“ท่านจะเป็นคนที่อยู่คอนโดหรืออยู่บ้าน ถ้าท่านอยู่คอนโด ท่านทำกับข้าวกินเองหรือเปล่า ถ้าท่านจะซื้อกินทุกมื้อประเทศไทยเราจะเอาแบบนั้นหรือ เราก็ต้องทำกับข้าว แต่ถามว่า ถ้ามีห้องครัวในบ้าน ทำอย่างไรห้องครัวสมัยใหม่ถึงจะไม่มีกลิ่นรบกวนห้องนอน มันก็ทำได้ แต่บอกว่าไม่เอาห้องครัวเลย แล้วชีวิตคนเรา เศรษฐกิจประเทศเรา จะพึ่งพาประเทศอื่นหรือ อันนี้ก็เป็นคำถามนะ”
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ที่ได้กลิ่นอายการริเริ่มโครงการ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ในปี 2525 ได้วางบทบาทให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นแหล่ง “อุตสาหกรรมหลัก” ทั้งโรงแยกก๊าซ ปิโตรเคมี โซดาแอช เหล็ก และปุ๋ยเคมี
รวมไปถึงการมีท่าเรือน้ำลึกที่ติดกับเขตอุตสาหกรรม เพื่อให้การขนถ่ายสินค้าเป็นไปด้วยความสะดวก
ประกอบกับมีการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ จึงทำให้”มาบตาพุด”ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน
พื้นที่มาบตาพุดจึงมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมก็มีมากมาย
เมื่อมาตรฐานการกำกับดูแลที่หย่อนยาน จึงนำไปสู่ปัญหามลพิษทั้งด้านเสียง กลิ่น อากาศ น้ำ
เมื่อมี “โจกท์” ก็ต้องมี “จำเลย”
จำเลยที่หนึ่งของปมปัญหานี้ หนีไม่พ้นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะผู้ควบคุมดูแลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. เปิดห้องทำงานเพื่อตอบคำถามกับ “ไทยพับลิก้า” ดังต่อไปนี้
ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่เป็นจำเลยของสังคมเรื่องปัญหามลพิษของมาบตาพุด ทางกนอ.ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
ปัญหาพื้นที่มาบตาพุดเกิดจากการที่การพัฒนาอุตสาหกรรมมีการขยายตัว จาก 1 เพิ่มมาอีก 4 กลายเป็น 5 เพราะว่าพื้นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เม็ดพลาสติกจากแก๊สในอ่าวไทยขึ้นมาเป็นโรงแยกแก๊ส สกัดมาเป็นเม็ดพลาสติกขั้นต้น และต่อยอดเป็นเม็ดพลาสติกขั้นกลางและขั้นปลายที่มูลค่าเพิ่มจะสูงขึ้น การใช้ประโยชน์ก็จะหลากหลายกันไป เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมก็จะมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันชุมชน ก็มีการเจริญเติบโตมากขึ้น ต่างคนต่างโต และด้วยกระบวนการเลยมาอยู่ชิดติดกัน ซึ่งพื้นที่ในสมัยนั้นไม่มีการออกแบบแนวกันชนไว้เพื่อป้องกัน จึงเกิดผลกระทบต่อกัน ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องกลิ่น เพราะว่าสารพวกนี้เป็นสารที่จะระเหยเป็นไอได้ง่าย มีปัญหาเรื่องของสารที่ไวไฟ ติดไฟได้ง่าย อันนี้เป็นธรรมชาติของเขา เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ชิดติดกัน แน่นอนที่สุดว่าจะมีปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องความปลอดภัย ที่จะกระทบกระเทือนกัน
สิ่งที่รัฐบาลทำมาก็คือ มอบให้การนิคมดูแลในพื้นที่ที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรม ส่วนโรงงานข้างนอกก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยดูแล ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลชุมชนในพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาทางด้านชุมชน สังคม เช่น ในเรื่องของประชากรแฝง เรื่องคนที่อพยพมาทำงานก่อสร้างในพื้นที่ มีแคมป์คนงาน มีปัญหาทางด้านสังคม มีปัญหาเรื่องการใช้น้ำใช้ไฟ เลยกลายเป็นปัญหาของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นไปแบบไม่บูรณาการกับแผนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จริงๆ แล้วทั้ง 3 แผน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะต้องไปด้วยกัน
เพราะฉะนั้น การนิคมฯเลยแก้ปัญหาที่มาบตาพุดโดยใช้หลักการที่เราเรียกว่า “อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” หรือ Eco Industrial Town ที่เน้นเรื่องของการพัฒนาที่มีดุลยภาพ คือ ทุกภาคส่วนที่เข้ามาได้รับการดูแล และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานรัฐ หน่วยงานที่เป็นผู้พัฒนานิคมภาคเอกชน หน่วยงานที่เป็นโรงงาน ซึ่งก็คือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เป็นชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐส่วนกลาง มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเกี่ยวข้องอยู่หลายภาคส่วน
