ThaiPublica > เกาะกระแส > …10 ปี “หอศิลปกรุงเทพฯ” วันดีๆกับพื้นที่ “กลาง” การเรียนรู้ผ่านศิลปะ

…10 ปี “หอศิลปกรุงเทพฯ” วันดีๆกับพื้นที่ “กลาง” การเรียนรู้ผ่านศิลปะ

11 ตุลาคม 2018


ที่มา:หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ในวันที่เผชิญกับวิกฤติปัญหางบประมาณ แต่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ “หอศิลปกรุงเทพฯ” ตรงสี่แยกปทุมวัน ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แถมยังดูคึกคักกว่าเก่าด้วยซ้ำ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในอาคารหอศิลปกรุงเทพฯ มีนิทรรศการและกิจกรรมจัดแสดงมากมาย เช่น นิทรรศการป่าประกอบ, นิทรรศการสี เปลี่ยน รูป, เทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse 2018: The Invisible Hands, เทศกาลศิลปะการแสดง ครั้งที่ 7,  EARLY YEARS PROJECT #3 โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ฯลฯ

นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่า หอศิลปกรุงเทพฯ ยังมีโอกาสบินไปจัดนิทรรศการ ABSURDITY IN PARADISE ตั้งแต่วันที่ 10 – 28 ตุลาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์ Fridericianum เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ @kasseler_kunstverein โดยทางเยอรมันเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

และเร็วๆ นี้กำลังจะมีงานใหญ่ คือ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 วันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการรวม 75 ศิลปินร่วมสมัยทั้งไทยและระดับโลก จัดแสดงผลงาน 20 จุดทั่วกรุงเทพฯ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หอศิลปฯ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านศิลปะ มีผู้สนใจเข้าชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2560) มีผู้เข้าใช้บริการหอศิลปกรุงเทพฯ ทั้งหมดกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งเป็นจํานวนสูงสุดในรอบ 10 ปีที่เปิดให้บริการมา มีผู้ชมนิทรรศการหลักและกิจกรรมกว่า 8 แสนคน จากจำนวนนิทรรศการและกิจกรรมกว่า 400 งาน เมื่อรวม 10 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้บริการกว่า 10 ล้านคน

นิทรรศการที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดตั้งแต่หอศิลปกรุงเทพฯ เปิดให้บริการ คือ นิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ” เมื่อปี 2560  โดยมีผู้เข้าชมเฉลี่ยประมาณ 1,400 คนต่อวัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ เล่ากับทีมงานไทยพับลิก้าว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่มีข่าว กทม. แสดงความสนใจจะเข้ามาบริหารหอศิลปฯ จนมาถึงข่าวเรื่องงบประมาณ มีคนทั่วไปเข้ามาดูงานที่นี่เยอะขึ้น และช่วยสนับสนุนหอศิลปฯ มากขึ้น

“งานของเราเป็นงานบริการให้ประชาชนรู้สึกมีความสุข ได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับความรู้ ผ่านงานศิลปะที่เรานำเสนอ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงนี้ แต่ผมก็รู้สึกดีใจที่ประชาชนยังสนับสนุนหอศิลปฯ ตัวอย่างหนึ่งผมประทับใจมากคือ มีนักเรียนผู้หญิง ม.4 พาเพื่อนสนิทที่สอบเข้าเตรียมอุดมไม่ติดมาปลอบใจที่หอศิลปฯ ถ้าสมัยผมวัยรุ่นคงไปกินเหล้าแล้ว (หัวเราะ) แต่วันนี้มันอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่” ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ กล่าว

พร้อมเล่าต่อว่า“ผมมีความหวังว่าในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า เมื่อคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งบริหารของเมือง จะไม่มีปัญหาแบบนี้อีก เราจะไม่มานั่งเถียงกันว่าทำไมต้องมีหอศิลปฯ ทำไม กทม. ต้องสนับสนุนหอศิลปฯ เพราะเรามีคนรุ่นนี้แล้ว แต่หน้าที่ของผมวันนี้ก็คือ ต้องทำให้หอศิลปฯ อยู่ไปถึงตรงนั้นให้ได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ส่วนคนที่เรียกว่าเป็นอาร์ตฮับ (art hub) ใน bacc เขามีความอินกับที่นี่มาก เวลามีเรื่องหรือมีกิจกรรมอะไร เขายินดีจะช่วยตลอดเวลา ยกตัวอย่างเมื่อครั้งเราทำแคมเปญเรื่องการเลิกให้ถุงพลาสติก มีนิทรรศการภาพถ่ายแสดงผลกระทบภาวะโลกร้อนจากพลาสติก ซึ่งทุกร้านค้าใน bacc ก็ยินดีช่วย

