ThaiPublica > คอลัมน์ > GDP สวนทาง “คุณภาพชีวิต”

GDP สวนทาง “คุณภาพชีวิต”

29 มีนาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่มาภาพ : http://behance.vo.llnwd.net
ที่มาภาพ: http://behance.vo.llnwd.net

ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องแซงหน้าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรก็เรียกกันได้ว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตัวเลขของ UNDP (United Nations Development Programs) ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ พิสูจน์อีกครั้งว่า คนในประเทศเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพชีวิตสูงเสมอไป

GDP คือมูลค่าการผลิตหรือรายได้ที่เกิดจากผลิตของผู้คนที่พักอาศัยในประเทศหนึ่งในช่วงเวลา 1 ปี พูดหยาบๆ ก็คือ GDP คือรายได้รวมที่เกิดขึ้นของคนในประเทศในเวลาหนึ่งปี ถ้าเอาจำนวนประชากรไปหารก็จะได้รายได้ต่อหัว

นักเศรษฐศาสตร์และประชาชนบางส่วนไม่พอใจกับการที่ GDP ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดความสุขของคนในแต่ละประเทศ (ซึ่งจริงๆ เขาก็มิได้ตั้งใจใช้วัดความสุข) จึงพยายามหาตัวอื่นมาวัดแทน เช่น Gross National Happiness (ความสุขมวลรวม) แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความสุขมีความหมายที่ดิ้นได้

ในปี 1990 นักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถาน ชื่อ Mahbub ul Haq กับพวกได้รวมตัวกันคิดหาสิ่งอื่นมาวัด “คุณภาพชีวิต” (ตัวแทนความสุข) แทน GDP สุดท้ายงานสำเร็จลงได้ด้วยฝีมือของ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์

ตัวชี้วัดนี้ของ UNDP เรียกกันว่า Human Development Index (HDI) มีการปรับแก้ไขกันหลายครั้งจนกระทั่งครั้งหลังสุดคือปี 2011 โดย HDI เป็นตัวชี้วัดที่รวม 3 มิติ เข้าด้วยกัน (

1) การมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพดี (ใช้อายุขัยเมื่อแรกเกิด)

(2) ดัชนีการศึกษา (ใช้จำนวนปีเฉลี่ยที่อยู่ในโรงเรียนกับจำนวนปีที่คาดคะเนว่าจะอยู่ในโรงเรียน)

(3) ระดับมาตรฐานการครองชีพที่ดี (ใช้รายได้เฉลี่ยต่อหัวโดยวัดแบบปรับค่าครองชีพ กล่าวคือ ประเทศที่ค่าครองชีพต่ำตัวเลขนี้ก็จะได้ปรับสูงขึ้น)

แต่ละมิติมีสูตรคณิตศาสตร์เฉพาะเพื่อใช้คิดคำนวณโดยอาศัยเหตุผลทางวิชาการ และจากนั้นก็นำผลจากทั้งสามมิติมาใส่ในสมการเพื่อให้ได้ตัวชี้วัด “คุณภาพชีวิต” ของแต่ละปีของแต่ละประเทศ ซึ่งมั่นใจว่าสะท้อน “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

ตัวเลขล่าสุดของ UNDP ชี้ว่า ในระหว่างปี 1990-2012 ประเทศที่ HDI มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเกาหลีใต้ โดยเปลี่ยนแปลงถึงร้อยละ 63 ในขณะที่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยแค่ร้อยละ 4.2 ต่อปี

อิหร่านมี HDI เปลี่ยนแปลงมากเป็นอันดับสอง คือ เปลี่ยนแปลงร้อยละ 44 ในขณะที่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี

ลำดับ 3 คือจีน HDI เปลี่ยนแปลงร้อยละ 40 (รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงร้อยละ 9.4) สำหรับใน ASEAN ประเทศที่น่าสนใจคือมาเลเซีย HDI เปลี่ยนแปลงร้อยละ 36 (รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงร้อยละ 3) HDI ของไทยเปลี่ยนแปลงร้อยละ 20.5 (รายได้ต่อหัวร้อยละ 8.7)

ประเทศที่คุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงมากแต่รายได้เปลี่ยนแปลงน้อย (GDP ขยายตัวต่ำ) ก็คือ เม็กซิโก อัลจีเรีย และบราซิล ส่วนบังกลาเทศนั้น HDI เปลี่ยนแปลงในระดับเดียวกับอินเดีย ถึงแม้การเจริญเติบโตของรายได้จะล้าหลังกว่าอินเดียก็ตาม

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การมีการเจริญเติบโตที่สูงมิได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ “คุณภาพชีวิต” ที่สูงขึ้นเสมอไป ตัวอย่างที่น่าสนใจคือตุรกี ซึ่งอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มี HDI เปลี่ยนแปลงมากที่สุดอันเนื่องมาจากการทุ่มรายจ่ายโดยตรงเพื่อแก้ไขความยากจนมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว ระหว่างปี 2002-2010 จนสามารถลดสัดส่วนของประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจนจากร้อยละ 30 ในปี 2002 เหลือเพียงร้อยละ 4 ในปี 2010 แต่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี

การไม่สอดคล้องกันของการเปลี่ยนแปลง “คุณภาพชีวิต” และรายได้ตอกย้ำว่าสังคมไม่ควรตีความหมายของการเปลี่ยนแปลง GDP กว้างกว่าการผันแปรของรายการหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Account) ซึ่งโยงใยกับรายได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์อาหารสมอง น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2556