ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”แนะธุรกิจไทยต้องให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” ชี้เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ – เปลี่ยน“ลูกค้า” เป็น “stakeholders”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”แนะธุรกิจไทยต้องให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” ชี้เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ – เปลี่ยน“ลูกค้า” เป็น “stakeholders”

26 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลปาฐกถาพิเศษ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาบรรณาธิการหนังสือ “Thailand’s Sustainable Business Guide” กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในหัวข้อ”ธุรกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลปาฐกถาพิเศษ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาบรรณาธิการหนังสือ “Thailand’s Sustainable Business Guide” กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในหัวข้อ”ธุรกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ก่อนอื่นผมขอขอบคุณท่านประธานมูลนิธิมั่นพัฒนาที่ให้เกียรติและไว้วางใจให้ผมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน” ในโอกาสพิเศษอย่างนี้ ทั้งที่ประสบการณ์ในด้านการบริหารธุรกิจของผมเทียบไม่ได้กับหลายท่านในที่นี้ ก็ต้องทำการบ้านพอสมควร โชคดีที่ทางมูลนิธิมอบหมายให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาบรรณาธิการหนังสือ “Thailand’s Sustainable Business Guide” จึงได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ และต้องอ่านหลายรอบ ซึ่งสาระต่างๆ ที่ผู้ทรงคุณวุฒิถ่ายทอดไว้ในหนังสือนี้เป็นวัตถุดิบอย่างดีที่ช่วยให้ผมมีการบ้านส่ง”

ในวันนี้ ผมขอร่วมแสดงความเห็นใน 3 ส่วน คือ

    ส่วนแรก โลกภายใต้บริบทที่ท้าทาย และวิสัยทัศน์ร่วมของชาวโลกต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    ส่วนที่สอง ภาคธุรกิจและแนวคิดเรื่องความยั่งยืน
    ส่วนที่สาม ธุรกิจจะร่วมขับเคลื่อนหรือเดินทางบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไร?

1. โลกภายใต้บริบทที่ท้าทาย และวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ละประเทศพยายามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประเทศ โดยส่วนใหญ่เลือกขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม ที่นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นส่วนใหญ่และอาจรวมถึงบางท่านในปัจจุบันเชื่อว่า ภายใต้หลักการนี้ “กลไกตลาด” หรือ “มือที่มองไม่เห็น” จะช่วยจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนหลายประเทศประสบความสำเร็จขยับฐานะจากที่เคยยากจนสู่ประเทศร่ำรวย ประชาชนส่วนใหญ่มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และนั่นคือจุดแข็งสำคัญของระบบทุนนิยมเสรี

อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของสรรพสิ่งมีสองด้านเสมอ ในขาวมีดำ ในดำมีขาว มีหยินมีหยาง ระบบทุนนิยมสุดโต่งที่ขาดการถ่วงดุลด้วยจริยธรรม “วิสัยทัศน์จึงบิดเบี้ยว” โดยมุ่ง

    – สร้างความเจริญเติบโตในเชิงปริมาณแต่ละเลยคุณภาพ
    – ตัดสินใจด้วยมุมมองระยะสั้น มองข้ามผลกระทบระยะยาว และ
    – คิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว แก้ปัญหาแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการ

ผลการพัฒนาจึงสร้างปัญหาสะสมในหลายมิติจนกล่าวได้ว่า “โลกที่เราอยู่ไม่ยั่งยืน” ใน 4 กลุ่มสำคัญ หรือกลุ่ม 4 Ps

P แรกคือ Planet โลกที่คนใช้ทรัพยากรธรรมชาติเสมือนของ “ฟรี” ไม่มีการยับยั้งชั่งใจ ละเลยประเด็นสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำประมงเกินขนาด ปัญหาขยะล้นเมืองและการปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำ การใช้สารเคมีในภาคเกษตร หรือการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตต่างๆ จนเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็น “Tragedy of the commons” หรือ “โศกนาฏกรรมร่วมของโลก” และเป็นต้นทุน “สูงลิ่ว” ที่ทุกชีวิตบนโลกต้องร่วมกันรับภาระ

ที่น่าตกใจคือ จากการศึกษาร่วมระหว่าง Ellen MacArthur Foundation และ World Economic Forum ชี้ว่า ในปี ค.ศ.2050 หรือราว 30 ปีข้างหน้า น้ำหนักพลาสติกในทะเลจะเท่ากับน้ำหนักปลาทั้งหมดในทะเล และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ ไทยติด 1 ใน 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก เฉพาะกาแฟที่พวกเราสั่งขึ้นมาดื่มในสำนักงานแต่ละแก้ก็ประกอบด้วยพลาสติกหลายชิ้นแล้ว และยังมีพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่เป็นส่วนประกอบที่เราไม่ได้สนใจ แต่เวลาทิ้งไปในทะเล ปลากินไปก็อยู่ในกระเพาะ

P ที่สองคือ Prosperity ความเจริญในหลายด้านมีความก้าวหน้าชัดเจน แต่อีกหลายด้านกลับเหลื่อมล้ำ แตกต่างอย่างชัดเจน เชื่อหรือไม่ว่า เราอยู่บนโลกที่มุมหนึ่งมีคนนับพันล้านที่อยู่ในสภาพหิวโหย แต่ละวันมีคนอดตายจำนวนมาก ขณะที่โลกอีกมุมหนึ่งมีคนนับพันล้านคนเป็นโรคอ้วน จนต้องรณรงค์ให้หยุดพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ ความเหลื่อมล้ำยังสามารถนำไปสู่วิกฤติหรือการประท้วงอยู่บ่อยๆ เช่น การประท้วงภาคการเงินในสหรัฐ หรือ “Occupy Wall Street” จากความไม่พอใจที่รัฐบาลอุ้มภาคการเงินช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ประเด็นที่พยายามสื่อในการประท้วงคือ ทำไมคน 1% จึงสามารถควบคุมวิถีชีวิต และอนาคตของประชาชนได้ และในช่วงเวลาไม่นานการประท้วงในลักษณะเช่นนี้แพร่กระจายไปกว่า 950 เมือง ใน 82 ประเทศทั่วโลก สะท้อนว่า ความเหลื่อมล้ำแทรกตัวในทุกพื้นที่ของโลก และล่าสุดรายงานของ Oxfam คาดว่า ในปีนี้ความมั่งคั่งในโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 8 แสนล้านดอลลาร์ แต่น่าเสียดายที่ 82% ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจะตกอยู่ในมือคนเพียง 1%

P ที่สามคือ People คนจำนวนมากเผชิญปัญหาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สุขภาพ สุขอนามัย อาหาร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานและเป็นทุนชีวิตที่จะช่วยให้แต่ละคนสามารถปกป้องตัวเองและดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยข้อมูลจากสหประชาชาติชี้ว่า ปัจจุบันประชากรโลกราว 850 จาก 7.3 พันล้านคนหรือ 1 ใน 8 เผชิญกับการขาดสารอาหารเรื้อรัง

P ที่สี่คือ Peace ความขัดแย้งและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลี ที่ใกล้ไทยหน่อยคือ ความตึงเครียดบริเวณทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ การก่อการร้ายยังกระจายตัวเป็นวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏ

ท่ามกลางปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้สมาชิกองค์การสหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) 17 ข้อ เป็น “วิสัยทัศน์ร่วม” ของประเทศสมาชิกที่จะร่วมกันแก้ไขและนำโลกไปสู่บริบทใหม่ที่ดีขึ้น และมีการทำดัชนี SDGs เพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของการดำเนินงานตาม SDGs แต่ละข้อของกลุ่มประเทศสมาชิก

“สำหรับประเทศไทย คะแนน SDGs อยู่ในอันดับที่ 55 จาก 157 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่กลางๆ สะท้อนว่า บางเรื่องทำได้ดี แต่บางเรื่องก็ต้องปรับปรุง โดยเรื่องที่ไทยทำได้ดี อาทิ ความพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในข้อหลัง ผมคิดว่า ประเทศไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก เพราะเราเคยมีประสบการณ์การบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ธุรกิจ และครัวเรือน ที่ไม่ยั่งยืน จนเกิดวิกฤตปี 2540 ทำให้หลายภาคส่วนจนถึงครัวเรือน บางส่วนได้ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

แต่มีหลายเรื่องที่เราต้องเร่งปรับปรุง อาทิ ความเหลื่อมล้ำคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิสชี้ว่า มหาเศรษฐีไทย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศสูงถึง 58% เป็นรองเพียงรัสเซียและอินเดีย แม้ข้อมูลพวกนี้เถียงกันได้ แต่ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอาการที่เกิดขึ้นในประเทศเรา

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างไม่นึกถึงวันข้างหน้า จึงทำประมงมากเกินไป จนปลาที่เคยมีมากจนเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทย กลับลดลงอย่างน่าตกใจ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลจนประสบความสำเร็จมาก แต่ปะการังกลับถูกรบกวนจนตายหรือหยุดการเติบโต เชื่อหรือไม่ว่า หลังจากทดลองปิดเกาะพีพี 6 เดือน ปรากฏว่า ปะการังฟื้นตัวขึ้นมาอย่างชัดเจน

การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากสาเหตุนี้มากกว่า 36 คนต่อประชากร 1 แสนคน เป็นรองเพียงลิเบีย งานศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า หากภายใน 20 ปี ไทยสามารถลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ครึ่งหนึ่ง จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 9%

โดยสรุป SDGs ไม่เพียงเป็น “ทางสายเอก” ที่ทั่วโลกมุ่งเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน แต่ยังเป็นการขยายมุมมองและเพิ่มตัวแปรในกระบวนการตัดสินใจที่ช่วยปรับวิสัยทัศน์ที่เคยบิดเบี้ยว กลับมาคิดในมุมใหม่ เพื่อแก้ต้นตอปัญหาที่ทำให้การพัฒนาที่ผ่านมา “ไม่ยั่งยืน” กล่าวคือ

    จากที่เคยมุ่งสร้างความเจริญเติบโตในเชิงปริมาณ เป็นเน้นคุณภาพ และความทั่วถึง
    จากที่เคยตัดสินใจด้วยมุมมองระยะสั้น เป็นระยะยาว
    จากที่เคยมุ่งเก็บเกี่ยวแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ทำงานแบบแยกส่วน มาคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และร่วมมือในการแก้ปัญหาให้มากขึ้น

2. ภาคธุรกิจและแนวคิดเรื่องความยั่งยืน

หลายปีที่ผ่านมา พวกเราคงเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่า ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืน หรือ sustainability มากขึ้น ขณะเดียวกัน หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเรื่องนี้เกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างไร? หรือพูดง่ายๆ คือ ทำไปทำไม? ผมคิดว่า มาจากปัจจัยอย่างน้อย 2 เรื่อง

ปัจจัยแรกคือ ทิศทางการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น อาทิ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม กฎระเบียบด้านธรรมาภิบาล หรือการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่เรามีประสบการณ์ตรง ตามที่ได้ใบเหลืองจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เพราะทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU Fishing จากการใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย และปัญหาการใช้แรงงานทาส แม้จะมีกระแสความไม่พอใจในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ถ้าลอง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หากเราเป็นผู้บริโภคคงรู้สึกแย่ไม่ต่างกัน ถ้ารู้ว่าปลาที่เรากำลังทาน แลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่เลวร้ายของแรงงาน

ปัจจัยที่สองคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้สังคมโลกเล็กลง ปัญหาหรือความผิดพลาดจุดใดจุดหนึ่งสามารถเป็นข่าวที่ทั่วโลกรับรู้ได้ในเสี้ยววินาที ตัวอย่างเช่น บริษัทเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง ไปตั้งโรงงานที่อินเดีย ในช่วงภาวะแล้ง น้ำมีไม่พอให้ชาวนาเพาะปลูกจึงมีการประท้วง เชื่อหรือไม่ว่า จากประเด็นเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล กลับกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวจนมีการประท้วงที่นิวยอร์คในเชิงสัญลักษณ์ว่า บริษัทเครื่องดื่มนำน้ำของชาวนายากไร้มาผลิตน้ำดื่มให้คนรวย

นอกจากนี้ แม้ว่าปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบภาครัฐ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านโครงสร้าง กฎระเบียบ บุคลากร และขั้นตอนการทำงาน ขณะที่ภาคธุรกิจมีความพร้อมทั้ง ทักษะ ทุน บุคลากรที่มีความสามารถ และไม่มีโครงสร้างหรือกฎระเบียบที่แข็งตัวเหมือนภาครัฐ จึงมีศักยภาพที่จะช่วยร่วมกันแก้ปัญหาได้ หลายท่านคงเห็นไม่ต่างจากผมว่า หากเราไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้ว ในที่สุด ผลเสียที่เกิดขึ้นจะกลับมาเหนี่ยวรั้งศักยภาพของภาคธุรกิจได้

