ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว (จบ): นวัตกรรมการมีส่วนร่วม หนทางสู่ Eco Industrial Town

อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว (จบ): นวัตกรรมการมีส่วนร่วม หนทางสู่ Eco Industrial Town

15 กันยายน 2012


ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com
ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com

ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกปกป้องสิ่งแวดล้อม

“Green” จึงกลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงของโลกตอนนี้ โดยตลาดโลกเริ่มปรับสู่โหมดการบริโภคสินค้าและบริการสีเขียวมากขึ้น

ประเทศไทยก็เช่นกัน!

ในห้วงเวลาของการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่ระบุถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้อุตสาหกรรมที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้

การดำเนินการจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือมีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการดำเนินมาตรการบังคับใช้ และมาตรการจูงใจให้เกิดความสมัครใจในการจัดการปัญหามลพิษ

หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันสร้างแผนปฏิบัติการเพื่อนำอุตสาหกรรมของไทยไปสู่ “Eco Industrial Town” หรือ เมืองอุตสาหกรรมนิเวศ

ในเอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เรื่อง “อุตสาหกรรมสะอาด: วิถีใหม่ของอุตสาหกรรมอนาคต” ได้ระบุถึงกลไกการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมนิเวศในระยะที่ผ่านมาใน 2 ภารกิจ คือ

1. การฟื้นฟูพื้นที่ หรือนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ สู่อุตสาหกรรมนิเวศ

2. การจัดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่

ในส่วนของการฟื้นฟูนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 2,444 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานในแผนงานดังกล่าว แบ่งเป็นการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ในระหว่างปี 2553-2556 จำนวน 493 ล้านบาท ผ่าน 12 โครงการ อาทิ โครงการติดตั้งระบบเผยแพร่ผลการตรวจวัดมลพิษระยะไกลต่อสาธารณชน โครงการสมุดพกประจำโรงงาน โครงการพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

งบประมาณจำนวน 1,452 ล้านบาท ถูกวางไว้ใช้ในแผนงานการสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมเพื่ออุตสาหกรรมนิเวศจากทุกภาคส่วน ทั้งภารกิจการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน การสร้างความรู้ความเข้าใจภาคอุตสาหกรรมให้ภาคประชาชน และการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบอุตสาหกรรม

ส่วนการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 74 ล้านบาท ในการคัดเลือกนิคมอุตสาหกรรมนำร่องเพื่อจัดทำแผนแม่บทนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมหนองแค

และใช้ในแผนงานบำบัดฟื้นฟูเฝ้าระวังป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและสร้างคุณภาพชีวิตในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จำนวนกว่า 424 ล้านบาท ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการสะสมตัวของตะกอนบริเวณอ่าวประดู่ โครงการลดมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรม โครงการปรับปรุงระบบขนส่งกากอุตสาหกรรม โครงการจัดตั้งคณะกรรมการมวลชนประชาชน

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนิเวศนั้น ได้ทุ่มงบประมาณจำนวน 3,915 ล้านบาท เพื่อใช้ในภารกิจเดียวกัน โดยส่วนใหญ่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการป้องกัน ควบคุม ลด และขจัดมลพิษในระดับพื้นที่ โครงการติดตามประเมินผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน โครงการประสานการให้ความเห็นองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการการแก้ไขปัญหามลพิษและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง และโครงการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่วิกฤติด้านมลพิษ

สำหรับการจัดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่นั้น ที่น่าสนใจคือ มาตรการจัดทำผังเมืองเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม โดยกระทรวงทรัพย์ฯ เตรียมใช้งบประมาณกว่า 14,729 ล้านบาท ในช่วงปี 2555-2558 เพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดทำผังเมือง โครงการเสริมสร้างด้านการผังเมืองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศเพื่อการผังเมือง และโครงการพัฒนาระบบแผนที่มาตรฐานเพื่อการจัดทำผังเมืองและชุมชน

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากทุกฝ่าย ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมในฝัน รวมไปถึงการเพิ่มมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น

แต่กระนั้นยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและเฉพาะหน้า มากกว่าการวางแนวทางป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน เราจึงยังคงเห็นประชาชนยังคงต้องพึ่งพิงและพิทักษ์สิทธิของความเป็นพลเมืองไทย ตามที่รัฐธรรมนูญได้เปิดทางให้อยู่เสมอ