ThaiPublica > คอลัมน์ > ความแตกร้าวของแผ่นปูพื้นถนน

ความแตกร้าวของแผ่นปูพื้นถนน

28 มิถุนายน 2012


โตมร ศุขปรีชา

แผ่นปูพื้นถนนนั้นแตก รอยร้าวแล่นจากปลายหนึ่งสู่อีกปลายหนึ่ง ถ้ามันเป็นหัวใจ เรามักเรียกมันว่า “หัวใจสลาย” แต่ในเมื่อมันเป็นเพียงแผ่นปูพื้นถนนที่มีหน้าที่วางตัวให้ตีนเหยียบย่ำ จึงไม่มีใครใส่ใจดูแล หรือแม้กระทั่งสนใจมัน

รอยแตกร้าวไม่ได้เกิดขึ้นกับแผ่นปูพื้นถนนเพียงแผ่นเดียว มันเกิดขึ้นกับแผ่นนั้นแผ่นนี้ ตรงนั้นตรงนี้ และบางคราวก็ไม่เพียงแตกร้าว ทว่าแตกทำลายอย่างยับเยิน บางแผ่นหายไป เผยให้เห็นทรายและดินที่เคยอัดตัวกันแน่นอยู่เบื้องล่าง แต่บัดนี้กลายเป็นหลุมลึก

ถ้ามันเป็นหัวใจจริงๆ มันก็เป็นหัวใจที่วางไว้ให้ตีนกระทบกระแทก เหยียบย่ำ ในสถานะของสิ่งที่อยู่ ‘ต่ำ’ ที่สุด ในโครงสร้างสังคมของเรา

มันเป็นหัวใจที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ไม่มีใครรัก ไม่เคยมีใครเสียน้ำตาให้ อย่าว่าแต่น้ำตา, แม้ดวงตาเหลือบแลก็คงไม่เคย

แล้วผมก็เอ่ยถามเขาว่า “ระหว่างการทำให้คนออกมาเดินบนทางเท้า แทนที่จะนั่งรถไปไหนมาไหนใกล้ๆ เพื่อให้ผู้คนเห็นคุณค่าของการเดิน และทำให้ทางเท้าพัฒนาขึ้น กับการพัฒนาทางเท้าเสียก่อน ให้มันสวยสะอาดน่าเดิน แล้วผู้คนถึงจะออกมาเดินนั้น-อย่าไหนเราควรทำก่อน”

ฟังดูเป็นคำถามที่ซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วไม่เลย

ทำอย่างไรก็ได้-เขาตอบ แต่ขอให้ทำเถิด ทั้งสองวิธีนำไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน อย่างแรกทำให้การเดินเป็น pop culture เสียก่อน แล้วทางเท้าก็จะพัฒนาขึ้นมาเองด้วยฝีมือของใครต่อใคร ส่วนอย่างที่สอง ก็ทำทางเท้าให้น่าเดินเสียก่อนด้วยฝีมือของผู้มีอำนาจ แล้วผู้คนก็จะออกมาเดินกันเอง หากประสบความสำเร็จ ในที่สุด การเดินก็จะกลายเป็น pop culture ไปได้ไม่ยากนัก

ตอบไปแล้วเขาก็เห็นขัน นกพิราบตัวหนึ่งบินลงมาเกาะบนแผ่นปูพื้นแตกๆ มันไม่ใช่นกพิราบสีขาว แต่สีบนตัวของมันเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด เมื่อรถแล่นผ่าน กระแสลมก็ตีขนของมันให้กระจุยปุยขึ้น แล้วมันก็โบกปีกบินจากไป

ทำอย่างไรก็ได้-เขาหัวเราะ เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม การเดินในสังคมนี้ก็ไม่อาจเป็น pop culture ไปได้

“ทำไมเล่า” ผมว่า

เพราะการเดินเป็นสมบัติของไพร่-เขาตอบ เจ้าและผู้ดีล้วนมีคนแบกหาม เจ้าในยุโรปอวดมั่งมีกันด้วยรถม้ามันปลาบ ผู้ดีเมืองไทยก็ไม่แตกต่าง มีเกี้ยว มีข้าทาสบริวารแห่ห้อม การเดินจึงเป็นสมบัติของคนชั้นต่ำสุดในสังคมที่เกิดขึ้นได้ด้วยอวัยวะต่ำสุด-คือเท้า

ในโครงสร้างของสังคมแบบชนชั้นนิยม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เท้าและการเดินจะไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่าวิธีเดินทางแบบอื่น มันคือมรดกอย่างหนึ่งที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษ แต่เราไม่เคยมองเห็น

“แต่ยุโรปที่เคยบูชารถม้า เดี๋ยวนี้คนก็เดินกันนี่นา” ผมแย้ง “เขาไม่เห็นเป็นอย่างเราเลย”

เขาเกือบหัวเราะออกมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้หัวเราะ ที่สำคัญ เขาไม่ตอบผมตรงๆ แต่บอกให้ผมหาซื้อดีวีดีละครเพลงอย่าง Les Miserable มาดู

มันไม่เกี่ยวอะไรตรงๆ กับการเดินเท้าหรอก-เขาว่า แต่โครงสร้างสังคมในยุโรปที่เปลี่ยนไปเมื่อเจ้าและขุนนางถูกลากขึ้นมาสับคอบนกิโยติน ก็ทำให้ยุโรปสั่นสะเทือน ระบบศักดินาฟิวดัลพลิกหน้ามือเป็นหลังเท้า จากหลุยส์ที่สิบหกถึงลุดวิกแห่งบาวาเรีย ไพร่มีโอกาสได้ออกมาเดินบนถนน เปล่งเสียงประท้วง และขับไล่ผู้ปกครองที่ไม่ชอบธรรมในสายตาของตน

การเดินเท้าประท้วงจึงเปลี่ยนแปลงยุโรปไปตลอดกาล

แต่ไม่ใช่อเมริกา

หลายคนเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา คือการสมคบคิดของบริษัทรถยนต์และผู้ปกครองประเทศ ก่อเกิดนโยบายสวยหรูดูดี กลางศตวรรษที่แล้ว เกิดการก่อสร้างโครงข่ายฟรีเวย์มากมายพาดผ่านไปทั่วประเทศ พร้อมกับมีการรื้อถอนรางรถไฟ หรือไม่ก็ตัดงบประมาณการสร้างทางรถไฟ

นั่นคือต้นเหตุที่ทำให้เกิด Car Culture ขึ้นอย่างเข้มข้นในประเทศแห่งนั้น

“อะไรคือ Car Culture” ผมถาม

สำหรับผม ในอเมริกาคือวัฒนธรรมรถยนต์-เขาบอกผม แต่ที่นี่ ในสังคมนี้ มันคือ Car Culture Compulsory Conformism หรือ CCCC

“มันคืออะไร” ผมได้แต่เลิกคิ้วฉงนฉงาย

เขาชี้มือไปที่แผ่นปูพื้นแตกร้าว และช่วยเขาทวนย้อนความทรงจำกลับไปถึงฉากวันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชวนคนขี่จักรยาน และขี่ตามกันไปเป็นฝูง

แม้การรณรงค์นั้นก็เป็นไปไม่ได้-เขาว่า เราไม่เพียงไม่เดินเท้า แต่จักรยานก็ไม่อาจเป็นพาหนะถาวรในชีวิตประจำวันไปได้ ทั้งนี้ก็เพราะสังคมไทยของเราได้นำเอาโครงสร้างแบบชนชั้นนิยม อำนาจนิยม ไปผสมพันธุ์กับ Car Culture แบบอเมริกา จนออกมาเป็น CCCC

