โจทย์ของแรกของ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ในฐานะประธานคณะกรรมการการธนาคารแห่งประเทศไทย (กกท.) คือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งคณะทำงานศึกษาการแก้ปัญหาการขาดทุนของ ธปท. ซึ่งมีส่วนของทุนติดลบกว่า 300,000 ล้านบาท โดยสั่งให้ดำเนินการดังกล่าวในการเข้าประชุม กกท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555
ล่าสุดมีการตั้งคณะทำงานฯ แล้วทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) เป็นประธานคณะทำงานฯ ดร.เสรี จินตนเสรี อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดร.ศิริ การเจริญดี อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.
ขณะที่ผู้บริหาร ธปท. ประกอบด้วย นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าด้านเสถียรภาพการเงิน นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายช่วยงานบริหาร และ ดร.อัมพร แสงมณี ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารความเสี่ยงองค์กร เป็นเลขาณุการคณะทำงานฯ
ทั้งนี้จะเห็นว่า โครงสร้างคณะทำงานฯ มาจากกรรมการ ธปท. 3 คน คือ ดร.คณิศ ดร.ศิริ ดร.สมชัย และอีก 6 คนเป็นของ ธปท. แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ นายเสรี เป็นตัวแทนจากท่าน กกท. ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายบริหาร คือบอร์ดแบงก์ชาติ กับฝ่ายจัดการ คือผู้บริหารแบงก์ชาติ ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของแบงก์ชาติ โดยคณะทำงานทั้งหมดได้มีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ดร.คณิศกล่าวว่า “ที่แต่งตั้งคุณเสรีมาเป็นที่ปรึกษาฯ เพราะให้ช่วยดูด้านกฎหมาย และคุณเสรีก็เคยอยู่แบงก์ชาติมาก่อน”
ทั้งนี้ นายเสรีเคยเป็นอดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของแบงก์ชาติมาก่อน
“คณะทำงานมีการประชุมครั้งแรกไปแล้ว และคาดว่าภายใน 3 เดือนจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดทุนของ ธปท.” ดร.คณิศกล่าว
สำหรับแนวทางเบื้องต้นในการแก้ปัญหาขาดทุนของแบงก์ชาตินั้น ดร.คณิศกล่าวว่า ทาง ธปท. มีการเสนอเรื่องการนำเงินสำรองไปลงทุนต่างประเทศ โดยให้สามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์และหลักทรัพย์ที่กำหนดไว้ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ธปท. ขาดทุน ซึ่งคงมีการพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย
ส่วนแนวทางให้ลดการแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนนั้น ดร.คณิศกล่าวว่า แนวทางนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึง อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางขาดทุนจำนวนมาก หากปล่อยไว้นานอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น จึงต้องศึกษาหาแนวทางแก้ไข
“ขณะนี้ให้ทางคณะทำงานศึกษาดูข้อมูลและแนวทางว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นคาดว่าจะมีการประชุม 2 สัปดาห์ต่อครั้ง เมื่อมีความคืบหน้าก็จะรายงานให้คณะกรรมการ ธปท. ทราบ และเรื่องนี้คงไม่ช้า น่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในเวลาที่กำหนด” ดร.คณิศกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ ได้ประชุมไปครั้งหนึ่งแล้ว และได้กำหนดกรอบการศึกษาให้ไปดำเนินการ 5 ข้อ และต้องนำเสนอดราฟแรกให้ได้ในการประชุมครั้งต่อไป โดยกรอบในการศึกษาเบื้องต้นคือ
1. ศึกษาปัญหาการขาดทุนว่ามาจากสาเหตุอะไร โดยต้องแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าแต่ละสาเหตุเป็นอย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
2. ศึกษาดูว่าในอดีตที่ผ่านมา ธปท. ได้พยายามปรับตัวอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน และในการดำเนินการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนมีอุปสรรคอะไรบ้าง
3. ศึกษาว่าหากมองไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ เลย งบดุลของ ธปท. จะออกมาเป็นลักษณะใด หรือจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
4. ศึกษาว่าถ้ามองไปข้างหน้า หากมีการทำมาตรการที่มีการศึกษาไว้ จะสามารถลดการขาดทุนได้มากน้อยแค่ไหนในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า
5. ศึกษาว่าหากมีการทำมาตรการเพิ่ม ให้โจทย์ไปทำการบ้านมาว่าจะทำมาตรการอะไรเพิ่ม และทำเพิ่มแล้วจะช่วยลดผลขาดทุนได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
“แนวทางหรือกรอบการศึกษานั้น จะต้องดำเนินการให้เสร็จและส่งเป็นดราฟแรกเพื่อพิจารณาในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในไม่ช้า แต่เรื่องนี้แบงก์ชาติมีการศึกษามาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว และเป็นประเด็นสำคัญต้องการความชัดเจนโดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว