ThaiPublica > คอลัมน์ > กติกาน้ำ ตอน 2: ปรากฎการณ์ในยุโรป

กติกาน้ำ ตอน 2: ปรากฎการณ์ในยุโรป

22 พฤศจิกายน 2011


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

น้ำเป็นตัวเชื่อมระบบนิเวศทั้งหมดบนโลกใบนี้

เมื่อฝนตกลงมาบนแผ่นดิน ส่วนหนึ่งจะซึมซับลงสู่ดิน เคลื่อนที่ช้าๆ ใต้ดินสู่ที่ต่ำ อีกส่วนไหลอาบผ่านผิวดิน ทั้งสองส่วนมารวมตัวกันเป็นลำน้ำ จากลำน้ำเล็กสู่ลำน้ำใหญ่และบึงกว้างสู่ทะเล ระหว่างการเดินทาง สายน้ำกัดเซาะแผ่นดิน ละลายแร่ธาตุและสสารต่างๆ พัดพาไปกับน้ำด้วย ลำน้ำจึงทำหน้าที่เสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงแผ่นดิน ส่งความชุ่มชื้นและลำเลียงอาหาร แร่ธาตุ สู่ดินแดนที่ไหลผ่านไปจนถึงชีวิตในทะเล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใหญ่ที่สุดของเรา ให้ออกซิเจนกว่าครึ่งหนึ่งที่ชีวิตโลกใช้หายใจจากการสังเคราะห์แสงของแพลงตอนพืช และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศถึง 93 เปอร์เซนต์

อะไรเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่อื่นที่อยู่ใต้ระบบน้ำ ไม่แยแสต่อเส้นแบ่งเขตปกครองของมนุษย์ น้ำจึงเป็นเรื่องไม่กี่เรื่องที่เหล่าประเทศในสหภาพยุโรปยกให้เป็นการบริหารระดับภูมิภาค มีกฎกติกาใหญ่แบบท็อปดาวน์จากบนลงล่างครอบคลุมร่วมกันทั้งภูมิภาค บางข้อออกเป็นกฎบังคับใช้ทั่วไปแล้ว แต่บางข้อยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ออกเป็นแนวทางกรอบนโยบายภาพรวมให้แต่ละท้องที่คิดค้นหาทางดำเนินการสู่เป้าหมายที่วางไว้ตามความเหมาะสมกันเอง

กติกาน้ำข้อแรกที่สหภาพยุโรปบังคับใช้ร่วมกันคือมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประเด็นนี้ทำกันมาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์ มันเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ใครๆ ก็ต้องการน้ำสะอาดดื่มกินราดตัว ความสกปรก-สะอาดของน้ำรอบๆ ตัวยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสาทสัมผัส กลิ่นและสีของน้ำกระทบคุณภาพชีวิตประจำวันอย่างจัง ดังที่คนไทยบ้านน้ำท่วมขังเน่าเหม็นตามเมืองต่างๆ ประจักษ์ซึ้งกันถ้วนหน้าในปีนี้

โดยทั่วไป แหล่งมลภาวะที่จัดการง่ายที่สุดมักจะเป็นมลภาวะจากภาคอุตสาหกรรม เพราะมีจุดปล่อยน้ำเสียชัดเจน ควบคุมได้ (ถ้าตรวจสอบอย่างซื่อสัตย์และบังคับใช้กฎหมายจริงจัง) น้ำเสียจากชุมชนจัดการยากขึ้นมาหน่อยเพราะมีจำนวนมาก แต่ก็สามารถวางระบบจัดการได้ แต่แหล่งมลภาวะที่จัดการยากที่สุดได้แก่มลภาวะจากภาคเกษตร เพราะส่วนใหญ่เป็นมลพิษที่ไม่มีจุดปล่อยจำเพาะ เป็นมลพิษจากปุ๋ยเคมีและยาฆ่าศัตรูพืชที่ปนเปื้อนทั่วผืนแผ่นดิน ถูกฝนชะไหลอาบลงแหล่งน้ำสาธารณะลงทะเล ฆ่าชีวิตในทะเลจำนวนมหาศาล เป็นสาเหตุการทำลายระบบนิเวศในทะเลชายฝั่งอันดับต้นๆ นักสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมทุกคนรู้ดีแต่สื่อสารกันไม่เต็มหมัดเพราะยังขาดตัวเลข และที่สำคัญ มันเป็นวิกฤตที่สะสมลับตาอยู่ใต้น้ำอาจโผล่ให้เห็นกันตามชายฝั่งบางแห่ง แต่ไม่ได้สำแดงฤทธิ์ออกมาเป็นมหันตภัยโครมครามสะท้านใจคนเมืองจนสามารถปลุกความสนใจในสังคมขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมายุโรปตะวันตกจัดการปัญหาคุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำจืดบนผิวดินได้ค่อนข้างดี แม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอนมีปลาเทราต์กลับมาอยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเน่าเสียมากมายในยุค 60 ปัญหามลภาวะเกษตรแม้จะยังจัดการไม่ได้เต็มที่จนกว่าจะสามารถเปลี่ยนระบบเกษตรไปเป็นเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติ แต่ก็บรรเทาลงได้มากด้วยมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรละเว้นไม่ตัดถางแนวพงพืชริมน้ำในรัศมี 10 เมตรจากลำน้ำ ดงพืชธรรมชาติเหล่านี้นอกจากจะปกป้องตลิ่งชายน้ำ ป้องกันการกัดเซาะและดักตะกอนที่ชะบ่ามาตามหน้าดินแล้ว ยังทำหน้าที่ดูดซับมลพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำหลากได้อีกด้วย

