ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์ชาติประเมินผลกระทบ “กรีซไม่รับเงื่อนไขกลุ่มเจ้าหนี้” ต่อเศรษฐกิจไทย

แบงก์ชาติประเมินผลกระทบ “กรีซไม่รับเงื่อนไขกลุ่มเจ้าหนี้” ต่อเศรษฐกิจไทย

6 กรกฎาคม 2015


แบงก์ชาติประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจการเงินไทย หลังจากกรีซลงประชามติไม่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ปัญหาหนี้ของประเทศกรีซที่ล่าสุดได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากกรีซไม่สามารถชำระคืนหนี้ให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 และผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประชาชนกรีซส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเงื่อนไขของแผนความช่วยเหลือครั้งใหม่ ทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจการเงินโลกและอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ธปท. ประเมินว่า ผลกระทบโดยรวมต่อไทยในเบื้องต้นจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากไทยมีความเชื่อมโยงกับกรีซค่อนข้างต่ำทั้งในส่วนของภาคการเงินและการค้า และแม้จะมีผลกระทบทางอ้อมบ้าง แต่คาดว่าอยู่ในวงจำกัด ส่วนตลาดการเงินของไทยอาจเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้น แต่คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก

ที่มาภาพ : http://im.rediff.com/money/2015/jul/06greek1.jpg
ที่มาภาพ : http://im.rediff.com/money/2015/jul/06greek1.jpg

ในการประเมินผลกระทบของวิกฤติหนี้กรีซต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ผ่านช่องทางต่างๆ พบว่า

1) ฐานะของสถาบันการเงินจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยไม่ได้มีธุรกรรมทางการเงินติดต่อกับกรีซโดยตรง ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่จะผ่านความเชื่อมโยง (Exposure) กับกลุ่มสถาบันการเงินในยุโรปโดยรวมก็มีในวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยปล่อยสินเชื่อหรือลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศในยุโรปน้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของสินทรัพย์รวม

2) ผลกระทบทางการค้าจะอยู่ในวงจำกัดทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากไทยมีการค้าโดยตรงกับกรีซน้อยมาก โดยไทยส่งออกไปกรีซเพียงร้อยละ 0.06 ของการส่งออกรวม ส่วนผลกระทบทางอ้อมจากการค้ากับประเทศในกลุ่มยุโรปนั้น แม้ไทยจะส่งออกไปยุโรปคิดเป็นร้อยละ 10.3 ของการส่งออกรวม แต่เมื่อพิจารณาประเทศคู่ค้าหลักในกลุ่มสหภาพยุโรป อาทิ เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ พบว่า ประเทศเหล่านี้ยังมีปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จึงคาดว่าการส่งออกของไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกรีซมากนัก

3) ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง จากความกังวลของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อทางออกของปัญหาที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น จึงยังไม่น่ากังวลมากนัก

•ตลาดเงินตราต่างประเทศอาจผันผวนมากขึ้น โดยเช้านี้ ค่าเงินสกุลหลักส่วนใหญ่อ่อนค่าลง โดยเฉพาะค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 0.7 ขณะที่สกุลเงินซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-haven asset) เช่น เงินดอลลาร์ สรอ. และเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.25 และร้อยละ 0.17 ตามลำดับ เนื่องจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยดังกล่าวมากขึ้น

•ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเช้านี้ พบว่า มีผลกระทบค่อนข้างน้อย โดยเงินบาทอ่อนค่าเพียงร้อยละ 0.14 ซึ่งน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคที่อ่อนค่าในช่วงร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 0.7

•สำหรับตลาดทุนนั้นมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาหลักทรัพย์และพันธบัตรอาจปรับลดลงจากความกังวลของนักลงทุน และอาจมีเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนของภูมิภาคและของไทยบ้าง แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรของไทยมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 8.8 ของยอดพันธบัตรภาครัฐทั้งหมด ส่วนโอกาสที่จะมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยอย่างรุนแรงคาดว่าจะมีไม่มาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยไปค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะมีเงินทุนไหลออกต่อเนื่องในอนาคตจึงน่าจะมีไม่มากนัก ทั้งนี้ ในการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเช้านี้ พบว่า ตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับลดลงเล็กน้อยสอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียส่วนใหญ่ที่ปรับลดลง ส่วนอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

•ทั้งนี้ หากพิจารณาฐานะด้านต่างประเทศของไทย เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง (ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2558 มีฐานะสุทธิอยู่ที่ระดับ 178.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) จึงมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะต่อไปได้

แม้ว่าผลกระทบของวิกฤตหนี้กรีซต่อเศรษฐกิจการเงินของไทยยังไม่เป็นที่น่ากังวลนัก แต่หากปัญหาขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศยูโรโซน ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย