ThaiPublica > คอลัมน์ > ‘รัฐชาติ’ ในสายน้ำ

‘รัฐชาติ’ ในสายน้ำ

25 กรกฎาคม 2012


ตะวัน มานะกุล

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน เสียชีวิตไปกว่า 813 คน ในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ตัวเลขความเสียหายพุ่งสูงถึง 1.44 พันล้านบาท1 วิกฤติการณ์ดังกล่าวจบไปตั้งแต่ต้นปี แต่วิกฤติในเชิงความรู้สึกคลี่คลายไปแล้วหรือยังนั้นไม่แน่ใจ เพราะทุกวันนี้เวลาไปมาหาสู่กัน ผู้เยี่ยมเยียนยังคงสอบสวนเจ้าของบ้านถึงประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น ผู้เป็นเจ้าของก็คล้ายมีหน้าที่ต้องอธิบายพร้อมชี้ร่องรอยน้ำท่วมให้แขกผู้มาเยือนชม เอาเข้าจริง หลายบ้านยังไม่ได้จัดของเข้าที่เข้าทางด้วยซ้ำ เพราะไม่แน่ใจว่าปีนี้ปีหน้าจะต้องขนหนีน้ำกันอีกรอบหรือไม่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เราไม่แน่ใจว่า ‘น้ำ’ ไปหมดแล้วจริงหรือไม่

เพราะน้ำดูจะยังคงท่วมมิดความทรงจำผู้คน และไม่มีทีท่าจะลดระดับลงง่ายๆ

การสร้างแนวทาง นโยบายเพื่อบริหารจัดการน้ำ ยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่หลอกหลอนผู้คนในประเทศจวบจนปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือแนวทางต่างๆ ที่เราเลือกใช้นั้น อาจให้ผลลัพธ์ที่เป็นได้ทั้งทางออกหรือเป็นการซ้ำเติมปัญหา ดังนั้น การทบทวนว่าในช่วงวิกฤติการณ์ สังคมเราเลือกใช้ทรัพยากรรวมหมู่อันมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ งบประมาณ รวมถึงเวลา ไปกับการ ‘ยก’ อะไรหนีน้ำ และในขณะเดียวกันได้ปล่อยทิ้งอะไรให้จมหายไปบ้าง อาจมอบบทเรียนบางประการให้แก่เราไม่มากก็น้อย

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการเลือกของสังคมไทย ที่ล้วนส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐานของสังคมการเมือง ได้สามประการดังนี้

ประการแรก ในแง่เป้าหมายสังคม เราเลือกปกป้องมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีความยุติธรรมเป็นค่าเสียโอกาส สังเกตได้จากแนวนโยบายที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ จะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจเลือกที่จะวางแผนการการบริหารจัดการน้ำท่วมโดยอาศัยการ “ตีราคา” มูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ แล้ววางนโยบายป้องกันโดยให้ความสำคัญกับพื้นที่มูลค่าสูงไล่เรียงลงมา โดยเฉพาะการทุ่มเททรัพยากรมหาศาล ฝืนทิศทางน้ำตามธรรมชาติเพื่อปกป้องพื้นที่ทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ชั้นใน

เบื้องหลังแนวทางดังกล่าว คำถามมากมายถูกละเลยทั้งที่ควรถาม เช่น ถูกต้องแล้วหรือที่ประชาชนจำนวนหนึ่งจะต้องเสียสละสิ่งของบ้านเรือนเพื่อปกป้องประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เพียงเพราะพวกเขาและพื้นที่ของพวกเขามีต้นทุนทางเศรษฐกิจต่ำกว่า? เป็นธรรมหรือไม่ที่ภาครัฐและสื่อสาธารณะให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมมากกว่าชีวิตของประชาชนที่ถูกสายน้ำเดียวกันพัดพาไป ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า น้ำท่วมที่ผ่านมา สังคมเราไม่ได้แบ่งเวลาและทรัพยากรมาใช้ในการค้นหาความยุติธรรมเท่าไรนัก

ประการที่สอง ในแง่วิธีการ สังคมไทยเลือกพึ่งพาอำนาจรัฐรวมศูนย์เพื่อบังคับบัญชาแก้ไขปัญหา โดยละเลยที่จะเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชน เอาเข้าจริง อาจกล่าวได้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะท่ามกลางความสับสน คงไม่มีตัวแสดงใดที่มีความพร้อมและพร้อมให้พึ่งทั้งในแง่การจัดองค์กรและทรัพยากรมากไปกว่ารัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อความยุติธรรมถูกละเลย ความรู้สึกไม่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้นในหมู่คนไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมต้องการส่งเสียงไปถึงบุคคลและองค์กรที่มีอำนาจ แต่การรวมศูนย์การตัดสินไว้ที่รัฐอย่างเข้มข้นเบียดบังความต้องการดังกล่าวของพวกเขาไปโดยปริยาย

ประการสุดท้าย ในแง่การอธิบายความชอบธรรม สังคมไทยเลือกอธิบายแนวปฏิบัติทั้งหมดทั้งปวง ด้วยข้ออ้างเรื่อง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” โดยจัดวางให้ผลประโยชน์ของคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นเป้าหมายในลำดับรอง จะเห็นได้ว่าการ ‘เสียสละเพื่อชาติ’ หรือถ้อยคำอื่นๆ ในทำนองนี้ คือข้อเรียกร้องและคำประณามของคนกลุ่มหนึ่งต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงความไม่พอใจต่อแนวทางการบริหารจัดการของภาครัฐในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก

กล่าวโดยสรุป ในขณะที่เราเลือกปกป้องตัวเลขเศรษฐกิจด้วยอำนาจรัฐรวมศูนย์ ภายใต้ข้ออ้างเรื่อง ‘ชาติ’ อันเป็นนามธรรม ประเด็นเรื่องความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และผลประโยชน์ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ก็จมหายไปกับสายน้ำ โดยไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจมาเสียเวลาหรือเสียน้ำตาใส่ใจ คำถามที่สำคัญก็คือ การเลือกเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนป้องกันและทำซ้ำ หากน้ำมาคราวหน้าหรือไม่

ก่อนจะกล่าวต่อไป คงไม่เป็นธรรมหากละเลยที่จะกล่าวถึงบทบาทอันเสียสละและมุ่งมั่นของผู้คนจำนวนมาก ที่หากมองในเชิงวิพากษ์แล้วถือได้เป็นผู้ได้เปรียบจากแนวทางการบริหารจัดการทั้งหมดที่กล่าวไป คนเหล่านี้จำนวนมากมาช่วยบริจาคและรับส่งสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตาม ภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาน้ำท่วมนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยศีลธรรมส่วนบุคคลเท่านั้น แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่น่ายกย่องก็ตาม

เพราะปัญหาเหล่านี้สัมพันธ์กับการแนวทางการบริหารจัดการรวมหมู่ที่กล่าวไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนและสร้างปัญหาในระดับโครงสร้างการเมืองคือ ‘รัฐ’ และ ‘ชาติ’

หากเราประเมินบทบาทนำในการแก้ปัญหาของรัฐในช่วงเวลานั้น ด้วยเกณฑ์ประเมินตามแนวทางที่สังคมเรา ‘เลือก’ ซึ่งได้แก่การปกป้องตัวเลขทางเศรษฐกิจด้วยอำนาจรัฐรวมศูนย์ ภายใต้ข้ออ้างเรื่อง ‘ชาติ’ อันเป็นนามธรรม ก็จะพบข้อเท็จจริงว่า รัฐไม่สามารถปกป้องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากอันเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ ในขณะที่ภาพความไม่พอใจของผู้เสียเปรียบที่แสดงออกมาทั้งทางคำพูด หรือการกระทำ เช่น รื้อคันกั้นน้ำที่รัฐสร้าง ก็เกิดให้เห็นโดยทั่วไป

กล่าวอย่างเป็นธรรม เราไม่อาจชี้ชัดได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใดเป็นความเสียหายสุดวิสัยที่เกิดจากภัยพิบัติ หรือส่วนใดเป็นความเสียหายที่เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่เห็นได้ชัดคือ ภาครัฐล้มเหลวในเรื่องการจัดตั้งโครงสร้างการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชน เห็นได้จากการที่หน่วยงานรัฐให้ความเห็นขัดแย้งและทะเลาะกันเองผ่านสื่อสาธารณะ และการที่ประชาชนหันไปติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่งการวิพากษ์ดังกล่าวมิใช่มุมมองจากภายนอกเท่านั้น แต่มีปากคำของผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการมากกว่าหนึ่งท่านเป็นผู้ยืนยันเองด้วยซ้ำ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลโพลล์ในช่วงวิกฤติการณ์บอกเราว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลลดเหลือแค่ประมาณ 30%2

นอกจากแนวทางที่เลือกจะไร้ประสิทธิภาพและทำไม่ได้ตามเป้า สิ่งที่เราไม่ได้เลือก ได้แก่ ประเด็นเรื่องความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และผลประโยชน์อันจับต้องได้ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ยังสร้างปัญหาสำคัญสองระดับ คือ ในเบื้องต้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากสะสมความไม่พอใจ และต่อมาเมื่อรัฐและสังคมส่วนรวมพยายามกดทับความไม่พอใจของคนกลุ่มนี้ด้วยการเรียกร้องให้พวกเขาเสียสละเพื่อ ‘ชาติ’ ถ้อยคำดังกล่าวที่เคยถูกใช้เพื่อยึดโยงผู้คนไว้ด้วยกันก็เริ่มเสื่อม เพราะผู้คนที่ถูกกระทำจะเริ่มไม่แน่ใจว่า ‘ชาติ’ หมายถึงอะไรกันแน่

และ ‘ชาติ’ ที่พูดกันบ่อยๆ นี้นับรวมพวกเขาเข้าไปด้วยหรือไม่

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเห็นว่าโจทย์สำคัญลำดับแรกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม คือการแก้ไขเป้าหมายวิธีการที่เราเคยเลือกใช้ ด้วยการกำหนดให้คุณค่าเป้าหมายเรื่องความยุติธรรม อันเป็นหน้าที่แก่นกลางของรัฐเป้าหมายสำคัญอีกเป้าหมายหนึ่ง มีการเปิดพื้นที่ให้การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการ นโยบายต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้คนในระดับปัจเจก รวมถึงมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวทางที่ผ่านมา นอกจากไม่นำพาแล้ว ยังเป็นปฏิปักษ์อย่างจงใจ

หากไม่อยากเห็น ‘รัฐ’ ที่ไร้ประสิทธิภาพ การปฏิรูปการจัดองค์กรสำหรับรับมือภัยพิบัติเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญ โดยทางออกนั้นควรเริ่มจากการออกแบบโครงสร้างที่มอบอำนาจเต็มให้แก่ข้าราชการการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในการรับมือภัยพิบัติ เพราะในสภาวะฉุกเฉินนั้น ธรรมชาติของข้าราชการทั่วไปไม่เหมาะสมเนื่องจากติดขัดในเรื่องกฎระเบียบ และวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องรออนุมัติก่อนแล้วจึงค่อยทำเนื่องจากกลัวถูกลงโทษ

ในขณะที่ข้าราชการการเมือง มีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะบังคับให้พวกเขากล้าตัดสินใจอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาคะแนนเสียงทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายความว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องการเลือกตั้งที่ดี เพราะกลไกดังกล่าวคือที่มาของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและพร้อมรับผิดชอบต่อประชาชน

ในส่วนของหน่วยงานราชการนั้น ควรมีการบูรณาการ กระชับองค์กรต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งในเชิงข้อมูลข่าวสาร และการจัดทำนโยบาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนและความขัดแย้งเช่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงโจทย์เรื่องการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ

และหากไม่อยากเห็น ‘ชาติ’ ที่ไร้ความหมาย จนเป็นเหตุให้ผู้คนเบือนหน้าหนีด้วยความเบื่อหน่าย จนนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกเป็นปฏิปักษ์ การเลิกใช้วาทกรรมดังกล่าวอย่างพร่ำเพรื่อเลื่อนลอยย่อมเป็นหมุดหมายเริ่มต้นอันดี ก่อนที่ในระยะยาวเราจะร่วมกันเปลี่ยนนิยามคำดังกล่าว ให้ยึดโยงกับชีวิตผู้คนและเรื่องราวอันเป็นรูปธรรม เช่น การมองความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มูลค่าต่ำทางเศรษฐกิจ ว่าเป็นปัญหาของชาติพอๆ กับการที่นิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วม

เรื่องความเสียสละนั้น ถึงที่สุดคงต้องมีบ้าง แต่ทั้งนี้การเสียสละจะเป็นการเสียสละได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนที่ถูกเรียกร้องให้เป็นผู้เสียสละนั้น ได้เลือกเองว่าเขาเต็มใจที่จะเสียสละหรือไม่ และเพื่อให้การเสียสละดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างชอบธรรมในทางปฏิบัติ กลไกการชดเชยที่เป็นธรรมจะเป็นเครื่องมือและแรงจูงใจที่ทำให้เกิดผลดีทั้งในระดับส่วนรวมและส่วนบุคคล กล่าวคือชาติได้ประโยชน์จากการเสียสละของบุคคลเท่าที่จำเป็น ในขณะที่บุคคลได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสม

น้ำลดแล้วบทเรียนควรผุด การทบทวนสิ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยความมุ่งมั่นและหัวใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นทางเดียวที่จะทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่เป็นแต่เพียงความหลังอันเจ็บปวด อย่างน้อยการกระทำดังกล่าวก็ถือเป็นการไว้อาลัยทางปัญญาต่อชีวิตที่สูญหายไปกับสายน้ำ การปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงเป้าหมาย วิธีการ การให้คุณค่า ทั้งในเชิงอุดมคติและปฏิบัติ จะเป็นแนวทางเดียวที่ทำให้น้ำมาคราวหน้า ‘รัฐชาติ’ จะไม่เปื่อยยุ่ยหรือจมหายไปกับสายน้ำ

น้ำมาคราวหน้าจะได้ท่วมไม่ถึง ‘รัฐชาติ’

หมายเหตุ

1ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (๒๕๕๔). สรุปสถานการณ์สาธารณภัย ประจำวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์ และศูนย์อำนวยการ ปภ. (๒๕๕๔). สรุปรายงานสาธารณภัย. [ออนไลน์]. ดูเพิ่มเติม (วันที่ค้นข้อมูล: ๑ เมษายน ๒๕๕๕).

2 Hanoiii Reuter. (๒๕๕๔).กรุงเทพโพลล์ เผยคนส่วนใหญ่เชื่อมหาอุทกภัยจะเกิดขึ้นอีก. (วันที่ค้นข้อมูล: ๑ เมษายน ๒๕๕๕).