คำถามที่สังคมสงสัยว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)วางแผนการจัดการน้ำจากกรอบแนวคิดอย่างไร ทำไมน้ำถึงท่วม แล้วกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมอีกหรือไม่
ต่อประเด็นนี้นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล สู่การสร้างเขื่อนในประเทศไทย และรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีว่าแผนของกบอ.มาจากหลักคิดของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่มาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) การวางแผนการจัดการน้ำของ กยน. จะดูตั้งแต่ต้นน้ำว่ามีทรัพยากรอะไร กลางน้ำดูว่ามีพื้นที่รับน้ำไหม ส่วนปลายน้ำดูว่าสามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นการวางแผนที่ถูกต้อง แต่เป็นการดูเส้นทางน้ำเฉพาะในแนวดิ่งเท่านั้น ไม่ได้ดูในแนวขวางประกอบด้วย
การบริหารจัดการน้ำของรัฐ
นายหาญณรงค์กล่าวว่าเมื่อแผน กยน. ออกมาสู่ กบอ. สิ่งหนึ่งที่รัฐจะทำคือ หาพื้นที่ปลูกป่าต้นน้ำประมาณ 10 ล้านไร่ โดยตั้งงบประมาณไว้หมื่นล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคือ ในวันนี้ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ว่างที่เป็นแปลงใหญ่ผืนเดียวกันขนาด 10 ล้านไร่ ดังนั้น หากจะทำตามหลักคิดนี้ รัฐจะต้องประสานงานกับคนท้องถิ่นเพื่อกระจายการปลูกป่าโดยไม่ยึดติดกับตัวเลข แต่ดูความสัมฤทธิ์ผลของพื้นที่ป่าในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะป่าต้นน้ำ
ป่าต้นน้ำไม่ได้หมายถึงจุดสูงสุดของแม่น้ำเท่านั้น แต่รวมถึงลำน้ำสาขาด้วย เช่น แม่น้ำท่าจีนก็ไม่มีต้นน้ำของตัวเอง ต้นน้ำของท่าจีนมาจากเขื่อนเจ้าพระยา (จ.ชัยนาท) ผันน้ำมา โดยมีลำน้ำสาขา “เขียว” ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเพียงสายเดียวเท่านั้น ฉะนั้น การคิดแต่เรื่องหาพื้นที่ปลูกป่าอย่างเดียวมันจะไม่สอดคล้องกัน
ตั้งแต่มีการสัมปทานป่าไม้มา พบว่า การปลูกป่าโดยกลไกของรัฐไม่สามารถสร้างป่าได้จริง เช่น ตามนโยบายของรัฐที่ว่าถ้าตัดไม้ก็ต้องปลูกป่าทดแทน นั่นหมายถึงสภาพความเป็นป่าที่สมบูรณ์สามารถทดแทนป่าเดิมได้ แต่ในวันนี้เราไม่เจอป่าทดแทนจริงตามนโยบายดังกล่าวเลย
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
สาเหตุที่ปลูกป่าทดแทนได้ไม่เท่าป่าเดิมก็คือ
1. ระบบราชการไทยเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรไม่จริงจัง สู้การจัดการโดยชุมชนเองไม่ได้ แม้แต่แผนงานของ กยน. หรือ กบอ. สุดท้ายก็คือให้กรมทำหน้าที่เหมือนเดิม ไม่มีงบประมาณลงไปสู่ชุมชนให้ชาวบ้านจัดการกันเอง เช่นนี้แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการลงทุนหมื่นล้านบาทเพื่อปลูกป่า 10 ล้านไร่ กับงบฯ อีก 6 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าใน 17 ลุ่มน้ำ จะทำได้สำเร็จ
2. ในช่วงกลางน้ำคิดแต่จะสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะใน 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำสะแกกรัง-เขื่อนแม่วงก์, ลุ่มน้ำยม-เขื่อนแก่งเสือเต้น, ลุ่มน้ำน่าน-เขื่อนวังชมพูและเขื่อนน้ำป่า, ลุ่มน้ำปิง-เขื่อนแม่แจ่ม, ลุ่มน้ำป่าสัก-วางแผนจะสร้างเขื่อนในจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจุดที่จะสร้างเขื่อนเหล่านี้ก็คือป่าที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทั้งหมด และสามารถรองรับน้ำได้รวม 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในงบฯ 5 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่ปี 2554 มีน้ำไหลผ่านจุดนี้เกือบ 4 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่รัฐจะลงทุนอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รับน้ำได้อีกเพียง 1,800 ล้าน ลบ.ม. นั้น จะบอกว่าสามารถควบคุมน้ำท่วมแบบปีที่แล้วได้อย่างไร
นายหาญณรงค์กล่าวอีกว่าอย่างกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณสร้างเขื่อนแม่วงก์ 13,280 ล้านบาท เมื่อ 10 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ความจริงแล้วเขื่อนแม่วงก์จุน้ำได้ 258 ล้าน ลบ.ม. อยู่ห่างจากเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 40 กิโลเมตร เมื่อปีที่แล้วมีน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยากว่า 4.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. มีอัตราการไหลสูงสุดต่อวันประมาณ 338 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนแม่วงก์รับน้ำได้แค่ 258 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น แล้วจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร
นอกจากรัฐบาลจะคิดถึงแต่อุปกรณ์ที่มีอยู่และเข้าควบคุมอุปกรณ์นั้นแล้ว คนที่มีหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์ก็ขาดความเข้าใจด้วยว่า จะปล่อยน้ำจากเขื่อนไหน ปล่อยไปเข้าทุ่งไหน น้ำในทุ่งนั้นมีปริมาตรเท่าไหร่ เพราะอุปกรณ์มีทั้งเขื่อน ฝาย คลองชลประทาน ประตูน้ำ ทุ่งรับน้ำ
3. รัฐบาลคิดหาแต่ทุ่งรับน้ำ โดยตั้งงบก่อสร้างสูงถึง 6 หมื่นล้านบาทในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ 2 ล้านไร่ ทั้งๆ ที่รัฐไม่จำเป็นต้องเวนคืน หรือสร้างคันดิน ยกถนน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำใดๆ เพราะเป็นรูปแบบที่ผิดกลไกของธรรมชาติและกีดขวางทางน้ำไหล เนื่องจากเดิมคือพื้นที่ลุ่มตามธรรมชาติ ที่น้ำต้องเข้าทุกปีอยู่แล้ว
เช่น ที่ลุ่มบางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ลุ่มตั้งแต่ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพทะเล อ.บึงนาราง จ.พิจิตร จนถึง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เหล่านี้เมื่อก่อนน้ำสามารถเข้าไปได้ แต่งบ 6 หมื่นล้านบาทนี้จะทำให้คันดินถูกยกสูง 3-4 เมตรทันที เมื่อน้ำเข้าทุ่งไม่ได้ก็ท่วมนอกทุ่ง ซึ่งรัฐก็ต้องมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนอกทุ่งต่ออีก
นี่คือการแก้ไขปัญหาน้ำโดยเอาสิ่งก่อสร้างเป็นตัววาง ซึ่งเลียนแบบวิธีการมาจากบางบาล 1 บางบาล 2 ที่อยุธยา ที่มีโครงการให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปศึกษาตามแนวพระราชดำริ แต่ในพระราชดำริคือต้องการเอาน้ำเข้าทุ่งแบบแก้มลิงธรรมชาติแล้วเปิดประตูระบายน้ำออกเมื่อน้ำข้างล่างลด แต่นี่ปิดช่องทางน้ำด้วยสิ่งก่อสร้างทั้งหัวน้ำและท้ายน้ำเลย
“อย่างพื้นที่บางบาลมีเนื้อที่ 1.3 แสนไร่ มีพื้นที่รับน้ำ 200 ตารางกิโลเมตร วันนี้น้ำสามารถเข้าไปขังได้สูง 2 เมตร แต่รัฐบาลตั้งการให้รับน้ำได้สูง 3.5 เมตร ก็ไปสร้างคันกั้น จึงส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป เช่น ต้องดีดบ้านให้สูงเพิ่มขึ้น”
นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่าหลักการสร้างทุ่งรับน้ำของรัฐบาลเหมือนกับการยึดเอาที่ดินของชาวบ้านไปแล้วสร้างอุปกรณ์ล้อมไว้ ส่งผลให้ชาวนาบางคนที่เคยทำนา 3 ครั้งต่อปี อาจจะทำนาได้แค่ปีละครั้ง ซึ่งตนคิดว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า รัฐบาลไม่กล้าประกาศว่า ทุ่งที่ต้องรับน้ำ เจ้าของที่จะได้รับค่าชดเชยเท่าไหร่ มีกฎเกณฑ์อะไร