“แล้วอะไรคือ CCCC กันเล่า” ผมเริ่มหงุดหงิด

มันแน่นหนามั่นคงยิ่งกว่า Car Culture ธรรมดา-เขาตอบ Car Culture ได้แบ่งแยกเมืองออกเป็นย่านๆ มันทำให้ ‘สเกล’ ของเมืองเปลี่ยนไป จาก Human Scale กลายเป็น Car Scale ซึ่งจะเห็นได้จากเมืองใหญ่อย่างลอสแองเจลิส เราไม่สามารถเดินไปปากซอยเพื่อซื้อข้าวหมูแดงมากินเป็นอาหารเที่ยงได้ แต่เราต้องขับรถเสมอ เพราะสเกลของเมืองทำให้ไม่มีใครเดินไหว

รถยนต์สำหรับแอลเอ จึงเป็นเสมือนองคาพยพที่สามสิบสาม เป็นปัจจัยที่ห้า เหมือนโฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่งในเมืองไทยเมื่อราวสามสิบปีก่อน ดูเผินๆ ทุกคนได้ประโยชน์ บริษัทรถยนต์ได้ขายรถ ดีทรอยต์เฟื่องฟู บริษัทก่อสร้างได้สร้างทาง สร้างฟรีเวย์ คนมีงานทำ บริษัทน้ำมันในเท็กซัสก็ได้ขุดเจาะน้ำมันมาหล่อเลี้ยง Car Culture ผู้คนก็แสนสุข ที่ได้ใช้ชีวิตแบบ American Dream ขับรถคันโตเฉิดฉายไปตามที่ต่างๆ ไม่มีใครต้องเดินอีกต่อไป เสมือนหนึ่งว่า ทุกคนมีเกี้ยวมาคอยแบกหามจากบ้าน

Car Culture ได้แบ่งแยกเมืองออกเป็นย่านๆ ย่านที่อยู่อาศัย ย่านธุรกิจ และย่านอุตสาหกรรม ผู้คนต้องขับรถจากย่านหนึ่งไปอีกย่านหนึ่งทุกๆ วัน ซุกหัวนอนในบ้านย่านที่อยู่อาศัย ไปทำงานในย่านธุรกิจ ซื้อของในย่านนั้น และขนถ่ายสินค้าจากย่านอุตสาหกรรมเข้ามาในอีกสองย่าน

“ก็ฟังดูดีไม่ใช่หรือ” ผมถาม “ไม่เห็นมีปัญหาอะไรนี่”

เขายักไหล่-ใช่! ไม่มีปัญหา-เขาว่า แต่วิธี ‘สร้างเมือง’ ให้ ‘วาง’ อยู่บนอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ เช่น สร้างเมืองให้วางตัวอยู่บนธุรกิจน้ำมันและธุรกิจรถยนต์นั้น ในระยะยาวจะส่งผลร้าย

“ยังไง”

ทุกวันนี้ การเดินทางคือหัวใจของมนุษยชาติ และเราก็เดินทางโดยพึ่งพิงสิ่งที่เราไม่อาจควบคุมได้ เราพึ่งพิงบริษัทรถยนต์ บริษัทน้ำมัน บริษัทก่อสร้าง และเราก็ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เมื่อเกิดมาในสังคมแบบนี้ มันบังคับให้เราต้องมีไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งเสมอไป เช่น ต้องมีบ้านจัดสรรอยู่ในย่านชานเมือง ต้องมีรถยนต์เพื่อ ‘หนี’ ออกมาจากใจกลางเมืองหรือดาวน์ทาวน์ อันเป็นย่านธุรกิจ ในยามค่ำคืน ลองไปดูดาวน์ทาวน์ของแอลเอตอนกลางคืนเถิด ที่นั่นมีแต่ยาม คนจรจัด และกะหรี่ นอกนั้นแล้วก็แทบเป็นเมืองร้าง

ที่มาภาพ : http://capl.washjeff.edu/1/l/292.jpg

อย่างไรก็ตาม สังคมอเมริกันก็เกิดการต่อสู้ต่อรองกับวิถี Car Culture ขึ้น เมืองเล็กๆ ยังคงรักษา Human Scale ของตัวเองไว้ และเมืองใหญ่จำนวนมากก็หันหน้าเข้าหาระบบขนส่งมวลชน ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์และน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว บางเมือง อย่างเช่นกรุงโซลของเกาหลีใต้ มีการรื้อทางด่วนทิ้งเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ทางด่วนนั้นเคยสร้างทับไปบนลำธาร พวกเขาถมลำธารนั้นเพื่อสร้างทางให้รถวิ่ง แต่บัดนี้เมื่อสำนึกเสียแล้วว่าการสร้างทางด่วนไม่เคยแก้ปัญหาจราจรได้ พวกเขาจึงพังทลายมันลง ขุดลำธารขึ้นมาใหม่ ทำเป็นสวนสาธารณะตามแนวยาวสองฝั่ง และสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นทดแทน ไม่น่าเชื่อ! ปัญหาจราจรกลับแก้ไขได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่นั่นก็ต้องดิ้นรนส่งรถยนต์ออกนอกประเทศ แล้วจะส่งไปที่ไหนดีเล่า นอกจากที่ซึ่งวิธีคิดแบบ CCCC เฟื่องฟูเบิกบานที่สุด

“หมายถึงที่นี่?” ผมชี้มือไปบนถนนที่มีรถยนต์จอดติดตายแน่นขนัด ทุกคนแต่งตัวสวยหล่อ ทำผมทรงเกาหลี ทำหน้าเคร่งเครียด และทำใจ (ผมรู้น่า!)

ก็คงใช่-เขาตอบ เพราะ CCCC ไม่ใช่แค่การมี ‘วัฒนธรรม’ รถยนต์เท่านั้น แต่มันผนวกคำว่า Compulsory กับ Conformism เข้าไปด้วย คำว่า Compulsory หมายถึงภาคบังคับ เหมือนการศึกษาภาคบังคับก็เรียกว่า Compulsory เช่นเดียวกัน นั่นแปลว่า เมื่อเราเกิดมาในสังคมนี้ เราก็เหมือนถูก ‘บังคับ’ ให้ต้องดิ้นรนขวนขวายมีรถยนต์ขับเสมอ มันกลายเป็นหนึ่งขั้นตอนในชีวิตของเรา ที่เราต้องบรรลุถึง

อย่างไรก็ตาม การถูก ‘บังคับ’ นี้ กลับเป็นไปอย่างเต็มใจ ด้วยคำว่า Conformism หมายถึงลัทธิยอมสมาทานตัวเองเข้าไปอย่างเต็มใจ สมัครใจ และส่วนใหญ่แล้ว-เป็นไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะมีอะไรบางอย่างคอยกล่อมเกลาให้เกิดความ ‘อยาก’ สมาทานตัวเอง

“เหมือนเฟาสต์ขายวิญญาณให้ปีศาจอย่างนั้นหรือ” ผมถาม

ทำนองนั้น-เขายิ้ม แต่สำหรับที่นี่ มันคือการ ‘ขาย’ จิตวิญญาณและไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้บริษัทรถยนต์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญะแห่งอำนาจ

“หมายความว่ายังไง”

รถยนต์ไม่ใช่รถยนต์-เขามองหน้าผม ใครๆ ก็น่าจะรู้ มันไม่ใช่แค่พาหนะพาเราไปอีกที่หนึ่ง แต่มันแสดงถึงสถานภาพของเรา เหมือนขุนนางและเจ้าในยุโรปเคยปลาบปลื้มกับรถม้านั่นแหละ ใครมีรถม้าที่เทียมม้าจำนวนสี่ตัว ก็ต้องรู้สึกด้อยค่า ไร้ศักดิ์ศรี ไม่อาจทาบเทียบกับขุนนางที่นั่งรถม้าเทียมม้าหกตัว และขุนนางดังกล่าวก็ต้องหลบตาหม่อมห้ามนางใน ที่ได้ใช้รถม้ามันปลาบ เทียมม้าจำนวนแปดตัว จำนวนของม้าแสดงถึงฐานะ ไม่ใช่เพียงฐานะทางเศรษฐกิจ แต่มันหมายถึงสถานภาพความโปรดปรานในสายพระเนตรของพระเจ้าแผ่นดินด้วย ต่อให้เป็นพระมเหสี แต่หากไม่ได้รับความโปรดปราน พระนางก็ต้องนั่งรถม้าซอมซ่อ

“ยุโรปอีกแล้ว” ผมค้าน “มันเกี่ยวอะไรกับสังคมไทยเล่า”

เราก็คิดแบบเดียวกันกับยุโรปสมัยกลางไง-ประกายตาของเขาพราวไปด้วยแววบางอย่าง ไม่เชิงเจ้าเล่ห์ แต่รวดร้าวมากกว่าอย่างอื่น, เรายังก้าวไม่พ้น ‘ยุคกลาง’ เลยด้วยซ้ำ-เขาหัวร่อ ในเชิงจิตใจและสำนึกไพร่ของเรา เรายังอยู่ในยุคกลาง เราคอยบูชาผู้ที่มีสถานะสูงกว่าเรา ในเวลาเดียวกัน เราก็อยากเปลี่ยนสถานะตัวเองขึ้นไปให้สูงส่งขึ้นด้วย แล้วจะมีอะไรคอยบ่งบอกสถานะของเราได้ดีไปกว่าสิ่งที่เรานำติดตัวไปไหนๆ ได้อย่างรถยนต์เล่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ได้มีแค่ Car Culture แต่เรามี CCCC เป็นสมบัติประจำสังคมที่ตกทอดมาทางพันธุกรรม สายเลือด และสำนึกไพร่ของเราเลยทีเดียว

“บางอย่างก็ดีกว่ารถยนต์นะ” ผมอดเถียงไม่ได้ “ผมเคยได้ยินคนบางคนบอกว่า นาฬิกาแพงๆ นั้นดีกว่ารถยนต์เสียอีก เพราะเป็นของที่แพงที่สุดที่สามารถนำติดตัวไปในงานสังคมได้ บางทีมันแพงกว่ารถยนต์ดีๆ ด้วยซ้ำไป”

ก็เป็นวิธีคิดเดียวกัน-เขาตอบ ไม่ผิดหรอกที่จะคิดอย่างนั้น แต่คำถามก็คือ แล้วเรา ‘รู้ตัว’ หรือเปล่า ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่-เพราะอะไร เรากำลัง ‘สมาทาน’ ตัวเองเข้ากับอะไรอยู่ ทำไมเราถึง Conform และเป็นหนักข้อถึงขั้นบูชาการ Conform นั้น ให้เป็น Conformism และเราปลูกฝังถ่ายทอดคนอื่น จนกลายเป็นเรื่อง ‘ภาคบังคับ’ หรือ Compulsory จนคนอื่นๆ ในสังคมที่ไม่รู้เท่าทัน ต้องดิ้นพราดๆ เจ็บปวดทุกข์ทรมานถ้าไม่มีรถสักคัน บ้านสักหลัง นาฬิกาสักเรือน เพื่อนำมาใช้แสดงสถานะ โดยข้ามผ่านหน้าที่การใช้งานจริงของมันไป นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องน่าเศร้า และน่าสมเพชเวทนา

“ถ้าอย่างนั้น คุณก็กำลังจะบอกว่า เราไม่มีวันทำให้แผ่นปูพื้นแตกๆ ร้าวๆ ในใจกลางกรุงเทพมหานครนี้ กลายเป็นทางเท้าน่าเดินขึ้นมาได้ใช่ไหม” ผมถาม

เขาพยักหน้า-อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในชั่วคนนี้ เพราะการสร้างการ ‘เดิน’ ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่แค่ทำทางเท้าปูลาดด้วยหินอ่อนเหมือนทางเท้าที่บางแสน แต่มันต้องประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น ต้นไม้ร่มรื่นที่ได้ลิ้มรสการตัดแต่งอย่างใส่ใจ ไม่ใช่สักแต่ตัดไม่ให้มันเกะกะสายไฟ, การลดพื้นที่ของรถยนต์ เพื่อนำมาเป็นพื้นที่ของการเดินและการขี่จักรยาน, การเรียนรู้คอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ของการจราจรที่โลกกำลังก้าวไปสู่ อาทิคอนเซ็ปต์แบบ Shared Space ของ Hans Monderman หรือการวางผังเมือง (Urban Planning) อื่นๆ ที่คำนึงถึงสุนทรียรส ซึ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นด้วยการรณรงค์ชั่วข้ามคืน เหมือนการรณรงค์ด้วยการยื่นหน้ายื่นตาเข้ามาในจอโทรทัศน์เป็นฝูง พร้อมกับจักรยานคนละคัน แล้วขี่โชว์แค่ครึ่งชั่วโมง นั่นเป็นเพียงวิธีการแบบหน้าไหว้หลังหลอก อันเป็นมรดกสำคัญอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทย

“คุณให้ความสำคัญกับการเดินมากแค่ไหน” ผมถาม

มากหรือน้อยนั้นไม่สำคัญหรอก-เขายิ้ม มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะลงมือทำมันโดยอยู่ในภาวะที่มีเหตุปัจจัยพร้อมหรือเปล่าเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเรา ‘พยายาม’ ให้ความสำคัญกับมัน แล้วก็ต้อง ‘พยายาม’ เดินหรือขี่จักรยาน แต่ถ้าเรา ‘พร้อม’ วันหนึ่งเราก็จะละทิ้งวัฒนธรรมรถยนต์โดยไม่ได้ต่อต้านมัน-เขาเน้นเสียง แล้วหันมาเดินให้มากขึ้นด้วยตัวของเราเอง

“การเดินดีอย่างไร”

เขาเกือบสำลักกับคำถามนี้ แล้วเขาก็บอกให้ผมลองคิดถึงนักคิดหลายๆ คน

เฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ Walking-เขาตอบ เขาเป็นนักคิดที่ผมชอบ ผมคิดว่าเขารู้ดี ว่าหากยังอยู่กับเมืองต่อไป เขาจะไม่มีโอกาสได้เดิน เขาจึงย้ายตัวเองออกไปอยู่ริมบึงวอลเดน แล้วเขาก็เดิน เดินพลางครุ่นคิด การเดินทำให้เขามองเห็นความงามของใบไม้สีแดงแห่งอเมริกาเหนือ ได้คิดถึงการไม่เชื่อฟังรัฐเพื่อเหตุผลที่ดีงาม ได้เล่าให้เราฟังถึงการปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นไม้ ใต้ท้องฟ้าอันงดงาม เขาไม่เพียงอยากเดิน ทว่าได้สร้าง ‘เหตุปัจจัย’ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเดินขึ้นมาด้วย และเขาก็เดินวันละเกือบสิบชั่วโมง ทอดน่องไปในป่าอันงดงาม

การเดินของนักคิดอย่างเฮนรี่ เดวิด ธอโร ทำให้ผมคิดถึงการเดินของนักคิดอีกคนหนึ่ง-เขาพูดต่อ คนคนนั้นก็คือลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig Van Beethovan) เขาได้ชื่อว่าเป็นคีตกวีที่ชมชอบการเดินเล่นในป่าของกรุงเวียนนาและที่อื่นๆ มากมายนัก เขาเดิน และฟังเสียงกระจุ๋งกระจิ๋งของสายลม ธารน้ำ และสรรพสัตว์ที่กู่ร้องหากัน เขาฟังเสียงสายฝน พายุคำราม สายน้ำที่ถะถั่ง เขาเดินอยู่ในมัน ทั้งความงามจุ๋มจิ๋มของธรรมชาติ และความโหดร้ายปานจะฉีกทึ้งร่างยามธรรมชาติเกรี้ยวกราด งานอย่างซิมโฟนีหมายเลขหกของเขา สะท้อนเสียงที่ได้จากการเดินเล่นในป่าของเขาออกมาชัดเจน และแม้เมื่อเขาหูหนวกสนิทแล้ว ซิมโฟนีหมายเลขเก้า รวมถึงงานแชมเบอร์มิวสิคยุคท้ายๆ ก็บอกเราถึงการเดินทางสู่แห่งหนที่ไม่มีมนุษย์คนไหนรู้จัก ถ้าธอโรเดิน แล้วทำให้เขาได้สำรวจความคิดเชิงปรัชญาการเมือง บีโธเฟนก็เดิน เพื่อให้ได้สำรวจลึกลงไปในจิตใจและปรัชญาชีวิต พร้อมทั้งสะท้อนออกมาในเสียงดนตรีของเขา

แต่การเดินที่งดงามที่สุดสำหรับผม-เขาว่า อาจเป็นการเดินในเช้าชุ่มน้ำค้างวันหนึ่ง เดินไปช้าๆ ตามหลังท่านติช นัท ฮันห์ (Thitch Nhat Hanh) พระเซนชาวเวียตนาม ผู้ผ่านความร้ายกาจของสงครามในเวียตนาม สงครามที่พรากเอาผู้เป็นที่รักจำนวนมากของท่านไป แต่กระนั้นท่านก็ยังอยู่ และสอนเราถึงการเดินอย่างมีสติ การเดินที่ไม่ได้พาเราไปแห่งหนใด ไม่ได้ยินสิ่งใด ไม่ได้เห็นสิ่งใด นอกจากการกลับมาอยู่กับตัวของเราเอง เป็นการเดินง่ายๆ ที่แม้เหยียบแมลงบางตัวไป ก็หาใช่เรื่องต้องลงโทษตนเองไม่

คุณเคยได้ยินเรื่องของพวกฟรีแกนไหม-จู่ๆ เขาก็หันมาถาม

“ไม่เคย” ผมส่ายหน้า “มันคืออะไร”

ฟรีแกน หรือฟรีแกนนิสซึม (Freeganism) มาจากคำว่า Free ผสมกับ Vegan เขาบอก

“แล้วมันหมายความว่าอะไร”

ฟรีแกนเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นในอเมริกา เมื่อราวๆ กลางทศวรรษ 1990s เขาเล่า ดูเผินๆ พวกฟรีแกนก็คือพวกที่ไปคุ้ยขยะหาของกินนี่แหละ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้คุ้ยขยะเพียงเพื่อหาของกินเท่านั้น

“คุ้ยขยะ-แต่ไม่ได้หาของกิน?” ผมสงสัย

ใช่-พวกเขาไม่ได้ทำเพียงหาของกิน-เขาบอก แต่พวกเขาสังเกตเห็นว่า สังคมอเมริกัน อย่างในนิวยอร์ก เป็นสังคมที่กินทิ้งกินขว้าง กินล้างกินผลาญ อย่างเช่น ร้านขายเบเกิลที่ดีที่สุดในนิวยอร์ก ย่อมไม่มีวันจะเก็บเบเกิลข้ามคืน ดังนั้น เมื่อสิ้นวัน ทางร้านก็จะเอาเบเกิลที่เหลือขาย แต่ยังสดใหม่สภาพดีอยู่ออกมาทิ้ง ไม่ใช่ทิ้งกันน้อยๆ แต่มันคือขยะปริมาณมาก ทั้งที่สามารถกินได้อย่างเอร็ดอร่อย ฟรีแกนจะตามรอยร้านเหล่านี้ ร้านที่ทิ้งอาหารที่ยังดี ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทิ้งผักที่ยังสด แต่เกินกำหนดการขายในฐานะผักที่ ‘ดีที่สุด’ ตามมาตรฐานสังคมบริโภคนิยมชั้นสูง ร้านขนมปัง ร้านขายแซนด์วิช ฯลฯ

ฟรีแกนไม่ได้ทำเพียงหาของกิน แต่ฟรีแกนคือขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นเพื่อ ‘ต่อต้าน’ ลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้ว เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบ Anti-Consumerist คือเป็นกลุ่มคนที่มีชีวิตอยู่

ด้วย ‘กลยุทธ์’ แบบได้รับ ‘ส่วนแบ่ง’ จากเศรษฐกิจกระแสหลักอย่างพอเพียง และบริโภคสิ่งที่ ‘เหลือทิ้ง’ ให้น้อยที่สุด

ฟรีแกนจึงรักในความเป็นชุมชน แบ่งปัน สนใจปัญหาสังคม มีเสรีภาพ ร่วมมือกัน และเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสังคมที่วัตถุนิยม คลั่งศีลธรรม แข่งขัน ชอบสมาทานตัวเอง และโลภโมโทสัน พวกเขาแบ่งปันเป็น เพราะสิ่งที่พวกเขาได้รับมาอย่างเต็มใจ คือเศษซากสิ่งเหลือทิ้งของสังคมกระแสหลัก พวกเขาตามล่าหาอาหาร โดยเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำคือการแสดงออกทางการเมือง มันคือการต่อสู้ต่อรองกับ ‘อำนาจหลัก’ ในสังคมบริโภคนิยม ที่พวกเขาไม่อาจพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ในเมื่อพวกเขาไม่อาจเปลี่ยนโครงสร้างสังคมได้ พวกเขาก็อยู่กับมันเสียเลย ใช้ประโยชน์จากมัน และในเวลาเดียวกัน ก็ได้แสดงออกซึ่งความคิดของตัวเองด้วย

เมื่อเหตุปัจจัยไม่พร้อม ธอโรเดินออกมาจากมัน แต่ฟรีแกนยังคงอยู่กับมัน และเปิดเผยด้านอัปลักษณ์ของมันอย่างร่าเริงสนุกสนาน เสียดเย้ย และขบขัน

“น่าทึ่งนะ” ผมว่า

ใช่-เขาตอบ ในนิวยอร์ก มีการจัดฟรีแกนทัวร์ด้วย เขาจะแนะนำคนที่อยากเป็นฟรีแกน ให้ไปหาอาหารฟรีตามแหล่งต่างๆ ฟรีแกนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน จำนวนมากเป็นคนที่มีหน้าที่การงานดีๆ เป็นปัญญาชน แต่พวกเขามีความคิดและวิธีคิดที่แตกต่าง สำหรับผม พวกฟรีแกนจึงเป็นนักคิด และเป็นนักปฏิบัติด้วย และที่เหนือไปกว่าการเป็นนักปฏิบัติ ผมคิดว่าพวกเขายังเป็นนักปฏิบัติธรรมชั้นยอดอีกต่างหาก เพราะพวกเขารู้จัก ‘อยู่กับมาร’ ได้โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจ

บ่ายวันนั้น เราเดินไปบนทางเท้าร้อนระอุ แต่ดูคล้ายเขาไม่อนาทรร้อนใจใดๆ เขาเดินไปช้าๆ เหงื่อชุ่มหลัง แต่ก็ยังเดิน

เขาเดินมาส่งผมที่ลานจอดรถ

“ให้ไปส่งไหม” ผมถาม

เขาส่ายหน้า ผมอยากเดินต่อ-เขาบอก และหันหลังเดินจากไปในระยิบผ่าวของเปลวแดด

ผมปรับอุณหภูมิแอร์ในรถให้อยู่ที่ 24 องศาเซลเซียส แล้วขับสู่ท้องถนน พลางรู้สึกว่าน้ำหนักของรถได้เหยียบแผ่นปูพื้นบางแผ่นให้แตกร้าวมากขึ้น