ThaiPublica > เกาะกระแส > อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว (1): นวัตกรรมการมีส่วนร่วม หนทางสู่ Eco Industrial Town

อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว (1): นวัตกรรมการมีส่วนร่วม หนทางสู่ Eco Industrial Town

8 กันยายน 2012


โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด
โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ภาคอุตสาหกรรม” มีความสำคัญในการสร้างตัวเลขจีดีพีให้สูงขึ้น และประเทศไทยประสบความสำเร็จกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดโลก

ทว่าในทางตรงกันข้ามแม้ว่า “อุตสาหกรรม” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฉุดจีดีพีให้สูง แต่กระนั้นยังเกิดข้อถกเถียงถึงสิ่งที่ต้องสูญเสียไปจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น จนนำไปสู่ความ “ขัดแย้ง 3 ขา” ระหว่าง ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

แม้ว่าในฟากฝ่ายของภาครัฐพยายามที่จะกำหนดเงื่อนไขการอยู่ร่วมกัน ด้วยการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมให้เป็น “อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” หรือ “Eco Industrial Town” เพื่อปรับโครงการอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาดมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่ยังไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับชุมชนโดยรอบได้

ในการประชุมสัมมนา “อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการเสวนาเรื่อง “อุตสาหกรรมสะอาด: วิถีใหม่ของอุตสาหกรรมอนาคต” ได้จัดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากฝ่ายต่างๆ ร่วมเสวนา ประกอบไปด้วย ตัวแทนภาคเอกชน นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนภาครัฐ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศเป็นผู้ดำเนินการเสวนา เพื่อหาหนทางไปสู่ “Eco Industrial Town”

ด้วยคำถามที่ว่า “จะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างนวัตกรรมรูปแบบการมีส่วนร่วม หรือ Innovation participation เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งความไม่ลงรอย ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ”

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของโรงงานกับส่วนของชุมชน ทั้งคู่ก็มักจะชี้หน้ากันไปมา ชุมชนก็มักจะว่าโรงงานทำอะไรที่ปล่อยปละเลอะเทอะ ในขณะที่ชุนชนเองก็ไม่ได้สะอาดนักหรอก แต่ทำอย่างไรที่จะให้ทั้งคู่มาช่วยกันที่จะทำให้มันดีขึ้น

สภาอุตสาหกรรมมีความสนใจในเรื่องการมีส่วนร่วม ไม่ถึงกับเป็นนวัตกรรม แต่ได้ลงมือทำในเรื่อง Eco Industrial Town หรือ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมให้ความสนใจมาตั้งแต่ปี 2549 เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมาก

โดย Eco Industrial Town มี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ ส่วนที่เป็น economic และอีกสองส่วนที่สำคัญมากๆ คือ Ecology เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งสองส่วนนี้ ทำอย่างไรที่จะมีส่วนร่วมกับ economic ซึ่งทางโรงงานจึงมีการคิดนวัตกรรม หรือ Eco Industrial Town ขึ้นมา โดยสภาอุตสาหกรรมมีการดำเนินการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง คือ 1. สวนอุตสาหกรรมของเครือสหพัฒน์ ที่ อ.ศรีราชา 2. จ.ชลบุรี 3. จ.ปราจีนบุรี 4. สวนอุตสาหกรรม 304 Industrial Park จ.ปราจีนบุรี และ 5. เขตอุตสาหกรรมไออาร์พีซี และชุมชนอุตสาหกรรมไอพีพี

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ: http://www.diw.go.th
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ: http://www.diw.go.th

โดย 5 พื้นที่เหล่านี้ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เริ่มจากเราเลือกพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลใน 5 มิติ ดูว่าจะมีการพัฒนาอะไรอย่างไรได้บ้าง เสร็จแล้วมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐในท้องถิ่น ชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานและตัวโรงงานเอง ก็มีการคุยกันว่าชุมชนต้องการอะไร โรงงานมีปัญหาอย่างไร นี่คือนวัตกรรมที่สำคัญที่ถามถึง

เมื่อมีการคุยกันแล้วจะเริ่มทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 2 ส่วน คำว่า Eco Industrial Town ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ 1. ส่วนของโรงงาน 2. ส่วนของชุมชน ทั้งคู่ก็มักจะชี้หน้ากันไป ทำอย่างไรที่จะให้ทั้งคู่มาช่วยกันที่จะทำให้มันดีขึ้น ต้องมีแผนที่ ทั้งอุตสาหกรรมและชุมชนมาร่วมกันทำ และทำในแต่ละส่วนด้วย คือชุมชนทำของชุมชนเอง อุตสาหกรรมก็ทำของอุตสาหกรรม

จากนั้นมีการไปติดตามเป็นระยะ ว่าสิ่งที่ทำแล้วมีผลเป็นอย่างไร ตอนนี้ผ่านไป 5 เดือน เริ่มเห็นผลแล้ว มีการจัดตั้งที่เรียกว่า Eco Community และ Eco Center ในพื้นที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของอุตสาหกรรม แตกต่างในเรื่องของของเสีย ปัญหาในแต่ละชุมชนในแต่ละอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกันไป ก็มีการพูดคุยกันและร่วมกันจัดการ เช่น Eco Society ของไออาร์พีซีที่ร่วมกับรัฐ ก็ให้เห็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในเรื่อง Eco Industrial Town ทำให้เกิดนวัตกรรมนี้ขึ้นมา

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มาบตาพุดที่เห็นข่าวบ่อย จุดที่อ่อนไหวจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ อุบัติภัย ชุมชนเดินมาหาผมบอกมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก เกิดปัญหาขึ้นเพราะรู้ช้า เป็นเพราะอะไร มีการปกปิดหรือไม่ ไม่จริงใจหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่กระเทือนต่อนโยบายของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างมาก”

ทั้งนี้ หลักการของ Eco Industrial Town เริ่มจากวงแหวนภายในก่อน ที่เรียกว่าโรงงานเป็นระบบอุตสาหกรรมสีเขียว จากโรงงานที่อยู่เดี่ยวๆ มาอยู่รวมกันในนิคมฯ ก็มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เราเรียกว่านิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ แล้ววันนี้วงหัวหอมวงที่สองต่อยอดออกไปวงที่สาม ไปสัมพันธ์กับชุมชน กิจกรรมอะไรที่มีผลกระทบกับชุมชน อะไรที่เป็นความต้องการของชุมชน เขาทำกิจกรรมจากข้างในนิคมฯ ออกไปตอบสนองเรียกว่า Eco Industrial Estate & Networks ซึ่งเป็น Inside Out ออกไปข้างนอก

“ผมเคยได้เรียนเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศใน สมัยท่านไตรรงค์ สุวรรณคีรี ว่า การดำเนินการ Inside Out ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ครบ 100% แต่ท่านประธานบอกว่า เราต้องเริ่มจากมีกิ่งออกไปก่อน แล้วเดี๋ยวใบมันก็จะตามมาเอง เพราฉะนั้น ข้อเท็จจริงวันนี้ เวลาประกาศว่าที่ไหนเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สิ่งที่ทำคือเริ่มในนิคมฯ กันก่อน และต่อยอดออกไปข้างนอก ไปสัมพันธ์กับชุมชน อันสุดท้ายก็ไปสร้างกรีนเน็ตเวิร์ก”

กนอ.จับมือ กลุ่มปิโตรเคมี นำร่องโครงการเฝ้าระวังการขนส่งกากของเสียด้วย นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.(ที่ 4 จากขวา) ที่มาภาพ: http://img.ryt9.net
กนอ.จับมือ กลุ่มปิโตรเคมี นำร่องโครงการเฝ้าระวังการขนส่งกากของเสียด้วย นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.(ที่ 4 จากขวา) ที่มาภาพ: http://img.ryt9.net

การทำจาก Inside Out เหมือนกิ่งต่อกิ่งออกไปก่อน ต่อไปก็ค่อยๆ ทำให้เติมเต็ม โรงงานแต่ละโรงที่อยู่นอกนิคมฯ ก็ไปต่อกิ่งก้านออกไปและมาเชื่อมกัน

ส่วนเรื่องนวัตกรรมการมีส่วนร่วม ผมมองว่ามันมี 3 ระดับ 1. การรับรู้ การมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน 2. การตอบสนองหรือการแก้ไขปัญหาจัดการต่างๆ 3. การพัฒนาปรับปรุง

“ผมคิดว่านวัตกรรมใส่เข้าไปได้ทั้ง 3 กระบวนการปฏิบัติ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ทำกันมา นำร่องที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กับ 5 นิคมฯ กับ 1 ท่าเรือ ที่เป็นพื้นที่เรียกว่า ฮอตโซน”

1. ประเด็นการรับรู้ ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีกระบวนการที่จะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร มีระบบการสื่อสารสองทางจากเราออกไปหาชุมชน จากชุมชนกลับมาหาภาคอุตสาหกรรมอย่างไร มีระบบกระจายข่าวระบบติดต่อสื่อสาร ระบบการตรวจเยี่ยมโรงงานของชุมชนอย่างไร สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการรับรู้

2. การตอบสนองการแก้ไขปัญหาในขั้นที่ 2 ต้องมีกระบวนการหรือจัดให้มีเวทีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมาทำงานร่วมกัน การเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่ความเชื่อใจและไว้ใจ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการต่างๆ มีหลายรูปแบบที่เอามาใช้ในกระบวนการที่มาเพิ่มกระบวนการในการบริหารจัดการ

3. การพัฒนาปรับปรุง ถ้าพูดถึงการพัฒนาในส่วนนี้ วันนี้หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างถ้า เราพูดถึงหลักธรรมาภิบาล ต้องบอกว่าต้องทำให้ดีกว่ากฎที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ที่ทำกันมาในมาบตาพุด ผู้ประกอบการทุกท่านเคยถามผมเสมอว่า กฎไม่มีแล้วเราทำกันเพื่ออะไร เขาทำกันไม่ได้ถูกบังคับแต่สมัครใจมาทำ ทำแล้วนำไปสู่กระบวนการที่บอกว่าดีกว่า ขณะเดียวกัน ความเท่าเทียมกันภายในภายนอกก็ต้องมีเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นอีกหน่อยสปอตไลท์จะฉายไปที่เดียวตลอดเวลา

ฉะนั้น เรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ก็ต้องเป็นธรรม การพัฒนาวันนี้เกิดกระบวนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ จากปัญหาที่เราเจอจริง เช่น มาบตาพุด ที่เห็นข่าวบ่อย จุดที่อ่อนไหวจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ อุบัติภัย ชุมชนเดินมาหาผมบอกมีอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก เกิดปัญหาขึ้นเพราะรู้ช้า เป็นเพราะอะไร มีการปกปิดหรือไม่ ไม่จริงใจหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่กระเทือนต่อนโยบายของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อย่างมาก

เรื่องที่สอง โรงงานก่อตั้งมา 15-20 ปี เหมือนใช้รถยนต์ เราจะซ่อมที่ห้างหรือซ่อมที่อู่ ดูแลถึงเครื่องยนต์หรือไม่ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่กระบวนการที่มานั่งคุยกันและตกผลึกว่าเราจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ เชื่อใจ และไว้ใจ เช่น วันนี้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการแจ้งเหตุอย่างรวดเร็ว มีกฎเหล็กที่กำหนดเอาไว้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายใน 10 นาที ห้องคอนโทรลจะต้องรีบแจ้งมาที่ศูนย์เฝ้าระวังของการนิคมฯ การนิคมต้องมีขั้นตอนต่อไปว่ากดปุ่มหอกระจายข่าว 30 แห่งรอบนิคมฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ตกลงกันละชุมชน เวลาเขารับลูกต่อไป มีระบบเอสเอ็มเอส ประธานชุมชนต้องทำอย่างไร มีแผนอพยพอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งคือ ถ้าถามว่าดูแลรักษากันอย่างไร วันนี้เกิดกระบวนการจับมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเรื่องของการซ่อมบำรุง เหมือนระบบตรวจสอบบัญชีที่ให้ผู้ประเมินอิสระเข้ามาดำเนินการ ผมคิดว่าอันนี้เป็นแค่ตัวอย่างเบื้องต้น 2-3 ขั้นตอนของการที่จะใช้นวัตกรรมในการสร้างการมีส่วนร่วมของการมุ่งไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

“บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แนวคิดที่ต้องคิด Trade Off ระหว่างเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา หรือสิ่งแวดล้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มันต้องก้าวพ้นตรงนี้ไปได้แล้ว ที่บอกว่าการพัฒนาต้องมีผู้เสียสละ ต้องมีคนที่ต้องเสียประโยชน์ไป ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นทุน แสดงให้เห็นแล้วว่าชุมชนไม่ยอมรับกับวาทกรรมนี้

ปัญหาของการมีส่วนร่วมเนื่องจากเราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่า ภูมิทัศน์ของการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่ง เรื่องของการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งเดียวของสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงว่านโยบายทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาในประเทศจะไปทางไหน และเลือกพื้นที่อย่างไร จะมีโครงการใดเข้าไปในพื้นที่ กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจอนุมัติ สิ่งเหล่านี้หมายถึงนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังพูดถึง การไปแก้แค่ตรงปัญหาการมีส่วนร่วมไม่สามารถแก้ได้

ข้อเสนอที่จะพูดคือ การปฏิรูป หรือ รื้อสร้าง ตัวกระบวนการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมถึงจะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงเรื่องภูมิทัศน์ทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้

การประเมินความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มาบตาพุดคือจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา เรียกว่าสิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรมในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงตรงนี้มี 2 จุดสำคัญ

1) แนวคิดที่เราคิดว่าต้อง Trade Off ระหว่างเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา หรือสิ่งแวดล้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมันต้องก้าวพ้นตรงนี้ไปได้แล้ว ที่บอกว่าการพัฒนาต้องมีผู้เสียสละ ต้องมีคนที่ต้องเสียประโยชน์ ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นทุน แสดงให้เห็นแล้วว่า ชุมชนไม่ยอมรับกับวาทกรรมนี้ มาบตาพุดยังแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง หลายพื้นที่ที่กำลังเกิดปัญหาความขัดแย้งในวันนี้ก็คือสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกัน โยงไปถึงแนวคิดหลักในเรื่องของเส้นทางสีเขียว ซึ่งการเดินบนเส้นทางสีเขียวต้องก้าวพ้นมายาคติของการที่บอกว่าต้อง Trade Off ในเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม สังคมไทยกำลังเรียกร้องการก้าวพ้นมายาคติตรงนี้ มาบตาพุดซึ่งเป็นรูปธรรมของปัญหาอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม เป็นรูปธรรมที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ดีที่สุด

2) ที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในระยะเวลาอันสั้นนั้น หนึ่ง มันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกติกาใหม่ มีส่วนร่วมที่เป็นส่วนร่วมที่ถามถึงประชาธิปไตยภาคพลเมือง ผู้เล่นใหม่ที่ไม่ได้มีเฉพาะรัฐ แต่วันนี้เรามีพลเมืองที่ตื่นตัวอย่างคุณสุทธิ อัชฌาศัย คุณตี๋ สระบุรี คุณจินตนาที่ประจวบคีรีขันธ์ มีชุมชนคนรักแม่กลอง เหล่านี้มี actor ในภูมิทัศน์ในการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงศาลปกครอง ในกระบวนการนโยบายสาธารณะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เครื่องมือใหม่ในที่นี้คือสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่เข้ามาตอนนี้กระบวนการที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชนหลายพื้นที่คือ SEA ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ปัญหาการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้น

