ThaiPublica > เกาะกระแส > เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (3): “ดร.อัมมาร” เปรียบ ธปท. เป็นแค่คนวาดบั้นท้ายช้าง

เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (3): “ดร.อัมมาร” เปรียบ ธปท. เป็นแค่คนวาดบั้นท้ายช้าง

29 กันยายน 2012


“ดร.อัมมาร” เตือน ธปท. อย่าเชื่อมั่นความเป็นอิสระมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ต้องประสานกับรัฐบาล เพราะแบงก์ชาติไม่ใช่ช้าง แต่เป็นแค่คนวาดบั้นท้ายช้าง

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถือเป็นขาประจำงานสัมมนาประจำปีของ ธปท. หลังจากเข้าร่วมฟังสัมมนาวันแรกตลอดทั้งวันและวันที่สองอีกครึ่งวัน หลังจบการนำเสนอบทความที่ 5 เรื่อง “การพัฒนาระบบการเงินกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นบทความสุดท้ายของงานสัมมนาฯ ดร.อัมมารได้แสดงความคิดเห็นท่ามกลางผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ไว้ดังนี้

“ผมมีความคับแค้นใจ 2-3 อย่าง แต่ว่าเป็นความคับแค้นใจเกิดขึ้นจากการฟังความเห็นด้านนโยบายต่างๆ และได้ข้อสรุปอะไรบ้างอย่าง คือ เราพูดถึงนโยบายอุตสาหกรรมในแง่หนึ่ง คือการทำให้เอสเอ็มอีอยู่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่เราสนใจกันมากในเรื่องเอสเอ็มอี และอะไรต่างๆ เหล่านี้”

ปัญหาคือเวลาแบงก์ชาติไม่ได้เป็นช้างเสียเอง แต่เป็นคนวาดรูปช้างเพื่อทำเป็นนโยบาย ก็ไปวาดรูปช้าง แต่แบงก์ชาติโดยเนื้อแท้ก็มีจุดยืนที่สามารถวาดแต่ “บั้นท้ายของช้าง”ได้ พอนึกจะทำอะไรขึ้นมา ที่จะชักจูงช้างไปทิศทางไหน ก็จะนึกออกอย่างเดียวคือ ลากหางช้าง แล้วฉุดออกไปแต่เพียงผู้เดียว

“คุณลองคิดดู การลากช้างอย่างนั้นเมคเซนส์หรือเปล่า ช้างในที่นี้คือเศรษฐกิจของประเทศ”

ดร.อัมมารยกตัวอย่างว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน บัดนี้เราไม่ต้องเถียงกันอีกว่าแบงก์ชาติมีอัตราที่จะกำกับอัตราแลกเปลี่ยนหรือเปล่า ข้อเท็จจริงบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าแบงก์ชาติมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ถึงแม้ว่าแบงก์ชาติหรือบางคนในแบงก์ชาติจะปฏิเสธกันพัลวัน แต่ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดเจน ถ้าเราไม่ได้ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เราจะไม่มีทุนสำรองมากเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์

ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเราก็มีนโยบาย โดยเป็นนโยบายที่ค่อนข้างเอาใจผู้ส่งออก การมีนโยบายแบบนั้น แบงก์ชาติ (เมื่อเช้านี้) ก็มีความเห็นว่าแบงก์ชาติก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ที่แน่นอนที่สุดคือการที่จะเอาใจผู้ส่งออกเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติ “กลัวล็อบบี้” หรือ “กลัวรัฐบาล” ก็คืออันเดียวกัน ไม่ได้เป็นการดูว่าเป็นการมองรอบด้านจริงๆ ว่าการทำงานของผู้ส่งออกเป็นอย่างไร และทำไมผู้ส่งออกถึงมีความต้องการอยู่ตลอดเวลาที่จะมีสินทรัพย์ต่อแรงงานราคาถูก การมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำ ทำให้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่เขาต้องต่อต้าน ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติไม่ได้พิจารณาเวลามีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

“อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะยกมา”

นโยบายที่เราพูดกันว่า แบงก์ชาติพยายามใช้หาง ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวลากให้มีเอสเอ็มอี ให้มีนั่นมีนี่ แต่ทำไมแบงก์พาณิชย์ไม่ทำ แต่ว่าทั้งหมดนี้แบงก์ชาติจะต้องเริ่มเข้าใจว่าคุณจะล็อบบี้แต่ประชาชน และรับผิดชอบต่อประชาชน อันนั้นทำไปดีแล้ว แต่คุณจะต้องปรึกษาหารือกับรัฐบาลบางระดับ อย่าเชื่อมั่นในความเป็นอิสระมากเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องกรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จริงๆ แล้วคุณก็ทำตามนโยบายรัฐบาลที่อยากให้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำ แต่เราต้องตั้งคำถามว่า แบงก์ชาติในฐานะเป็น “ขุมทรัพย์ของปัญญา” ในประเทศไทยอันใหญ่ยิ่ง ต้องตั้งคำถามว่าการที่ให้ค่าเงินบาทต่ำ ให้ค่าจ้างต่ำเป็นนโยบายที่ดีหรือเปล่า

เพราะถ้าคุณล็อคอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำ ให้ค่าเงินบาทเป็นอย่างที่เป็นอยู่ การขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำได้อย่างเดียวคือ แค่ประกาศ แต่ว่าไม่ได้มีมาตรการเสริมอีกหลายๆ อย่างที่จะต้องทำตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าแบงก์ชาติอาจจะมองข้ามเกินไป อาจจะปกป้องมาตรการ คือความอิสระมากเกินไป

“ผมต้องเรียนด้วยว่า ผมก็มีส่วนรับผิด ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะผมอยู่ใน สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ตอนที่กฎหมายแบงก์ชาติออก และผมก็พยามปกป้องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมถึง กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ด้วย แต่อันหนึ่งที่ผมมองข้ามไปก็คือ ความมีอิสระในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน”

ถ้าหากประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ อันนั้นไม่เป็นปัญหา ความรับผิดชอบไปอยู่ที่รัฐมนตรีคลัง แล้วทุกครั้งที่แบงก์ชาติสูญเสียผู้ว่าการฯ อย่างน้อย 2-3 ครั้งก็เป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ผมเชื่อว่าคนแบงก์ชาติมีมากพอ และคิดว่าในความเป็นจริงก็เป็นอย่างนั้นด้วย ว่ามีความกว้างพอที่จะดูเศรษฐกิจไทยที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริงและเข้าใจในภาคเศรษฐกิจจริงดีพอ

แต่ในทางการทำงาน ในการเจรจากับฝ่ายการเมือง ซึ่งไม่ใช่ให้ไปรับคำสั่งนั้น ในการเจจากับฝ่ายการเมืองซึ่งเขามีความรับผิดชอบส่วนอื่นๆ ที่แบงก์ชาติไม่ได้ดู จะต้องประสานกัน และร่วมกันติดตาม

คือระบบที่แบงก์ชาติเป็นอิสระนั้น ผมคิดว่ามีขึ้นมาเพราะว่าต้องการให้แบงก์ชาติรับผิดชอบกับค่าของเงินที่เรามีอยู่ในกระเป๋า เป็นค่าของเงินเมื่อเทียบกับสินค้าต่างๆ ที่เราไปซื้อ แต่อาจรวมไปมากกว่านั้น แต่ว่าตัวหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดค่าของเงิน ก็เป็นค่าของเงินเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ หรือเงินตราต่างประเทศ ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงต่อกัน และส่วนที่ 2 ผมคิดว่ามันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินเฟ้อ รวมทั้งการเติบโต รวมทั้งอะไรต่างๆ อัตราแลกเปลี่ยนมีผลมากต่อมาก

“ผมคิดว่ามากกว่าอัตราดอกเบี้ย มากกว่าแน่ๆ มั่นใจขึ้น เพราะนึกขึ้นมาได้ว่า อัตราส่วนระหว่างการบริโภคกับการลงทุน ซึ่งดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดมันน้อยกว่าอัตราส่วนระหว่าง tradable กับ non tradable ที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวกำหนด”

เพราะฉะนั้น แบงก์ชาติมีบทบาทสูงมาก แต่ว่าไม่ใช่เป็นบทบาทเดียวแล้ว เป็นบทบาทที่จะต้องเจรจากับฝ่ายการเมืองที่มีความรับผิดชอบนโยบายอื่นๆ ต่างๆ นานาที่พรั่งพรูออกมาไม่เว้นแต่ละวัน

หลัง ดร.อัมมารพูดจบ เสียงปรบมือก็ดังขึ้น และดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธปท. ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินรายการในขณะนั้นได้สรุปสิ่งที่ ดร.อัมมารกล่าวมาทั้งหมดว่า “ท่านมีความเห็นและเตือนสติว่า ไม่ว่าช้างตัวนี้จะวิเศษอย่างไร ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับควาญช้างอยู่นั่นเอง”

จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อของการสัมมนาฯ คือ “บทบาทและหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งมีความคิดเห็นหลากหลาย แต่จะเหมือนหรือต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่านที่กล่าวมาแล้วหรือไม่อย่างไร ติดตามอ่าน ตอนที่ 4