ตะวัน มานะกุล
ผมทรงนักเรียนที่เคยเกรียนสงบราบคาบงอกยาวขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อมีผู้ปกครองและนักเรียนส่งหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2554 ฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า การบังคับตัดหัวขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงทำให้นักเรียนที่อยู่ในวัยรุ่นขาดความมั่นใจและเสียสมาธิในการเรียน นอกจากนี้ การที่บางโรงเรียนอนุโลมให้ไว้ผมยาวนั้น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
น่าสนใจว่า แม้เรื่องหัวเกรียนจะเป็นวิวาทะมานาน แต่กระทรวงศึกษาระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกเลยทีเดียวที่มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
ภายหลังพิจารณาเสร็จสิ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชี้ว่า ทรงผมของนักเรียน แม้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่เป็น “การกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมความประพฤติของนักเรียน และไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของนักเรียน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
คำอธิบายของคณะกรรมการสิทธิน่าสนใจ เพราะที่บอกว่า การบังคับตัดหัวไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพนั้น กรรมการสิทธิฯ อ้างว่า เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 64 เขียนให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง ปี 2515 ที่ออกตามความประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 เขียนไว้ว่า ห้ามนักเรียนชายไว้ผมด้านหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 ซ.ม. ในขณะที่รอบผนังหัวต้อง ‘ตัดเกรียนชิดผิวผนัง’ (แก้ไขปี 2518 เป็นนักเรียนชายให้ไว้ผมได้ไม่เกินตีนผมทั้งด้านข้างและด้านหลัง) ส่วนนักเรียนหญิงห้ามไว้ผมยาวเลยต้นคอ หรือหากสถานศึกษาไหนอนุญาตให้ไว้เลยต้นคอได้ต้องรวบไว้ให้เรียบร้อย
ส่วนเรื่องที่บางโรงเรียนปล่อยให้เด็กไว้ผมยาว คณะกรรมการสิทธิชี้ว่าไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะกระทรวงศึกษาธิการเคยมีบันทึกข้อความเปิดให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาอนุโลมทรงผมได้ตามความเหมาะสม เช่น นักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์ หรือนักเรียนที่เป็นมุสลิม
สรุปคำตัดสินแบบงงๆ ก็คือ ผู้ร้องร้องว่ากฎหมายบังคับตัดหัวขัดรัฐธรรมนูญ แต่กรรมการสิทธิฯ ฟันธงว่าไม่ขัด เพราะกฎหมายให้เหตุผลว่าไม่ขัด (ต่อไปร้องเรียนกฎหมายฉบับไหนก็คงตกหมด เพราะเท่าที่ทราบไม่มีกฎหมายฉบับใดยกเว้นกฎหมายสมัยปฏิวัติที่เขียนไว้ว่า ‘กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ’)
บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจจะหาข้อสรุปว่า กรรมการสิทธิฯ ในปัจจุบันกำลังทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพหรือปกป้องอำนาจรัฐกันแน่ แต่จะชวนคุยว่า เรื่องหัวเกรียนนั้นสะท้อนวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ
ผมไปไล่ดูในเว็บบอร์ดชื่อดังแห่งหนึ่งที่เคยเกิดวิวาทะใหญ่เรื่องหัวเกรียน ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่า ที่ควรให้นักเรียนไทยตัดหัวนั้น เพราะเด็กไทยไม่พร้อมเหมือนเด็กในประเทศเจริญแล้ว หากปล่อยให้หัวงอกออกมา เด็กก็จะหมกมุ่นกับความสวยความงามจนไม่ตั้งใจเรียน แล้วสุดท้ายจะไปเลือกทรงผมแบบกเฬวรากกันหมด
ดังนั้น เพื่อปกป้องเยาวชนของชาติ จึงควรออกกฎให้หัวนักเรียนทั้งหมดเกรียนราบคาบเพื่อฝึกระเบียบวินัย หากแค่นี้ยังทำกันไม่ได้ โตไปก็เดาได้เลยว่า อ้ายพวกนี้ต้องไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองแน่นอน!!!