“ผมขอเล่าแนวคิดของ Larry Fink CEO บริษัทจัดการกองทุน BlackRock ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก และเขาได้ชื่อว่า เป็น 1 ใน CEO ที่ดีที่สุดในโลก และเคยได้รับรางวัล “World’s Most Respected Leaders” จากนิตยสาร Fortune

เมื่อไม่นานมานี้ Larry Fink มีจดหมายถึงบรรดา CEO ของบริษัทที่ BlackRock ไปลงทุนใจความสำคัญ คือ

ปัจจุบันภาครัฐไม่สามารถจัดการเรื่องระยะยาวหลายเรื่อง สังคมจึงคาดหวังให้ภาคธุรกิจช่วยจัดการกับความท้าทายและปัญหาสังคมมากขึ้น … การทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ การทำให้ผลประกอบการด้านการเงินให้ดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อสังคม … และถ้าภาคธุรกิจไม่ช่วยสังคม ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเช่นกัน … นอกจากนี้ ไม่ควรเน้นกำไรระยะสั้นและให้ลงทุนในสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตในระยะยาวด้วย มิฉะนั้น ในที่สุด บริษัทจะไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่นักลงทุน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยให้สติพวกเราว่า “ถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆ ไปก็ผิดหมด” ผมขอเชิญชวนท่านร่วมกันย้อนคิดถึงปรัชญาพื้นฐานซึ่งเปรียบเสมือน “การติดกระดุมเม็ดแรก” ของการทำธุรกิจสักเล็กน้อย

คำถามคือ “เป้าหมายการทำธุรกิจคืออะไร?”

หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ทุกท่านคงได้คำตอบเดียวกันว่า หากธุรกิจไม่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าได้ ย่อมไม่สามารถทำกำไรได้

กำไรจึงเป็นแค่ผล หรือ Ends

แต่การทำธุรกิจหัวใจคือ การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งเป็น Means

เพียงแต่บริบทโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้คำว่า “ลูกค้า” เปลี่ยนเป็นคำว่า “stakeholders” หรือผู้มีส่วนได้เสีย ธุรกิจจึงมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกว้างขวางออกไป

หากเราบอกว่า ไม่แคร์ ไม่ให้ความสำคัญ และเมื่อใดเราไปทำอะไรที่กระทบกับ stakeholders ก็จะเสียหายในวงกว้าง หรือแม้สังคมในวงกว้างยังไม่รับรู้ถึงผลกระทบ

แต่แค่รู้สึกว่า ธุรกิจเราไม่ค่อย Healthy ต่อสังคม ย่อมมีผลกระทบถึงธุรกิจเราได้ เพียงแต่ในระยะเวลาอันสั้นหรือยาว หรืออาจทำให้เราหมดโอกาสแก้ตัวก็ได้

ดังนั้น การไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” จึงเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic risk ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น

โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะแรกๆ ที่เคยปล่อยกำมะถัน จนกระทบคุณภาพชีวิตชาวบ้านรุนแรง และทำให้สังคมโดยทั่วไปขาดความไว้วางใจ และเป็นความฝังใจที่ยากจะลืมเลือน จึงเกิดการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้ว่า กฟผ. จะพยายามสร้างความมั่นใจและพิสูจน์ได้ว่า โรงงานจะไม่ปล่อยกำมะถันปนเปื้อนในอากาศก็ตาม

ภาคธุรกิจทั้งในอเมริกาและยุโรปตื่นตัวกับเรื่อง “ความยั่งยืน” มาก และมีการผลักดันให้นำแนวคิดนี้ เข้ามาในกระบวนการทำธุรกิจ ที่เห็นได้ชัดคือ ภาคการเงินที่เริ่มกดดันให้บริษัทต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) รวมถึงปัจจัยอื่นที่จะมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะยาว ไม่ว่าจะเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือสัดส่วนกรรมการชายหญิง ตัวอย่างเช่น

ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BOE) ได้นำปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change มาเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เนื่องจาก climate change ที่มีผลทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นมีนัยต่อบริษัทประกันและสถาบันการเงิน โดยทศวรรษที่ผ่านมาบริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมจากปัญหานี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 4 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยเมื่อ 30 ปีก่อน นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ BOE ยังระบุว่า การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ต้องพิจารณานโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาจำนวนมากที่ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่า นักลงทุนให้คุณค่ากับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” เพราะการที่บริษัทมีนโยบายเช่นนี้ เสมือนบริษัทเหล่านี้ได้ป้องกันความเสี่ยงสำคัญให้กับธุรกิจแล้วระดับหนึ่ง ราคาหุ้นของบริษัทกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าบริษัทในกลุ่มเดียวกันที่มองข้ามความยั่งยืน

ดังนั้น ภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในอนาคต จะไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนให้ดำเนินธุรกิจ หรือ “license to operate” แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในการดำเนินธุรกิจ หรือ “social license to operate” ด้วย ซึ่งสะท้อนว่า ได้รับความไว้วางใจจากชุมชน ธุรกิจจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่สำคัญ “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เรื่องที่ทำเพื่อเท่ห์หรือให้ดูดี แต่เป็นเรื่องที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโต เช่น การลดของเสียย่อมหมายถึงการลดต้นทุนการผลิตในอีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น ความยั่งยืนจึงเป็น “license to grow” แน่นอนว่า หากธุรกิจใดเติบโตโดยเพิ่มภาระหรือเบียดเบียนสังคม ชุมชนรอบข้าง ย่อมไม่มีใครยินดีหรืออนุญาตให้เราเติบโต และ license ที่เคยได้รับก็จะ expire โดยปริยาย

และนี่คือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ของโลกที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทัน

3. ธุรกิจจะร่วมขับเคลื่อนหรือเดินทางบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไร?

ในบริบทที่ทั่วโลกตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ความท้าทายคือ ภาคธุรกิจจะนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนหรือ sustainability มาปรับใช้จริงได้อย่างไร?

โชคดีที่ภาคธุรกิจไทยมีประสบการณ์ของการขับเคลื่อนประเทศสู่เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนพอสมควร เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อน หลายธุรกิจพยายามดำเนินการในกรอบความมีเหตุผล ความพอเพียง และการสร้างภูมิคุ้มกันเพียงพอ ขณะที่ในด้านตลาดทุนก็มีความตื่นตัวมาก ที่บริษัทจดทะเบียนเคยมีจุดอ่อนด้านจริยธรรมของผู้บริหาร ผู้กำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต.จึงนำระบบธรรมาภิบาลมาเป็นกรอบหนึ่งในการประเมินบริษัทจดทะเบียนจนจริยธรรมที่ดีหลายเรื่องแทรกเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของบริษัทเหล่านี้

กองบรรณาธิการจึงได้รวบรวมกลยุทธ์และประสบการณ์ของบริษัทมากกว่า 50 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนสำเร็จ มาถ่ายทอดด้วยภาษาที่กระชับ ตรงประเด็น ซึ่งเหมือนกับรุ่นพี่เผยเคล็ดลับให้รุ่นน้องที่สนใจร่วมเดินหน้าไปด้วยกันบนเส้นทางนี้ไว้ในหนังสือ “Thailand’s Sustainable Business Guide” ซึ่งผมคิดว่า จะช่วยขยายมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกท่านที่สนใจ

เพื่อให้เห็นภาพวิธีการประยุกต์เป้าหมายการดำเนินธุรกิจให้มีส่วนในการดูแลปัญหาสาธารณะของสังคม ดังนี้

ปัญหาขยะและของเสียจากกระบวนการผลิต

Interface ผู้ผลิตพรมแผ่นที่ใช้ในสำนักงานอันดับหนึ่งของโลกใช้ Mission Zero เป็นเป้าหมาย โดยในปี ค.ศ.1994 Ray Anderson ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทประกาศว่า Interface จะเป็นบริษัทแรกในโลกที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี ค.ศ.2020 ซึ่งมุ่งมั่นมามากกว่า 30 ปี เครื่องชี้ระดับของเสียที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ลดลงเกือบใกล้ศูนย์ ผลประโยชน์ที่ได้รับคือ สามารถลดต้นทุนและมีแรงผลักดันที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและวัตถุดิบ อีกทั้งยังได้นำข้อคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และดำเนินงานด้วย ที่สำคัญคือ บริษัทได้สร้างความไว้วางใจจากลูกค้าและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า เป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อความยั่งยืนของโลก

