ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมชุมชนจึงเป็นผู้ร้ายของระบอบประชาธิปไตย

ทำไมชุมชนจึงเป็นผู้ร้ายของระบอบประชาธิปไตย

16 เมษายน 2013


ตะวัน มานะกุล

ที่มาภาพ : http://www.environnet.in.th
ที่มาภาพ : http://www.environnet.in.th

คราวที่แล้วผมชวนท่านผู้อ่านทบทวนกันว่า ทำไมในช่วงเวลาหนึ่งจึงเกิดกระแสยกชุมชนเป็นพระเอกของระบอบประชาธิปไตย คราวนี้ผมอยากลองทบทวนกลับกันว่า ทำไมหลังปี 2549 เป็นต้นมา ชุมชนจึงกลายเป็นผู้ร้ายของประชาธิปไตยเสียได้

ตอนที่แล้วเกริ่นไปบ้างว่า สาเหตุเบื้องต้นคือการที่พวกนักคิดนักเคลื่อนไหวสายชุมชนที่ชอบเรียกตัวเองว่า ‘ภาคประชาชน’ หลายคนได้กระโจนเข้าร่วมกระแสกู้ชาติ ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม นอกจากไม่พอใจตัวบุคคลแล้ว ฝ่ายวิพากษ์ยังชี้ว่าแท้จริงแล้วปัญหามันลึกกว่านั้น คือ มันอยู่ที่แนวคิดชุมชนนิยมนั่นแหละ

ฝ่ายวิพากษ์เริ่มด้วยการวิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้วแนวคิดชุมชนเป็นข้อเสนอของพวกซ้ายสังคมนิยมอกหักจากแผนการยึดอำนาจรัฐ แต่ยังคงรับมรดกความคิดของมาร์กซ์ที่ว่าทุนนิยมคือปีศาจร้ายและรัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน หรือไม่ก็เป็นพวกชนชั้นกลางผู้ทรงศีลที่ออกไปอุทิศตัวในชนบทแล้วทนไม่ไหวเมื่อพบเห็นรัฐและทุนรังแกคนตัวเล็กตัวน้อย

ปัญหาคือ พวกนี้ตีตราทุนนิยมเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง นายทุนคือปีศาจร้าย ส่วนนักการเมืองก็คือนายทุนหรือทาสนายทุนที่เข้ามายึดอำนาจรัฐเพื่อเปิดทางหากิน โลกเรากำลังตกอยู่ในแผนการร้ายที่ชื่อว่า ‘โลกาภิวัตน์’ ซึ่งเป็นแผนของนายทุนทั่วโลกที่ทิ้งสังกัดชาติแล้วมารวมตัวช่วยๆ แบ่งๆ กันครอบงำรัฐเพื่อขูดรีดข้ามประเทศเพื่อสถาปนากำไรสูงสุด

ดังนั้น เพื่อทัดทานแนวโน้มโลกาภิวัตน์ครอบงำรัฐ จึงควรมีเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศเป็นตัวนำโดยสัมพันธ์กับรัฐด้วยประชาธิปไตยทางตรง คือ เป็นผู้ใช้สิทธิและอำนาจด้วยตนเอง และทีนี้ เมื่อรัฐโอนอำนาจอธิปไตยให้ชุมชนแล้ว ก็หันไปทำงานภาพรวมซึ่งไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะชุมชนเข้มแข็ง งานที่พอมีประโยชน์อยู่บ้างก็คือทำหน้าที่สนับสนุนพลังชุมชน เช่น จัดทำฐานข้อมูล สร้างเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตั้งกองทุนสนับสนุนเรื่องต่างๆ

ถ้าคิดแบบนี้ ระบอบการเมืองส่วนกลางก็ไม่สำคัญและไม่ใช่แนวรบหลักอีกต่อไป

ฝ่ายวิพากษ์เขาบอกว่า ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แหละครับ ตรงที่บอกว่าระบอบการเมืองส่วนกลางไม่ใช่ประเด็น คือวิธีคิดแบบนี้มันเป็นอาการของพวกอกหักจากการปฏิวัติแล้วหันไปสร้างพื้นที่อุดมคติส่วนตัว

