ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 4: การพลิกฟื้นระบบแบงก์

ตอนที่ 4: การพลิกฟื้นระบบแบงก์

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

“บัณฑูร” ชี้ วิกฤติ 2540 ฉุดธุรกิจแบงก์หยุดโต 3 ปี ต้องรัดเข็มขัด งดจ่ายโบนัสพนักงาน ชมนโยบายโดยรวมของทางการเอื้อสถาบันการเงิน ช่วยให้แบงก์พลิกฟื้นกลับมาดำเนินธุรกิจได้

ปกป้อง: ได้เงินก้อนนั้นมาแล้วลอตใหญ่ กสิกรไทยฟื้นหรือยัง

ยัง

ปกป้อง: แล้วกสิกรไทยต้องปรับอะไรบ้าง

ต้องเพิ่มทุนอีกสองรอบ แต่เพิ่มรูปแบบอื่น เพิ่มเป็นสลิป (SLIPS) พวกอะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นลักษณะใหม่ๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยคิดว่าจะต้องทำแบบนี้ ก็เผอิญธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีนโยบายที่จะประคอง “ไม่ฟันให้ล้มหมดทันที” อันที่ล้มมันช่วยไม่ได้ เพราะคนไปเคาะจะเอาเงิน นั่นไม่มีใครช่วยอะไรได้เหมือน “หัวใจมันวายทันที คนไข้มันต้องตาย”

ส่วนที่เหลือก็ประคองๆ ไป ไม่ต้องถึงกับต้องมาตัดทุนกันรุนแรง แล้วอะไรเพิ่มทุนได้ เช่น ไปเพิ่มแบบสลิปส์หรือแคปส์ (CAPS) แบบที่ของธนาคารกสิกรไทยกับที่ธนาคารกรุงเทพทำ ก็ยินยอมให้ทำ ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มทุนแบบนี้ไม่ยอมให้ทำแล้ว

คือแต่ละยุคแต่ละสมัยมุมมองไม่เหมือน ตอนนั้นต้องอะลุ้มอล่วย ไม่อย่างนั้นธนาคารพาณิชย์มันไม่มีทางออก แล้วถ้าธนาคารพาณิชย์ล้มก็จะมีปัญหาใส่รัฐบาล ซึ่งไม่อยากจะจัดการในสภาวะซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดล้มโครม ล้มไปครึ่งหนึ่งเขาก็จะตายอยู่แล้ว ล้มหมดเลยเขาก็จะรับไหว

เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เอื้ออำนวยที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่สาหัสถึงแก่ชีวิตได้มีโอกาสเพิ่มทุนแล้วก็ค่อยๆ ไต่กลับขึ้นมา แม้กระทั่งโครงการ 14 สิงหา ซึ่งรัฐบาลค้ำประกันส่วนหนึ่งให้เข้าเป็นทุนชั้นหนึ่ง เป็นหุ้น Preferred Stock (หุ้นบุริมสิทธิ์) หรือหุ้นที่เหนือกว่าหุ้นสามัญ ก็เป็นลักษณะของการ “อะลุ้มอล่วย” ให้สถาบันการเงินที่เหลืออยู่ซึ่งเพิ่มทุนตามปกติไม่ทัน เพราะตอนนั้นตลาดปิดไปแล้วยังมีโอกาสเพิ่มทุน

มองย้อนหลังกลับไปก็กลายเป็นว่า โดยรวมนโยบายก็เรียกว่า “ใช้ได้” คือรักษาระบบธนาคารพาณิชย์ไว้ไม่ให้ล้มไปทั้งหมด แต่ว่ามาตรการพวกนั้นหรือสินค้าพวกนั้นของสินค้าทุนพวกนั้น เช่น สลิปส์กับแคปส์ ไปขอวันนี้รัฐบาลก็ไม่ทำให้ เราบอกถ้าเพิ่มก็เพิ่มปกติ ไม่ใช่เพิ่มลักษณะแบบพันทาง หรืออนุพันธ์ หรือกึ่งอนุพันธ์ แบบนี้

ฉะนั้น แต่ละจังหวะเวลาก็มีความจำเป็นที่เราต้องใช้นโยบายให้สอดคล้องกันในจังหวะเวลาต่างๆ นี่คือ “ประวัติศาสตร์ของการฟื้น” ระหว่างทางนั้นธนาคารพาณิชย์ก็ลดต้นทุน ปลดคนออกไปจำนวนหนึ่ง แล้วก็แก้หนี้สินอะไรกันไปเท่าที่เหลือ คือไม่โตกันประมาณ 3-4 ปี