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

ยูนิลีเวอร์ เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอันดับต้นๆ ของโลกที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบสำคัญ จึงกำหนดให้การหยุดการตัดไม้ทำลายป่าเป็นเป้าหมาย โดยไม่รับซื้อน้ำมันปาล์ม ที่มาจากสวนปาล์มที่บุกรุกป่า หมายความว่า โรงงานน้ำมันปาล์มจำนวนมากที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ ถ้าต้องขายน้ำมันปาล์มให้ยูนิลีเวอร์ต้องปฏิบัติตาม โดยสืบย้อนแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มตามเงื่อนไขที่ยูนิลีเวอร์กำหนด

ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน

เอสซีจี โลจิสติกส์ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยบนถนน และร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อเสริมศักยภาพบุคลากรพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จนได้รางวัล “สุภาพบุรุษนักขับ ปี 2557”

ปัญหาคุณภาพชีวิตและชุมชน

ชีวาศรม รีสอร์ทเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก ตั้งใจบริการเพื่อชีวิตที่ดีของลูกค้า แต่ชีวิตที่ดี ไม่ได้จำกัดแค่สุขภาพดี แต่หมายถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบตัวต้องดีด้วย ทุกอย่างในชีวาศรมจึงได้รับการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างสอดคล้องกันทั้งระบบแบบองค์รวม ที่สำคัญ ไม่เน้นกำไรระยะสั้น แต่เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ จึงเลือกที่จะจำกัดสาขาเพียง 6 แห่ง ไม่ใช่ 60 แห่ง ทั้งที่บริษัทมีศักยภาพในการลงทุน หรือ

โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เน้นการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบองค์รวม โดยจะดูแลในส่วนของโรคเบาหวานและระบบร่างกายอื่นๆ ที่สามารถได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวาน รวมถึงอาหาร อารมณ์ การออกกำลังกาย และมีการแลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้โรงพยาบาลอื่น แม้จะเป็นคู่แข่งโดยตรงก็ตาม อีกทั้ง ยังสนับสนุนป้องกันโรคเบาหวานอย่างเป็นระบบ ดังนั้น โรงพยาบาลและหมอจึงได้รับความไว้วางใจสูงจากผู้ป่วย

ปัญหารายได้ภาคเกษตรต่ำและไม่สม่ำเสมอ ขึ้นกับสภาพอากาศ

TechFarm บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำและดิน ตั้งเป้าเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยสร้างชุดตรวจสอบคุณภาพดิน และน้ำ และโยงข้อมูลเข้า Application “LenDin” (เล่นดิน) “LenNam” (เล่นน้ำ) เกษตรกรสามารถใช้ตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำผ่าน application ได้ตลอดเวลา ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงจะมีผลให้ระดับความเป็นกรด-ด่างในดินและน้ำได้มาก เช่น ช่วงก่อนและหลังฝนตก เมื่อเกษตรกรสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ จึงช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และช่วยลดความเสียหายในฟาร์มกุ้งที่อ่อนไหวกับสภาพอากาศได้ จึงได้รับไว้วางใจจากเกษตรกรและองค์กรต่างๆ กว่า 400 แห่ง และกำลังจะขยายไปที่เวียดนาม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในภาคการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินและลดต้นทุนในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็น

    การตั้งศูนย์รับข้อร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรม
    การทำระบบพร้อมเพย์ เพื่อลดต้นทุนการโอนเงินสำหรับประชาชนรายย่อย
    การจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานกลางที่ช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้สามารถข้อตกลงกันได้ง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้ หลายธุรกิจยัง “ร่วมมือ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน SDGs เพื่อทำสิ่งที่ดีกว่าให้สังคมด้วย เช่น

ดอยตุง และ อิเกีย ที่ร่วมมือกันตั้งแต่ให้คนออกแบบผลิตภัณฑ์ของดอยตุงมาเรียนรู้เทคนิคการออกแบบจากอิเกีย สามารถยกระดับสินค้าพื้นบ้าน และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดไปต่างประเทศ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่สมาชิกในองค์กรร่วมมือกันรณรงค์เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน

และนี่คือตัวอย่างบางส่วนในหนังสือนี้ ซึ่งผมคิดว่า จะเป็น “เข็มทิศ” ที่ช่วยแนะนำการประยุกต์เป้าหมายการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ และทุกท่านคงเห็นเหมือนกันว่า ตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาไม่ได้ยากเกินไปที่จะทำตาม และบางเรื่องแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของธุรกิจท่านอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้สื่อออกมาเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนเท่านั้น

แม้เราจะมี “เข็มทิศ” แล้ว แต่การขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน หัวใจสำคัญคือ “ผู้นำองค์กร” (Leader) ที่มีภารกิจอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

ประการแรก ผู้นำองค์กรไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริษัท และ CEO ต้องให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินธุรกิจ และสามารถอธิบายเหตุผลและยุทธศาสตร์ที่จะใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงสามารถชักจูงให้พนักงาน คู่ธุรกิจ ยอมรับ จึงจะมีพลังงานขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย

ประการที่สอง ผู้นำองค์กรต้องเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัท ซึ่งความเข้าใจและการมีเป้าหมายร่วมกันเช่นนี้ จะช่วยลดแรงกดดันเรื่องผลกำไรระยะสั้นลง หรือข้อเรียกร้องอื่นๆ จากผู้ถือหุ้น

ประการที่สาม ผู้นำต้องจัดการ “ความยั่งยืน” อย่างพลวัตและปรับตัวอย่างเท่าทัน เพราะทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่ง กล่าวคือ ความสัมพันธ์ในทางธุรกิจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นฐานที่จะไม่เปลี่ยนแปลง คือ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ความหวังดีต่อกัน ความไว้วางใจ และส่วนที่มีพลวัตพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคมใหม่ๆ เช่น รสนิยม การใช้ชีวิต เทคโนโลยี เป็นต้น จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้บริโภค และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น

ภาคการเงิน ที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระเงินตั้งแต่ เงินสด บัตรพลาสติก พร้อมเพย์ จนทุกวันนี้เป็น QR code และการบริการผ่านสาขาที่เปลี่ยนเป็น internet banking แต่พื้นฐานคือ ความไว้ใจและความมั่นคง เหมือนเดิม ทั้งสองอย่างจึงต้องมาประกอบกัน

ธุรกิจค้าปลีก กรณีเซ็นทรัล ก็ต้องปรับตัวตามความพฤติกรรมและรสนิยมของลูกค้า กล่าวคือ ในช่วงหลังสงครามโลก เซ็นทรัลเห็นว่า คนไทยอยากรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ซึ่งขณะนั้นการสื่อสารไม่ดี จึงไปเหมานิตยสารเก่าจากต่างประเทศมาขายในราคาเล่มละ 10 บาท ทำให้ขายดีมากเพราะตรงกับความต้องการของคนไทยยุคนั้น เมื่อเปิดห้างสรรพสินค้า ก็ตั้งราคาที่ไม่ต้องต่อรอง เป็นแนวคิดใหม่มากในสมัยนั้น แต่ลูกค้าหลายส่วนมีความพอใจ เพราะมั่นใจ จึงโดนใจลูกค้า แต่ตอนนี้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ซื้อของ online มากขึ้น ก็ต้องเริ่มปรับมาทำ e-platform และปรับพื้นที่ห้างสรรพสินค้าส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า เช่น Co-working space เป็นต้น

ภาคธุรกิจในฐานะ “พลเมืองของโลก” เมื่อสังคมที่เราอยู่กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่ยั่งยืนในมุมใดมุมหนึ่ง ในฐานะพลเมืองดี หรือ Good corporate citizens จึงมีหน้าที่ต่อสังคมตามศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ซ้ำเติมปัญหา การหามุมที่ธุรกิจจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสาธารณะ และหลายตัวอย่างที่กล่าวถึง ก็เลือกที่จะทำในสิ่งที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยไม่เป็นภาระ

“ก่อนจะจบปาฐกถานี้ ผมขอฝากประเด็นที่ Paul Hawken หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่อง ความยั่งยืนเคยกล่าวในหนังสือเรื่อง The Ecology of Commerce ว่า ธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นสถาบันเดียวในโลกที่มีพลังพอที่จะเปลี่ยนโลกได้ และผมเชื่อว่า ทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยซ่อมโลกใบนี้ให้สมดุล น่าอยู่ไว้ให้ลูกหลานเรา”