ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คดี “คลิตี้” ชาวบ้านยังไม่ได้เงินชดเชย ทีมกฏหมายชี้ แม้จบที่ชั้นศาลยังต้องตามไปอายัดทรัพย์บริษัทร้าง

คดี “คลิตี้” ชาวบ้านยังไม่ได้เงินชดเชย ทีมกฏหมายชี้ แม้จบที่ชั้นศาลยังต้องตามไปอายัดทรัพย์บริษัทร้าง

28 มิถุนายน 2012


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 นายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงการณ์ด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2555 ต่อองค์คณะที่ 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองสูงสุด ณ ห้องพิจารณาคดี 1 อาคารปกครอง ชั้น 3 ศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.597/2551 (อุทธรณ์คำพิพากษา) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ชาวบ้านคลิตี้ล่างและพวกรวม 22 คนผู้ฟ้องคดี และกรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีว่า

โดยสรุป เห็นสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้กรมควบคุมมลพิษชำระค่าเสียหายหรือค่าทดแทนแก่ชาวบ้านคลิตี้ล่างทั้ง 22 คน คนละ 176,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,872,000 บาท และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่เท่ากับเงินจำนวนเดิมที่ชาวบ้านคลิตี้ฟ้องไป

หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษและชาวบ้านคลิตี้ล่างต่างยื่นอุทธรณ์ จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อต้นปี 2551 (อ่านเพิ่มเติม)ว่ากรมควบคุมมลพิษจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านคลิตี้ล่างทั้ง 22 ราย เพียงกึ่งหนึ่ง คือรายละ 33,783 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 743,226 บาท ภายใน 90 วันนับแต่คดีสิ้นสุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนแห่งการชนะคดี หลังจากที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างยื่นฟ้องศาลตั้งแต่ปี 2547(อ่านเพิ่มเติม)

ในวันเดียวกันนี้ เครือข่ายภาคประชาชนประกาศปฏิญญาคลิตี้ 14 ข้อ เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูลำห้วยและออกมาตรการเชิงรุกแก้ปัญหามลพิษและปกป้องสิ่งแวดล้อม(อ่านรายละเอียด)

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ประธานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะทีมกฎหมายของชุมชนชาวคลิตี้ กล่าวว่า สิ่งที่ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าว เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันใดต่อคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ศาลยังไม่ได้นัดวันฟังคำตัดสิน แต่คาดว่าไม่น่าเกิน 2 เดือน นอกจากคดีนี้แล้วยังมีอีก 2 คดีที่ฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในศาลยุติธรรม (อ่านรายละเอียดที่http://www.enlawthai.org/node/18583 และ http://www.enlawthai.org/node/51) ซึ่งอยู่ระหว่างชั้นศาลฎีกาทั้งคู่

นายสุรชัย ตรงงาม
นายสุรชัย ตรงงาม

สำหรับเงินชดเชยต่างๆ ที่ศาลเคยตัดสินมา ชาวบ้านยังไม่ได้รับเลยทั้งหมด เพราะคดียังไม่สิ้นสุด อย่างกรณีของศาลปกครอง เมื่อมีการยื่นอุทธรณ์คดีก็จะทุเลา หมายถึงไม่สามารถบังคับคดีได้จนกว่าศาลสูงสุดจะมีคำพิพากษา เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม ที่ต้องรอคำพิพากษาจากศาลฏีกาก่อน จนถึงท้ายที่สุดของการพิพากษา หากยังไม่มีการชำระก็ต้องไปบังคับใช้คดีโดยการอายัดทรัพย์อีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัทตะกั่วฯ ดังกล่าวปิดกิจการไปแล้ว ก็ต้องไปดูอีกว่ายังมีทรัพย์สินอะไรอีกบ้าง

อีกปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คือระบบที่ยังไม่มีการเยียวยาในเบื้องต้น แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นการเยียวยารูปแบบหนึ่งแต่ก็ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น การเยียวยาที่เหมาะสมที่สุดคือ รัฐต้องจัดการให้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นก่อน เช่น ให้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาทางกฎหมายอยู่ และคดีคลิตี้ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของกฎหมายในหลากหลายประเด็น และนี้คือประเด็นหนึ่งที่เราต้องผลักดัน

“ผมคิดว่าการเยียวยาแบบนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้มีคำพิพากษาสูงสุด โดยรัฐเข้ามาจัดการเยียวยา เช่น จัดตั้งกองทุนเพื่อมาดูแลสุขภาพและทรัพย์สินของชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แต่รูปแบบการเยียวยาเบื้องต้นโดยรัฐยังไม่ปรากฏชัดในสังคมไทยเลย เราผลักภาระให้ชุมชนให้คนที่ได้รับผลกระทบต้องมาใช้สิทธิฟ้องศาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” อ่านเพิ่มเติม

ข่าวแจก – กรมควบคุมมลพิษชี้แจง ความเห็นตุลาการผู้แถลงคดีคลิตี้ ไม่ใช่คำพิพากษาคดี

วันที่ 27 มิถุนายน 2555 นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงกรณีตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นกรณีชาวบ้านคลิตี้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต่อศาลปกครอง ไม่ใช่คำพิพากษาคดี ซึ่งความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี ที่ไม่ผูกพันกับองค์คณะที่จะมีคำพิพากษาคดีนี้ ยืนยันพยายามแก้ไขปัญหามาตลอดจนมีสภาพปัญหาดีขึ้น

ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 579/2551 ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับลำห้วยคลิตี้กล่าวหาว่า คพ. ละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วล่าช้าเกินสมควร เรียกค่าเสียหายจาก คพ.

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นสรุปได้ว่า “ผู้แถลงคดีมีความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดควรพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยให้ คพ. ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน แต่ละรายเป็นเงิน 176,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,872,000 บาท แต่ไม่ให้คิดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมศาล” (เดิมศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ คพ. ชดใช้รายละ 33,783 บาท รวมเป็น 743,226 บาท)

คพ. ขอชี้แจงว่า ในวันที่ศาลนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในคดีนี้แต่อยางใด เป็นแต่เพียงการรับฟังความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งความเห็นดังกล่าวไม่ผูกพันองค์คณะที่จะมีคำพิพากษาในคดีนี้ ทั้งนี้ องค์คณะในคดีนี้มีจำนวน 5 ท่าน และคดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาแต่อย่างใด

คพ. มีความเห็นใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วและพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด และยังมีความหวังว่าจะได้รับความกรุณาจากศาลปกครองสูงสุด เพราะ คพ. ไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดปัญหา คือการแพร่กระจายของสารตะกั่ว รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้อนุญาตให้มีการตั้งโรงแต่งแร่บริเวณดังกล่าว แต่เป็นผู้ที่เข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน และสภาพปัญหาดีขึ้นในระดับหนึ่ง