จากสถิติการศึกษาต่อหลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2552-2554 พบว่า นักเรียนกว่าร้อยละ 50 ศึกษาต่อสายสามัญหรือมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีนักเรียนประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่ศึกษาต่อสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และมีแนวโน้มว่า ในอนาคต เด็กส่วนใหญ่จะเลือกเรียนสายสามัญมากขึ้น ในขณะที่นักเรียนในสายอาชีพค่อยๆ ลดลง จากสัดส่วนสายสามัญต่ออาชีวศึกษา 60:40
ข้อมูลจากกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ระบุว่า อุตสาหกรรมหลักของไทยต้องการแรงงานสายช่างประมาณปีละ 1.8 แสนคน ในขณะที่มีผู้เรียนอาชีวะรวมต่ำกว่าความต้องการของตลาด ซึ่งหากคิดเฉพาะนักเรียนสายช่างอุตสาหกรรม พบว่ามีผู้เรียนประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น เพราะนักเรียนส่วนใหญ่เลือกเรียนสาขาพาณิชยกรรมบริหารมากกว่า
ทั้งนี้ จากความต้องการแรงงานสายช่างกว่า 1.8 แสนคนต่อปี พบว่ามีผู้เรียนสายช่างที่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 4 หมื่นคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้น การเรียนสายอาชีวะสาขาช่างอุตสาหกรรมจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของตลาดอุตสาหกรรมไทยที่กำลังขาดแคลนแรงงานได้ ต่างกับการเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการแข่งขันสูงและประสบปัญหาการตกงานสูง
เพื่อส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะ ทางมูลนิธิเอสซีจีจึงมอบทุนการศึกษาจำนวน 500 ทุน แก่เยาวชนที่จบการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และศึกษาต่อในระดับ ปวช. สาขาช่างอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อทุนว่า “เด็กช่าง สร้างชาติ” ภายใต้โครงการ SCG Sharing the Dream ที่มอบทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ประพฤติดี อยากเรียน แต่ขาดทุนทรัพย์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนจบปริญญาตรีมากว่า 30 ปีแล้ว
นางสาวสุรนุช ธงศิลา กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะพิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่มีคุณสมบัติเรียนดีแต่ยากจน แต่กลุ่มที่เรียนไม่ดีหรือเรียนไม่เก่งแต่อยากเรียนนั้นมักจะพลาดโอกาสได้ทุนการศึกษา ทางมูลนิธิเองในฐานะที่ทำเรื่องการศึกษามานานจึงหันมาให้ทุนแก่เด็กกลุ่มที่อยากเรียนแต่ยากจน เพราะเด็กที่เรียนเก่งแต่ยากจนมีคนช่วยเหลือมากแล้ว
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัจจุบัน ค่านิยมของเด็กไทยคือต้องเรียนจบปริญญาตรี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้คือ หลังจากจบปริญญาตรีแล้วไม่มีงานทำ ได้งานทำไม่ตรงสายที่เรียนมา หรือถ้าใครต้องการทำงานก็ต้องยอมรับเงินเดือนที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ในทางกลับกัน ทางมูลนิธิฯ พบว่า การศึกษาอาชีวะสายช่างอุตสาหกรรมนั้นเป็นแรงงานที่มีความจำเป็นมากที่สุดในตลาดอุตสาหกรรม และกำลังขาดแคลนมาก ซึ่งการเรียนอาชีวะนี้สามารถนำเด็กสู่ความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน นั่นคือ เติบโตมาเป็นคนดี มีอาชีพที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ จึงการันตีได้ว่าเด็กที่จบอาชีวะสายช่างอุตสาหกรรมมีงานทำแน่นอน ดังนั้น ทางมูลนิธิฯ จึงเพิ่มทุนการศึกษาสาขานี้ให้มากขึ้นในชื่อ “เด็กช่าง สร้างชาติ”
“ทุนการศึกษานี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่ต้องใช้คืน และเป็นทุนต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) สาขาช่างอุตสาหกรรม สำหรับนักเรียนคนใดที่สนใจขอรับทุน สามารถดาวน์โหลดใบสมัครและหลักเกณฑ์การสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org” นางสาวสุรนุชกล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ผู้ปกครองมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการเรียนอาชีวะ บางคนต้องการให้เรียนสายสามัญมากกว่า เพราะกลัวว่าลูก-หลานจะยกพวกตีกันเหมือนที่ข่าวนำเสนอ บางคนก็ต้องการให้เรียนสายอาชีพเพราะใช้เวลาเรียนน้อยกว่า สามารถทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้เร็วขึ้น ดังนั้น สิ่งที่กรมอาชีวศึกษาต้องเร่งทำคือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเรียนอาชีวะ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ไม่ให้สังคมมองว่าการเรียนอาชีวะนั้นด้อยกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะมีงานทำแน่นอน รายได้ดี เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่มีทักษะ เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม ยิ่งประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วยิ่งต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น
“ประเทศไทยต้องการแรงงานที่จบสายอาชีพมากกว่าจบปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ในเรื่องรายได้ก็ไม่ต่างกัน บางคนที่เก่ง มีทักษะและความเชี่ยวชาญสูง ได้รับเงิน 1 แสนบาทต่อเดือน อีกทั้งการเรียนอาชีวะสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ และได้รับวุฒิปริญญาตรีเหมือนกันหากเรียนต่ออีก 2 ปีหลังจบ ปวส.” นายอนุสรณ์กล่าว
ด้านนายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย งานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ กล่าวถึงแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการว่า นักเรียนที่กำลังจะจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนต่อทางด้านใดเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก อาจารย์แนะแนวที่ต้องคอยให้ความรู้ให้คำแนะนำด้านการศึกษาต่อแก่นักเรียนหายไปไหน ทำไมนักเรียนถึงยังไม่รู้ความต้องการของตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเรียกว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตเร็วมาก เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เมื่อ 10 ปีที่แล้วกำลังผลิตรถยนต์ 4 แสนคันต่อปี แต่เมื่อปี 2554 ประเทศไทยผลิตรถยนต์ประมาณ 2.4 ล้านคัน ซึ่งถ้าหากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้เตรียมระบบการศึกษาที่มารองรับช่างอุตสาหกรรม ในวันนี้คงจะเกิดปัญหาขาดแคลนช่าง ไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้มากเท่าวันนี้ หากคิดเป็นมูลค่าแล้ว เฉพาะรถยนต์ที่ส่งออกนั้นมากถึง 1.1 ล้านล้านบาท
นายถาวรกล่าวต่อว่า การผลิตรถยนต์คันหนึ่งใช้วิศวกรหรือคนออกแบบบนกระดาษหรือคอมพิวเตอร์เพียงคนเดียว แต่ใช้ช่างที่จะมาประกอบให้กลายเป็นรถยนต์จริงๆ ถึง 10 คน เพราะการทำงานจริงๆ คนต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งสัดส่วนระหว่างความรู้และทักษะคิดเป็น 30:70 แน่นอนว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่การทำงานสายช่างนั้นใช้ทักษะเป็นพื้นฐาน ความรู้จะได้ระหว่างการทำงานจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญในที่สุด ดังนั้น การเรียนและการทำงานต้องทำควบคู่ไปด้วยกันเพื่อเพิ่มประสบการณ์ และการมีทักษะเป็นพื้นฐาน ทำให้เด็กที่เรียนสายอาชีพได้เปรียบกว่าเด็กที่เรียนสายสามัญ
“ในปี 2553 ผู้ประกอบการเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องการแรงงานที่จบ ปวส. มาทำงานประมาณ 1.8 หมื่นคนต่อปี และในวันนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นอีกมาก อย่ากลัวที่จะเรียนอาชีวะ เพราะคนจบสายนี้เป็นเถ้าแก่จำนวนมาก แต่คนที่เรียนเก่งมากๆ จบสายสามัญมักจะเป็นลูกจ้างเขาหมด แรงงานที่อุตสาหกรรมไทยต้องการคือแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งวันนี้ประเทศไทยยังขาดแคลน และแรงงานเกินครึ่งยังมีคุณภาพไม่มากพอ ซึ่งเราก็ต้องช่วยกับพัฒนาระบบการศึกษาต่อไป” นายถาวรกล่าว
สำหรับประเด็นที่สังคมมักจะมองแง่ลบกับนักเรียนอาชีวะนั้น นางสาวสุรนุช ธงศิลา กล่าวว่า นักเรียนอาชีวะที่ยกพวกตีกันนั้นมีประมาณร้อยละ 1 ของนักเรียนอาชีวะทั้งหมด แต่สื่อมักจะนำเสนอหรือให้ความสนใจแต่ข่าวเรื่องตีกันมาก ดังนั้นก็อยากจะขอให้สื่อช่วยกันเผยแพร่เรื่องดีๆ ของนักเรียนอาชีวะบ้าง เพราะสำหรับคนที่ใกล้ชิดกับเด็กกลุ่มนี้จะมองแง่บวกอยู่แล้ว ส่วนคนนอกที่รู้จักเด็กเหล่านี้ผ่านสื่อมักจะมองในแง่ลบ
เช่นเดียวกับที่นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กล่าวว่า นักเรียนสายช่างที่เป็นคนดีคนเก่งนั้นมีจำนวนมาก แต่ภาพลักษณ์เชิงลบที่แสดงผ่านสื่อนั้น การจะแก้ไขได้นักเรียนอาชีวะทุกคนต้องช่วยกันทำให้สังคมยอมรับ ด้านกรมอาชีวศึกษาก็จะพัฒนาระบบการศึกษา สร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน และทำโรดโชว์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเรียนอาชีวะแก่นักเรียนและผู้ปกครอง
ส่วนนายถาวร ชลัษเฐียร กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยเรียนและทำงานร่วมกับผู้จบอาชีวะมานาน ไม่เคยพบว่าใครนิสัยเกเร เรื่องทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการปลดปล่อยพลังของวัยรุ่นมากกว่า เด็กอายุ 15-16 ไม่ว่าเรียนที่ไหนก็มีเรื่องชกต่อยกัน เป็นธรรมชาติตามวัย ในอดีตเด็กอาชีวะสามารถควบคุมพลังเหล่านี้ได้ดี มีอาจารย์ที่ควบคุมเข้มงวดมาก ต่างจากปัจจุบันที่ขาดการควบคุม ระบบเปลี่ยนแปลงไปหมด โดยเฉพาะการควบคุมตนเอง แล้วนักเรียนช่าง อุปกรณ์การเรียนทุกอย่างเป็นอาวุธได้หมด ทั้งไม้ที ตะไบ ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาในสังคม
“นิสัยนักเลงเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น เป็นบุคลิกของเขา สิ่งที่ระบบการศึกษาต้องทำคือหาพื้นที่ปลดปล่อยพลังและเวทีแสดงความสามารถให้กับนักเรียน ปัจจุบันนักเรียนช่างไปแข่งขันชนะเลิศในระดับโลกมากมาย แต่สื่อให้ความสนใจน้อยมาก ลงข่าวแค่วันเดียว แต่หากเป็นเรื่องตีกัน ลงข่าวที 3 วัน ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการศึกษาอาชีวะน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นแรงงานสำคัญของสังคม ต่างกับประเทศที่เจริญด้านวิศวกรรมมากๆ อย่างเยอรมันที่นักเรียน 2 ใน 3 ของประเทศเลือกเรียนอาชีวะ” นายถาวรกล่าว