ปัญหาคุณภาพน้ำที่ยุโรปคงต้องกังวลอยู่คือคุณภาพน้ำใต้ดิน ในประเทศที่ลุ่มแบนราบ อาทิเช่น ประเทศเดนมาร์ก น้ำใต้ดินเดินทางช้ามากถึงมากที่สุด กรรมเก่าที่รุ่นพ่อแม่ทำไว้เพิ่งจะไหลออกมาสู่ลำน้ำเมื่อ 10 กว่าปีก่อน รุ่นลูกวันนี้ก็รับกันไป

แต่สุขภาวะของสายน้ำไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสะอาดสกปรกของน้ำเพียงอย่างเดียว ความปกติสุขของมันตั้งบนสามเสา ได้แก่ คุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำ และกายภาพของลำน้ำ ทั้งสามเสาเป็นตัวค้ำจุนการดำเนินชีวิตของพืชและสัตว์น้ำ เขื่อนกั้นน้ำและการขุดลำน้ำธรรมชาติให้ตรง ตลอดจนการสร้างแนวกำแพงริมตลิ่งกันมากมายในยุโรป ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายกายภาพแม่น้ำ (คืออย่างไรจะอธิบายในตอนต่อไป) นักนิเวศและนักชีวะได้พยายามผลักดันให้มีการฟื้นฟูสภาพแม่น้ำธรรมชาติมานานหลายสิบปี ประสบความสำเร็จบ้างในบางกรณี เช่น ที่ประเทศเดนมาร์กริเริ่มขุดลำน้ำให้คดเคี้ยวดังเดิมขึ้นมาใหม่ในบางช่วง แต่ก็เป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขา จนกระทั่งเมื่อต้นศตวรรษ 2000 วิกฤตน้ำท่วมในยุโรปเปิดโอกาสให้สังคมหันมาสนใจฟื้นฟูธรรมชาติแหล่งน้ำ

ข้อมูลจาก NatCatService 2006 (ศูนย์ข้อมูลภัยพิบัติธรรมชาติ ตั้งอยู่ในเมืองมิวนิค) แสดงให้เห็นว่าน้ำท่วมเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติในยุโรป แต่ความรุนแรงค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และทวีคูณมากมายตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1985 ถ้าคิดเฉพาะในช่วงปี 2000-2006 สหภาพยุโรปประสบภัยน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 123 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4.9 ล้าน ตร.กม.หรือราวพื้นที่ประเทศไทย 10 ประเทศรวมกัน ส่งผลให้คนตาย 429 คน และต้องอพยพผู้คนถึงกว่า 5 แสนชีวิต ความสูญเสียโดยตรงเฉพาะที่คิดจากน้ำท่วมใหญ่ที่สุด 27 ครั้ง รวมเป็นเงิน 27 พันล้านยูโร หรือกว่าแสนล้านบาท เฉลี่ย 40 พันล้านบาทต่อท่วมใหญ่หนึ่งครั้ง

พระคุณเจ้า ตัวเลขเหล่านี้จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อยมากจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับความสูญเสียของไทยจากน้ำท่วมปี 2554 นี้เพียงครั้งเดียว ของเรายอดคนตายมากกว่า 500 ทั้งๆ ยังท่วมไม่จบ ค่าเสียหายที่ประเมินในเบื้องต้นก็ปาเข้าไป 4-5 แสนล้านบาทแล้ว บางคนว่าถึงล้านล้านบาท ย่อยยับกันเลยทีเดียว