จากทุ่งรับน้ำทั้งหมด 13 แห่งที่รัฐบาลประกาศ หากน้ำมาในช่วงกลางก็เอาน้ำเข้าในทุ่งตรงกลางเท่านั้น ไม่ต้องไปเก็บที่ทุ่งตอนบนและตอนล่าง แต่ที่รัฐบาลทำอยู่คือทำทุ่งรับน้ำรอไว้ให้หมดก่อน ซึ่งถ้าน้ำไม่เข้าก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร คือแทนที่จะตั้งงบฯ เพื่อชดเชยให้ชาวบ้าน รัฐบาลควรตั้งงบฯ เพื่อเยียวยา และตั้งกองทุนเพื่อเยียวยามากกว่า
อีกส่วนหนึ่งคือการทำฟลัดเวย์เพื่อเอาน้ำออกจากทุ่งแล้วระบายลงทะเลให้เร็วที่สุด เดิมที่รัฐบาลตั้งงบเจ้าพระยา 2 หรือบายพาสน้ำไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่คิดกันมานานแล้วแต่ติดปัญหาตรงที่ไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้ รัฐบาลนี้จึงคิดทำใหม่โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน แต่เปิดทางน้ำผ่านแทน เช่น ทำทางถาวรกว้างสัก 1-2 กิโลเมตร ให้น้ำผ่าน แล้วห้ามสร้างสิ่งกีดขวางใดๆ ซึ่งตนคิดว่าไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
“เหมือนที่สนามบินสุวรรณภูมิก็ห้ามสร้างบ้านบริเวณเส้นทางขึ้น-ลงของเครื่องบิน แต่สุดท้ายก็ควบคุมไม่ได้ เพราะชาวบ้านก็ถือว่าเขามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดคือ ขุดทำเป็นท่อใต้ดิน แต่การทำบายพาสที่ระบายน้ำจากทุ่งเร็วเกินไป อาจทำให้น้ำมีไม่พอใช้ในการเกษตร รัฐบาลก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเอาน้ำเอาไปอยู่ในระบบลำคลอง หรืออื่นๆ เพื่อการเกษตรได้”
นายหาญณรงค์กล่าวว่าหากรัฐบาลต้องการจะทำโครงการนี้ ตนมีวิธีการเสนอที่ไม่ต้องลงทุนมากถึง 6 หมื่นล้านบาท คือ
1. เมื่อรัฐบาลประกาศให้ที่ใดเป็นทุ่งรับน้ำ ก็ขอให้ไปสนับสนุนให้ชาวบ้านมีน้ำใช้สำหรับปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวได้ล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมาสัก 1 เดือน เช่น ให้เครื่องสูบน้ำกับชาวบ้าน เพราะการที่ชาวบ้านต้องทำนาก่อนฤดูอาจประสบภาวะขาดแคลนน้ำปลูกข้าวได้
2. หากที่นาซึ่งเป็นทุ่งรับน้ำเกิดวิกฤติ เช่น น้ำท่วมก่อนเก็บเกี่ยวข้าว บางทีชาวนาก็เก็บเกี่ยวไปแล้วครึ่งหนึ่ง รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องไปจ่ายเงินชดเชยในพื้นที่ที่ชาวนาเก็บเกี่ยวไปแล้ว
3. พัฒนาระบบพยากรณ์อากาศไทย
นอกจากนี้ แผนงานทั้งหมดของ กบอ. ในงบ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ยังสะท้อนอีกว่า
1. กระบวนการวางแผนงานทั้งหมดขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
2. กระบวนคิดทั้งหมดขาดมาตรการในแนวขวาง ว่าสิ่งกีดขวางทางน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันควรจะรื้อตรงไหนทิ้งบ้าง
-ถนนที่กีดขวางทางน้ำก็อาจจะยกเป็นสะพานเพื่อให้น้ำผ่านได้สะดวกขึ้น
-ควรปรับพฤติกรรมและวางผังเมืองใหม่ และออกกฎระเบียบห้ามปลูกสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ หรือในเขตพื้นที่ลุ่ม
-ออกกฎระเบียบห้ามถมดินสูงในพื้นที่ลุ่ม และเวนคืนที่ดินที่ถมรุกล้ำทางน้ำ
“แต่สิ่งที่รัฐบาลออกระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาและการจัดการน้ำคือ จะตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อรวมเรื่องน้ำไว้ด้วยกัน การแก้ปัญหาน้ำด้วยการสร้างไม่เกิดประโยชน์ ในวันนี้หากอยากแก้ปัญหาเรื่องน้ำ รัฐต้องจัดการตั้งแต่ผังเมือง การปรับภูมิประเทศ ปรับการก่อสร้าง สร้างความเข้าใจและยอมรับข้อเท็จจริง”
และรัฐบาลต้องสร้างกลไกการยอมรับข้อเท็จจริงแก่ประชาชนว่า ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ไม่มาก ไม่ใช่ภัยพิบัติ ไม่ใช่สร้างตัวเลขโกหกมาเป็นแรงจูงใจเพื่อทำโครงการ