นอกจากเรื่องดุลยภาพแล้วยังต้องยั่งยืนอีกด้วย การพัฒนาสามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้โดยการที่จะดูแลเยียวยาซึ่งกันและกัน และทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน อยู่เย็นเป็นสุข เอื้ออาทรกัน เพราะฉะนั้น หลักการของ Eco Industrial Town ถูกใช้เป็นกลไกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และไม่ใช่เฉพาะแค่มาบตาพุด
วันนี้การนิคมฯเอาหลักการนี้มาใช้เป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร เราจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
คำว่าเป็นผู้นำก็คือ เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ใน 5 ปีแรก 15 นิคม และ 5 ปีต่อไป ทุกนิคมทั่วประเทศที่เหลือ วันนี้การนิคมฯมีอยู่ 46 นิคม เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2553 ทำมาแล้ว 3 ปี ตอนนี้เรามีนิคมที่มีแผนและดำเนินการจริงๆจังๆ อยู่ 15 นิคม แต่ไม่ใช่ว่าทำทีเดียวแล้วจบนะ คุณทำแล้วคุณต้องมอนิเตอร์ ก่อนจะทำคุณต้องไปคุยกับชุมชนก่อนว่าอะไรคือความต้องการ อะไรคือผลกระทบที่มีต่อชุมชน หยิบประเด็นมา แล้วเอามาทำเป็นแผนปฏิบัติการร่วมกันภายใต้แนวคิด 5 มิติ 22 ด้าน คือคุณสมบัติและลักษณะของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือเอาทั้งหมดมานั่งตกผลึกคุยกับชาวบ้าน ข้อไหนที่ตรงใจกับชาวบ้านที่เป็นความสำคัญอันดับแรกๆ จากนั้นหยิบมาทำเป็นแผนปฏิบัติการ มีแผนแม่บท มีแผนปฏิบัติการรายปี นี่คือสิ่งที่ทำมา วันนี้ยังทำอย่างต่อเนื่องปีละ 3 นิคม และใช้แนวคิดตัวนี้กำหนดให้นิคมใหม่เข้ามายื่นกับเรา ต้องเข้าสู่หลักเกณฑ์อันนี้หมด มีตัวชี้วัดเพิ่มเติมซึ่งกำลังทำอยู่
ถามว่าทำระดับไหนและจะสอบผ่านหรือได้คะแนนอย่างไหน นอกจากตัวชี้วัดแล้ว สิ่งที่เราจะทำต่อคือเอาหลักการจัดเกรด สามดาว สี่ดาว ห้าดาว วัตถุประสงค์มีอย่างเดียวก็คือต้องการให้ทุกคนแข่งกันทำดี เพราะว่าวันนี้เราต้องการจะสร้างความเข้าใจต่อภาพลักษณ์ใหม่ว่า นิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่พื้นที่ที่เอามาจัดสรรแข็งๆ มีโรงงานมาตั้งอยู่และจบกัน มันคือเมืองที่มีชีวิต จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่โดยรอบ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันนี้มาบตาพุดก็ทำแผนนี้มาโดยตลอด ผมเป็นรองผู้ว่าการฯที่ดูแลมาบตาพุดมาก่อนที่จะเป็นผู้ว่าการ และตั้งแต่เป็น ผอ. ที่นั่น อยู่มาบตาพุดมาทั้งหมด 7 ปี เป็นคนที่แก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติมาบตาพุดทั้งหมด สิ่งที่เน้นหลักใน Eco Town คือการลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด ขอความร่วมมือให้ทำตามที่กฎหมายกำหนด ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ รัฐบาลสมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ทำแผนปฏิบัติการลดและจัดมลพิษให้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างเช่น เรื่องอากาศ ขอให้ลดการปลดปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ให้ได้ 10-20 % ปรากฏว่าเราทำได้เกือบ 30 % พอลดได้คุณต้องคงสภาพไว้นะ ต้องมีวินัยอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาระดับ 30 ให้ได้โดยตลอด
ไทยพับลิก้า : กนอ. มีขบวนการตรวจสอบและควบคุมดูแลอย่างไรบ้าง
ผมมีศูนย์ “อีเอ็มซี สแควร์” เป็นศูนย์เฝ้าระวังอยู่ที่มาบตาพุด มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ 26 ระบบงาน เชื่อมโยงจากโรงงานต่างๆมาที่นั่น ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง
ส่วนเรื่องอากาศ เราวัดอากาศที่ปล่อง เราให้โรงงานเป็นคนติดตั้งอุปกรณ์ตามกฎหมาย เสียบที่ปากปล่อง เชื่อมสัญญาณมาที่เรา มีสัญญาณเตือน ไฟเหลือง ไฟเขียว ไฟแดง ถามว่าอุปกรณ์นี้เชื่อถือได้แค่ไหน ระเบียบราชการ กรมโรงงานกำหนดเลยว่าต้องมีการวัดปีละ 2 ครั้ง โดยหน่วยงานที่เป็น Third Party
นอกจากนี้ยังมีการวัดที่ในนิคมอีก และยังมีสถานีที่นอกรั้วนิคมอีก ทุกอย่างออนไลน์กันหมด จึงเป็นการเช็คซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังมีสถานีของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งก็เชื่อมโยงข้อมูลถึงกันหมด เพราะฉะนั้นไม่มีโอกาสที่จะทำผิดจุดหนึ่งแล้วจะเอาใบบัวไปปิดไว้ได้ ไม่มีทาง
ส่วนเรื่องน้ำ เรามีสถานีวัดน้ำในคลอง เรามีสถานทีที่วัดน้ำที่ออกจากโรงงาน เรื่องของเสียวันนี้เป็นประเด็นร้อน กำลังพูดกันถึงระบบ GPS ที่ติดตั้งในรถของบริษัทที่มาให้บริการขนขยะ กำลังมองไปไกลถึง RFID (Radio Frequency Identification) ที่ต้องเอามาคล้องติดผนึก มันเหมือนกับบัตร Easy Pass ทางด่วน สมมุติว่ารถคันนี้ใส่น้ำทิ้งที่เป็นพิษ พอผิดฝาปุ๊บก็ต้องเอาตัวนี้คล้องล็อคเข้าไป พอวิ่งผ่านด่านปั๊บจะอ่านและขึ้นโค้ดเลยว่าของเสียอันนี้ ขออนุญาตไปบำบัดที่ไหน พอถึงปลายทางก็จะมีตัวอ่านอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าดึงหลุดขาดเมื่อไหร่ก็ใช้ไม่ได้ ตอนนี้กรมโรงงานกำลังวางระบบนี้อยู่ วันนี้เอาแค่ GPS ก่อน ติดบนหลังคารถ จากจุดนี้ไปถึงจุดนี้ขนอะไร
คือ ระบบการกำจัดของเสียบ้านเรา มีการรับผิดชอบเป็นทอดๆ โรงงานที่ก่อให้เกิดของเสีย กรอกแบบฟอร์มขั้นต้น ผู้ให้บริการขนส่งแบบฟอร์มขั้นที่ 2 ผู้ให้บริหารขนส่งกรอกแบบฟอร์มขั้นที่ 3 เสร็จแล้วส่งคืนมา มันจะครอสเช็คมาที่หน่วยงานของรัฐ ทีนี้ ถ้ามีระบบ RFID จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น การมามั่วระหว่างทางจะไม่มี
ไทยพับลิก้า : ในส่วนเรื่องของขยะ มีการดูแลบริษัทที่มารับงานกำจัดขยะอย่างไรบ้าง
เรื่องของขยะ จริงๆ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานเป็นคนดูแลทั้งระบบ เรามีหน้าที่กำกับให้โรงงานจัดส่งเข้าสู่ระบบ ส่วนคนที่จะขึ้นทะเบียนในการให้บริการ การที่จะเป็นตัวบำบัดหรือจัดการคนขึ้นทะเบียนในการขนส่งกรมโรงงานเป็นคนดูแลทั้งหมด การนิคมเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกกำกับดูแล วันนี้เราได้รับเป้ามาบอกว่าโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 20 ประเภท จะต้องเข้าสู่ระบบการกรอกข้อมูลให้ครบ ของการนิคมนั้นทำครบ 100 เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อไปในวันนี้ มันไม่ค่อยแฟร์นักนะในแง่ที่ว่าเวลาถูกโจมตีจะมองว่าการนิคมฯเป็นผู้ร้าย ทั้งที่ผู้ใช้บริการจ้างคนมาบำบัด คนที่มาบำบัดก็ได้ใบอนุญาตที่ถูกต้องจากหน่วยงานของรัฐ แต่กลางทางเกิดการทุจริตกันหรือลดต้นทุนกันอย่างที่ออกข่าว แต่ว่าเขาบอกว่าขยะมาจากท่าน ทั้งที่ท่านจ่ายค่าบริการเต็มเลยนะ นี่ก็คือปัญหา เพราะฉะนั้นมันมี 3 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ต้นทาง คนขนส่ง และคนกำจัด ต้องแก้ในภาพรวมทั้งหมด คนที่เป็นต้นทางคุณต้องเข้าสู่ระบบ เปิดเผย ไม่ใช่คุณแอบเอาไปทิ้งกับพวกมูลฝอยนี่ไม่ได้นะ ซึ่งตรงนี้คุมได้ไหม คุมได้ เพราะตอนที่คุณขออนุญาตตั้งโรงงาน เราวิเคราะห์กระบวนการคุณ แล้วคุณต้องบอกว่าว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตรงนี้ กนอ. รับตรงนั้นอยู่
แต่ตรงคนที่ขนส่งนี่จะเอาอย่างไร จะเอา GPS มาติดพอไหม หรือเอา RFID มาด้วย รถทาสีส้มให้ต่างจากรถชาวบ้านได้ไหม นี่คือสิ่งที่กรมโรงงานกำลังทำอยู่ ขึ้นทะเบียนคนที่ไม่มีคุณภาพออกไป เอาเฉพาะคนที่มีคุณภาพอยู่ คนกำจัดต้องคุมมาตรฐานอยู่ ปัญหาอันหนึ่งก็คือว่า โรงงานที่ให้บริการพวกนี้มีอยู่ 3 ประเภท คือโรงงานประเภท 101 จำกัดของเสีย 105 คัดแยกและฝังกลบ 106 คือโรงงานรีไซเคิล ของเสียที่วิ่งมา 106 มันไม่สามารถรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วของเสียที่เหลือนั้นไม่ส่งกลับไปที่ 101 หรือเปล่า ต้องไปอุดรูรั่วตรงนั้น อย่างเช่น กรณีที่เกิดรูรั่วที่บางปู โรงงานที่เกิดส่วนใหญ่จะเป็น 106 คือ รีไซเคิล คัดแยก และรีไซเคิล และพอรีไซเคิลเสร็จแล้ว ส่วนที่ยังเป็น
ของเสียอยู่ไม่กำกับให้ทันหมด ระบบมันยังไม่มอนิเตอร์จนจบ ซึ่งกำลังอุดรูรั่วตรงนี้อยู่
