ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาลจัดงบ 1 เปอร์เซ็นต์ 2 หมื่นล้านดับไฟใต้ ใครเป็นเจ้าภาพร่วม?

รัฐบาลจัดงบ 1 เปอร์เซ็นต์ 2 หมื่นล้านดับไฟใต้ ใครเป็นเจ้าภาพร่วม?

15 สิงหาคม 2012


ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online

รัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้ประกาศให้ “การนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

โดยล่าสุด รัฐบาลมีแนวคิดประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ และการตั้ง “เพนตากอน 2” หรือการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ขึ้นใน กทม.

ทั้งสอง “ไอเดีย” นี้ล้วนแล้วแต่ได้รับเสียง “คัดค้าน” จากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่กระนั้น ในการจัดสรรงบประมาณปี 2556 ที่จะมีการนำผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ในสัปดาห์นี้ ในวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทนั้น

มีการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อใช้ในแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนกว่า 21,123 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนงบประมาณทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวยังมากกว่าวงเงินงบประมาณที่สำนักงบประมาณตั้งขึ้นในครั้งแรกที่จำนวน 20,731 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมา 392 ล้านบาท และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการอนุมัติงบประมาณปี 2555 ที่ใช้ในแผนเดียวกันนี้ พบว่าแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ได้เพิ่มขึ้นจำนวน 4,846 ล้านบาท จากเดิมได้รับการจัดสรรเพียง 16,277 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในวงเงินงบประมาณส่วนนี้ตามเอกสารงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2556 ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อสนับสนุนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีเอกภาพและบูรณาการ ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธี และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา คุณภาพชีวิต ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางสังคม และขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น ของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยหน่วยงานที่ร่วมเป็น “เจ้าภาพ” ในแผนงานดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย

1. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณจำนวน 57.2 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณ 22.1 ล้านบาท ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณ 13.2 ล้านบาท ในการผลิตแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 13.2 ล้านบาท

4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณ 48 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

5. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 7,280 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวงเงินดังกล่าวถูกปรับเพิ่มจากเดิมที่สำนักงบประมาณตั้งขึ้น 530 ล้านบาท

6. กองบัญชาการกองทัพไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 83.2 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

7. กองทัพบก ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 820.7 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยงบประมาณในส่วนนี้ถูกปรับลดจากที่สำนักงานประมาณตั้งขึ้นจำนวน 100 ล้านบาท โดยจากเดิมตั้งไว้ที่ 830.7 ล้านบาท

8. กองทัพเรือ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 759.5 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

9. กองทัพอากาศ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 262.6 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

10. กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้รับงบประมาณจำนวน 59 ล้านบาท ใช้ในโครงการพัฒนาด่านศุลกากรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ได้ถูกปรับลดจากงบที่ตั้งไว้เดิมจำนวน 6.4 ล้านบาท

11. กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับงบประมาณจำนวน 39.5 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการสนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

12. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555-2557 โดยการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

13. สำนักปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับ 257.3 ล้านบาท ใช้ในโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพประชากรเป้าหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

14. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้รับ 40.7 ล้านบาท ใช้ในโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพประชากรเป้าหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

15. สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ วงเงิน 7.9 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพประชากรเป้าหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

16. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณจำนวน 424 ล้านบาท แบ่งเป็นสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 34.68 ล้านบาท กรมการข้าว 18.1 ล้านบาท กรมประมง 47 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ 110.4 ล้านบาท กรมพัฒนาที่ดิน 139.5 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร 34 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร 31.3 ล้านบาท และกรมส่งเสริมสหกรณ์ 8.8 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยงบประมาณจำนวนดังกล่าวได้ถูกปรับลดจากที่สำนักงบประมาณตั้งไว้จำนวน 40 ล้านบาท

17. สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 15.4 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งงบจำนวนนี้ถูกปรับลงลงจากที่สำนักงบประมาณตั้งไว้ 3 ล้านบาท

18. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 2,181 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยงบประมาณดังกล่าวถูกปรับลดไปจำนวน 99 ล้านบาท

19. กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 745.2 ล้านบาท เพื่อใช้ใน
โครงการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณในส่วนนี้ได้รับการปรับเพิ่มจากที่ตั้งไว้จำนวน 22 ล้านบาท

20. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับ 1,083.5 ล้านบาท ในโครงการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

21. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับงบประมาณ 61.5 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบูรณาการการเสริมสร้างความยุติธรรมและความเข้มแข็งในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

22. สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้รับงบประมาณ 86.6 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

23. สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อให้ประชากรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

24. กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณจำนวน 1,700 ล้านบาท โดยแบ่งงบประมาณไปตามสถานการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ โดยได้เพิ่มจากงบประมานที่ตั้งเอาไว้ 11 ล้านบาท

25. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณ 428.3 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับบริการสุขภาพตามปัญหาของพื้นที่

26. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาทเพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

27. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 58 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

28. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับงบประมาณ 208.5 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

29. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับงบประมาณ 1,798.8 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในเขตจังหวัดภาคใต้

30. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับงบประมาณ 2,295.9 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบมีส่วนร่วม โดยงบประมาณดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มจากการตั้งงบประมาณของสำนักงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท

31. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับงบประมาณ 107.5 ล้านบาท ใช้ในโครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดน และโครงการชดเชยจากการสนับสนุนสินเชื่อนโยบายรัฐ

32. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับงบประมาณ 30.8 ล้านบาท ในโครงการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยงบประมาณในส่วนนี้ถูกปรับลดจากเดิมตั้งไว้ถึง 41 ล้านบาท

33. สำนักกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 11.4 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการจัดตั้งตลาดน้ำยางสดระดับท้องถิ่น และโครงการปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่า ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ในปีงบประมาณ 2556 วงเงินงบประมาณที่ใช้ในแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีจำนวนมากกว่าในปีงบประมาณที่ผ่านมา

แต่ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อเม็ดเงินเหล่านี้ถูกกระจายให้หน่วยงานนำไปเดินหน้าโครงการ จะช่วยให้ผ่อนคลายความขมึงเกลียวของสถานการณ์ลงได้