ปกป้อง: คุณปั้นพูดถึงตรงนั้นพอดี ก็อยากจะชวนคุยต่อว่า หลังจากที่ไปเพิ่มทุนได้เม็ดเงินไหลเข้ามาแล้ว ในตัวของกสิกรเองมีการปรับตัวเองยังไง ปรับองค์กรยังไง ปรับวิถีการทำธุรกิจอย่างไง

คือปล่อยกู้ตอนนั้นไม่ต้องพูดถึง ยังไม่มี เพราะฉะนั้นธนาคารไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย

ปกป้อง: แล้วทำยังไงครับตอนนั้น

ก็ต้องบอกว่าไม่มีรายได้ มันก็ต้องออกไปขาดทุน มีแต่รายจ่ายก็ต้องประหยัดให้มากที่สุด ผู้คนถ้าถึงจุดหนึ่งก็อาจจะต้องมีข้อเสนอจากกันโดยดีอะไรทำนองนี้ ก็มีไปจำนวนหนึ่ง แล้วก็แก้หนี้สิน

เรื่องใหญ่ใน 2-3 ปีหลังจากที่เกิดวิกฤติ 2540 คือการ “แก้หนี้” แก้หนี้ก็มีปัญหา คนก็หนี้เยอะ ไม่อยากจ่ายหมด บอกจ่ายไม่ได้ ต้องล้มละลาย ก็ต้องเจรจาต่อรองกันไป มีรูปแบบต่างๆ ของการแก้ ลดลงครึ่งหนึ่ง เก็บคนละครึ่ง หรือบางอันก็ต้องล้มละลายไป หรือไม่ก็เจอกรณีไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อะไรพวกนี้ มันก็เป็นลักษณะแล้วแต่ว่าตอนนั้นมีการเจรจากันอย่างไร

ปกป้อง: วิถีการปรับตัวและการปฏิรูปตัวเองของกสิกร ถ้าเทียบกับแบงก์อื่นๆ ในประเทศไทยมีอะไรที่ทำแตกต่างจากคนอื่นบ้าง

ก็พอๆ กัน ทุกคนรัดเข็มขัด ไม่จ่ายโบนัส คือ ตอนนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้องบอกพนักงาน แล้วเราก็เป็นคนบอกเอง “บอกเองว่าไม่มีโบนัส มีเงินเดือนก็บุญหนักหนาแล้ว” ทุกคนก็ต้องยอมรับสภาพว่ามันเป็นยังไง เงินเดือนไม่ขึ้น ขึ้นนิดหน่อย ก็ยังดีกว่าอีกหลายคนที่เขาล่มจมไปเลย

ปกป้อง: ช่วงเจ็บปวดนี้ยาวนานเท่าไหร่ กี่ปี

ก็ 2540 กว่าจะลืมตาอ้าปากก็ 3 ปี

ปกป้อง: มันค่อยๆ ฟื้น

ค่อยๆ ฟื้น

ปกป้อง: ไม่ได้มีจุดพลิกชัดๆ

ที่ “พลิก” คือเงินทุนที่ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพไปเพิ่ม เพราะฉะนั้นมันทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ถูกไปเป็นหนี้เสียของรัฐทั้งระบบ แค่ไปแค่ส่วนหนึ่งเอง ซึ่งแค่นี้ก็ยังแก้กันไม่หมดเลยของเก่า อันนั้นเป็นตัวพลิกตัวสำคัญ ส่วนที่เหลือก็ค่อยๆ เหมือนกับว่าบาดเจ็บสาหัส ก็รักษาแผล ก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาทีละนิดๆ แต่ถ้าตอนแรกไม่ได้ “ปั๊มหัวใจ” แล้วก็ “ให้เลือด” จำนวนแรกนั้นก็ตายหมด

ปกป้อง: ฟังดูอย่างนี้โหดมาก

โหดๆ โชคดีด้วย

ปกป้อง: ตอนนั้นอยู่ยังไง ตัวคุณปั้นเองดูใจตัวเองยังไง

ก็ตกใจเหมือนกัน เกิดมาก็ไม่เคยเจออย่างนี้ แล้วก็ไม่เห็นมีใคร เรียนหนังสือมาก็ไม่มีใครสอนเรื่องนี้ว่าเวลาระบบล้มทั้งระบบแก้ยังไง ทุกคนก็อย่างที่ผมเรียน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงคนเดินเท้า ทุกคนก็เจอกันครั้งแรกในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ก็ต้องคิดโจทย์แต่ละจังหวะเวลาในรูปแบบต่างๆ ค่อยๆ คลานกันมา ทำผิดบ้างถูกบ้างอะไรต่างๆ แบบนี้

อ่านต่อตอนที่ 5: บทเรียนของธุรกิจการเงินจากวิกฤติ 2540