“เช่น พยากรณ์ว่าน้ำจะมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีเขื่อน หรือน้ำท่วมเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เคยท่วมในสุโขทัย รัฐก็สร้างกลไกหรือมายาภาพผิดๆ แก่ประชาชนโดยไม่ดูข้อเท็จจริงเพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งคนที่สร้างมายาภาพเหล่านี้ก็คือหน่วยงานราชการและรัฐมนตรี ด้วยกลไกอย่างนี้จึงทำให้เกิดการเรียกร้องสร้างเขื่อนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ถูกต้อง”
นายหาญณรงค์กล่าวย้ำว่าในวันนี้สิ่งที่ถูกต้องคือ รัฐบาลต้องกลับไปใช้กลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำได้ปรึกษาหารือกันแล้วเอาข้อเท็จจริงมาพิจารณากันให้มากที่สุด เพราะกรรมการชุดนี้รวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในลุ่มน้ำทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านไว้ด้วยกัน และจะเป็นกลไกที่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่หลังจากตั้ง กบอ. ขึ้นมากลไกดังกล่าวก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ใช้
ทำไมกลไกกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำไม่มีประสิทธิภาพ
1. กรรมการลุ่มน้ำได้รับชุดข้อมูลจากส่วนราชการฝ่ายเดียว หากจ้างบริษัทที่ปรึกษาก็มักจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนทั้งสิ้น ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่ออกมาจึงมีแต่การสร้างเขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ ฯลฯ
2. วันนี้เรารู้ว่าแต่ละลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำเท่าไหร่ แต่เราวางแผนใช้น้ำเกินกว่าที่ลุ่มน้ำนั้นๆ จะให้ได้ นี่คือปัญหาสำคัญ ประเทศไทยโชคดีกว่าประเทศอิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ ฯลฯ เพราะว่าเรามีน้ำใช้เหลือเฟือ จนสามารถทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ในเมื่อเราสนับสนุนการทำนาแบบนี้ย่อมหมายถึงการใช้น้ำที่มากขึ้นด้วย
ในเชิงหลักการแล้วน้ำในครั้งที่ 3 ต้องใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ใช่เพื่อการเกษตร เราต้องแยกมิติการใช้น้ำว่าอันดับ 1 เพื่อการอุปโภคบริโภค 2 เพื่อการเกษตร 3 เพื่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม อีกทั้งต้องจัดสรรน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งประเทศไทยไม่มี
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการบริหารจัดการน้ำแบบอยู่ในเขื่อนทั้งหมด ไม่ยอมปล่อยออกมาเลย ซึ่งเป็นหลักการที่ผิด โดยปกติแล้วจะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อรักษาระดับท้ายเขื่อนไว้ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะแล้งยังไงก็จะต้องมีน้ำไหล 100 ลบ.ม. ต่อวินาที หรือลุ่มน้ำสะแกกรังก็ต้องมีน้ำไหลอย่างน้อย 50 ลบ.ม. ต่อวินาที นี่คือระดับน้ำที่ต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ปิดทั้งหมด
นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่าแผนงานของ กยน. จัดทำโดยกลุ่มคนไม่กี่คน การวางแผนจึงไม่รอบคอบ และมีอคติในการวางแผนงาน เพราะมีแต่กรรมการที่ถนัดการสร้างเขื่อน ดังนั้นจึงมีแต่แผนงานสร้างเขื่อน เมื่อการวางแผนขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคนในทุกมิติ แผนงานที่ออกมาจึงได้แค่นี้
แต่ถ้าการวางแผนมีคนที่มีความรู้เรื่องสังคม มีคนรู้เรื่องผังเมือง มีคนรู้เรื่องการจัดการระบบนิเวศโดยคำนึงและเคารพถึงระบบนิเวศด้วย แผนงานที่ออกมาจะไม่มีปัญหาอย่างเดิมๆ อีกอ่านต่อตอน2