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง แต่ละมุมจะมาทำพร้อมกันได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ผังเมืองมีน้อย อย่างที่ จ.ภูเก็ต มีเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดแค่ 6-7 คน แล้วจะให้มันทำอย่างไร

เมื่อถามว่าในส่วนนโยบายผังเมืองของประเทศจะมีความชัดเจนเร็วขึ้นได้หรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า นโยบายของประเทศก็ทำเร็วไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน ถามมหาดไทยทำอย่างไร บอกอยากจะจ้างคนอีก 500 คนก็ทำไม่ได้อีก เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องยังไม่ตกผลึก และพูดไปแล้วก็แก้ไม่ตก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการดำเนินการวางผังจังหวัด 74 จังหวัด (ยกเว้น จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และ กทม.) นั้น มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดในราชกิจจานุเบกษาเพียง 9 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต สิงห์บุรี สระบุรี เชียงใหม่ นครนายก ยโสธร ปราจีนบุรี ราชบุรี และฉะเชิงเทรา

ขณะที่ผังเมืองรวมจังหวัดที่ขอถอนร่างกฎกระทรวงเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยคณะกรรมการผังเมืองเห็นชอบแล้วจำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ตาก นครราชสีมา ลพบุรี ชัยนาท ชลบุรี ปัตตานี ลำพูน ศรีสะเกษ สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี โดยในจำนวนนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการถอนร่างผังเมืองรวมจังหวัดเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเพียง 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ตาก นครราชสีมา ลพบุรี