ไทยพับลิก้า : กนอ. สามารถที่จะกดดันโรงงานได้หรือไม่ มีการลงโทษไหม
ถ้าเกิดอะไรขึ้นเจ้าของของเสียเป็นคนรับผิดชอบ คอนเซปต์ของกฎหมายเป็นแบบนั้น เจ้าของของเสียเขาอยู่กับเรา เขาวิ่งมาหาเราเอง ผมบอกว่าคุณก็ต้องเลือกคนให้บริการ อย่างเคสที่บางปูนะ เจ้าของของเสียตอนหลังต้องเอารถของบริษัทวิ่งตามรถขนของเสียว่าไปถึงปลายทางหรือเปล่า แต่มันก็แปลกๆ นะ
สิ่งที่กำลังคิดอยู่ตอนนี้ ผมอยากมีระบบกำจัดของเสียครบวงจรในนิคมของผมเอง ผมจะไม่ไปยุ่งกับโรงงานข้างนอกนะ แต่ผมจัดการได้ และผมตอบสังคมได้ นิคมทั่วประเทศ 46 แห่งรวมกันแล้วมีของเสียล้านตัน เบ็ดเสร็จผมกำจัดได้ล้านตัน ผมกำลังทำอยู่ อาจจะไม่ได้รวมอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่านิคมของเสียเลย แต่อาจจะเป็นเตาเผาอยู่นิคมนี้ ศูนย์ตรวจคัดแยกอยู่อีกนิคมหนึ่ง เพราะพวกนี้ไม่สามารถอยู่ทุกนิคมได้ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ภายใน 30 กันยายน ต้องได้กรอบแนวคิดออกมาว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร เราสำรวจของเสียมีประเภทไหนบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ กำจัดด้วยอะไร
วันนี้ก็คุยกับท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะท่านเป็นประธานบอร์ดใน กนอ. ท่านก็บอกว่า ถ้า กนอ. ทำได้ก็จะคืนอำนาจโรงงานในนิคมกลับมาให้ ผมก็บอกว่าขอเถอะ เพราะเวลาถูกด่านะผมถูกด่าเป็นจำเลยที่ 1 เลย แต่ว่าบางทีพูดไปมากก็ไม่ดี หน่วยงานรัฐด้วยกันน่ะ เราก็ไม่อยากจะไปพูดว่าไม่ใช่ผมแต่คือคุณนะ อะไรอย่างนี้มันไม่ได้ไง
ไทยพับลิก้า : มีการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบมากน้อยแค่ไหน
เราเน้นเรื่องนี้มาก เรามีหอกระจายข่าวด่วนในชุมชนที่อยู่โดยรอบ ยกตัวอย่างที่มาบตาพุด มีหอกระจายข่าวอยู่ 30 สถานี หอกระจายข่าวด่วนจะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง ชาวบ้านเกิดอะไรขึ้น วิ่งมาที่หอตัวนี้ ยกหูโทรศัพท์ มีกล้อง CCTV เห็นภาพที่ห้องศูนย์ คุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งได้เลย ขณะเดียวกัน เรามีอะไรจากส่วนกลางเราจะกระจายข่าวออกไป มีทั้งเป็นตัววิ่ง ซึ่งจะใช้กับเหตุการณ์ที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์อย่างเดียวไม่ให้ตกใจ ถ้าเหตุด่วนเหตุฉุกเฉิน เรามีการทำแผนกับชาวบ้าน ตกลงกันไว้ก่อนว่าระดับไหน จนกระทั่งช่วงสุดท้ายคือการอพยพ มีไซเรน มีอะไรต่างๆ นี่คือสิ่งที่เราวางระบบไว้ที่มาบตาพุด เรียนว่าเรากำกับโรงงานเข้มงวด มีระบบต่างๆ มีระบบส่วนกลางที่จะเฝ้าระวังตรวจสอบได้ และมีการเช็คกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ และสื่อสารกับชุมชนได้ มีธรรมาภิบาล
นอกจากทำเรื่องพวกนี้แล้ว เราจะสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับชุมชน เรามีระบบที่เรียกว่า ธงขาว ดาวเขียว ทำปีนี้มาเป็นปีที่ 6 แล้ว ทุกคนบอกว่าทำดีหมดจะเชื่อใจได้อย่างไร เราจับมือกับชุมชน แบ่งทีมกัน เยี่ยมโรงงาน แต่ขอดูหน่อยสิว่าคุณจัดการลดมลพิษและมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างไร เราใช้เกณฑ์ในการวัดอยู่ 10 กว่าข้อ คุณทำดีคุณเอาไปเลย 1 ดาวเขียว ตอนแรกตรวจกัน 3 เดือนครั้ง ถ้าคุณรักษาดาวเขียวได้ 4 ดวงตลอดทั้งปี สิ้นปีคุณมารับรางวัลธงดาวเขียว 1 อัน ซึ่งธงดาวเขียวนี้คนแจกคือประธานชุมชนมาบตาพุดและบ้านฉาง มีการนิคมฯเป็นสักขีพยาน
โอ้โห…ใหม่ๆ ก็มีผลกระทบเยอะ โรงงานบอกว่าอยู่ๆ ต้องมีแก้ผ้าแก้ผ่อน ขณะที่โรงงานที่อยู่นอกนิคมไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ทำไมอยู่ในนิคมนี่กลายเป็นเป้าใหญ่หรือ เราบอกว่าไม่ใช่ วันนี้พูดถึงเรื่องธรรมาภิบาล เปิดเผยโปร่งใส ถ้าเราไม่นำร่องใครเขาจะเชื่อถือ โรงงานก็บอกว่าทุกๆ 3 เดือน เป็นภาระนะ แป๊บๆ 3 เดือน ชุมชนเองก็บ่นว่าไม่ต้องทำมาหากินกันแล้ว 147 โรงงาน แบ่งทีมกันตรวจ แบ่งสายกัน 6 ชุด ทุกๆ 3 เดือน วนมารอบหนึ่ง แบบนี้มันก็เหนื่อย แต่ทุกคนก็ไปได้ด้วยอีก
อีกอันหนึ่งบอกว่า คำศัพท์-เทคนิคเยอะจะไปรู้ได้อย่างไร สาร VOC คืออะไร สารเคมีชาวบ้านไม่รู้หรอก ไม่เป็นไร อบรมเอาเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ความเข้าใจ วันนี้ชาวบ้านมาบตาพุดเก่ง รู้จักสาร VOC ได้กลิ่นรู้เลยว่ามาจากโรงงานไหน เพราะว่าเขามีขบวนการเขารู้ ในปีแรก 147 โรงงานได้รับรางวัลธงดาวเขียว 37 โรงงาน ปีล่าสุดขึ้นปีที่ 6 ได้รางวัล 90 กว่าโรงงาน ซึ่งผมก็ภูมิใจเพราะโตมาตามลำดับ เรื่อง”ธงดาว”เขียวถูกเอาไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ บริษัทเขาให้ความสำคัญกับเรา เขาเอาไปชักธงหน้าโรงงาน
เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ปลูกฝังและวันนี้ต่อยอดไปถึง”ดาวทอง”แล้ว คือใครทำดาวเขียวได้ 5 ปีติดกันจะได้ 1 ดาวทอง สิ่งที่โรงงานได้รับประโยชน์โดยที่เขาไม่คาดคิดก็คือว่า เขามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน เวลาเขาจะรับฟังความคิดเห็นจะขยายต่อเติมหรือสร้างใหม่ ในการทำ EIA ที่ต้องไปรับฟังความคิดเห็นนี่ ชาวบ้านถามคำถามแรกเลยคุณได้ธงขาว ดาวเขียวหรือเปล่า ซึ่งถ้าได้ ทุกอย่างจะคุยง่ายหมดเลย นี่คือธรรมมาภิบาลแบบลูกทุ่งที่เราเอาไปปฏิบัติแล้วเข้าใจกัน
ไทยพับลิก้า :ประเด็นที่ว่า กนอ. ไม่ยอมเปิดเผยว่าโรงงานใดมีสารพิษตัวไหนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตบ้าง ในส่วนนี้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร
ระบบข้อมูลเปิดเผยตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรปิดบัง นอกจากนี้แล้ว เรามีระบบหน้าจอสัมผัส สามารถกดดูได้เลย ติดตั้งที่สำนักงานนิคมมาบตาพุด โรงพยาบาลมาบตาพุด ศาลากลาง สำนักงานเทศบาลใน 4 จุด
ไทยพับลิก้า : ในนั้นบอกอะไรบ้าง
มีทุกอย่างเลย ทั้งเรื่องฐานข้อมูล สารเคมีที่ใช้ เรื่องคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำที่วัดอยู่ตอนนี้ เชื่อมโยงกันแบบออนไลน์หมดเลย ห้องปฏิบัติการเห็นอย่างไรตรงนี้ก็เห็นเหมือนกันตรงนั้นเลย ซึ่งฐานข้อมูลแบบนี้ส่งให้กระทรวงสาธารณสุข ส่งให้โรงพยาบาล และจังหวัดตลอด มันจะมีกลไกเยอะที่เข้ามาตรวจสอบ จริงๆ ไม่มีความลับอะไรเลย เปิดเผยหมดทุกอย่าง
ไทยพับลิก้า : แล้วทำไมการร้องเรียนยังคงมีอยู่
มันเป็นประเด็นที่คู่กันครับ เอาอย่างนี้ดีกว่า คือ เวลาเขาพูดก็อาจจะดูแบบทำให้ได้รับความสนใจ แต่เวลาหน่วยงานรัฐชี้แจงก็อาจจะดูน่าเบื่อ เพราะกว่าหน่วยงานรัฐจะตอบ อะไรอย่างนี้ แต่วันนี้ไม่ครับ เรามีระบบออนไลน์ เข้าเว็บดูก็ได้
ไทยพับลิก้า :ในแง่การเปิดเผยข้อมูล ทำไมยังมีคำถามว่ากนอ.ไม่โปร่งใส
การนิคมฯตอนนี้ทุกอย่างมันบูรณการหมดอยู่แล้ว ตอนนี้เราเน้นธรรมาภิบาลด้วย ทุกอย่างเปิดเผย โปร่งใสหมด ตอนนี้มาบตาพุดทำมากกว่านั้นอีก ทำเรื่องระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Recording) เหมือนบัญชีงบดุลบริษัท โรงงานท่านประกอบกิจการอย่างนี้ ท่านมีสารตั้งต้นเข้ามา 100 % ออกไปเป็นผลิตภัณฑ์ 70 อีก 30 กลายเป็นกากของเสีย เสร็จแล้วมี Third Party มารับจริงไม่จริง แล้วรับรองงบดุลท่านแต่เป็นงบดุลทางด้านมลพิษ ญี่ปุ่นเป็นคนริเริ่มตำรับนี้ เสร็จแล้วก็เปิดเผยโปร่งใส นี่คือหัวใจกำลังทำอยู่ที่มาบตาพุดทุกโรงงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นก็ทำกับเราอยู่ตอนนี้
ตอนนี้ก็นำร่องที่มาบตาพุดอยู่ แต่ยังไม่เป็นกฎหมาย เรื่องนี้มันก็ดาบสองคมนะ ถ้าเป็นคนที่อยู่ในนิคมมาบตาพุดก็จะคิดว่าอะไร เห็นผมเป็นผู้ร้าย มานำร่องกับผมทุกทีเลย เอะอะอะไรเลยก็นำร่อง อยู่นอกรั้วไม่เห็นมีใครโวยวายเลย นอกรั้วก็มีโรงงานใหญ่ๆ นะ
ไทยพับลิก้า : พูดได้ไหมว่าการลักลอบทิ้งกากของเสียหรือน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติจนทำให้เกิดปัญหาในมาบตาพุดเป็นฝีมือของโรงงานภายนอกนิคม
คือ…จะไปฟันธงแบบนั้นเดี๋ยวจะเป็นการกระเทือนน้ำใจกันเปล่าๆ เอาอย่างนี้แล้วกันครับ บทบาทของภาครัฐก็เหมือนตำรวจ บางทีมีป้องปราม ถ้าผู้ร้ายเห็นตำรวจเข้มแข็งเขาก็ไม่กล้าที่จะทำผิด ขณะเดียวกันถ้าใครทำผิดก็ต้องจับกุม ไม่สองมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ นี่คือหลักการ และข้อสำคัญคือ ตำรวจยุคใหม่ต้องเป็นตำรวจชุมชน ต้องไปคุยกับชาวบ้าน ขอแรงชาวบ้านในการเป็นหูเป็นตา เพราะฉะนั้น ในภาพรวมวันนี้ บางพื้นที่เขามีการบูรณการกันหมด ทีนี้ โรงงานที่อยู่ในนิคม จำนวนไม่เยอะ มีรั้วรอบขอบชิด ดูแลได้ การนิคมฯ รับผิดชอบ โรงงานที่อยู่ข้างนอกมีเยอะ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความเข้มแข็งของหน่วยงานท้องถิ่นประกอบกันด้วย
ไทยพับลิก้า : นอกจากการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว กนอ. ได้ดูไปถึงผลกระทบจากสารเคมีในระยะยาว เช่น ความผิดปกติของพันธุกรรมในคนมาบตาพุดจากงานวิจัยหลายชิ้นด้วยหรือไม่
อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งตอนที่เกิดเหตุการณ์แล้วเอ็นจีโอหยิบขึ้นมาเป็นประเด็น เรื่องของเรื่องก็คือ บ้านเราไม่มีการวิเคราะห์เก็บตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาชีวะเวชศาสตร์ เวลาเราไปตรวจเลือด ตรวจน้ำตาล ตรวจคอลเรสเตอรอล ปกติ แต่ไม่มีใครเก็บอะไรที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารเบนซีน เพราะฉะนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เขาบอกว่าเวลาจะวิเคราะห์ว่ามันมีเทรนด์ไหม ต้องดู 3 จุด ก็ต้อง 3 ปี ทำไปแล้วปีนี้ขึ้นปีที่ 3 แล้ว ปีที่ 1 กับ 2 ได้จุดที่ 1 กับ 2 มา อันนี้ผมยกคำพูดของกระทรวงสาธารณสุขมานะ เขาบอกว่าไม่มีนัยยะสำคัญ และไม่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารเคมีในพื้นที่เลย เพราะมีการเก็บตัวอย่างในพื้นที่มาบตาพุด เก็บตัวอย่างจากจันทบุรี ที่เป็นพื้นที่เกษตรและเปรียบเทียบดู
ไทยพับลิก้า : จากที่ได้ทำมามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
เอาภาพข้อเท็จจริงก่อนนะ เวลาเราทำอะไรต่างๆ คนที่จะมาวัดผลสุดท้ายคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำปีเผยแพร่ในเว็บไซต์ ตัวนี้จะบอกว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร น้ำ อากาศ ขยะ เป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามาบตามพุดอยู่ในเกณฑ์ที่บางตัวดีขึ้น บางตัวยังทรงๆ อยู่ แต่สิ่งที่วัดไม่ได้เลยคือเรื่อง Perception หรือ การเข้าใจว่าชุมชนเป็นอย่างไร มีการแบ่งชุมชนออกเป็น 9 โซนรอบพื้นที่ แต่โซนมีผู้ประกอบการที่รั้วติดกันและสัมพันธ์กันในเชิงของธงขาวดาวเขียวนี่ ให้ไปทำกิจกรรม CSR กับชุมชนนั้นด้วย Perception ของชุมชนก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะว่ามาบตาพุดนี่ตั้งแต่เกิดปัญหามาชุมชนอยู่ข้างเราตลอด ผมพูดอย่างนี้ด้วยความมั่นใจ คนที่ออกมาจะเป็นเอ็นจีโอหรือคนที่มาจากพื้นที่อื่น ตอนที่เดินขบวนมา ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่ใช่เพราะว่าโรงงานไปซื้อนะ แต่เขาเข้าใจเพราะอยู่ด้วยกันมานาน เขารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้น ม็อบที่มามาบตาพุด 2-3 ครั้ง คืนเดียวจอด ไม่มีคน หายไปหมด
ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่คนในพื้นที่?
ไม่ใช่ครับ..แต่อาจจะมี 2-3 คนนะที่เข้ามาร่วม เรื่องนี้เป็นเรื่องในอดีต อย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บเลย เพราะมันจบไปแล้ว วันนี้เขาไม่ได้มีอะไรในพื้นที่กับเราอีกแล้ว แต่สิ่งที่เป็น Perception ที่ผมประทับใจจากคนข้างนอก คนต่างชาติ หรือหน่วยงานภายนอก ที่เขามองว่าตอนนี้มาบตาพุด อยู่ในสถานะที่ดี เป็นที่น่าจะเอาไปทำในบริเวณอื่นๆ ของประเทศในเรื่องแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผมพาท่านรัฐมนตรีพม่า 8 คน ไปดูงาน เขามาคุยกับเราเรื่องทวาย ตอนแรกเขาบอกว่าเขาอยากดูมาบตาพุด โจทย์ที่ 1 เขาคือกรณีเกิดเหตุระเบิดตาย 11 ศพ ไปถึงปุ๊บนี่เห็นเลยเขาทำการบ้านมาอย่างดี ในกรณีบีเอสที ถามว่าเกิดอะไร ปัญหาคืออะไร ปิดจุดอ่อนอย่างไร ระบบเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมทำยังไง
เราก็พาไปชมศูนย์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอย่างไร ตอนแรกเขาจะไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเลย เราพาไปดูบีแอลซีพี ที่เป็นโรงไฟฟ้า Clean Coal หรือถ่านหินสะอาด เขาก็บอกว่าเขาต้องการอย่างนี้ ตอนบรรยายเขาก็ชอบแต่ไม่ได้บอกอะไรกับผม จากนั้นอีก 2 เดือน ผมไปประชุมที่เนปีดอ เจอรัฐมนตรีอุตสาหกรรมพม่า ท่านก็บอกว่าจำเราได้ เคยเจอที่มาบตาพุด เขาชอบมาบตาพุด อยากจะเอามาบตาพุดมาอยู่ที่ทวาย เขาพูดเชิงหลักการกว้างๆ นะ แต่มันเป็นความรู้สึกเป็นกำลังใจให้คนทำงาน หรือคนที่เขาไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลยและเขาไปดู เขาฟังข่าวด้านลบด้านบวกมา และเขาก็มีความประทับใจ โรงงานไฟฟ้าเกิดขึ้นได้นะ แต่ต้องเป็น Clean Coal เท่านั้น จากเดิมที่อะไรที่เป็นถ่านหินไม่เอาเลย
ล่าสุดมีโอกาสต้อนรับมกุฎราชกุมารเบลเยียม ท่านก็น่ารักมาก ไปชมศูนย์เฝ้าระวังท่านก็บอกว่าไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะมีระบบมอนิเตอร์ที่ทันสมัยแบบนี้ ท่านก็ให้กำลังใจ ขณะเดียวกันทีมงานเราก็ไม่ประมาท เรากำลังอยู่กับอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงทางด้านของการติดไฟ การระเบิดได้ เพราะฉะนั้น มีกระทบเยอะทำอย่างไร กายภาพ จัดพื้นที่สีเขียว แนวรั้วกันชน จัดอุปกรณ์ป้องกัน แต่ในเรื่องการบริหารจัดการมีความสำคัญนะ กับชุมชน แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของชุมชนเอง เราไปช่วยเขาทำนะ เพราะชุมชนจะขาดองค์ความรู้ เขียนแผน ซ้อมแผน วันนี้นอกจากโรงงานและนิคมมีแผนแล้ว ชุมชนก็มีแผนด้วย
ไทยพับลิก้า : แม้โรงงานจะปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ กนอ. ได้ดูเรื่องมลพิษสะสมบ้างหรือไม่
เป็นจุดหนึ่งที่เขาประเมินศักยภาพการรองรับมวลสารของพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลอยู่ ที่เรียกว่า SEA เพื่อที่จะได้เอามาเป็นเหตุเป็นผลในการที่จะวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้เวลา วันนี้การมอนิเตอร์จริงกับทางทฤษฎีที่จะคำนวณโดยใช้โมเดลนี่ผลยังไม่ตรงกัน วัดจริงยังต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้เยอะ ที่เขียนกันแทบเป็นแทบตายว่าในพื้นที่มาบตาพุด เมื่อใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ประเมินออกมาแล้วนี่ เรื่องคุณภาพอากาศ จุดที่แย่ที่สุดมันเกินกว่าค่ามาตรฐาน 3 เท่าตัว พอไปวัดจริง ไปตั้งสถานีตรงนั้น มาตรฐาน 100 วัดมา 30 แต่พวกนี้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์มีความคลาดเคลื่อนอยู่ แต่มันก็เป็นประเด็นทางวิชาการที่ต้องถกเถียงกันว่าแล้วจะเอาอย่างไร
แต่วันนี้ เท่าที่คุยกันเบื้องต้นนะ การที่จะพัฒนามันจะต้องหยุดในจุดที่จะต้องรอให้เรื่องของการบริหารจัดการให้มันลงตัวมีความเข้าใจทุกภาคส่วนก่อน ยกเครื่องการทำงานร่วมกันก่อน เพราะฉะนั้น อย่ามาพูดว่าจะขยายอะไรตอนนี้ แต่ต้องทำของที่มีอยู่ให้ดี และมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และใช้ระบบการผังเมืองเป็นตัวตั้ง ผังเมืองต้องเข้มแข็ง เพราะเวลาจะกำหนดผังเมืองต้องดูทั้งเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลทางด้านชุมชนรวมทั้งทัศนคติต่างๆ มาประกอบด้วย ซึ่งวันนี้ผังเมืองอยู่ระหว่างการทบทวน
ไทยพับลิก้า : ทาง กนอ. เห็นด้วยกับผังมาบตาพุดฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่
ผังเมือง ตอนนี้เราต้องใช้ทางด้านวิชาการเยอะๆ อย่าใช้กระแส คือ ผังเมืองต้องมีความสมดุล เศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อม แต่ถามว่าคนที่จะทำงานจริงๆ ในการตามหาจุดสมดุลนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ มันต้องค่อยๆ ดูค่อยๆ เป็นไป เอาง่ายๆ นะ สีเขียว (พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม) หมดเลยมันก็ง่ายดี แต่ถามว่า เอ๊ะ ท่านจะเป็นคนที่อยู่คอนโดหรืออยู่บ้าน ถ้าท่านอยู่คอนโด ท่านทำกับข้าวกินเองหรือเปล่า ถ้าท่านจะซื้อกินทุกมื้อ ประเทศไทยเราจะเอาแบบนั้นหรือ เราก็ต้องทำกับข้าว แต่ถามว่าถ้ามีห้องครัวในบ้านทำอย่างไร ห้องครัวสมัยใหม่ถ้าจะไม่มีให้กลิ่นรบกวนห้องนอนมันก็ทำได้ แต่บอกว่าไม่เอาห้องครัวเลย แล้วชีวิตคนเรา เศรษฐกิจประเทศเราจะพึ่งพาประเทศอื่นหรือ อันนี้ก็เป็นคำถามนะ
