ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลบริการ 3G ของ กสทช.

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลบริการ 3G ของ กสทช.

23 ตุลาคม 2012


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ กสทช. อย่างรุนแรง จากการจัดประมูลล้มเหลว เนื่องจากออกแบบการประมูลให้ไม่มีการแข่งขันกันจริง จนสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาประเมินของคลื่นความถี่

กสทช. ได้พยายามกู้ศรัทธาองค์กร โดยประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ว่า จะกำกับดูแลผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวดขึ้น ทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งต้องทำเป็นปรกติอยู่แล้ว
โดยรูปธรรม กสทช. ได้ประกาศที่จะกำกับอัตราค่าบริการ 3G ทั้งบริการเสียงและข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้บริโภคให้ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราในปัจจุบันที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 899 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้อัตราค่าบริการในปีแรกลดลง 10% ปีที่ 2 ลดลง 15% และปีที่ 3 ลดลง 20%

นอกจากนี้ กสทช. ยังประกาศที่จะกำกับดูแลคุณภาพบริการ และให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผน CSR และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนประกาศว่าจะปรับปรุงกระบวนการของตนในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค

บทความนี้จะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อท่าทีดังกล่าวของ กสทช. และจะเสนอแนะว่า หาก กสทช. มีความจริงใจที่จะกำกับดูแลบริการ 3G ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงแล้ว ควรดำเนินการอย่างไร

การกำกับอัตราค่าบริการ

อันที่จริงแม้ กสทช. ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ค่าบริการ 3G ก็ควรต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงทันทีจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐประมาณ 21-23% ของรายได้ โดยเปลี่ยนมาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมอื่น รวมประมาณ 5.5% แทน การเข้าสู่ระบบใบอนุญาตดังกล่าว โดยลำพังจึงทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงเกินกว่า 15% อยู่แล้ว ขอเพียงตลาดมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ ต้นทุนที่ลดลงของผู้ประกอบการก็จะถูกโอนถ่ายมาเป็นค่าบริการที่ลดลงของผู้บริโภคโดย กสทช. ไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ในปัจจุบัน และบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีอยู่มากมาย ที่สำคัญคือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ซึ่งเปรียบเสมือนราคาขายส่งระหว่างผู้ประกอบการ ยังถูกกำหนดอยู่ที่ 0.99 บาทต่อนาที ซึ่งสูงกว่าต้นทุนจริงที่ผู้เขียนเคยคำนวณไว้ที่ 0.27 บาทต่อนาที

ที่ผ่านมา กสทช. ปล่อยให้เอกชนรวมหัวกันกำหนดค่า IC สูงกว่าต้นทุนจริงมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น จนน่าจะเสียประโยชน์ไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท

หากไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถกำกับดูแลให้ค่าบริการ 3G ลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการอาจออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งตัดบางบริการออกไปเพื่อให้ดูราคาถูกลง หรือยัดเยียดขายพ่วงบริการอื่นที่ไม่จำเป็นเข้ามา ตลอดจนไปถึงการปฏิเสธไม่ลดราคาลงตามที่กำหนด โดยอ้างปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ค่าแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้ กสทช. จะสามารถลดค่าบริการ 3G ลงได้จริง 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาค่าบริการของไทยตอนนั้น ก็ใช่ว่าจะถูกกว่าราคาของต่างประเทศ

ในปัจจุบัน บริษัท StarHub ในสิงคโปร์ คิดค่าบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ซึ่งไม่จำกัดปริมาณข้อมูล (unlimited) เพียงเดือนละ 670 บาท และแม้ในอินเดีย บริษัท airtel ก็คิดค่าบริการโทรศัพท์ 3G ซึ่งจำกัดปริมาณข้อมูลที่ 3.1 GB ในราคาเพียง 340 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกเป็นครึ่งหนึ่งของบริการที่คล้ายกันในประเทศไทย

ในอนาคต ราคาค่าบริการในต่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำลงไปอีก เนื่องจากตลาดโทรคมนาคมของประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันมากกว่าประเทศไทย การลดราคาบริการ 3G ของไทยลงเพียง 20% จึงยังไม่เพียงพอ

เมื่อครั้ง กสทช. ยกร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้เขียนเคยเสนอให้ กสทช. กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญ (เช่น บริการ 3G และบรอดแบนด์) ของไทย ต้องมีราคาถูกอย่างน้อยเป็นที่สองในอาเซียน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการขานรับจากกลุ่มผู้บริโภค กสทช. ก็ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องอัตราค่าบริการในรูปอื่นแทนเลย โดยเพียงชี้แจงแบบขอไปทีว่า ตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีอยู่มีความเหมาะสมแล้ว กว่า กสทช. จะคิดออกว่าผู้บริโภคควรได้ราคาที่เหมาะสม องค์กรก็เกิดวิกฤติศรัทธาแล้ว

การคุ้มครองผู้บริโภค

การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ กสทช. ล้มเหลวอย่างมาก ผู้อ่านทุกคนคงเคยมีประสบการณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุดบ่อย และบริการบรอดแบนด์มีความเร็วช้ากว่าที่ผู้ประกอบการโฆษณาไว้มาก โดย กสทช. ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ เลย

นอกจากนี้ เมื่อดูสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค เราจะพบว่า ในช่วงเดือน พ.ย. 2554 – พ.ค. 2555 มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณา ไม่เสร็จในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดถึง 85% ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 78% ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต

โดยสาเหตุสำคัญของความล่าช้าดังกล่าวก็คือ กสทช. ปล่อยให้สำนักงาน กสทช. เข้าเกียร์ว่าง ไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากรอให้ผู้ประกอบการชี้แจงและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคเอง เสมือนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค เป็นภารกิจโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกิจกรรม CSR

ความไม่ใส่ใจในการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประกาศเจตนารมณ์ของ กสทช. ที่ออกมาดูว่างเปล่า ไม่มีน้ำหนัก จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแต่เพียงการแก้เกี้ยวเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองยังหวังว่า กสทช. จะพยายามพลิกวิกฤติขององค์กรในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะ

หาก กสทช. จริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ตั้งเป้าให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญของไทยมีราคาถูก อย่างน้อยเป็นอันดับที่สองในอาเซียน

2. ปรับลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงไม่ให้เกิน 25 สตางค์ต่อนาที และปรับลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการสื่อสารข้อมูลให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง

3. เร่งรัดพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค โดยสั่งการให้สำนักงาน กสทช. สนับสนุนการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ และไม่บั่นทอนการทำงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว โดยใช้กลไกอื่น

4. ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยยกเลิกประกาศห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งมีผลกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งในการประมูล 3G ที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าประมูลเหลือเพียง 3 ราย และการประมูลใบอนุญาตอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต