ThaiPublica > คอลัมน์ > Into the Abyss: A Tale of Death, A Tale of Life

Into the Abyss: A Tale of Death, A Tale of Life

21 สิงหาคม 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

คงเป็นห้วงเวลาและบรรยากาศประหลาดล้ำยากอธิบาย หากเราได้นั่งสบตาและพูดคุยกับใครสักคนซึ่งชีวิตกำลังจะแตกดับลงบนแท่นประหารในอีกเพียงไม่กี่วันข้างหน้า

อาจมีคำถามมากมายที่เราพรั่งพรูด้วยความอยากรู้อยากเห็น – คุณทำจริงไหม ทำทำไม เสียใจหรือไม่ คุณกลัวหรือเปล่า ยังมีหวังมั้ย ฯลฯ หรือมันอาจเป็นเพียงห้วงแห่งความเงียบงันเมื่อเราต่างพยายามซึมซาบกับความตายที่ใกล้จะมาถึงซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ด้วยกัน

ใครเคยติดตามหนังสารคดีของ แวร์เนอร์ แฮร์โซ้ก คงพอทราบว่า เรื่องราวของ ‘คนที่ต้องเผชิญหน้ากับความตาย’ นั้นเป็นสิ่งที่เราพบได้เสมอ (นักบินประสบอุบัติเหตุหวิดตายใน Little Dieter Needs To Fly, ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากเหตุเครื่องบินตกใน Wings of Hope , ชายผู้ต่อสู้เพื่อปกป้องหมีป่าและสุดท้ายก็ตายด้วยอุ้งมือหมีเสียเองใน Grizzly Man และใครเคยผ่านตาเรื่องส่วนตัวของเขามาบ้างก็ย่อมจะรู้ว่า ผู้กำกับสัญชาติเยอรมันวัย 70 คนนี้ทั้งแกร่งทั้งเกรียนขนาดไหน แต่แม้ระดับนี้แล้ว แฮร์โซ้กก็ให้สัมภาษณ์ว่า การถ่ายทำและตัดต่อฉากพูดคุยกับ ไมเคิล แพร์รี ผู้ต้องหาวัยรุ่นในคดีฆาตกรรมเหยื่อสามรายซึ่งกำลังจะถูกประหารชีวิตในอีกแปดวันนั้นถือเป็นงานที่สะเทือนใจและทำใจได้ยากที่สุดเท่าที่เขาเคยพบ

แฮร์โซ้กไม่ได้ถามอะไรแพร์รีใน Into the Abyss: A Tale of Death, A Tale of Life (2011) แบบที่เราอาจคาดหวังจะได้ฟัง และว่าไปแล้ว แม้เขาจะบุกไปพูดคุยกับคนอีกมากที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในแทบทุกด้าน ตั้งแต่ เจสัน เบอร์เค็ตต์ ฆาตกรอีกรายซึ่งเป็นผู้ชักพาแพร์รีเข้าสู่อาชญากรรม (แต่ตัวเขาได้รับโทษแค่จำคุก 40 ปี), ครอบครัวของเจสัน, ครอบครัวของเหยื่อ, ตำรวจหัวหน้าคดี, พระผู้ทำหน้าที่สวดให้แก่นักโทษประหาร ไปจนถึงหัวหน้าเจ้าหน้าที่ชุดประหาร ทว่าแฮร์โซ้กก็ไม่ได้ตั้งคำถามแบบข่าวเชิงสืบสวนกับใครเลย เพราะสำหรับเขาแล้ว นี่ไม่ใช่สารคดีที่มุ่งตรวจสอบซักค้านเหตุการณ์ฆาตกรรมและผลการตัดสินของศาล แต่มันสำรวจสิ่งที่เขาเองอธิบายไว้แล้วในชื่อหนัง – เขาพูดเรื่อง ‘ความตาย’ เพื่อถามถึง ‘การมีชีวิต’

Into the Abyss ไม่ปิดบังท่าทีว่าไม่เห็นด้วยเลยกับโทษประหาร โปรดิวเซอร์ เอริค เนลสัน ให้สัมภาษณ์ด้วยซ้ำว่าทำหนังเรื่องนี้โดยหวังจะโยนประเด็นเข้าใส่หน้า ริค เพอร์รี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส (ซึ่งเคยลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้) ที่สนับสนุนโทษประหาร แม้ตัวแฮร์โซ้กจะไม่ชอบให้ใครนำหนังของเขาไปปะปนกับการเมือง แต่เขาก็บอกไว้ชัดเจน*เช่นกันว่า “ผมว่าการประหารเป็นอะไรที่โบร่ำโบราณล้านปีมาก ผมอยากตั้งคำถามถึงระบบการพิพากษาคดีอาชญากรรมที่ยังคงมีแนวคิดเรื่อง ‘ตายตกตามกัน’ ประเภทนี้อยู่ ในเมื่อจากข้อมูลสถิติแล้ว วิธีนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรมได้เลย แต่หลายๆ ประเทศในโลกก็ยังใช้มันและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น”

แต่กระนั้น สิ่งที่เขาทำก็มิใช่การชำแหละโจมตีแง่มุมทางการเมืองของโทษประหารชีวิตอย่างลงลึกตรงไปตรงมา ทว่า เขาพาเราไปเป็นประจักษ์พยานต่อสภาวะรวดร้าวของหลากผู้คนที่เกี่ยวข้อง เราได้เห็นน้ำตาและบาดแผลที่แม้จะได้รับการเยียวยาแต่ก็ไม่มีวันเลือนหายของลูกสาวและพี่สาวของเหยื่อผู้ถูกฆ่า เช่นเดียวกับพ่อและเมียของคนที่เป็นฆาตกร (ในเหตุการณ์ซึ่งแฮร์โซ้กเห็นว่าไร้สาระอย่างน่าเจ็บปวด เพราะแพร์รีกับเบอร์เค็ตต์ฆ่าคนตายถึงสามคนเพียงเพื่อแย่งชิงรถคันเดียว) และเรายังได้สัมผัสจิตใจที่เต็มไปด้วยความกดดันกังขาของคนซึ่งได้รับอำนาจจากรัฐให้มีหน้าที่พรากชีวิตของคนอื่น แต่ยิ่งกว่านั้น หนังยังก้าวเท้าเข้าไปสำรวจเงื่อนไขทางสังคมบางอย่างที่เอื้อให้เมล็ดพันธุ์แห่งความเลวร้ายเพาะขึ้นในตัวมนุษย์ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมรกร้างแร้นแค้นของบ้านเมืองซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่มีทางเลือกของชีวิตมากนัก นอกจากจมปลักอยู่ในความสับสนและมืดมิดซ้ำซาก

ด้วยการเปิดพื้นที่ให้แก่ความคิดและความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่คนที่ได้ปลดเปลื้องความเจ็บปวดออกหมดใจเมื่อเห็นฆาตกรถูกประหารลงตรงหน้า ไปจนถึงคนที่รักใคร่ในตัวฆาตกรถึงขั้นยินดีอุ้มท้องทายาทของเขา ทำให้ไม่ง่ายนักสำหรับเราในอันจะตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งหลังดู Into the Abyss จบลง นอกเหนือจากความเศร้าสร้อยที่ตลบอบอวลอยู่ในความคำนึงต่อเนื่องมาอีกเนิ่นนานแล้ว แฮร์โซ้กยังทำให้เราไม่สามารถลืมใบหน้าและเรื่องราวของ ‘มนุษย์’ ผู้อยู่ในสถานะทางสังคมที่ก่อนหน้านี้เราอาจพยายามมองข้ามไม่ยอมรับรู้ได้ ซึ่งนี่ย่อมควรนับเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งของเขาในฐานะคนทำหนังสารคดีคนหนึ่ง

อ้างอิง:Interview Director Werner Herzog Talks ‘Into the Abyss’ โดย Raffi Asdourian