
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เวลา 8.30 น. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทการบินไทย เดินทางมายื่นฟ้องบริษัทการบินไทยต่อศาลแรงงานกลาง ในข้อหาเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอยู่ในมูลฐานความผิดตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 รวมทั้งเรียกร้องให้บริษัทการบินไทยจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจำนวน 10,640,000 บาท กรณีเลิกจ้าง ก่อนที่สัญญาว่าจ้างฯ จะครบกำหนดในวันที่ 11 กรกฏาคม 2556 และขอให้คณะกรรมการบริษัทการบินไทยทบทวนมติเลิกจ้าง เพื่อให้นายปิยสวัสดิ์กลับไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยเช่นเดิม
นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า เหตุผลที่ตนมายื่นฟ้องต่อศาลฯ ครั้งนี้ ต้องการทำเป็นบรรทัดฐาน และสร้างธรรมาภิบาลให้กับรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีประชาชนถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านกระทรวงการคลัง การกำกับดูแลจะทำเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไปไม่ได้ หากต้องการกำกับดูแลในลักษณะนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ “KPI” หรือตัวชี้วัดมาวัดผลงานของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และก็ไม่ต้องนำบริษัทการบินไทยเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
“ตอนนี้มีผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกเลิกจ้าง ครั้งนี้ผมจึงต้องการทำให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน กรณีของรัฐวิสาหกิจทั่วไป อาจจะกำหนดเกณฑ์ชี้วัดผลงานเอาไว้ไม่ชัดเจน ทำให้การประเมินผลงานขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประเมินผล แต่สำหรับสัญญาจ้างฯ ของการบินไทย กำหนดตัวชี้วัดผลงานเอาไว้อย่างชัดเจน โดยใช้หน่วยงานภายนอก อาทิ บริษัท ทริสเรทติ้ง เข้ามาประเมินผลงาน ดังนั้น กรณีที่จะมาใช้วิธีประเมินผลงานไม่ผ่าน เพื่อนำไปสู่คำสั่งเลิกจ้าง ทำได้ยากกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น”
นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า การประเมินผลงานของตนในช่วงที่ผ่านมา ตัวชี้วัดผลงานระบุว่าตนได้คะแนนสูงถึง 87% โดยผลประกอบการของการบินไทยไตรมาสแรกมีกำไร 3,600 ล้านบาท ขณะที่สายการบินแห่งอื่นขาดทุน จำนวนผู้โดยสารในปีนี้ก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ตนได้มีการเจรจากับสหภาพแรงงานฯ และพนักงาน ขอความร่วมมือช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อความอยู่รอดของบริษัทในระยะยาว เช่น เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการค่าล่วงเวลาและการจ่ายเงินชดเชยวันหยุด ซึ่งพนักงานทุกคนให้ความร่วมมือ ยกเว้นคณะกรรมการ ซึ่งทางพนักงานขอให้คณะกรรมการช่วยลดค่าเบี้ยประชุมที่ได้รับเดือนละ 80,000 บาท ขอให้ลดเหลือ 40,000 บาท ซึ่งตนได้เสนอคณะกรรมการไปแล้ว แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 ล้านบาท
“สำหรับตัวผมเอง ผมก็ไม่ขอรับเบี้ยประชุม และประกาศไปแล้วว่าจะไม่ขอรับเงินเดือนในเดือนธันวาคม 2555 แต่ตอนนี้ไม่ต้องปฎิบัติตามสัญญา เพราะผมถูกเลิกจ้างแล้ว เมื่อเกณฑ์ชี้วัดต่างๆ ถูกกำหนดไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่ามีความพยายามจะกดคะแนน แต่ทำไม่สำเร็จ จึงต้องหาวิธีอื่น ต่อมาผมได้รับทราบเหตุผลการเลิกจ้างจากประธานคณะกรรมการ บริษัทการบินไทย ว่าการสื่อสารระหว่างคณะกรรมการกับผมไม่มีความเป็นเอกภาพ จึงเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างผม แต่ก็มีพนักงานบางคนบอกว่าสงสัยบอร์ดจะฟังภาษาอังกฤษที่ผมพูดไม่รู้เรื่อง จึงทำให้การสื่อสารระหว่างผมกับบอร์ดไม่รู้เรื่อง” นายปิยสวัสดิ์กล่าว
นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ศาลฯ ได้นัดไต่สวนนัดแรกวันที่ 24 กรกฏาคม 2555 เวลา 13.00 น. และในระหว่างนี้คงจะไปทำงานในตำแหน่งประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (อ่านความในใจ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” วันสุดท้ายที่การบินไทยถึงพนักงาน 25,000 คน )