หรือแม้แต่ตอนกิจกรรมวันแม่ พาแม่มาหอศิลปฯ ร้านส่วนใหญ่ก็จัดโปรโมชั่นต่างๆ สำหรับคุณแม่ พวกเขาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของธุรกิจที่อยู่ในหอศิลปฯ แต่เป็นส่วนหนึ่งของ bacc ด้วย

“หรือตอนที่เราแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ก็มีแคมเปญเล็กๆ #saveYOURbacc  คนก็ไปแชร์เลขที่บัญชีของเรา ก็มีเงินบริจาคเข้ามาเยอะพอสมควร ขณะที่ร้านค้าที่อยู่ในหอศิลปฯ ไม่ได้เป็นร้านค้าที่มุ่งหวังผลกำไรสูงสุด แต่มีความรู้สึกเป็นพี่น้องกัน”ผอ.หอศิลปฯ กล่าว

ท่ามกลางข่าวร้ายๆ ก็เรื่องราวที่ดีๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ ทางร้าน Gallery กาแฟดริป มอบรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มทั้งหมดโดยไม่หักค่าจ่ายของวันนั้นให้กับมูลนิธิหอศิลปฯ เป็นเงินกว่า 43,000 บาท

รวมทั้งยังมีกำลังใจส่งมาให้หอศิลปฯ จากทุกทิศทาง ทั้งในทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม #saveYOURbacc  วันที่ไทยพับลิก้าไปสำรวจก็พบว่า บริเวณลานกิจกรรมด้านนอกอาคารริมกระจก ใกล้ร้าน Gallery กาแฟดริป มีป้ายผ้าขนาดใหญ่กะทัดรัดติดแฮชแท็ก #saveYOURbacc

เอ-ณัฎฐ์ฐิติ อำไพวรรณ หนึ่งในหุ้นส่วนเจ้าของร้าน Gallery กาแฟดริป ที่อยู่คู่หอศิลปฯ มายาวนานกว่า 6 ปี เล่าว่า ในช่วงที่ กทม. กับหอศิลปฯ ยังตกลงกันไม่ได้เรื่องงบประมาณ ทางร้านอยากมอบรายได้จากการขายเครื่องดื่มทั้งหมดของทางร้านให้ทางหอศิลปฯ เราอยากแบ่งปันเพื่อให้พื้นที่ดีๆ ยังคงได้อยู่ต่อไป

“รายได้ของร้านกาแฟร้านหนึ่งมันอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้หอศิลปฯ ดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่อย่างน้อยร้านเราอาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคประชาชนส่วนอื่นๆ หันมาร่วมด้วยช่วยกัน เป็นส่วนเล็กๆ ที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจที่ใหญ่กว่าเราเข้ามาช่วยสนับสนุนตรงนี้ หรืออาจจะมีผลส่งไปถึงคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องบประมาณ แต่หากใครอยากช่วยหอศิลปฯ  สิ่งที่ทำได้ง่ายๆคือ เข้ามาหอศิลปฯ มาดูงาน มาดูกิจกรรมต่างๆ ถ้าคนเข้ามาใช้พื้นที่หอศิลปฯ มากขึ้น ความเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือภาพความเป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ มันก็จะยิ่งชัดขึ้น”

สำหรับปัญหาเรื่องงบประมาณของหอศิลปฯ ณัฎฐ์ฐิติสะท้อนมุมมองว่า อาจจะเป็นเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรมในการทำงาน โดยที่ไม่ได้มองเรื่องเนื้อหาของการทำงานเป็นหลัก

“เท่าที่สังเกต ทีมงานของมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ จะทำงานเชื่อมกับศิลปิน ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้อง มีความชอบงานศิลปะในด้านต่างๆ เป็นแนวทางการทำงานที่ต่างกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนทำงานในระบบราชการ คนหอศิลปฯ เขาอาจจะเคยร่วมงานกับทีมงาน กทม. ชุดเก่ามานาน เช่น ทีมงานผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ (บริพัตร) หรือสมาชิกสภา กทม. ชุดเดิมๆ หรือกับผู้อำนวยการกองท่องเที่ยวและวัฒนธรรมคนเดิม ซึ่งเราเห็นว่าเขาไปมาหาสู่กันบ่อย มีคนของสำนักงานเขตมาที่หอศิลปฯ คนของ กทม. มาจัดงานที่หอศิลปฯ แต่พอมีการเปลี่ยนทีมผู้ว่า กทม. ชุดใหม่ ผอ.กองต่างๆ ของ กทม. ก็เปลี่ยนเป็นคนใหม่  ซึ่งทีมงานชุดใหม่ที่เข้ามาทำงานอาจจะยังไม่เข้าใจการทำงานกัน” เขาตั้งข้อสังเกต

ร้านแกลอรี่ กาแฟ ดริป

ทั้งนี้ ณัฎฐ์ฐิติเห็นว่า ทางออกที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องนี้คือ ต้องมีความจริงใจในการร่วมมือกันระหว่าง กทม. กับหอศิลปฯ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ควรจะมีความชัดเจนกันว่าจะให้หอศิลปฯ ใช้งบประมาณส่วนไหนของ กทม. หรือถ้าอยากให้หอศิลปฯ ใช้งบฯ น้อยลง ก็ต้องค่อยๆ ปรับแผนกันว่าจะทำอย่างไร

แต่ในระยะสั้น ควรหางบประมาณมาอุดหนุนให้หอศิลปฯ สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด ส่วนในระยะยาวจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ค่อยหารือกัน เพื่อให้หอศิลปฯ ยังดำรงอยู่ต่อไป

“ทางร้านอยู่กับพื้นที่นี้มาค่อนข้างนาน เราเห็นว่าหอศิลปฯ เหมือนเป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมือง รูปร่างอาจจะเป็นตึก เป็นอาคาร แต่ในตัวอาคารมันมีความเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนจะมาแชร์กิจกรรมกัน มาเดินเล่น มาถ่ายรูปกัน เด็กๆ สามารถมานั่งติวหนังสือกันได้ มานั่งเล่น  มาซ้อมละคร การแข่งขันทางธุรกิจมันน้อยกว่าที่อื่นๆ ที่เป็นเงินเป็นทองไปหมด  เมืองนี้จะแห้งแล้งมากถ้าไม่มีพื้นที่สีเขียว” ณัฎฐ์ฐิติบอก

นอกจากนี้เรายังเห็นว่า พื้นที่นี้มันมีการสนับสนุนคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่ทำงานศิลปะรุ่นใหม่ๆ  มีเด็กนักเรียนนักศึกษามาจัดงานแสดงศิลปะค่อนข้างเยอะและบ่อย ฉะนั้น โดยรวมแล้วพื้นที่นี้มันเกื้อหนุนคนทำงานรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีพื้นที่โชว์งานสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายแพงๆ

ณัฎฐ์ฐิติเล่าต่อว่า เคยเห็นหอศิลปฯ ผ่านเรื่องหนักๆ มาแล้วหลายครั้ง เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นหอศิลปฯ มีปัญหาหนักในเรื่องงบประมาณ ซึ่งหวังว่าจะผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้ ส่วนทางร้านไม่ได้รับผลกระทบอะไร

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดเรื่องงบประมาณ ผศ.ปวิตรเล่าว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือผู้บริหารของ กทม. ได้เชิญคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ไปประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ที่ศาลาว่าการ กทม. โดยมีนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน

ทั้งนี้ มีข้อสรุปในประเด็นเรื่องค่าน้ำค่าไฟที่ กทม. จะดำเนินการจ่ายของปีงบประมาณ 2561  ที่ยังคงค้างอยู่ให้ทั้งหมด รวมทั้งจะจัดหางบฯ มาจ่ายค่าน้ำค่าไฟปีงบประมาณ 2562 ส่วนงบประมาณหลักในการดำเนินงาน กทม. จะนำไปพิจารณาหารือภายในสองสัปดาห์หลังจากวันที่ประชุม

“รองผู้ว่าฯ ทวีศักดิ์ท่านก็แสดงความห่วงใยและรับปากว่าจะแก้ปัญหา อย่างแรกก็คือค่าน้ำค่าไฟของปีงบประมาณ 2561 กทม. ก็จะรับผิดชอบจ่ายให้ ส่วนงบประมาณปี 2562 ท่านรับปากว่าจะช่วยค่าน้ำค่าไฟ แต่ว่างบประมาณจะมาจากไหนยังไม่ทราบ เพราะไม่มีงบฯ ตั้งไว้ เพราะก่อนหน้านี้ทุกปีจะมีงบอุดหนุนส่งมาที่มูลนิธิฯ แต่ปีงบประมาณ 2561 กทม. แปรงบฯ ไปอยู่ที่สำนักวัฒนธรรมฯ แต่ว่าปี 2562 ยังไม่มีงบฯ เลย ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ท่านบอกว่าจะลองหาทางช่วยได้ยังไงบ้าง โดยขอเวลาทำงานสองอาทิตย์ และบอกว่าอยากจะมาพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้บ่อยขึ้น ก็เป็นสัญญาณที่ดีในการช่วยกันแก้ปัญหา” ผศ.ปวิตรกล่าว

ในช่วงนี้มูลนิธิฯ ได้นำเงินเก็บสะสมจากการทำงานช่วงที่ผ่านมามาบริหารจัดการจัดนิทรรศการและกิจกรรมไปก่อน มีทั้งรายได้จาก กทม. ส่วนหนึ่ง  รายได้จากการที่มูลนิธิฯ บริหารจัดการพื้นที่  รายได้จากเงินบริจาค และจากผู้สนับสนุน แต่ก็เหลือเงินจำนวนไม่มากแล้ว สามารถทำงานตามแผนที่วางไว้ได้จนถึงกลางปีหน้าเท่านั้น ซึ่งหอศิลปฯ ต้องปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด

“ผมคุยกับทีมงานตลอดว่าตอนนี้เรามีพื้นที่ แต่เราไม่มีเงินมาจัดกิจกรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องหาคนที่มาช่วยจัดกิจกรรม ยกตัวอย่างงานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนนี้ คือ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เราสนับสนุนพื้นที่ แต่ไม่ต้องลงทุนเรื่องค่าติดตั้งผลงาน ค่าเครื่องบินศิลปิน ค่าโรงแรมศิลปิน ทางมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะลงทุนในส่วนนั้นให้ แต่เราก็จัดงานปกติ คนก็สามารถเข้ามาดูงานได้ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม” ผศ.ปวิตรกล่าว

หรืองานช่วงต่อไปจะมีงานนิทรรศการภาพถ่ายของสมเด็จพระเทพฯ จัดโดยสมาคมภาพถ่าย สนับสนุนโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ส่วนงานในปีหน้า 2562 มีนิทรรศการใหญ่สองงานที่เราได้เงินสนับสนุนจากต่างประเทศ

พร้อมกล่าวต่อว่า “เราได้เปลี่ยนวิธีการทำงาน บวกกับที่เราทำงานมาสิบปี ก็มีคนเห็นความสำคัญ เช่น คนนอกประเทศ อย่างวันนี้เรามีนิทรรศการจัดที่เยอรมัน ซึ่งมูลนิธิที่เยอรมันออกค่าจ่ายให้ทั้งหมด ให้หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการของเราเดินทางไปทำงานที่นั่น ให้ศิลปินไทยเดินทางไปทำงานที่นั่น เราไม่ต้องใช้เงินภาษีประชาชนเลย”

ผอ.หอศิลปฯ ระบุว่า เวลานี้หอศิลปฯ จะเลือกทำเฉพาะงานที่มีคนช่วยสนับสนุนไปก่อน แต่ก็ยังมีอีกหลายงานที่ยังไม่มีผู้สนับสนุน จึงยังไม่มีข้อสรุปว่าสุดท้ายจะทำหรือไม่ทำกิจกรรมเหล่านั้น

“คนมักจะมองว่าได้ค่าน้ำค่าไฟแล้ว เป็นการแก้ปัญหาแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ผมต้องเรียนว่างบประมาณปี 2562 ที่ส่งเรื่องขอไปทาง กทม. ทั้งหมด 53 ล้าน เป็นค่าน้ำค่าไฟประมาณ 9 ล้าน ประมาณ 15% เท่านั้นเอง แต่ยังมีค่าจัดนิทรรศการ ค่าจัดกิจกรรมศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ละครเวที ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ค่าจัดกิจกรรมการศึกษา ซึ่งเราก็ทำให้กับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ด้วย ฉะนั้นจะมีค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร รวมถึงค่าซ่อมแซมอาคารสถานที่ด้วย” ผศ.ปวิตรกล่าว