ความเสียหายมากมายเกินเหตุของเรามาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในที่ลุ่มดินดีจากปุ๋ยน้ำท่วมจึงเหมาะแก่การเพาะปลูกมากกว่า เป็นต้น บวกกับระบบ (ไม่) เตือนภัยและการรับมืออย่างสับสนไร้แผน จึงยับเยินผิดธรรมดา

ย้อนกลับมาที่สหภาพยุโรป อุทกภัยซ้ำซ้อนบังคับให้ต้องหันมาทบทวนหาสาเหตุ และก็พบว่าผู้ร้ายอันดับหนึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เทน้ำฝนลงมามากมายผิดปกติ ปัจจัยนั้นยังเป็นรอง ตัวการสำคัญกลับเป็นการสร้างแนวกำแพงริมฝั่งน้ำที่ถูกขุดให้ตรง ส่งผลให้สูญเสียพื้นที่รับน้ำหลากหรือแก้มลิงริมฝั่งน้ำตามธรรมชาติไป แม่น้ำบางสายในยุโรป เช่น โอเดอร์ มีการสร้างกำแพงริมฝั่งน้ำมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นปัญหาที่สะสมมานานเกือบทั้งศตวรรษ จากความพยายามควบคุมธรรมชาติของยุโรป ป้องกันไม่ให้น้ำท่วม มุ่งขุดลำน้ำตรงเพื่อระบายน้ำหลากลงทะเลให้เร็วๆ แล้วยึดพื้นที่แก้มลิงเหล่านั้นมาทำการเกษตรแบบห้ามน้ำท่วม มาตั้งชุมชน มาขยายเมือง มิหนำซ้ำยังดาดคอนกรีตริมฝั่งน้ำ ตามพื้นร่องน้ำบางสาย และตามพื้นดินทั่วไปอีกไม่น้อย ศักยภาพในการซึมซับน้ำของผืนดินก็ลดหย่อนลงไป

น้ำท่วมลุ่มภาคกลางของไทยในปี 2554 ครั้งนี้ น่าจะแสดงให้เราเห็นความสำคัญของพลังการซึบซับน้ำของดิน เราเห็นผืนน้ำปริมาณมหาศาลกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรเคลื่อนตัวสู่กรุงเทพฯ แต่กลับปรากฎว่าปริมาณน้ำที่เมืองกรุงจะต้องรับมือจริงๆ มีอยู่เพียงราว 30 เปอร์เซ็นต์ของมวลน้ำทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งของน้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือไหลบ่าระบายไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกง แต่เกินครึ่งซึมลงดินและเก็บกักตามหนองบึงกลางทุ่ง

ความพยายามบีบน้ำไว้ในลำแคบๆ บวมออกด้านข้างไม่ได้ ซึมซับลงดินได้น้อย จึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมยุโรปอย่างมากมาย กลายเป็นอุทกภัย

ชัดเจนว่าระบบการจัดการลุ่มน้ำจะต้องปรับเปลี่ยน ฝรั่งก็พูดเหมือนกับเราว่าต้องบูรณาการกันทั้งลุ่มน้ำ แต่มันไม่ได้หมายถึงเพียงการประสานงานการเคลื่อนที่ของมวลน้ำระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่นต่างๆ ดังที่ภาครัฐไทยพูดถึง หากเราต้องทบทวนบทบาททุกมิติของระบบน้ำ ทั้งในด้านการทำงานเชิงระบบนิเวศและความต้องการโดยตรงของมนุษย์

อย่าเห็นแต่โทษของน้ำท่วม จนมุ่งแต่ลงทุนมหาศาลหาทางป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมเพียงอย่างเดียว มันน่าสนใจกว่าที่จะหาทางลดและจัดการความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม เพราะหากเรามุ่งแต่ป้องกันน้ำท่วม เราจะไม่ได้รับประโยชน์อื่นๆ จากระบบนิเวศน้ำเลย และที่สำคัญ เราควรจะรู้ตัวได้แล้วว่าเราไม่มีวันเอาชนะธรรมชาติได้ แต่แนวคิดหลังเปิดโอกาสให้เรารับบริการดีๆ มากมายที่น้ำให้แก่ชีวิตบนโลก ผสมผสานกับการป้องกันภัยอันตรายในส่วนที่จำเป็น

ตอนหน้าจะอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม