ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > หักเก้าอี้ “รองนายกฯ ความมั่นคง” ไร้โซ่ประสานงาน “รัฐบาล-ทหาร” วัดฝีมือเลขา สมช. – เปิดงบดับไฟใต้ 2556

หักเก้าอี้ “รองนายกฯ ความมั่นคง” ไร้โซ่ประสานงาน “รัฐบาล-ทหาร” วัดฝีมือเลขา สมช. – เปิดงบดับไฟใต้ 2556

9 พฤศจิกายน 2012


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.ปู 3) ถ่ายรูปหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.ปู 3) ถ่ายรูปหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2555

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.ปู 3) ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของรัฐมนตรีแต่ละบุคคลว่า เป็นการตอบแทนบุญคุณ ให้ตำแหน่งคนใกล้ชิด ปรับ ครม. เพื่อหนีการซักฟอกของฝ่ายค้าน…

แต่คนที่ต้องเก้าอี้หัก หลุดออกจากตำแหน่ง ที่ได้รับความสนมากที่สุด คือ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่หลายฝ่ายเริ่มกังวลและสงสัยว่า ใคร ? ที่จะเข้ามากำกับดูแลงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้…!

เพราะในตำแหน่ง “รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง” ที่เปรียบเสมือน โซ่ประสานงานการทำงาน “รัฐบาล–ทหาร” หรือ “ตารางประสานสอดคล้อง” ที่ทำหน้าที่ประสานการทำงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน ให้การทำงานเป็นหนึ่งเดียวกับทหาร

โดยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “พล.อ.ยุทธศักดิ์” สามารถทำงานและประสานงานได้ดี ถึงแม้แนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ที่ผ่านมาอาจไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่สำหรับทิศทางการแก้ไขปัญหา บทบาท “มือประสาน” แต่ละกระทรวงนั้นเป็นที่ยอมรับของ “กองทัพ” ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เมื่อต้องกระเด็นตกเก้าอี้รองนายกฯ ทำให้ “พล.อ.ยุทธศักดิ์” คงหนีไม่พ้นในเรื่องของศักดิ์ศรี และต้องเสียหน้าอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตลอดระยะเวลาการเข้าร่วม “ครม.ปู” ตั้งแต่ปลายปี 2554 ในตำแหน่ง “รมว.กลาโหม” ได้ถูกว่างตัวให้มากำกับ ดูแล “กองทัพ” จาก “นายใหญ่” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็น “พล.อ.ยุทธศักดิ์” เองที่ดันถูก “กองทัพ” กลืนเพราะด้วยความเป็นผู้ใหญ่ใจดี ทำให้ “เลือดทหารย่อมข้นกว่าน้ำ” จนเห็นดีเห็นงาม ปล่อยให้น้องๆ ในกองทัพทำงานตามใจชอบ ทำให้ถูกคนในพรรคเพื่อไทยเองคอยจะเลื่อยขาอยู่ตลอด

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา

จนถูกใบสั่ง ย้ายเข้ากรุมานั่งในตำแหน่ง “รองนายกฯ มั่นคง” และท้ายที่สุดก็ต้องหลุดจากตำแหน่งนี้ไป โดยมีตำแหน่งปลอบใจคือตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกฯ ” แทน…

นอกจากนี้ คนที่น้อยใจคนที่สอง คงหนีไม่พ้น “บิ๊กตุ้ย” พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ที่ปรึกษานายกฯ ญาติผู้พี่ ที่ยื่นใบลาออกภายหลัง “ครม.ปู3” ออกมาชัดเจน เนื่องจากพลาดหวังเก้าอี้สำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะเก้าอี้ “รองนายกฯ มั่นคง”

ทั้งนี้ ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีปัจจุบันมีอยู่ 5 คน คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายปลอดประสพ สุรัสวดี

เมื่อเปิดรายชื่อที่มีอยู่นี้ คนที่ต้องได้รับหน้าที่ “ดูแลภาคใต้” หวยน่าจะมาออกที่ “ร.ต.อ.เฉลิม” ที่น่าจะถูกหมายมั่นปั้นมือให้มาแทน “พล.อ.ยุทธศักดิ์” แต่เจ้าตัวได้ปฏิเสธโดยยอมรับว่ามีความสามารถไม่เพียงพอ ขอดูแลเรื่องยาเสพติดเป็นหลัก

โดยเบื้องต้น น.ส.ยิ่งลักษณ์รับหน้าที่ประสานการทำงาน “กองทัพ” ด้วยตนเอง และให้ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม คอยช่วยเหลือดูแลงานด้านความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยเฉพาะ “การแก้ไขปัญหาภาคใต้”

แต่สำหรับ “กองทัพ” ค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ เพราะ “พล.อ.อ.สุกำพล” มีตำแหน่งแค่ “รมว.กลาโหม” การสั่งการหรือขอความร่วมมือ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน อาจมีปัญหา !!!

ดังนั้นต้องติดตามว่า ผลกระทบจากการไร้ “รองนายกฯ มั่นคง” จะส่งผลอย่างไร…

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นยังมี “เลขาฯ แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร (ตท.14) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เด็กสายตรง “นายใหญ่” ที่กุมบังเหียนขับเคลื่อน “เป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2555 – 2557”

โดยมีวัตถุประสงค์ 9 ประการ คือ 1. การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวดชายแดนภาคใต้ และทุกคนในพื้นที่ ดำรงชีวิตได้ปกติสุข 2. การขจัดและป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยง และเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย 3. การเสริมสร้างความเข้าใจและฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน ให้เกิดความร่วมมือในการพร้อมเผชิญปัญหาร่วมกัน

4. การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมในทุกระดับ ตรงกับความต้องการ ไม่ทำลายอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนมีผลต่อการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคง 5. การเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตละวัฒนธรรม 6. การเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

7. การทำให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลในการแก้ไขปัญหา 8. การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ 9. การดำเนินการนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และวางอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน

พล.ท.ภราดร  พัฒนถาบุตร
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
งานนี้คงต้องดูฝีมือ “พล.ท.ภราดร” ในการคุมนโยบายดังกล่าว ว่าจะสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ตามเป้าหมาย จนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างที่คนรอคอยหรือไม่…

ยิ่งเรื่องภาคใต้ถือเป็นของร้อนลำดับต้นๆ ของรัฐบาลและกองทัพ ที่พยายามทุ่มเทการแก้ไขปัญหา อีกทั้ง “กองทัพ” ยังถูกวิจารณ์ว่า “เลี้ยงไข้” เพื่อหวังงบประมาณแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่มหาศาล ยิ่งทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไม่สบอารมณ์ ได้ยินทีไรหงุดหงิดทุกครั้ง จนต้องเชิญคอลัมน์นิสต์ นักวิชาการ อาทิ รศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาที่ห้องรับรองภายในกองบัญชาการกองทัพบกเพื่อเคลียร์ข้อกล่าวหา พร้อมทำความเข้าใจการทำงานของกองทัพ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของ กอ.รมน. ที่ถูกวิจารณ์ว่า กองทัพได้เงินมหาศาลต่อปี

โดยตามข้อมูลเอกสาร ที่ระบุงบประมาณในแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2556 ของส่วนราชการ จำนวน 20,624.36 ล้านบาท ถูกแจกจ่ายงบประมาณ ดังนี้ กรมประชาสัมพันธ์ 22 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 57.28 ล้านบาท, สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 13.26 ล้านบาท, กอ.รมน. 6,276.120 ล้านบาท, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 48 ล้านบาท, กองบัญชาการกองทัพไทย 83.26 ล้านบาท, กองทัพบก 830.71 ล้านบาท, กองทัพเรือ 759.51 ล้านบาท, กองทัพอากาศ 262.64 ล้านบาท

กรมศุลกากร 65.47 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 39.5 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 30 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 257.30 ล้านบาท, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 40.74 ล้านบาท, สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ 7.97 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 35.84 ล้านบาท
กรมการข้าว 18.18 ล้านบาท, กรมประมง 47.06 ล้านบาท, กรมปศุสัตว์ 120.49 ล้านบาท, กรมพัฒนาที่ดิน 169.50 ล้านบาท, กรมวิชาการเกษตร 34 ล้านบาท, กรมส่งเสริมการเกษตร 32.37 ล้านบาท, กรมส่งเสริมสหกรณ์ 8.87 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 18.40 ล้านบาท, กรมการปกครอง 2,280.15 ล้านบาท, กรมโยธาธิการและผังเมือง 723.07ล้านบาท

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 1,083.57 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม 61.54 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 80 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 187.91ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 857.58 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 184.76 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 137.48 ล้านบาท

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 428.38ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 25 ล้านบาท, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 58 ล้านบาท, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 173.79 ล้านบาท, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 36.48 ล้านบาท, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 45.50ล้านบาท, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 29.70 ล้านบาท, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 14 ล้านบาท

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 22.16 ล้านบาท, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 208.51 ล้านบาท, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,798.83 ล้านบาท, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,265.90 ล้านบาท, สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 11.41 ล้านบาท, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 71.28 ล้านบาท

ด้งนั้น ด้วยงบประมาณที่มหาศาลที่ถูกนำไปอัดฉีดในหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อนำไปสู่หนทาง “ดับไฟใต้” ทำให้สังคมมีความคาดหวังที่สูงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ที่สำคัญ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ในฐานะ ผอ.รมน. หรือ “เสนาบดี” ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ จะทำอย่างไรในการนำเม็ดเงินอันมหาศาลทั้งหมดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อความร่มเย็นและสันติสุขของพี่น้องคนไทยทุกเชื้อชาติ

29 เป้าหมายยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557

1. พื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญ และสถานที่ชุมชนสาธารณะ ปลอดพ้นจากเหตุการณ์รุนแรง

2. หมู่บ้าน/ชุมชนที่เป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ลดจำนวนลงในพื้นที่เดิม และไม่เพิ่มในพื้นที่ใหม่

3. ศาสนสถาน ศาสนบุคคล และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการคุ้มครอง ปลอดพ้นจากเหตุรุนแรง

4. เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย และผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

5. คดี หรือเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศ ได้รับการเร่งรัด และนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยทันที

6. การดำเนินคดีความมั่นคงมีประสิทธิภาพ ทั้งกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่รัดกุม และโปร่งใส ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

7. กระบวนการยุติธรรมทางเลือกได้รับการสนับสนุน โดยให้ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา และชุมชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง

8. ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ได้รับการเยียวยาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงตลอดจนสร้างความไว้วางใจ

9. ประชาชนมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ผ่านเวทีการสื่อสารที่ส่งเสริมการพูดคุยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

10. จำนวนกลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทาง และทักษะการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

11. การลงทุนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องมั่นคง สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ วิถีชีวิต ตรงกับความต้องการของประชาชน และมีผลต่อการสร้างอาชีพ และการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงให้แก่ประชาชน ส่งผลให้อัตราการว่างงานในระดับหมู่บ้านลดลงอย่างต่อเนื่อง

12. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบลอจิสติกส์ เทคโนโลยี ศักยภาพแรงงาน ทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ ครอบคลุมทั้งพื้นที่ในประเทศ และรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

13. สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ได้รับการพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรการศึกษา และครูทั้งสายสามัญ และศาสนาอย่างครบถ้วน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเทียบเท่ามาตรฐานกลางของประเทศ

14. เด็ก เยาวชน และผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับความรู้ การเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ โดยพัฒนา/สร้างแหล่งเรียนรู้ และสนับสนุนระบบการศึกษานอกโรงเรียน

15. ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับหลักประกันการมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อการดำรงชีพ และการสร้างรายได้ที่พอเพียงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

16. ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุข และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเต็มประสิทธิภาพประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ปฏิบัติตามประเพณีและศาสนา

17. เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งภายนอกและภายใน

18. การฟื้นฟู อนุรักษ์ รักษาอัตลักษณ์ทางภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่มีเพิ่มขึ้น

19. เด็กและเยาวชนมีความรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับการศึกษา

20. ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการศึกษา มีบทบาทในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในชุมชนเพิ่มขึ้น

21. ประชาชนได้รับข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์

22. ประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไม่ถูกหยิบยกเป็นวาระระหว่างประเทศ เช่น เวทีขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และสหประชาชาติ

23. ประชาชนในโลกมุสลิมและต่างประเทศ มีความเข้าใจและสนับสนุนการพัฒนา รวมทั้งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือของประชาคมอาเซียน และกิจการฮัจญ์

24. หน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกการจัดพื้นที่และกระบวนการสื่อสาร พูดคุย เพื่อลดและป้องกันการขยายตัวของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประเทศกับประชาชนเพิ่มขึ้น

25. จำนวนเวทีส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสวงหารูปแบบการกระจายอำนาจที่ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทและส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีมากขึ้น

26. ผู้มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ต่างจากรัฐ มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลได้รับหลักประกันความปลอดภัยจากรัฐอย่างทั่วถึง

27. กลไกขับเคลื่อนการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ

28. ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำนโยบายยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล

29. เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องมีความเข้าใจนโยบายและยุทธศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกัน