ThaiPublica > คอลัมน์ > การพัฒนายั่งยืนใน 10 นาที

การพัฒนายั่งยืนใน 10 นาที

3 มกราคม 2013


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

เมื่อ 20 ปีก่อน การพัฒนาเป็นโจทย์ขั้วตรงข้ามกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สองทศวรรษผ่านไป ปัญหาและความขัดแย้งเดิมๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ แต่แนวคิดและวาทกรรมของการพัฒนาที่อภิปรายกันในสังคมโลกได้ปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว พร้อมๆ กับการปฏิบัติได้จริงที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหลอมรวมการพัฒนากับการอนุรักษ์ให้สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติเพ้อฝัน หากเป็นทางรอดเดียวของสังคม

แต่บ่อยครั้งการถกเถียงเรื่องการพัฒนากับการอนุรักษ์ในสังคมไทยยังคงหลงยุค เน้นให้สังคมเลือกระหว่างการทำลายธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้เขียนจึงขอนำสไลด์ส่วนหนึ่งที่ใช้ประกอบการบรรยายในโอกาสต่างๆ มาสรุปเป็นอัพเดทสั้นๆ ฉบับพกพาในกระเป๋ากางเกง

ภาพที่1

(ภาพที่ 1)
การพัฒนาที่ผ่านมาทำลายธรรมชาติเกินขอบขีดที่โลกจะรองรับได้ ส่งผลให้ระบบนิเวศโลกเสียสมดุลอย่างรุนแรง

วิกฤติที่สุด ได้แก่ ปัญหาการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ บนโลก วิกฤติระบบนิเวศดิน น้ำ ทะเล จากการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป และวิกฤติโลกร้อน

ภาพที่ 2

(ภาพที่ 2)
หากเราจะพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน โดยไม่สร้างปัญหาร้ายแรงไปมากกว่านี้ให้แก่คนรุ่นลูกหลาน เราต้องยอมรับขีดจำกัดของธรรมชาติ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายธรรมชาติจนเสียสมดุล บนฐานของสังคมที่เท่าเทียมและสร้างสรรค์ ภายใต้การเกื้อกูลของระบบนิเวศธรรมชาติ

ภาพที่ 3

(ภาพที่ 3)
เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เราจึงต้องมีตัวบ่งชี้ไว้คอยเช็คดูว่าเราเดินถูกทางหรือไม่

ภาพที่4

(ภาพที่ 4)
ด้านสิ่งแวดล้อม ตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดคือความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศท้องถิ่น สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนประสิทธิภาพของวัฏจักรต่างๆ ในธรรมชาติ ไม่ต่างจากคนอาชีพต่างๆ ช่วยกันทำให้เศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ดำเนินไปได้

ภาพที่ 5

(ภาพที่ 5)
มันเหมือนกับอวัยวะบนร่างกายเรา สัตว์บางชนิดอาจไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญมากนัก เช่นเดียวกับนิ้วก้อย แต่ถ้านิ้วก้อยด้วนไป เราจะเล่นเปียโนได้ไม่ดีเท่าเดิม

ภาพที่6

(ภาพที่ 6)
ด้านสังคม ตัวชี้วัดที่ดีคือความเท่าเทียมของรายได้ของคนในสังคม เพราะเราพบว่าสังคมที่มีความเท่าเทียมสูงจะมีปัญหาสังคมและสุขภาพน้อยกว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำกันมาก

ปัญหาเหล่านั้นรวมถึงอัตราฆาตกรรม จำนวนนักโทษต้องขัง วัยรุ่นตั้งท้อง ติดเหล้าเสพยา สุขภาพจิตและความเครียด ความไว้วางใจกันในสังคม ทักษะอ่านออกคำนวณได้ และโอกาสการเลื่อนสถานภาพในสังคม ซึ่งหมายถึงสังคมสร้างสรรค์ที่ศักยภาพของมนุษย์ทุกคนมีโอกาสงอกงามได้

ภาพที่ 7

(ภาพที่ 7)
สังคมที่เท่าเทียมกัน ต้องแบ่งทรัพยากรให้เท่าๆ กัน มักจะมีวิถีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น ใช้จักรยานกันมากกว่า

ภาพที่ 8

(ภาพที่ 8)
และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่า เช่น รีไซเคิลขยะมากกว่าสังคมที่ไม่เท่าเทียม

ภาพที่ 9

(ภาพที่ 9)
เหลียวมาดูประเทศไทย เรามีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนห่างมากขึ้นทุกปี

ภาพที่ 10

(ภาพที่ 10)
ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมีรากมาจากระบบผลิตที่เป็นเส้นตรง เราสกัดวัตถุดิบจากธรรมชาติ นำมาผลิตสินค้าใช้แล้วทิ้งเป็นขยะปริมาณมหาศาล โดยแทบไม่ได้นำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ระหว่างทางการผลิตก็ก่อมลภาวะมากมาย ปล่อยออกไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

ภาพที่ 11

(ภาพที่ 11)
เราต้องเปลี่ยนระบบผลิตจากเส้นตรงมาเป็นวงกลม วัตถุดิบจากอู่เกิดหมุนเวียนกลับสู่อู่เกิดโดยไม่มีการปนเปื้อนมลพิษ เป็นระบบไม่สร้างขยะ เช่นเดียวกับระบบผลิตในธรรมชาติ ที่ของเหลือจากแหล่งหนึ่งเป็นอาหารหรือวัตถุดิบให้กับอีกชีวิตหนึ่ง หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

หลักการออกแบบ การคัดเลือกวัตถุดิบ การบริหารจัดการสินค้าที่จะสนองระบบผลิตวงจรปิด เป็นองค์ประกอบของเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างอาชีพใหม่ๆ ได้มากมาย และเป็นสิ่งที่เรามีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะเริ่มทำได้แล้ว มันรวมถึงระบบผลิตในอุตสาหกรรม การเกษตร การออกแบบที่อยู่อาศัย การจัดหาพลังงาน

ภาพที่12

(ภาพที่ 12)
กลไกที่จะช่วยให้ระบบผลิตแบบอู่สู่อู่แพร่หลายไปได้กว้างขวาง คือ การปรับระบบราคาในตลาดให้คำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม นี่คือการปฏิรูปการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นบทบาทของภาครัฐที่จะลดการอุดหนุนพฤติกรรมและการประกอบการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหันไปส่งเสริมพฤติกรรมและการประกอบการที่ดูแลสิ่งแวดล้อม เราจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนเมื่อราคาหรือ “ความจริง” ในระบบเศรษฐกิจสะท้อนความเป็นจริงของระบบนิเวศธรรมชาติ

ภาพที่13

(ภาพที่ 13)
ทุกวันนี้ วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างลำบาก เหมือนเดินขึ้นเขาชัน จึงมีคนเพียงจำนวนน้อยที่เลือกเดิน เราจำเป็นต้องทำให้เส้นทางนี้เป็นทางเลือกที่ง่าย สะดวกสบายสำหรับคนส่วนใหญ่ การปฏิรูปการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมผสมผสานกับโครงสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน จะช่วยให้วิถีสีเขียวและเศรษฐกิจสีเขียวเป็นวิถีกระแสหลักในชีวิตปกติประจำวันของเราทุกคน