การตั้งท่าจะพาชาวบ้านไปชุมชนในฝันท่าเดียวเป็นท่าทีที่สุดโต่ง เพราะชุมชนที่เป็นอิสระจากรัฐและทุนนั้นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป พวกนี้ได้ทิ้งโจทย์สำคัญคือการสนับสนุนประชาธิปไตยเลือกตั้งที่เข้มแข็ง สามารถตอบสนองผลประโยชน์ประชาชน การสร้างผู้นำที่สามารถฉวยเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์มาพัฒนาประเทศ รวมถึงการออกแบบกลไกรัฐที่จะป้องกันการเข้าครอบงำของทุนนิยม

นอกจากนี้ ความเกลียดกลัวทุนนิยมจนตาบอดหนึ่งข้างก็ทำให้ภาคประชาชนไม่เห็นความจำเป็นและข้อดีของทุนนิยมที่ช่วยให้เกิดความเจริญ และประชาธิปไตยเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสียงและตระหนักในผลประโยชน์ของตัวเอง
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถ้าลืมตาอีกข้างก็จะเห็นว่า ปรากฏการณ์ทักษิณและไทยรักไทยมีข้อดีแฝงอยู่ คือ ถึงจะทำอะไรเสี่ยงๆ โกงกิน ละเมิดสิทธิมนุษยชน อะไรก็ตาม ก็ช่วยทำให้การเลือกตั้งมีความหมายและการเมืองระดับชาติมีตัวตนสำหรับคนจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งมานาน

เห็นว่าคนรากหญ้าเขาไม่ได้เชียร์รัฐบาลเพราะถูกซื้อ แต่เพราะตระหนักถึงอำนาจของตนเอง ว่าหย่อนบัตรแล้วได้ผู้แทนไปทำตามนโยบายที่สัญญาไว้

เห็นว่าเอาเข้าจริงนโยบายประชานิยมไม่ได้เลวร้ายเบ็ดเสร็จ เพราะมีแง่มุมของการหมุนเงินมาช่วยชาวบ้านให้ได้ลืมตาอ้าปากทำมาค้าขายยกฐานะเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ถ้าจะว่านโยบายไม่มีคุณภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพอาจพอเถียงกันได้ แต่ถ้าหาว่าซื้อเสียงด้วยนโยบายไม่ยอมรับ เพราะนี่คือวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้ง คนชั้นกลางผู้ทรงศีลต่างหากที่ล้าหลังเพราะไม่รู้จักต่อรองผลประโยชน์กับนักการเมือง เอาแต่เลือกตั้งแบบดูตัวบุคคล

ส่วนการประณามเชิงศีลธรรมว่าทักษิณแจกเงินชาวบ้านให้ไปซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อมือถือ เดินห้าง ดูหนัง ก็ให้ตายเถอะครับ ของพวกนี้ชนชั้นกลางก็ทำทั้งนั้น ที่ทำได้ก็เพราะได้รับอานิสงจากระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรมมาสี่ห้าสิบปี พอทีคนรากหญ้าทำให้รัฐบาลกลายมาเป็นพวกตัวเองได้กลับมาดัดจริตด่าว่า

ดังนั้น แทนที่พวกชุมชนนิยมจะมุ่งโค่นทักษิณ ก็น่าจะมานำเสนอนโยบายแข่งขันแทน ถ้าดีกว่าเดี๋ยวอดทนสักหน่อยประชาชนก็จะเลือกข้อเสนอของพวกคุณแล้วก้าวพ้นทักษิณไปเอง หรือถึงที่สุด ถ้าทนทักษิณไม่ได้จริงๆ จะสู้ด้วยการเมืองท้องถนนก็ชี้เป้าไปที่ทักษิณพอ ไม่ใช่ด่าเหมารวมไปถึงประชาธิปไตยเลือกตั้ง

แต่ในความเป็นจริง ท่าทีของพวกภาคประชาชนกลับเป็นไปในทางตรงข้าม คือ เลือกไปค้ำจุนการรัฐประหาร ซึ่งในเรื่องนี้ฝ่ายวิพากษ์โจมตีต่อไปว่า เอาเข้าจริงท่าทีปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเหล่านี้มันแฝงอยู่ในวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

วัฒนธรรมที่ว่าคือ ภาคประชาชนชอบมองหา ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ เช่น ไปร่วมรัฐบาลหลังรัฐประหารหรือใช้วิธีนอกระบบ กระโดดเข้าไปดึงงบดึงอำนาจจากรัฐมาสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง นานๆ บ่อยๆ เข้า ก็จัดตั้งเป็นองค์กรโน้นนี้คุมเงินคุมอำนาจมหาศาลแล้วใช้สนับสนุนเครือข่ายอุดมการณ์ กลายเป็นรัฐในรัฐ ทำอะไรชอบอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน ทั้งที่พวกข้าไม่ได้เลือกเอ็งมา (นะโว้ย)

ที่นี้ เมื่อเวลาผ่านไป พวกภาคประชาชนพบว่าผู้คนพากันเดินออกจากชุมชนไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อยกันหมด จะจัดม็อบก็ไม่มีคนมาจนต้องยอมลดตัวไปเป็นแกนนำระดับพระรองในขบวนการกู้ชาติ แทนที่พวกนี้จะเรียกคะแนนนิยมด้วยการพัฒนามุมมองข้อเสนอใหม่ก็ไม่ทำแต่กลับเลือก ‘แช่แข็งชุมชน’ ทื่อๆ คือพยายามขังชาวบ้านไว้ในชุมชน โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาวบ้านจากกิเลสและความเขลาของตัวชาวบ้านเอง

วิธีการก็คือ พวกภาคประชาชนนำเสนอว่าการสร้างพื้นที่ที่เป็นอิสระจากรัฐและทุนคือภารกิจหลัก ซึ่ง ‘คำตอบอยู่ที่ชุมชน’ เพราะถ้าจะไปชูธงเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกเพื่อทัดทานรัฐ ประชาชนก็ยังไม่เข้มแข็งพอจะเลือกได้อย่างอิสระเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นอิสระ เพราะตกเป็นทาสนายทุนกับนักการเมืองมานาน

ปากจึงใช้วาทกรรมสิทธิพลเมือง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ไว้ใจประชาชน ถ้าชาวบ้านออกไปใช้สิทธิทำมาค้าขาย ไปซื้อของ ไปต่อรองนโยบายกับนักการเมือง ไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง ไปประท้วงการรัฐประหาร ก็จะตีฆ้องร้องป่าวว่าชาวบ้านถูกนักการเมืองและนายทุนหลอกใช้ เรียกร้องให้กลับตัวกลับใจกลับเข้าชุมชนหรืออย่างมากก็ทำเป็นเข้าใจ แต่ก็ไม่วายวิเคราะห์ได้แค่ว่าสาเหตุของความขัดแย้งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างซึ่งมาจากทุนนิยมและทางออกอยู่ที่ชุมชนอยู่ดี คือให้ตายก็ไม่เห็นความโกรธแค้นทางการเมืองของคนรากหญ้าที่รู้สึกถูกริบสิทธิเสียง

หลังๆ หนักกว่าเก่า พวกภาคประชาชนกลัวผีทักษิณมากจนไปรับวาทกรรมของพวกขวาจัดคลั่งชาติมาใช้เยี่ยงอำมาตย์ คือ ด่าว่าใครอยู่ข้างนักการเมืองและนายทุนคือพวก ‘ไม่เป็นไทย’

ที่ไปเข้ากันได้ก็เพราะในเนื้อหาของกระแสชาตินิยมเดิมมันมีความเป็นชุมชนนิยมแฝงอยู่สูง และมีศัตรูคือนายทุนและนักการเมืองเหมือนกัน เพราะพล็อตเรื่อง ‘ความเป็นไทย’ เล่าว่าประเทศของเราในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ดังนั้นจึงควรอยู่กันอย่างพอเพียง ทำไร่ไถนาพึ่งพาอาศัยกันอย่างเอื้ออาทร และอยู่กับผู้ปกครองแบบพ่อปกครองลูก สาเหตุที่ประเทศของเราวุ่นวายเป็นเพราะไปรับอะไรบางอย่างจากตะวันตกที่แม่พลอยในสี่แผ่นดินเรียกว่า ‘การเมือง’ เข้ามา