เมื่อการตัดหัวเด็กกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งระเบียบวินัย และเชื่อมโยงเข้ากับความมั่นคงของชาติ เช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจถ้าหากกฎกระทรวงจะจัดให้เรื่องทรงผมอยู่ในหัวข้อเดียวกับการควบคุมเรื่องการหนีเรียน มั่วสุม เสพยา เที่ยวผู้หญิง หรือแม้กระทั่งพกวัตถุระเบิด
โดยในสายตาผู้ใหญ่นั้นกล่าวได้ว่า ความเกรียนคือปราการที่ง่ายที่สุดสำหรับคัดกรองว่า เด็กคนไหน “พร้อมที่จะรับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่เป็นพลเมืองดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต” หรือไม่
ด้วยตรรกะข้างต้นนี้ ผู้ใหญ่จึงต้องถือไม้เรียว เพราะหากอธิบายโน้มน้าวแล้วเด็กยังไม่ยอมเกรียน ความรุนแรงจะเป็นไม้แข็งที่จำเป็นสำหรับการดัดไม้อ่อนไม่ให้เติบโตขึ้นมาอย่างบิดเบี้ยว
กล่าวโดยสรุป วัฒนธรรมการตัดหัวเกรียนคือภาพจำลองวัฒนธรรมทางอำนาจในประเทศไทย เพราะตัวพล็อตเรื่องนั้นคล้ายๆ กัน คือ มี ‘ผู้ใหญ่’ ที่รู้ดีที่ถือไม้เรียวในมือคอยกำกับ ‘เด็ก’ ไม่ฉลาดที่รอการชี้นำ ดังนั้น การควบคุมทรงผมจึงไม่ใช่เรื่องของการควบคุมทรงผมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการฝึกให้เด็กคุ้นชินกับสภาพวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ถือว่าความสงบราบเรียบ (ติดผนังหัว) และว่านอนสอนง่ายเป็นคุณธรรม
จำลองเสมือนจริงถึงขนาดที่มีผู้อนุรักษ์ทรงผมนักเรียนในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งประกาศอย่างชัดเจนว่า ถ้าแค่นี้ทนไม่ไหว ‘ก็ลาออกไปเรียนนานาชาติสิ’!!!
ส่วนตัวผมไม่อยากยอมรับพล็อตเรื่องแบบนี้ เพราะไม่เชื่อว่า ‘ผู้ใหญ่’ รู้ดีเสมอ และ ‘เด็ก’ โง่ตลอด แต่เห็นว่าทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ผิดๆ ถูกๆ ได้พอๆ กัน ดังนั้น สิทธิเสรีภาพจึงน่าจะคล้ายกับเส้นผม คือ หากเปิดกว้างให้งอกเงยขึ้นมาบนหัว ‘เด็ก’ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นไปในทางเสื่อมเสมอไป กล่าวอย่างถึงที่สุด อะไรถ้างอกเงยขึ้นมาแล้วไม่ได้ไปหนักหัวใคร ย่อมไม่ควรนำมาเชื่อมโยงใดๆ กับประเด็นเรื่องความเสื่อม-ไม่เสื่อมเลยด้วยซ้ำ
หนังสือร้องเรียนที่เด็กไม่ยอมเกรียนส่งไปให้กรรมการสิทธิก็อ้างอิงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าในทางกลับกัน กฎระเบียบเรื่องทรงผมต่างหาก ที่ทำให้วัยรุ่นที่กำลังห่วงเรื่องบุคลิกภาพคับข้องใจมากที่สุด และกลายเป็นต้นตอหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ต่อไป
ผมเห็นด้วยกับงานวิจัยโดยค่อนข้างมั่นใจว่า ความเกรียนนั้นเชื่อมโยงกับความ ‘เกรียน’ อย่างมีนัยยะสำคัญ
‘เกรียน’ คือแสลงที่เพิ่งเกิดได้ไม่กี่ปีเพื่อใช้สำหรับหยอกล้อหรือด่าทอกัน มีความหมายเทียบได้กับคำว่า ‘กาก’
ทั้งนี้ มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่า ต้นกำเนิดของคำดังกล่าว เริ่มขึ้นในแวดวงอินเทอร์เน็ต โดยใช้สื่อถึงพวกกลุ่มเด็กที่เอาแต่คบกันเองแล้วร่วมกันสร้างนิสัยแย่ๆ เช่น มั่นใจในตัวเองสูงแต่ไม่มีเหตุผล EQ ต่ำ เรียกร้องความสนใจ คิดว่าตนสมบูรณ์พร้อมกว่าคนอื่น ทั้งนี้ ความเกรียนนี้ไม่จำกัดเพศและวัย
ที่ว่าเกรียน กับ ‘เกรียน’ เชื่อมโยงกัน เพราะทั้งสองอย่างคือการทำตามๆ กันอย่างไม่ยั้งคิด ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากการ ‘ตัดหัว’ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะตัดผมหรือตัดความคิดเด็กเพื่อให้เด็กคุ้นชินกับการเชื่อฟังและไม่คิดตั้งคำถาม รวมถึงเชื่อว่าสิ่งที่ตนกำลังทำตามนั้นถูกต้องสูงส่ง
เด็กจึงโตขึ้นมาแบบไม่มี ‘หัว’ เป็นของตนเอง ชอบทำอะไรตามๆ กันโดยไม่สนใจเหตุผล ไม่รู้จักเอาใจเขาใส่ใจเรา หนำซ้ำยังเชื่อว่าตนเหนือกว่าคนอื่น
แน่นอนว่า หากกล่าวถึงคุณสมบัติพึงประสงค์ของเยาวชนไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าระเบียบวินัยนั้นสำคัญ เพียงแต่ระเบียบวินัยที่ไร้สิทธิเสรีภาพและพื้นที่สำหรับเหตุผลและความรู้สึก ก็คือภาพจำลองของสังคมเผด็จอำนาจที่ปกครองกันด้วยไม้เรียว ซึ่งน่าจะเป็นสังคมที่ไม่มีความสุขพอๆ กับสังคมที่มีแต่เสรีภาพแต่ไร้ขื่อแป ซึ่งผู้อนุรักษ์ผมนักเรียนอธิบายว่าจะนำไปสู่ความล่มสลาย
นอกจากนี้ เอาเข้าจริงสังคมไม้เรียวก็ไม่เคยมีระเบียบวินัยเกิดขึ้นอย่างแท้จริงด้วยซ้ำ เพราะหากระเบียบวินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเกิดสำนึกและความตระหนักรู้ทางศีลธรรม ปัญญา หรือรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากคนไม่มี ‘หัว’ ตั้งแต่เด็ก
ระเบียบวินัยในสังคม ‘เกรียน’ ๆ จึงเป็นแค่เกม ถ้าผู้มีอำนาจไม่ได้บอกว่าจะตีหรือไล่ตีไม่ทันก็แปลว่าทำได้ วิธีคิดที่ว่าหลบเลี่ยงกฎหมายได้แปลว่าไม่ผิด ก็ตรรกะเดียวกับนักเรียนหนีตรวจผมแหละครับ รอดก็คือรอดเพราะกฎเกณฑ์นั้นคือกรง ถ้าไม่มีกรงหรือมีรูก็แปลว่าออกไปได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะกรงไม่ได้เชื่อมโยงกับศีลธรรมหรือเหตุผลใดๆ
ดังนั้น การสร้างสมดุลระหว่างระเบียบวินัยและสิทธิเสรีภาพในสังคมและในโรงเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ฉันใดฉันนั้น คุณลักษณะพึงประสงค์ที่แท้จริงของเยาวชน จึงน่าจะได้แก่การที่เยาวชนไทยรู้จักเคารพกฎเกณฑ์ และมี‘หัว’ ของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ‘หัว’ ในที่นี้คือ ‘หัว’ ที่งอกเงยขึ้นมาด้วยตนเองนะครับ ไม่ใช่ ‘หัว’ ที่ผู้ใหญ่มาตัดแต่งจนพอใจแบบทรงนักเรียน
เยาวชนจะเป็นเช่นนี้ได้ ผู้ใหญ่ต้องเปิดพื้นที่สำหรับการถกเถียง แล้วปล่อยให้กฎเกณฑ์ต่างๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยการพิสูจน์ตนเองผ่านพื้นที่ดังกล่าว กฎเกณฑ์อะไรที่พิสูจน์ตัวเองไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ส่วนกฎเกณฑ์ที่มีเหตุผลหนักแน่น มีความรู้สึก หรือความเห็นพ้องต้องกันมากพอก็อยู่รอด
สรุปก็คือ ให้เด็กเลือกเคารพกฎเกณฑ์ที่เขาคิดแล้วว่าน่าเคารพ ไม่ใช่ไปยัดเยียดใส่หัว
แต่ทุกวันนี้ การบังคับตัดหัวเกรียนเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ เป็นการพยายามสร้างระเบียบวินัยที่ไม่พร้อมถกเถียงทางเหตุผลหรือทางความรู้สึก แต่อนุรักษ์ไว้อย่างไม่ลืมหูลืมตาด้วยไม้เรียวซึ่งเป็นรูปแบบที่สุดโต่ง คือ สอนเรื่องหนึ่งโดยกดทับอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถ้าหวังให้การศึกษาไทยหรือสังคมไทยเคลื่อนย้ายจากการควบคุมเรื่อง ‘หัว’ แบบหลับหูหลับตาไปสู่การยึดมั่นในการถกเถียงทางปัญญานั้นคงยาก เพราะเอาเข้าจริงการฝึกระเบียบวินัยและปฏิเสธสิทธิเสรีภาพนี่แหละคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ไทยต้องการดังนั้น ยิ่งคุมอะไรโดยไร้เหตุผลได้ยิ่งดี เพราะการทำตามคือการพิสูจน์ความเชื่อฟังอย่างปราศจากเงื่อนไข
พูดก็พูดเถอะ ส่วนตัวผมก็เห็นว่าข้อถกเถียงที่ว่าถ้าปล่อยเสรีจะเกิดปัญหาเรื่องแฟชั่นผมและความฟุ่มเฟือยนั้นมีน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้เป็นความเห็นที่ไม่ควรบังคับกัน ดังนั้น การพูดคุยกันด้วยเหตุผลแล้วให้เด็กตัดสินใจเองน่าจะเหมาะสมกว่า หรือถึงที่สุด ถ้าจะมีกฎเกณฑ์เรื่องผม ก็ควรจะเป็นกฎเกณฑ์ผ่านการถกเถียงเพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลมากกว่ากฎเกณฑ์ทุกวันนี้
แต่หากไม่มีการเปิดพื้นที่บนหัวให้เด็ก บ้านเราก็จะยังคงตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ คือ ผู้ใหญ่ ‘ตัดหัว’ เด็ก เด็กก็โตขึ้นมาพร้อมกับความ ‘เกรียน’ แล้วกลับไป ‘ตัดหัว’ เด็กรุ่นต่อไปวนซ้ำไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าตนกำลังทำสิ่งที่ดีงาม สุดท้ายจึงพากัน ‘เกรียน’ แทบทั้งบ้านเมือง นานๆ ทีมีกบฏใหญ่ ก็ต้องอาศัยตั้งแต่ไม้เรียว เก้าอี้ หรืออาวุธสงคราม เข้าปราบปราม
ตราบใดที่ยังเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรคิดเลยไปถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะสังคมแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กมี ‘หัว’ และมีพื้นที่สำหรับความเห็นต่าง ที่ผ่านมาการเรียนรู้ด้วยตนเองในประเทศไทยคือการทำเป็นเปิดพื้นที่ให้เด็กคิด พอเด็กแสดง ‘หัว’ ของตัวเองให้ดู ก็ไล่ให้ไปคิดใหม่ด้วยตนเองจนกว่าจะ ‘คิดได้’ เหมือนครู
เรื่องนักเรียนตีกันยิ่งไม่ต้องพูดถึง กล่าวอย่างตรงไปตรงมา การตีกันบางกรณีอาจถือเป็นผลสำเร็จของการศึกษาไทยเสียครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ เพราะเด็กรู้จักไปทำอะไร ‘เกรียน’ ๆ ตามๆ กันโดยไม่คิด เพียงแต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จอีกครึ่งหนึ่ง ก็ตรงที่ผู้ที่เด็กๆ ตามกันไปไม่ใช่ผู้ใหญ่รู้ดีเท่านั้นเอง
ถ้าไม่อยากให้บ้านเรามีวัฒนธรรมความ ‘เกรียน’ ก็ควรเริ่มด้วยการเลิก ‘ตัดหัว’ เด็ก ทั้งตัดผมหรือตัดความคิด ถ้าจะยกข้ออ้างเรื่องความเป็นไทยมาเป็นไม้ตายสุดท้าย ก็ต้องบอกว่าหัวเกรียนนี่เราลอกมาจากญี่ปุ่นยุคสงครามโลกเพราะมีเหาระบาดในประเทศเขา ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันเหาไม่ใช่ปัญหาใหญ่แล้ว ดังนั้น การตัดหัวเกรียนจึงเป็นตัวอย่างของการลอกวัฒนธรรมต่างชาติแบบ ‘เกรียน’ ๆ
หากเกรงว่าเด็กจะใช้เสรีภาพลุกขึ้นมาท้าทายระบบการศึกษา ให้ตายเถอะครับ คิดในมุมกลับ นี่ไม่ใช่หรือคือเด็กกล้าคิดกล้าทำที่เราโหยหามานาน
ส่วนความกลัวที่ว่าเด็กจะใช้เสรีภาพแบบ ‘เกรียน’ ๆ นั้น ผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ความ ‘เกรียน’ เกิดจากการ ‘ตัดหัว’ ไม่ใช่ผลพวงของเสรีภาพ
สุดท้าย ถ้าจะยกข้ออ้างเรื่องเด็กไทยยังคิดไม่ได้นั้น ก็คงต้องยืมคำของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักปรัชญาสตรีนิยม ที่ใช้บรรยายสรุปสภาพการกดขี่สตรีเพศอย่างกินใจว่า “ผู้หญิงถูกตัดปีก แต่กลับถูกตำหนิซ้ำเมื่อพวกเธอบินไม่ได้”
ทำนองนั้นแหละครับ ถ้ายังจะ ‘ตัดหัว’ เด็ก ก็อย่าไปตำหนิเลยครับว่าเด็กไม่มี ‘หัว’