แต่อีกอันหนึ่งที่เขาถามกันเยอะๆ ก็คือว่า เอาแต่พอเพียงดีไหม ทำดูแลสำหรับประชาชนในพื้นที่ เช่น ที่เขาตีกันเรื่องโรงไฟฟ้าผลิตไอพีพี ชาวบ้านใช้นิดเดียวที่เหลือขายให้การไฟฟ้าต่อ อันนี้ต้องถามว่าห้องครัวของที่บ้านนอกจากทำกินภายในบ้านแล้วท่านยังทำส่งออกเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวท่านหรือเปล่า แค่กลไกที่จะเอาเงินกลับมาเลี้ยงต้องชัดเจนนะ
อย่างวันที่ 5 เมษายน เราก็เริ่มจะรู้สึกกันแล้ว แค่จะหยุดซ่อมแท่นเรายังเครียดขนาดนี้เลย บางอย่างประเทศไทยเราผลิตเองไม่ได้ เราต้องอาศัยการนำเข้า เพราะฉะนั้นไม่รู้นะ วันหนึ่งข้างหน้า ถ้ามันจำเป็นจริงๆ เราต้องยืนอยู่บนขาของเราเองหรือเปล่า เราต้องการให้ประเทศของเราเจริญเติบโตด้วย ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย สังคมมีความสุขด้วย ต้องมีจุดสมดุล และ Position ต้องชัดเจน ตรงไหนคือพื้นที่สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นห้องครัวของประเทศ พื้นที่ตรงไหนเป็นห้องนอนของประเทศ บ่อน้ำของประเทศ มันต้องเป๊ะอย่างนั้น แต่ว่าค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบร้อนเหมือนแก้รัฐธรรมนูญ (ยิ้ม)
ไทยพับลิก้า : มีการพูดถึงพื้นที่ที่ควรจะเวนคืนจากชาวบ้านเพื่อทำพื้นที่ Buffer Zone
ไม่มีเวนคืน เพียงแต่ว่ามีแนวคิด ถ้าสมมุติว่าจะต้องเป็นพื้นที่ Buffer Zone เป็นพื้นที่แนวกันชนหรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เช่น โกดัง หรือ ออฟฟิศ เขาก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เอาที่ตรงนี้มากำหนดให้ชัดเจน และทราบว่ามีการพุดคุยกันว่าทำไมไม่ให้ผู้ประกอบการเข้าไปเจรจาซื้อขายกับชาวบ้านเสีย ไม่ใช่เวนคืนที่ ถ้าเวนคืนยุ่งตายเลย
ไทยพับลิก้า : ความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหน
อืม…ถ้าถามลึกๆ เฉพาะเคสมาบตาพุดนี่ เข้าใจว่า ปตท. เขามีแนวคิดของเขาอยู่นะ เพราะตรงนั้นเป็นกลุ่มโรงงานของ ปตท. หมดเลย เขาอยากจะแก้ปัญหาระยะยาว เขาตั้งใจทำดีเพื่อชุมชนนะ เพราะจะทำด้วยความพอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องปรองดอง
ไทยพับลิก้า : อย่างในขอบเขตของการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กนอ. เอง มีขอบเขตพื้นที่ Buffer Zone เท่าไหร่
เราเรียกว่าพื้นที่แนวป้องกันตามสมัยท่านอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งแล้วแต่อุตสาหรรมว่าระยะของแนวป้องกันมีเท่าไหร่ การนิคมมาบตาพุดหรือนิคมเดิมๆ จะทำได้ยากนิดหนึ่ง ถ้าเป็นนิคมทำใหม่ง่าย ตีได้แป๊บเดียว แต่ของเราเองทำมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้ต้นไม้งาม สีเขียว ถ้าพื้นที่ไหนจำกัดต้องดูประเภทของต้นไม้ให้ดี เพราะเราต้องใช้เป็นกำแพง เราก็ยังทำอยู่และมอนิเตอร์อย่างต่อเนื่อง อยู่ในโครงการดาวเขียวด้วย
ไทยพับลิก้า : หากให้วิเคราะห์จุดอ่อนของมาบตาพุดคืออะไร
จุดอ่อนของมาบตาพุด โรงงานคุณอายุกี่ปี ใช้รถซ่อมห้างหรือซ่อมอู่ วันนี้เราจะปิดรูโหว่อย่างไร อันแรก เราจับมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ทำระบบที่เรียกว่าการตรวจประเมินโรงงานและเอามาสัมพันธ์กับการต่อใบอนุญาตวางระบบ เสร็จแล้วส่งรายงานมา ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบโดยผู้ตรวจ เหมือนกับระบบผู้ตรวจสอบบัญชี เพราะถ้าเราทำเองทุกอย่างเดี๋ยวหาว่าเราไม่โปร่งใส่อีก ตอนนี้กำลังทำอยู่
อันที่ 2 ไม่ยอมแจ้ง บางครั้ง อย่างโรงงานบีเอสที เขาไม่แจ้ง เพราะเจ้าหน้าที่ที่ต้องรายงานเสียชีวิตหมดเลย 11 คน แล้วเวลาเกิดขึ้นควันดำไปทั้งนิคม ประชาชนก็ว่าทำไมไม่บอก ก็ไม่มีสัญญาณมา กล้องซีซีทีวีหันไปจับเห็นก็รีบรายงานประสาน วิธีการแก้ปัญหา ก็เอาหาวิธีการใหม่ ซีอีโอกับผมอยู่กรุงเทพฯ ทั้งคู่ เราจะไว้ใจลูกน้องได้อย่างไร ไม่ใช่เกิดเหตุนิดๆ หน่อยๆ ปิดบังไม่อยากจะเดือดร้อน อันไหนที่เป็นสัญญาณ ในห้องควบคุมให้ส่งมาที่ห้องอีเอ็มซี สแควร์ ของผม ต้องรู้เท่าๆ กัน และจะให้ทีมงานของผมโทรไปเช็คทีมงานของคุณและตัดสินใจร่วมกัน ต้องเปิดเผยกันอย่างนี้ ตอนนี้ทำไปแล้วนะครับ 20 กว่าโรงที่เป็นโรงงานใหญ่ๆ นี่ก็เพิ่งย้ำไปว่า วันหยุดยาวๆ นี่จะต้องยิ่งดูกันให้ดีนะ วางเวรยามดีๆ ส่วนใหญ่อุบัติเหตุจะเกิดจากคนทั้งนั้นครับ