เรื่องนี้บางคนอาจจะเถียงนะครับ ว่าเครือข่ายชุมชนมันก็คือเครือข่ายอำมาตย์มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะแนวคิดนี้มันสร้างตัวขึ้นมาจากพล็อตเรื่อง ‘ความเป็นไทย’ ที่กล่าวไป แต่ผมคิดว่า หากพิจารณาในเชิงแนวคิด ตัวละคร ขบวนการ และพื้นที่ แต่เดิมมันแยกกันชัดอยู่ระหว่างพวกชุมชนนิยมสายชาตินิยมกับพวกชุมชนนิยมแบบภาคประชาชน

ทีนี้ พอวิพากษ์ไปก็เกิดวิวาทะระหว่างฝ่ายชุมชนนิยมกับฝ่ายวิพากษ์ ฝ่ายแรกยืนยันด้วยข้อเท็จจริงที่ตนไปพบเห็น (ตามชุมชน) ว่า ก็นักการเมืองกับนายทุนมันเลวจริงอะไรจริง ประชาชนก็ไม่เป็นอิสระ ระยะยาวเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากประชาธิปไตยกินได้หรือประชาธิปไตยทางตรง

อีกฝ่ายก็บอกว่า อย่างน้อยถึงประชาธิปไตยเลือกตั้งจะได้นักการเมืองชั่วๆ เลวๆ ยังไงก็มีข้อดี ตรวจสอบได้ เอาออกได้ ไม่เหมือนพวกชอบตัวคล้ายเผด็จการสมคบอำมาตย์ (แบบพวกคุณ)

ส่วนตัวผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับฝ่ายวิพากษ์นะครับ ที่เห็นด้วยคือสำหรับภาคประชาชนบางกลุ่มบางคน ข้อวิพากษ์มันตรงทุกประเด็นอย่างถึงรากถึงโคน

แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ หลังๆ ผมว่าการด่ามันมีแนวโน้มเหมารวมเกินเลย เห็นหน้าเห็นชื่อก็ด่าไว้ก่อน หรือบางทีก็ไปตีความถ้อยคำหรือไม่ก็ไปเติมคำที่เขาไม่ได้พูด เช่น สมมติมีภาคประชาชนออกมาบอกว่าคัดค้านนโยบายตัดถนนของรัฐบาลเพราะทำลายสิ่งแวดล้อม แทนที่จะรับฟังแล้วค่อยไปเถียง ก็ไปตีความง่ายๆ ว่าพวกนี้เป็นเครือข่ายอำมาตย์จะล้มรัฐบาล และไปเติมคำหาว่าข้อเสนอของพวกนี้คือให้คนขี่เกวียน

ผมเห็นว่าเราควรแยกแยะนะครับ ลำดับแรกคือแยกแยะว่าไม่ใช่ภาคประชาชนทุกคนที่กระโจนไปกู้ชาติจนตกขอบขวาแปลงร่างเป็นอำมาตย์ใหม่

ต่อมาต้องแยกแยะอีกว่า ถึงภาคประชาชนทุกคนจะเกลียดกลัวทุนนิยม แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ตาบอดไร้เหตุผล หลายกลุ่มหลายคนก็จำกัดเป้าหมายคือมุ่งสร้างพลังชุมชนไปตามความเชื่อตามประสบการณ์ที่เห็นคนตัวเล็กตัวน้อยถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้ไปโค่นล้มอะไรหรือแช่แข็งใครตามที่ถูกกล่าวหา ถึงจะไม่เห็นด้วยก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิทธิของเขา แล้วเอาเข้าจริง พวกสายชุมชนเขาก็สะสมนวัตกรรมเชิงนโยบายดีๆ ไว้เยอะนะครับ เนื้อหาก็ไม่ได้ขัดแย้งกับประชาธิปไตยเลือกตั้งอะไร เช่น การคุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภค การกระจายอำนาจ ระบบสวัสดิการต่างๆ

ที่ชวนให้แยกแยะก็เพราะอยากชวนท่านผู้อ่านคุยกันว่า ถ้าเราสกัดให้เหลือเฉพาะตัวละคร คือ ภาคประชาชนที่ไม่ได้กลายพันธ์ุ ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ไม่เคารพสิทธิและอำนาจของชุมชนจริง ทำให้ชุมชนพยายามใช้ประชาธิปไตยทางตรงเป็นช่องทางคัดค้านอำนาจส่วนกลาง

โจทย์ของเรื่องจึงน่าจะอยู่ที่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยเลือกตั้งกับพลังชุมชนที่มีประชาธิปไตยทางตรงเป็นที่พึ่ง

ที่ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ก็เพราะเราต้องตระหนักว่าประชาธิปไตยเลือกตั้งนั้นสำคัญ ใครไม่ชอบอย่างน้อยก็ควรยอมรับว่าเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด แต่ในทางกลับก็มีจุดอ่อน คือ ไม่สามารถตอบโจทย์บางเรื่อง ซึ่งพลังชุมชนจะช่วยอุดจุดอ่อนนี้ได้

โจทย์ที่ว่าคือโจทย์เชิงคุณค่าระยะยาว เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นให้ประชาชนเพื่อแลกคะแนนเสียง ส่วนปัญหาในอนาคตก็เตะกระป๋องไปให้รัฐบาลต่อๆ ไป การกาบัตรของประชาชนเองก็เป็นการเลือกเพื่อผลประโยชน์ของตน หรือต่อให้คิดไกลก็ไปไม่เกินลูกหลาน ไม่ใช่เลือกเพื่อสังคม และแน่นอนว่ายิ่งไม่ใช่เลือกเพื่อสังคมในอีกร้อยปีข้างหน้า

แนวโน้มนี้ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ การเลือกตัวแทนไปปกป้องและเอาผลประโยชน์มาให้ประชาชนนี่แหละคือแก่นสารของประชาธิปไตยเลือกตั้ง ถ้าที่ไหนอ้างว่าต้องกดทับสิทธิเสียงและผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อตอบโจทย์ระยะยาว ที่นั่นเป็นเผด็จการแน่ๆ

เพียงแต่ประเด็นของผมคือ มันไม่พอยกตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมนะครับ

ทุกวันนี้ทุนนิยมมองสิ่งแวดล้อมเป็นทรัพยากรที่ควรใช้ให้มากและคุ้มที่สุด ส่วนเรื่องทรัพยากรหมดโลกก็มีทฤษฎีว่าการแข่งขันจะทำให้เกิดการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นกันอยู่ว่าโลกเรากำลังยืนอยู่หน้าหุบเหวด้านสิ่งแวดล้อม

ถามว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งทั่วโลกตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้ไหม ข้อเท็จจริงที่เห็นอยู่คือไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องระยะยาวเกินกว่าจะเอามาเป็นนโยบาย หนำซ้ำอยากเอาป่าสงวนมาทำเป็นที่ท่องเที่ยวด้วยซ้ำ

หันไปหันมา ก็เห็นว่ามีแต่ความรู้สึกเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมชะตากรรมแบบชุมชนนี่แหละ ที่จะนำพาประเด็นระยะยาวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะจะทำให้คนคิดอะไรไปไกลกว่าเรื่องของตัวเอง

ดังนั้น เพื่อไม่ให้พลังชุมชนต้องไปหลอมรวมเข้ากับกระแสคลั่งชาติกลวงเปล่า และใช้ข้ออ้างประชาธิปไตยทางตรงเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยเลือกตั้ง เห็นทีก็มีแต่การที่ผู้รักในประชาธิปไตยเลือกตั้งต้องยอมรับในข้อจำกัดของตน แล้วพูดให้เขารู้ว่าเราตระหนักถึงปัญหาและพร้อมแก้ไขถ้าไม่พูด อีกฝ่ายก็จะฉวยไปใช้พูดดึงพวกภาคประชาชนไปเป็นแนวร่วม

ยอมรับตรงนี้ก่อน หลังจากนั้นก็เปิดพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงให้พวกเขาภายใต้เงื่อนไขหลักคือห้ามใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นเครื่องมือโค่นล้มประชาธิปไตยเสียงข้างมาก