ThaiPublica > เกาะกระแส > เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (5): ผู้ว่า ธปท. เด้งรับนโยบายเป็นที่พึ่งประชาชน

เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (5): ผู้ว่า ธปท. เด้งรับนโยบายเป็นที่พึ่งประชาชน

29 กันยายน 2012


ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

ธปท. เรียกประชุมทีมงาน หาแนวทางดูแลความผาสุกด้านการเงินให้ประชาชนรายย่อย พร้อมสรุปผลการสัมมนาฯ แถลงต่อสื่อมวลชนอย่างฉับไว

ทันทีที่งานสัมมนาวิชาการของ ธปท. ประจำปี 2555 เสร็จสิ้นลง วันรุ่งขึ้น (26 กันยายน) ธปท. เรียกประชุมทีมงานเพื่อไขข้อข้องใจโจทย์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และสรุปผลการสัมมนาฯ แถลงต่อสื่อมวลชนอย่างฉับไว

โดย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ ธปท. ได้จากการสัมมนา 2 วันที่ผ่านมา คือ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจบริบทถึงสิ่งแวดล้อมที่แบงก์ชาติ หรือประเทศไทยกำลังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น จะเห็นว่า ประเด็นต่างๆ ที่ถกเถียงกันทำให้ผู้ฟังเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งแวดล้อมที่เราทำอยู่เป็นอย่างไรในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือใกล้ๆ ตัวอย่างบรรยากาศทางการเมือง เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเสวนามากว่าคำตอบใดคำตอบหนึ่งในคำถามที่ตั้งขึ้นมา

ดร.ประสารระบุว่า ส่วนตัวมีบางข้อ บางเรื่องนำมาดำเนินการ ซึ่งมีประเด็นดังนี้

1. ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายแบบสุดขีดของพวกเศรษฐกิจหลัก จะเห็นว่า สองวันนี้พูดกันเยอะเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจากมาตรการ QE ของอเมริกา และอาจหมายรวมถึงนโยบายต่างๆ ของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆความจริงก่อนหน้านี้ ธปท. มีการติดตาม และศึกษาเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ พอสมควร ก็เป็นเรื่องการทำต่อเนื่อง ไม่ว่าเตรียมความพร้อมด้านกรอบนโยบายและด้านเครื่องมือ

2. จะเห็นว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นห่วงเรื่องการดำเนินการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ดำเนินการอยู่ คิดว่าทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับปัญหาด้วยความไม่ประมาท และป้องกันปัญหา

3. ประเด็นที่ผู้ว่าฯ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พูดถึงว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการทางการเงินอยู่พอสมควร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับของทางการ แต่เกี่ยวข้องกับประชาชน และมีเรื่องทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มีความคาดหวังจากประชาชนจะให้ ธปท. เข้าไปดูแลให้เรียบร้อยจะได้หรือไม่

“เมื่อเช้าได้คุยกับทีมงานถึงที่มาที่ไป หลักคือในอดีตที่ผ่านมา เราใช้หลักคราวๆ ว่า ถ้าทำธุรกรรมทางการเงิน 2 ขา คือ ระดมเงินจากประชาชน และนำปล่อยเงินกู้ จะอยู่ในการกำกับดูแลของทางการ ไม่เป็น ธปท. ก็เป็นกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานอื่น แต่ถ้าทำธุรกรรมการเงินขาเดียว คือไม่รับเงินฝาก ก็ไม่ใช่ธุรกิจการเงินที่อยู่ในการกำกับของทางการ”

ช่วงปี 2548-2549 มีจุดเปลี่ยนคือ ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้ดูแลผู้ให้บริการทางการเงินขาเดียว เพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งขณะนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเป็นผู้ว่าการฯ ก็ยืนมือเข้าไปดูแลผ่าน ปว.58 ของกระทรวงการคลัง แต่ดูแค่ 2 ผลิตภัณฑ์ คือกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตไม่ให้เกิน 20% กับสินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 28%

ส่วนที่ตามมาคือ จริงๆ แล้วผู้ที่ทำธุรกรรมการเงินขาเดียวมีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เช่น เช่าซื้อ ลีสซิ่ง แต่ถูกกำกับดูแลจากทางการเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต กับ สินเชื่อส่วนบุคคล ประเด็นที่พบคือ เมื่อเจอออะไรเกี่ยวกับการเงิน ก็จะคาดหวังให้ ธปท. ดูแล

“เมื่อเช้าผมก็สั่งการให้ทีมงานศึกษาว่า ขอบเขตที่เราจะดูแลมีแค่ไหน และกำลังคนสามารถจะเป็นอย่างไร และควรจะใช้เครื่องมือใดที่เหมาะสม”

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

โจทย์ที่ ธปท. ดูแลการกำกับธุรกิจการเงิน ถ้าดูแลเรื่องความมั่นคง คิดว่ากรอบนโยบายและเครื่องมือที่ใช้จะชัดเจน โจทย์ที่เพิ่งไม่นานที่ขอให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ก็จะเคลื่อนมาที่ Market conduct หมายถึงสถาบันการเงินที่ขายผลิตภัณฑ์และหารายได้จากค่าธรรมเนียม โดยทั่วไปไม่ถึงกับเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสถาบันการเงิน แต่จะเกี่ยวข้องกับความผาสุกของประชาชนในวงกว้าง คือเคลื่อนจาก prudential ซึ่งเป็นเรื่องความมั่นคง ก็มาที่ market conduct

เรื่องนี้ ธปท. ก็ทำไปมากพอสมควร เช่น ได้ประสานกับ กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย) ที่ธนาคารพาณิชย์ขายหน่วยลงทุน และขายประกันชีวิต

“ได้ให้โจทย์ทีมงานเขาไปดูว่า อะไรเป็นพรมแดนหรือรอยต่อระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ในการกำดูแลของทางการ กับผู้ให้บริการที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของทางการ โดยเฉพาะพวกที่ทำขาเดียว เราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน พวกนี้มีกระจัดกระจาย และกำลังของ ธปท. ก็มีจำกัดระดับหนึ่ง ก็ให้โจทย์ไปว่า เครื่องมือที่สมควรเป็นอย่างไร”

ยกตัวอย่างเช่น บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกำกับดูแล แต่อาจใช้เครื่องมือการให้ความรู้กับประชาชนมากกว่าคอยให้ทางการเข้าไปดูแล

ข้อคิดเห็นอีกประการ คือ บ้านเรามีระบบการเงินที่เรียกว่า “ในระบบ” ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของทางการ กับนอกระบบ โดยนอกระบบเกิดมาช้านาน และที่นอกระบบอยู่ได้ ก็เพราะว่าในระบบอาจมีข้อจำกัดหรือจุดบอด เช่น ไม่อยากยุ่งกับอะไรที่มีความเสี่ยงมาก ให้เงินไปแล้วโอกาสในการได้คืนน้อย เขาก็จะไม่ทำ แต่นอกระบบยอมรับความเสี่ยงสูง แต่คิดดอกเบี้ยสูงด้วย และติดตามหนี้เข้มข้น

วิธีคงไม่ถึงกับออกข้อห้าม แต่ทำอย่างไรให้ในระบบเอื้อหรือก้าวออกไปให้บริการทางการเงินมากขึ้น อันนี้คงต้องมาพร้อมกับการที่ธปท. ต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางอย่าง เป็นโจทย์ที่ให้ทีมงานไปศึกษาทำให้เหมาะสมอย่างไร
ส่วนกรณีโฆษณาในลักษณะ car 4 cash ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยกเป็นประเด็นเรื่องการทำลายวัฒนธรรมระบบการเงิน ธปท. ก็เห็นด้วย โดยเร็วๆ นี้จะมีการประชุมกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เพื่อคุยหารือและพิจารณาในประเด็นดังกล่าว

4. เรื่องการขาดทุนของแบงก์ชาติ ขอเรียนอีกครั้งว่า เป็นเรื่องที่ทาง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ได้เป็นสถาบันพิเศษอะไรที่ว่าขาดทุนก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่อย่างนั้น และพยายามจะหาวิธีบรรเทา

“แต่อยากเรียนย้ำว่า สิ่งที่เราเห็นกับตา เป็นผลจากบริบทที่ใหญ่กว่า และบางอันก็เกินกว่าการควบคุมของแบงก์ชาติ หรือธนาคารกลางหลายประเทศในโลกนี้ก็ว่าได้ในยามนี้”

เพระว่า มันเกิดสิ่งผิดปกติในระบบการเงินของโลก ตรงที่ว่าไปนิยมใช้สกุลเงินซึ่งความจริงบทบาทเศรษฐกิจกำลังลดน้อยถอยลง และบังเอิญเป็นสกุลเงินของเจ้าของประเทศซึ่งกำลังประสบวิกฤติทั้ง 4 ประเทศ แต่คนก็ยังนิยมใช้สกุลเงินหลัก 4 สกุล (ดอลลาร์ ยูโร เยน และ ปอนด์สเตอร์ลิง) ค้าขายกัน ด้านหนึ่งทำให้ธนาคารกลาง เช่น ประเทศไทย ก็เก็บเงินพวกนี้เป็นเงินสำรอง ดอกผลก็ได้น้อย และเขาก็ยังดำเนินนโยบายแบบสุดขีด นี่คือผลกระทบ

5. เราให้ความสนใจอยู่ คือเรื่องความสัมพันธ์กับทางรัฐบาล กับ กระทรวงการคลัง และประโยชน์ หรือความสำคัญของการสื่อสาร การทำความเข้าใจกับสาธารณะ เรื่องนี้ได้ยินตั้งแต่วันแรกจนถึงนาทีสุดท้ายของการสัมมนาฯ ซึ่ง ธปท. น้อมรับ ที่ผ่านมาเราก็พยายามให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชน และการประสานงานกับทางรัฐบาลในเรื่องต่างๆ

“สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม กลไกที่ดีที่สุดคือ การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม จากนั้นก็อาจหากลไกเชิงบริหาร เชิงปฏิบัติ เสริมเข้าไปเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของวิสัยทัศน์ร่วมนั้น”

ทั้ง 5 ข้อเป็นประเด็นที่ ดร.ประสารเก็บตกจากการสัมมนาฯ 2 วันที่ผ่านมา แต่ในบางประเด็น เช่น วิธีบรรเทาผลขาดทุนจากการถือสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศในสกุลเงินที่มีแนวโน้มด้อยค่า และความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีความเห็นหลากหลายในประเด็นการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อ่านต่อ ตอนที่ 6