นายบัณฑูรกล่าวว่า จุดเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแล้ว และสะท้อนให้เห็นแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1) รัฐธรรมนูญสีเขียวตั้งแต่ปี 2540 และทำให้เข้มข้นขึ้นในรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ว่าเข้มข้นขึ้นเพราะสิ่งที่เคยต้องมีกฎหมายบัญญัติแต่เป็นการให้มีผลใช้บังคับโดยทันที ซึ่งเราก็เห็นกรณีมาบตาพุด ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงแรก 2) เป็นปฏิสัมพันธ์ของโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการฟื้นคืนของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากที่ถูกกดทับจากโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ หลังจากตั้ง WTO เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่เอาเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด

“ตอนนี้ความตื่นตัวกลับคืนมาจากปัญหาวิกฤติโลกร้อน ทำให้กระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เคยตายไปแล้วในเวทีประชาคมโลกมันกลับฟื้นคืนมาอีก เพราะฉะนั้น กระแสนี้จึงเป็นกระแสหนุนให้ภาคพลเมืองที่ตื่นตัวในพื้นที่ต่างๆ เกิดขึ้น นี่คือปมปัญหาที่เราเผชิญอยู่”

นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราจะเดินหน้าไปอย่างไร ภายใต้แนวคิดของอุตสาหกรรมนิเวศและการมีส่วนร่วม ประการแรก ตนคิดว่า ในเชิงที่กรอบแนวคิดอุตสาหกรรมนิเวศพยายามจะตอบโจทย์เรื่องนี้ ตนเห็นด้วยว่าเดินมาถูกทาง เป็นความพยายามในการปรับกระบวนทัศน์ พยายามหาความลงตัวระหว่างโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อมกับด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีข้อสังเกตว่าในหลายเวที ในหลายพื้นที่ ยังมีคำถาม เคลือบแคลงสงสัย มีความไม่ไว้วางใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เข้าใจมากขึ้น บทเรียนอุตสาหกรรมในอดีตทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ยังมีคำถาม โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดในนิคมมาบตาพุด

ส่วนโจทย์เรื่องการมีส่วนร่วม เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการฯ โยบายสาธารณะที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรับกับผู้เล่นใหม่ กติกาใหม่ เครื่องมือใหม่ ที่เกิดขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่เป็นข้อเสนอคือ 1. กติกาการมีส่วนร่วม กติกาบางอย่างไม่ได้ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจริงๆ คือแทนที่จะไปวัดตัวผลลัพธ์ของการมีส่วนร่วมมีความหมาย แต่เราไปจับผิดกันตรงที่ทำตามกติกาในเชิงกระบวนการได้หรือไม่

2. ระดับการมีส่วนร่วม มีหลายระดับ ตั้งแต่การรับทราบข้อมูล การแสดงความคิดเห็นไปถึงระดับสูงสุด คือการร่วมตัดสินใจร่วมรับผิดชอบ ภาครัฐยังจัดเวทีและจัดกติกาให้ประชาชนอยู่ในระดับที่ไม่ 1 ก็ 2 คือรับรู้รับทราบข้อมูล ร่วมแสดงความคิดเห็น ในขณะที่ภาคประชาชนพลเมืองที่ตื่นตัว เรียกร้องการมีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจและร่วมรับผิดชอบ หรือการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ไม่ได้มีส่วนร่วมเป็นเพียงรูปแบบ คือเข้าร่วมเป็นจำนวนคนมากน้อยแค่ไหน เวลาเพียงพอหรือไม่ แต่ต้องนำเอาความเห็นของผู้เสนอแนะไปใช้ประโยชน์จริงบนโต๊ะของการพิจารณาตัดสินใจ ต้องมีหลักประกันว่าไปถึงขั้นนั้น และก็มีเอกสารรายงานตรวจสอบพิสูจน์ได้ว่านำความเห็นของประชาชน เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย มีข้อถกเถียงอย่างไร

อันนี้คือคือนวัตกรรมที่มีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย