ThaiPublica > เกาะกระแส > TDRI แนะบูรณาการร่วมกับชุมชนลดข้อขัดแย้งจัดระเบียบผังเมือง

TDRI แนะบูรณาการร่วมกับชุมชนลดข้อขัดแย้งจัดระเบียบผังเมือง

16 สิงหาคม 2015


การพัฒนาเมืองด้วยการวางผังเมืองในระดับต่างๆ ของจังหวัดให้สามารถรองรับกับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเชื่อว่า ผังเมืองคือจุดเริ่มต้นและเป็นตัวแปรสำคัญของการจัดแบ่งโซนสำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินให้เป็นสัดส่วนอย่างลงตัวที่สุด แต่ที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ ผลกระทบจากช่องว่างผังเมืองทยอยหมดอายุ

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานทีดีอาร์ไอ ที่มาภาพ : http://tdri.or.th/
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานทีดีอาร์ไอ ที่มาภาพ : http://tdri.or.th/

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำผังเมือง ผังภาคและอนุภูมิภาคว่า ผังเมืองจะทำหน้าที่ควบคุมการใช้ที่ดินให้เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องของกายภาพของจังหวัดหรือชุมชนนั้นๆ และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการออกแบบเมืองในอนาคต ปัจจุบันระบบผังเมืองรวมในประเทศเริ่มทยอยเข้าสู่การหมดอายุ ไปแล้วราว 44 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากผังเมืองหมดอายุจะกลายเป็นสุญญากาศและขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการควบคุมการใช้ที่ดินนั้นๆ โดยกฎหมายได้กำหนดให้แต่ละผังเมืองมีอายุบังคับใช้ 5 ปี ต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง

ทั้งนี้ การจัดทำผังเมืองแต่ละครั้งเปรียบเสมือนการหยิบจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นมาวางเรียงอย่างเป็นระบบ ภายใต้การเชื่อมโยงข้อมูลจากผังเดิมในอดีตมาเป็นแนวทางในการวางแผนบูรณาการสู่การพัฒนาผังเมืองในอนาคต จากองค์ประกอบทางกายภาพ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ความยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือกระทบต่อพื้นที่โดยรวมของภูมิศาสตร์ชุมชนหรือไม่ เพื่อความสมดุลของพื้นที่ 2. อัตลักษณ์ของชุมชน หรือการมองถึงรากเหง้าหรือวัฒนธรรมทางสังคมของชุมชน และ 3. การเชื่อมโยง โดยต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับผังเมืองในอดีต เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของผังเมืองในอนาคต

ดังนั้น บทบาทของนักวิชาการในการจัดทำผังเมืองต้องกำหนดขอบเขตการทำงานด้วยการวิเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาพื้นที่เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่และจุดยืนการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ แล้วนำมา ศึกษาและวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน ภายใต้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และแผนที่ แผนผัง จากนั้นจึงมีการศึกษาการบูรณาการร่วมกันกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับใหญ่จนถึงระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองหรือชุมชนนั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นำไปสู่การจัดแบ่งโซนการปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โซนอุตสาหกรรม โซนเกษตรกรรม และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกแบบผังเมืองรวมของประเทศ

ดร.ยงยุทธ ยังกล่าวอีกว่า แม้ว่าปัญหาการออกแบบจัดทำผังเมืองรวมแต่ละพื้นที่ที่พบเจอมากที่สุดที่ผ่านมาคือ มักมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในที่ดินนั้นๆ รวมถึงปัญหาการออกผังเมืองรวมใหม่ไม่ทันกำหนดตามระยะเวลาที่กฎหมายบังคับ หลังจากผังเมืองเก่าหมดอายุ ทำให้เกิดช่องว่างและมีการรุกล้ำหรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไร้ทิศทาง ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของเมืองที่ไร้สมดุล ซึ่งทางออกในเรื่องดังกล่าวสามารถยุติลงได้หากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ สามารถปรับปรุงผังเมืองให้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การเสนอให้ผังเมืองเป็นผังที่ไม่มีกำหนดการหมดอายุปัญหาที่จะตามมาคือความไม่ทันสมัยของข้อมูล ที่นำมาปรับปรุงหรือจัดทำผังเมืองนั่นเอง โดยจะส่งผลกับการพัฒนาระบบผังเมืองใหม่ในรุ่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจัดทำผังเมืองแต่ละครั้ง นอกจากภาครัฐและนักวิชาการจะต้องศึกษาบูรณาการร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ตัวแปรสำคัญของการจัดวางผังเมืองอีกอย่างคือการให้ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบ จะทำให้การจัดทำผังเมืองเป็นเรื่องที่ลงตัวเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้นำชุมชนแต่ละแห่งจะมีความรู้ในบริบทของชุมชนตัวเองมากกว่าคนนอก รวมถึงการจัดโซนนิ่งของอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยจะทำให้ผังเมืองมีทิศทางการจัดบริการสาธารณะ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการทำได้สะดวกรวดเร็ว ไม่กระจัดกระจายและไม่ส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อมและภาพรวมในระยะยาว