ThaiPublica > คนในข่าว > เหลียวหลังแลหน้า “เก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ” : ประวัติศาสตร์จะ “ซ้ำรอย” หรือไม่

เหลียวหลังแลหน้า “เก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ” : ประวัติศาสตร์จะ “ซ้ำรอย” หรือไม่

11 พฤษภาคม 2013


จากรายงานข่าวตอนที่แล้ว “ เหลียวหลังแลหน้า “ เก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ”: 7 ทศวรรษ ปลด 4″ อาจดูเหมือนว่า ในอดีต เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ กับกระทรวงการคลัง และรัฐบาล มีปัญหาความขัดแย้งกัน บทสรุปมักจบลงที่รัฐบาล “ปลด” ผู้ว่าแบงก์ชาติ หรือผู้ว่าแสดงจุดยืนด้วยการ “ลาออก”

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน การ “ปลด” ผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะต้องระบุเหตุผลในการปลดที่ชัดเจน ซึ่งในกฎหมายฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ในมาตรา 28/19 (4) และ มาตรา 28/19 (5) และที่สำคัญ “บทบาท” ของผู้ว่าแบงก์ชาติก็ลดลงไปด้วย

โดยกฎหมายแบงก์ชาติฉบับปัจจุบันได้ “ลดทอน” อำนาจผู้ว่าแบงก์ชาติลงเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งให้อำนาจการตัดสินใจชี้ขาดนโยบายทุกอย่างขึ้นตรงกับผู้ว่าแบงก์ชาติเพียงคนเดียว แต่ปัจจุบันการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญของแบงก์ชาติจะอยู่ในรูปแบบของ “คณะกรรมการ” อาทิ นโยบายดอกเบี้ย จะอยู่ภายใต้การพิจารณาและตัดสินใจโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายระบบการชำระเงิน อยู่ภายใต้คณะกรรมการระบบการชำระเงิน เป็นต้น

ในอดีต การผูกขาดอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายไว้ที่ผู้ว่าแบงก์ชาติเพียงคนเดียว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงิน และวิกฤติสถาบันการเงินในปี 2540 ถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มเติมประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) เสนอปรับปรุงการบริหารของแบงก์ชาติให้อยู่ในรูปคณะกรรมการ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงอยู่ในกฎหมายแบงก์ชาติฉบับปัจจุบัน

ดังนั้น ภายใต้กฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบัน ที่ให้อำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบายอยู่ภายใต้คณะกรรมการ จึงเป็นเสมือน “เกราะ” ป้องกันผู้ว่าแบงก์ชาติ และดูเหมือนผู้ว่าแบงก์ชาติจะ “ลอยตัว” เหนือปัญหา แต่ทั้งหมดนี้คือเจตนารมณ์ของกฎหมายแบงก์ชาติฉบับปัจจุบัน คือ ต้องการให้ “แบงก์ชาติ” เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเหมือนในอดีต และที่สำคัญ “ปลอดการเมือง” แทรกแซง

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายแบงก์ชาติฉบับปัจจุบันจะทำให้การปลดแบงก์ชาติไม่ง่าย แต่ถ้ารัฐบาลจะหาเหตุผลมาปลดก็ไม่ยาก เพียงแต่คนเสนอสั่งปลดอาจมี “ความเสี่ยง” ถูกผู้ว่าแบงก์ชาติฟ้องกลับ หากเหตุผลไม่สมเหตุสมผลตามที่กฎหมายกำหนด หรือเห็นว่าเหตุผลนั้นไม่เป็นธรรม นั่นคือในมุมมองของกฎหมาย

แต่หากมองด้าน “ทุนทางสังคม” ระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” กับ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อาจทำให้รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักในการตัดสินมากขึ้น เพราะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และการยอมรับที่แตกต่างกันของสังคม ดังที่เคยมีบทเรียนให้เห็นแล้วในอดีตในสมัยที่ “ประมวล สภาวสุ” เป็นรัฐมนตรีคลัง สั่งปลด “กำจร สถิรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติสมัยนั้น แต่สุดท้ายรัฐมนตรีคลังต้องหลุดจากตำแหน่งไปด้วย

ดูเหมือนกฎหายแบงก์ชาติฉบับปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลทำอะไรแบงก์ชาติไม่ได้ จึงเริ่มมีความเคลื่อนไหวให้แก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจกำกับดูแลแบงก์ชาติได้มากขึ้น เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลได้เต็มที่ แต่กรณีนี้ต้องทบทวนให้รอบคอบ เพราะในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีศึกหลายด้าน และมีกฎหมายเร่งด่วนหลายเรื่องต้องทำ อาทิ การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม เป็นต้น ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นรัฐบาลคงไม่สร้างประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาซ้ำเติมสถานการณ์ที่ครุกรุ่นอยู่แล้ว แต่ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่รัฐบาลนี้จ้องดำเนินการถ้ามีโอกาส

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ความขัดแย้งระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐมนตรีคลังและรัฐบาลกำลังทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” และ “ความเชื่อมั่น” ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย เพราะเสาหลักทางเศรษฐกิจด้านนโยบายการคลังและนโยบายการเงินไม่ลงรอยกัน ส่งผลให้ตลาดการเงินอาจปั่นป่วนจนกระทบเศรษฐกิจได้

โดยที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลฟังธงว่า “ดอกเบี้ย” สามารถแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า และช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้ จึงเห็นควรว่า แบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยลง และถ้าจะให้ได้ผลต้องลดลงถึง 1%

ขณะที่แบงก์ชาติในฐานะเลขานุการการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็มีจุดยืนว่า “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่ปัจจัยหลักดึงดูเงินทุนไหลเข้า เพราะฉะนั้น มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า 4 มาตรการ ที่เสนอกระทรวงการคลังจึงไม่มีเรื่องปรับลดดอกเบี้ยอยู่ในแนวทางที่เสนอกระทรวงการคลังเลย

มาตรการดังกล่างยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่รัฐมนตรีคลังและรัฐบาลอย่างมาก โดยบรรดารัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยพากัน “จี้” ผู้ว่าแบงก์ชาติให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเงินบาทแข็ง อาทิ “วราเทพ รัตนากร” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้ข่าวว่า กนง. ไม่จริงใจแก้ปัญหา และแม้กระทั่งรัฐมนตรีมหาดไทย “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” ยังให้ข่าวว่าแบงก์ชาติไม่รับผิดชอบเงินบาทแข็ง เป็นต้น ว่ากันว่า นี่คือการหา “แพะ” เซ่นเงินบาทแข็ง ขณะที่ภาคเอกชนได้ทีก็เดินหน้า “รุม” กดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยลง 1%

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กล่าวว่า “ดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งต่อเงินทุนไหลเข้า เพียงแต่ในบ้านเราตอนนี้ดอกเบี้ยรับภาระหนักอันหนึ่งคือ ดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ แต่ถ้าเศรษฐกิจเราไม่ร้อนแรงก็สามารถผ่อนภาระกิจนั้นได้”

การชี้แจงของผู้ว่าแบงก์ชาติ สะท้อนจุดยืนของแบงก์ชาติชัดเจนว่า ดอกเบี้ยสามารถปรับลดลงได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง จึงไม่ได้ปิดประตูตายว่า ดอกเบี้ยลงไม่ได้ เพียงแต่การปรับลดลงด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอาจไม่ปรับลงรุนแรงหรือลงมากถึง 1% อย่างที่รัฐบาลต้องการ

ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ www.bot.or.th เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

เพราะฉะนั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงคลังและรัฐบาล อาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์ แต่ไม่ง่ายเหมือนในอดีต