ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นป่วน “มณฑล กันล้อม” ฟ้องอาญา-แพ่ง “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานยักยอก 1.2 หมื่นล้าน

สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นป่วน “มณฑล กันล้อม” ฟ้องอาญา-แพ่ง “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานยักยอก 1.2 หมื่นล้าน

17 เมษายน 2013


จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นป่วนศึกแย่งอำนาจบริหาร-เปิดข้อมูลเงินกู้รายเดียว 3 พันล้าน ให้ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร”

ทั้งนี้ สาเหตุของการป่วนเนื่องจากมีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ที่มีนายมณฑล กันล้อม เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ฯ แต่ไม่สามารถประชุมได้ดังที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้ว นายมณฑลจึงได้ส่งหนังสือเวียนถึงสมาชิกว่าจะมีการจัดประชุมใหม่วันที่ 21 เมษายน 2556

แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 9 เมษายน 2556 มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น โดยมีนายยนต์ บุญเพ็ง กรรมการสหกรณ์ได้ออกจดหมายเวียนนัดประชุม โดยระบุว่าการประชุมครั้งนี้มาจากคำสั่งของกรมส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครเขต 2 เนื่องจากมีการร้องเรียนของสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นมากกว่า 100 คน จึงมีการอนุมัติให้มีการประชุม

scan0003

ขณะที่เอกสารจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์แจ้งผลการกำกับดูแลการปฏิบัติของสหกรณ์ ลงนามโดยนางนฤมล พนาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยในหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ได้สำเนาแจ้งข้อสังเกตให้แก่ นายแสงประทีป นำจิตรไทย ผู้สอบบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ประจำปี 2555 ได้รับทราบด้วยแล้ว

ประเด็นที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เห็นว่าต้องมีการแก้ไข คือ สหกรณ์มีลูกหนี้เงินกู้พิเศษสมาชิกสมทบคงเหลือ (สมาชิกสมทบคือสมาชิกที่เป็นนิติบุคคลปัจจุบันมีจำนวน 2,343 ราย) ยอดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 27 ราย เป็นยอดหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยลูกหนี้ทุกรายไม่มีการถือหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์ บางรายหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ครอบคลุมกับมูลหนี้ บางรายเป็นการค้ำประกันเงินกู้ด้วยบุคคล มี 2 รายที่ไม่มีหลักประกันหนี้ รวมทั้งลูกหนี้ชำระหนี้ไม่เป็นไปตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญากู้

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้ว่า ในกรณีนี้ควรให้ลูกหนี้สมาชิกสมทบถือหุ้นตามข้อบังคับสหกรณ์ และเรียกคืนหนี้ทั้งจำนวน หากทำไม่ได้ในทันทีก็ต้องติดตามเร่งรัดให้ชำระหนี้ และจัดทำหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ครอบคลุมมูลหนี้ทั้งหมด อาทิ

มีลูกหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา จำกัด 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีการบันทึกบัญชีลดยอดในวันที่ 1 มีนาคม 2555 และจ่ายเงินกู้พิเศษในวันเดียวกัน จำนวน 1,093 ล้านบาท โดยเอกสารกู้เงินไม่มีการลงลายมือชื่อของผู้กู้ รวมทั้งไม่มีการจำนองหลักทรัพย์เพื่อคำประกัน

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้ว่า ในกรณีนี้สหกรณ์ฯ ควรเรียกเงินคืนทั้งจำนวนโดยเร็ว หากยังเรียกคืนไม่ได้ ต้องทำเอกสารการเป็นหนี้ให้ถูกต้อง และเรียกหลักประกันหนี้ให้ครอบคลุมมูลหนี้ อีกทั้งเตือนให้สหกรณ์ระวังการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์อื่นๆ อีก เพราะถ้าสหกรณ์เกิดความเสียหาย คณะกรรมการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ตามข้อบังคับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนข้อที่ 76

อีกประเด็นหนึ่งคือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นลูกหนี้เงินยืมทดรอง ประมาณ 3,300 ล้านบาท ซึ่งไม่มีการระบุวัตถุประสงค์ในการยืมเงิน รวมทั้งกำหนดเวลาในการชำระคืนด้วย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้ว่า ควรให้ลูกหนี้ส่งเงินยืมทดรองคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่สหกรณ์ทันที หากยังทำไม่ได้ทันที ต้องทำเอกสารการเป็นหนี้ให้ถูกต้อง และเรียกหลักประกันหนี้ให้ครอบคลุมมูลหนี้ เพราะการจ่ายให้กับบุคคลคนเดียวเป็นเงินจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ สภาพคล่องและฐานะทางการเงินแก่สหกรณ์ แต่ถ้าหากลูกหนี้ไม่สามารถคืนได้ทั้งจำนวน ควรต้องจัดทำเอกสารหลักฐานการกำหนดคืนเงินที่ชัดเจน หากพบว่าเงินยืมทดรองจ่ายไม่ได้นำไปใช้ในกิจการของสหกรณ์ ควรคำนึงผลประโยชน์ที่สหกรณ์พึงได้รับ และจัดให้มีหลักประกันที่ครอบคลุมเงินยืมทดรองจ่ายที่ยังไม่ชำระคืน

ประเด็นสุดท้าย คือ ทรัพย์สินรอการจำหน่ายของสหกรณ์คงเหลือเมื่อสิ้นปี 2555 มูลค่าประมาณ 9 แสนบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้น ซึ่งบันทึกอยู่ในบัญชีค่าซ่อมแซม ที่มียอดเมื่อสิ้นปี 2555 ทั้งสิ้น 3.7 ล้านบาท และสหกรณ์นำสินทรัพย์รอการจำหน่ายบางส่วนไปปล่อยเช่า

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้ว่า สหกรณ์ควรบันทึกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสินทรัพย์ไว้ในบัญชีสินทรัพย์รอการจำหน่าย ส่วนสินทรัพย์ใดที่ให้เช่าก็ควรนำออกจากสินทรัพย์รอการจำหน่ายด้วย

ด้วยเหตุนี้ การประชุมในวันที่ 9 เมษายน 2556 ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้สอบถามกับสมาชิกที่มาประชุม หลายคนกล่าวว่าตนมีเงินฝากและถือหุ้นที่สหกรณ์ 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีความกังวลกับสถานการณ์มากจึงมาร่วมประชุม จากที่ไม่เคยเข้าร่วมเลย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสมาชิกที่เดินทางมาเป็นกลุ่มและมีลักษณะการแต่งตัวเฉพาะ คือใส่เสื้อสีชมพูที่มีสัญลักษณ์สหกรณ์ฯ คลองจั่นเหมือนกันหมด

ทั้งนี้การประชุมจัดขึ้นที่อาคาร U-Tower ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของสหกรณ์ เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และไม่พบว่านายมณฑล กันล้อม ประธานกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 28 เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ปรากฏว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ก่อตั้งสหกรณ์และอดีตประธานกรรมการสหกรณ์ กรรมการชุดเก่าบางคน ได้แก่ กลุ่มที่ลาออกไปก่อนการประชุมวันที่ 31 มีนาคม 2556 และกรรมการบางส่วนที่เข้าร่วมการประชุมวันที่ 31 มีนาคม รวมทั้งนายยนต์ บุญเพ็ง มาร่วมประชุมด้วย

(อนึ่ง กรรมการที่ลาออกไปก่อนการประชุมวันที่ 31 มีนาคม 2556 ได้แก่นายวีระยุทธ รุติเรข เลขานุการ น.ส.ดาราณี ชนะกุล เหรัญญิก นายทองสัมฤทธิ์ ลี้จันทรากุล กรรมการดำเนินการ นายมาโนช มานหมัด กรรมการดำเนินการ นางสายชล นาราช กรรมการดำเนินการ น.ส.อุดมลักษณ์ ศิริมรรถนะ กรรมการดำเนินการ ลาออกทั้งสิ้น 6 คน จากกรรมการทั้งหมด 15 คน)

scan0005

บรรยากาศก่อนเริ่มประชุมค่อนข้างเคร่งเครียด สมาชิกต่างจับกลุ่มคุยกันหัวข้อเรื่องความขัดแย้งของผู้บริหาร การจ่ายเงินปันผล ความไม่ชอบมาพากลของรายงานฐานะการเงินประจำปี และสถานภาพของสหกรณ์ว่าจะล้มหรือไม่

นายยนต์ บุญเพ็ง กรรมการชุดที่ 28 พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักส่งเสริมสหกรณ์เขต 2 เป็นผู้เปิดการประชุม จากนั้นสมาชิกเสื้อชมพูเสนอให้เพิ่มวาระถอดถอนประธาน คือ นายมณฑล กันล้อม พร้อมกับกรรมการชุดที่ 28 ออก เนื่องจากมีกรรมการลาออกไปจนเหลือคณะกรรมการอยู่ไม่ถึงครึ่ง สมาชิกจึงลงมติถอดถอนและเลือกตั้งใหม่ได้ พร้อมทั้งเลื่อนวาระการเลือกกรรมการให้มาอยู่ช่วงต้นแทนที่จะเป็นวาระท้ายๆ ซึ่งก็มีสมาชิกคนอื่นแย้งในประเด็นการเลื่อนวาระ แต่มีการเลือกตั้งประธานชั่วคราวมาดำเนินการประชุม โดยมีผู้เสนอชื่อนายปัญญา ศรีทองสุข ในฐานะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นประธานชั่วคราว และมีการเชิญตัวแทนของนายประเทือง กลิ่นคล้ายกัน ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีสหกรณ์คลองจั่นปี 2556 นั่งอยู่บนเวทีกับนายบัญชา ทำหน้าที่ตอบข้อสงสัยสมาชิกในเรื่องงบการเงินในวาระรับรองงบการเงิน

วาระการประชุมต่างๆ ได้แก่ การพิจารณารับทราบงบการเงินและงบดุล มีสมาชิกหลายคนสอบถามในที่ประชุมถึงประเด็นที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีจดหมายตั้งข้อสังเกตุการให้เงินทดรองจ่ายแก่ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประมาณ 3,300 ล้านบาท ประเด็นนี้ทางตัวแทนผู้สอบบัญชีตอบว่า “ไม่พบเงินยืมทดรองก้อนดังกล่าว และเงินก้อนนี้ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรกับสหกรณ์ จึงไม่น่าจะมีอะไรที่ผิดกฎหมาย”

นอกจากนี้ สมาชิกยังถามเรื่องอื่นๆ แต่กรรมการชุดเก่าไม่เข้าร่วมประชุมหรือเข้าร่วมแต่ไม่แสดงตัว ทำให้ไม่ได้รับคำตอบหรือไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

ส่วนวาระจ่ายเงินปันผล ที่ประชุมอนุมัติที่ร้อยละ 10 ตามข้อบังคับของสหกรณ์ โดยประธานแจ้งให้ไปรับได้ในวันที่ 10-11 เมษายน 2556 และยังมีการอนุมัติเงินโบนัสให้กับพนักงานเป็นเงิน 4.4 ล้านบาทหรือ 1 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ ซึ่งมากกว่าปีก่อน

ขณะที่วาระที่ 7 การพิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมจากภายนอกหรือเงินค้ำประกันประจำปี 2556 ซึ่งคณะกรรมการเดิม มีมติให้กำหนดวงเงินไว้ที่ 30,000 ล้านบาท มีสมาชิกท้วงติงว่าสูงเกินกว่าสินทรัพย์ของสหกรณ์ และเสนอตัวเลขที่ 10,000 ล้านบาทแทน นายปัญญาจึงให้โหวตเลือก สังเกตว่ากลุ่มคนเสื้อชมพูยกมือเลือก 30,000 ล้านบาท ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ มีการยกมือคละกันไป แต่มีสมาชิกหลายคนสังเกตว่าการโหวตให้ 10,000 ล้านบาท มีจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ผลการโหวต 30,000 ล้านกลับชนะไป โดยมีการประกาศผลการนับคะแนนหลังวาระดังกล่าว

การประชุมดำเนินไปตามวาระที่กำหนดไว้ตามปกติจนกระทั่งถึงวาระเลือกตั้งกรรมการ มีผู้เสนอชื่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ให้ดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์เพียงคนเดียวและได้รับเลือกตั้ง จากนั้นก็มีการเสนอกรรมการคนอื่นๆ โดยให้สมาชิกรับรองจนได้กรรมการครบทั้งหมด รวมประธานเป็น 15 คน ซึ่งกรรมการชุดใหม่บางคนเป็นกรรมการในชุดก่อนหน้าด้วย รวมทั้งนายยนต์ บุญเพ็ง ซึ่งทั้งหมดถือเป็นคณะกรรมการชุดที่ 29 ของสหกรณ์

หลังการประชุมทุกวาระเสร็จสิ้น นายศุภชัยกล่าวขอบคุณสมาชิก และตอบประเด็นเงินยืมทดรองว่า “เป็นค่าใช้จ่ายของสหกรณ์หลายสิบปีที่ผ่านมา เงินก้อนนี้จะชำระคืนภายใน 3 เดือน พร้อมระบุว่างบการเงินในปีหน้าจะไม่มีตัวเลขนี้อีก ซึ่งสหกรณ์จะมีการประชุมแถลงการดำเนินงานเป็นระยะๆ”

พร้อมกล่าวอีกว่าจะนำสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นให้กลายเป็นสหกรณ์เบอร์หนึ่งของอาเซียน และระบุว่าหากนายมณฑล (ประธานคนก่อนที่ถูกปลดออก) ต้องการมาร่วมทำงานด้วยก็จะไม่ติดใจเรื่องที่ผ่านมา ยินดีร่วมงานด้วยอีกครั้ง เพราะเป็นเพื่อนเก่าแก่กันมานานที่ร่วมก่อตั้งสหกรณ์มาด้วยกัน ส่วนเรื่องเงินปันผลสมาชิกสามารถถอนได้ ส่วนออมทรัพย์พิเศษยังให้ถอนไม่ได้

ทั้งนี้มีสมาชิกตั้งข้อสังเกตว่า การโหวตในที่ประชุมจะให้สมาชิกยกมือโหวตในทุกๆ เรื่อง และให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์นับมือซึ่งเป็นวิธีที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะนอกจากอาจนับผิดแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สร้างผลโหวตปลอมได้ง่าย และหลายครั้งที่โหวตรู้สึกว่าผลโหวตไม่ตรงกับสิ่งที่เห็นจริงในห้องประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เลือกประธาน หลังจากมีการเสนอชื่อนายศุภชัยแล้ว นายบัญชาถามที่ประชุมว่าจะมีการเสนอคนอื่นหรือไม่ โดยให้เวลาเสนอแค่นับหนึ่งถึงสามเท่านั้น

หลังการประชุม มีสมาชิกบางส่วนโวยวายกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์หน้าห้องประชุม เรื่องการโหวตวงเงินกู้สหกรณ์ 30,000 ล้านบาท และมีการกล่าวหาว่านายศุภชัยโกงเงินสหกรณ์อีกด้วย

หลังจากนั้น วันที่ 10 เมษายน 2556 มีสมาชิกจำนวนมากติดต่อขอถอนเงินปันผล โดยทางสหกรณ์ฯ แจ้งว่าจะให้ถอนได้จำกัดต่อคน โดยตัวเลขที่ให้ถอนมีความสับสนจนกระทั่งสรุปว่า ให้ถอนได้รายละไม่เกิน 20,000 บาท โดยให้เหตุผลว่ามีการเปลี่ยนมือผู้บริหารกะทันหัน จึงต้องไปยื่นเปลี่ยนชื่อกรรมการกับทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเปลี่ยนชื่อผู้มีอำนาจถอนเงินที่สหกรณ์นำไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ทัน โดยหลังเทศกาลสงกรานต์จะให้สมาชิกถอนเงินปันผลได้เต็มจำนวน

ต่อมาวันที่ 12 เมษายน นายมณฑล กันล้อม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 แจกให้สมาชิกบริเวณแฟลตคลองจั่น โดยยังลงชื่อว่าดำรงตำแหน่งประธานดำเนินการสหกรณ์อยู่ และแถลงการณ์มีใจความว่า การประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน เป็นการประชุมที่ผิดกฎหมาย มติจากที่ประชุมดังกล่าวไม่มีผลในทางปฏิบัติ เป็นการพยายามเข้ามามีอำนาจเพื่อปกปิดความผิดของตน และยืนยันจะจัดประชุมในวันที่ 21 เมษายน เวลา 8.30–13.00 น. ส่วนสถานที่จะมีการแจ้งอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่ตนได้เคยประกาศไว้ในแถลงการณ์ฉบับก่อนๆ พร้อมเชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ในหนังสือยังระบุว่า สหกรณ์แจ้งความดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร นางสาวศรัณยา มานหมัด และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ คดีดำ 1241/2556 จำนวนเงิน 10,481 ล้านบาท และคดีดำ 1240/2556 จำนวนเงิน 1,921 ล้านบาท นอกจากนี้คณะกรรมการชุดที่ 28 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ให้ดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวเพิ่มในความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์จำนวน 12,402 ล้านบาท และสหกรณ์เรียกร้องทางแพ่ง คดีดำ 1260/2556 ให้บุคคลดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 12,696 ล้านบาท ซึ่งมีการฟ้องร้องในวันที่ 29 มีนาคม 2556

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครเขต 2 ซึ่งแหล่งข่าวจากสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครเขต 2 กล่าวว่า นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยการสำนักฯ มีหนังสือเร่งรัดให้ชี้แจงสาเหตุที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นปิดสำนักงานและเลื่อนการประชุมใหญ่วันที่ 31 มีนาคม 2556 อีกทั้งมีคำสั่งให้จัดประชุมใหญ่ครั้งใหม่โดยเร็ว แต่ไม่ได้สั่งให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เอกสารเชิญประชุมใหญ่วันที่ 9 เมษายน ที่ลงนามโดยนายยนต์ บุญเพ็ง ประธานคณะกรรมการเงินกู้ และกรรมการดำเนินการนั้นสามารถทำได้หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามข้อบังคับของสหกรณ์เครดิตยูเนียน การนัดประชุมใหญ่สมาชิก ต้องลงนามโดย ประธานคณะกรรมการดำเนินการ หรือรองประธานฯ หรือเลขานุการ เท่านั้น กรรมการไม่มีสิทธิในการนัดประชุม

ส่วนกรณีที่มีนายสุเมธ สัญญเดช ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักฯ พื้นที่ 2 เข้าร่วมประชุมและขึ้นบนเวทีในช่วงเปิดประชุมนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า นายสุเมธไปสังเกตการณ์ในฐานะส่วนตัว ผู้อำนวยการสำนักฯ พื้นที่ 2 ไม่ได้ส่งไปเป็นตัวแทน และไม่ได้รับรองการประชุมในวันที่ 9 เมษายน 2556 การประชุมวันดังกล่าวจึงน่าจะไม่ถูกต้อง ไม่มีผลทางกฎหมาย มติที่ประชุมที่ออกในวันนั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งกรณีการอนุมัติเงินปันผลให้แก่สมาชิก รวมทั้งกรณีมติถอดถอนคณะกรรมการชุดก่อน (ชุดที่ 28) และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นประธาน

“ไม่มีข้อบังคับที่อนุญาตให้สมาชิกเพิ่มมติถอดถอนคณะกรรมการ โดยอ้างเหตุผลว่ามีกรรมการที่เหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง เพราะฉะนั้นคณะกรรมการชุดที่ 28 ที่ยังไม่ลาออกถือว่ายังมีสถานภาพเป็นกรรมการดำเนินงานอยู่ รวมทั้งนายมณฑล กันล้อม ยังเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานอยู่ เพราะฉะนั้นอำนาจในการถอนเงินฝากของสหกรณ์หรืออนุมัติเงินกู้ยังอยู่ที่คณะกรรมการชุดที่ 28” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อสอบถามถึงการเชิญประชุมของนายมณฑล กันล้อม ที่ระบุในหนังสือแถลงการณ์ฉบับที่ 4 วันที่ 21 เมษายน แหล่งข่าวกล่าวว่า เห็นแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว ถ้านายมณฑลมีหนังสือเชิญประชุมก็จะส่งตัวแทนของสำนักฯ พื้นที่ 2 ไปเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันทางสำนักฯ ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญ