ThaiPublica > คนในข่าว > “รศ.ปณิธาน วัฒนายากร” วิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม…หลังคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ 3 จุด

“รศ.ปณิธาน วัฒนายากร” วิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม…หลังคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ 3 จุด

4 พฤษภาคม 2012


รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง
รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง

คาร์บอมบ์ 3 จุดในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และที่โรงแรมลีการ์เด้น จ.สงขลา ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี ทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายคนและบาดเจ็บหลายร้อย

ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นคำถามถึงการทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มีหน่วยงานทั้ง พลเรือน ตำรวจ ทหาร และทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องขันน็อตบูรณาการการทำงานใหม่…

พร้อมแต่ตั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภาคใต้ปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า

สถานการณ์ภาคใต้ หากดูที่ความถี่จำนวนเหตุการณ์จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เราได้ผ่านช่วงที่ร้ายแรงที่สุดมาแล้ว 2 ครั้ง คือปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 881 คน เฉลี่ยวันล่ะ 2.4 คน บาทเจ็บพันกว่าคน ส่วนปี 2551 มีผู้เสียชีวิต 836 คน เฉลี่ยวันละ 2.2 คน บาทเจ็บพันกว่าคน ซึ่ง ณ ปัจจุบันผู้เสียชีวิตตกลงมาเหลือ 489 คน เฉลี่ยวันละ 1.3 คน ส่วนจะเข้าสู่ช่วงที่ร้ายแรงครั้งที่ 3 หรือไม่ เป็นประเด็นที่ยังน่าวิตกกังวล หากดูตัวเลขตั้งแต่ต้นปี ซึ่งแนวโน้มไม่ค่อยดี โดยเฉพาะเดือนมีนาคม คนตายเกือบ 60 คน

แต่ที่ไม่ดีมากกว่านั้น รศ.ปณิธานเชื่อว่า ขณะนี้ขีดความสามารถของผู้ก่อการร้าย หรือในทางการเมืองเราเรียกว่าผู้ก่อความไม่สงบ แต่ในทางปฏิบัติในทางเทคนิค คือวิธีการก่อการร้ายชัดเจน มีการวางระเบิดในลักษณะลูกโซ่ มีการคุกคามข่มขู่ที่มีนัยยะทางการเมือง เพื่อแยกไปปกครองตนเอง การนำเอาศาสนามาบิดเบือน ทั้งหมดคือการก่อการร้ายสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญอีกครั้ง มีศักยภาพใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ คนที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการ แสดงให้เห็นว่ามียุทธวิธี ยุทธศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีกิจกรรมในเชิงเครือข่าย และมีการประสานงานดีขึ้น บางส่วนมีเกี่ยวข้องกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะมีวัสดุอุปกรณ์ที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแบบทำให้มีโอกาสการสร้างศักยภาพ

อาทิ การใช้อุปกรณ์ทำระเบิดที่มีส่วนประกอบเพาเวอร์เจลใหม่ๆ ยี่ห้อซูปเปอร์เพาเวอร์, ออรีก้า จากประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีการนำเข้าเชื้อปะทุสำเร็จรูป – ระเบิดซีโฟร์ – ทีเอ็นที ฯลฯ นอกจากนี้ ทางหน่วยงานความมั่นคงยังพบวัตถุระเบิดเซนเทค ที่สายบุรี จ.ปัตตานี และถูกพบบ่อยมากขึ้นในพื้นที่ รือเสาะ จ.นราธิวาส นอกจากนี้ การใช้รีโมทจุดระเบิดแม่นยำมากขึ้น มีการนำรีโมทรถยนต์นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้อุปกรณ์ระเบิดที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการตั้งเวลา ผสมผสานวงจรไฟฟ้าอย่างเป็นลูกโซ่ โดยใช้วงจรถอดรหัสความถี่วิทยุสื่อสาร BTMF เพื่อจุดระเบิดหลายลูกพร้อมกัน ซึ่งการระเบิดรถทหารพรานและคาร์บอมบ์ที่ จ.นราธิวาส ปี 2554 ก็ใช้ระเบิดประเภทนี้ ที่สำคัญ การใช้ระเบิดความถี่แบบนี้ไม่สามารถติดตามคนร้ายได้

“ในปัจจุบันหน่วยงานความมั่นคงได้พบว่า คนร้ายมีความพยายามเชื่อมระบบ BTMF เข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้จุดชนวนทางอินเทอร์เน็ตได้เลย รวมถึงจูนกับวิทยุวอล์คกี้ทอล์คกี้ มีการทดลองใช้อินฟาเรดในการจุดระเบิด ซึ่งมีบุคคลที่รู้เรื่องนี้อยู่ใน จ.นราธิวาส เพราะได้เสียชีวิตจากการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ตัวระเบิดได้เพิ่มน้ำหนักมากขึ้น ทำให้มีอนุภาพร้ายแรงขึ้น รวมทั้งมีการดัดแปลงถังแก๊สมาทำตอร์ปิโดบอมบ์ เหมือนที่มีการใช้ค่อนข้างเยอะในประเทศปากีสถาน มีความพยายามใช้ระเบิดในการยิงเฮลิคอปเตอร์ มีการตั้งทีมประกอบระเบิด ทีมจุด ทีมสำรวจ ทีมเข้าในพื้นที่เพื่อวางระเบิด ดังนั้น ทำให้เห็นว่าคนร้ายมีการพัฒนาการและมีศักยภาพ”

หากดูในภาพรวม รศ.ปณิธานมองว่า คนเหล่านี้มีความชำนาญจากการเรียนรู้ด้วยตนเองส่วนหนึ่ง ส่งคนไปฝึกที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ทางการไทยมีชื่อที่ชัดเจนหลายคน มีเครือข่ายที่ลำเลียงวัตถุระเบิดเข้ามาในไทย 3 จุด จาก อ.ตากใบ อ.สุไหง-โกลก อ.เบตง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านได้จับกุมคนเหล่านี้ และมีหลักฐานชนิดเดียวกัน ในทางหลักฐานวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าคนร้ายมีความสามารถมากขึ้น แต่หากเทียบกับมือระเบิดในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อิรัก ที่เป็นมือระเบิดระดับต้นๆ ของโลก คนร้ายในไทยยังไม่มีฝีมือยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็มีการพัฒนาจนมีความสามารถมากขึ้น

“การที่เรายังคงกำลังทหารคงไว้ในพื้นที่หลายหมื่นคน มีการพัฒนาด้านการข่าว มีการพัฒนากองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) เพื่อนำทหารหลักเข้าไปดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ มีโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใหม่ ทำให้สถานการณ์ไม่ปะทุขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การทำงานร่วมกันระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน ภายใน กอ.รมน. หรือ ศอ.บต. ที่ทำงานเชิงรุกในด้านพัฒนาซึ่งมีการพูดคุยกับคนในพื้นที่ได้ดี แต่ยังไม่พอที่จะทำให้สถานการณ์ยุติลงอย่างรวดเร็ว แต่ทำให้สถานการณ์ทรงตัว ที่สำคัญเวลาเกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะเกิดสุญญากาศทั้งด้านนโยบายและตัวบุคคล ทำให้ฝ่ายก่อความไม่สงบจะใช้วิธีการยกระดับความรุนแรงเพื่อให้สนใจ

ไทยพับลิก้า : ผู้ก่อความไม่สงบวางยุทธศาสตร์อย่างไร

ปีนี้การเคลื่อนยุทธศาสตร์ฝ่ายก่อความไม่สงบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน กลุ่มแรกจะทำงานมวลชนมากขึ้น โดยมีการพูดคุยกับต่างประเทศ เชื่อมโยงสหประชาชาติ (UN) และองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ซึ่งมีการเดินยุทธศาสตร์พร้อมประกาศจะไม่โจมตีประชาชน เพราะไม่มีเจตนาละเมิดสิทธิมนุษยชน ยินดีจะร่วมมือเพราะไม่ใช่องค์กรก่อการร้าย ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่สองที่มีอายุน้อย เริ่มแยกตัวจากกลุ่มแรก ซึ่งไม่แน่ใจว่าแยกตัวทางยุทธศาสตร์หรือทะเลาะกันจริงๆ ประกาศไม่ให้กลุ่มอาวุโสที่คุยกับต่างประเทศมาควบคุมแนวทาง

อาทิ อาร์เคเครุ่นใหม่ คุมพื้นที่มากขึ้น มีการค้าขายยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธสงคราม กลุ่มนี้มีเงินในการใช้จ่าย ทำให้มีอิทธิพลมากขึ้น มีเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตมิชอบ เด็กเหล่านี้ไม่ได้เคร่งศาสนาเพราะถูกบิดเบือนจนทำให้มัวเมาเรื่องในพื้นที่แบบไม่ใช่มีอุดมการณ์ ไม่ใช่เชิงการเมืองแบบแบ่งแยกดินแดน แต่นำประเด็นเหล่านี้มาใช้เป็นปัจจัยต่อการปฏิบัติงาน ไม่สนใจการเจรจา ซึ่งรายงานนี้สอดคล้องกับรายงานศูนย์เฝ้าระวังการก่อการร้ายสหประชาชาติของสหรัฐอเมริกาว่า นับวันขบวนการท้องถิ่นจะเชื่อมโยงกับขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้เขามีศักยภาพมากขึ้น

“รัฐบาลมีการเปลี่ยนถ่าย ทำให้ไม่มีโอกาสส่งสัญญาณที่ชัดเจนจะเอาอย่างไรกับภาคใต้ มีการเปลี่ยนตัวบุคคลทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โครงสร้างที่เริ่มดำเนินการไม่ได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ ขณะที่ กอ.รมน. มีการปฏิบัติการทางทหารเยอะ ไม่ปฏิบัติการเชิงรุกทางการเมืองหรือเชิงจิตวิทยาและพัฒนามากเท่าไร การให้ความเป็นธรรมในความรู้สึกที่ยังไม่ได้รับโอกาสขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง”

“การดำเนินคดีมีปัญหา เพราะใช้เวลานานในการพิสูจน์ แม้แต่ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยายามเข้าไปผลักดันในการนำมาตรา 21 ความมั่นคงมาใช้ แต่ทางกระทรวงยุติธรรมก็ยังไม่พร้อมต่อการรับมาตรา 21 มาใช้ ดังนั้น ปีนี้เป็นปีที่สำคัญ หลังระเบิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือ จ.ยะลา รัฐบาลต้องหันมาวางแผนอย่างจริงจังในการส่งสัญญาณที่ถูกต้อง ส่งบุคคลที่มีความสามารถลงพื้นที่”

ปัจจัยที่ซับซ้อนเช่นกรณีข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาผลักดันในการพูดคุยเจรจา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายนายกฯ พยายามที่จะหาวิธีการแลกเปลี่ยนในพื้นที่มากขึ้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัยเป็นนายกฯ ก็พยายามดึงอินโดนีเซียเข้ามา ขณะที่มาเลเซียก็เสนอตัวเข้ามาตลอดเวลาเพราะมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนในพื้นที่ ประเทศที่ 3 ก็พยายามจะเข้ามา องค์กรอังรีดูนองต์ที่ทำเรื่องความขัดแย้งก็สนใจประเด็นพูดคุย

แต่กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้เกิดความสับสนทิศทางการแก้ปัญหา

ไทยพับลิก้า : เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โรงแรมลีการ์เด้น จ.สงขลา กับระเบิดในตัวเมือง จ.ยะลา, จ.ปัตตานี มาจากการจัดประชุมโอไอซีในปีนี้หรือไม่ เพราะเหตุร้ายแรงขนาดใหญ่ภาคใต้แต่ละครั้งจะห่างกัน 4 ปี คือ 2547 และ 2551 ซึ่งในปีนั้นมีการจัดประชุมโอไอซี

เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอยู่เสมอหากมีการประชุมที่สำคัญ มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ในพื้นที่ ก็จะมีการยกระดับปัญหาด้วยวิธีการก่อความไม่สงบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าต้องได้รับความสำคัญ และนำมาใช้ในการเดินยุทธศาสตร์ทางการเมือง

“การวางระเบิดในเขตชุมชนใหญ่ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพียงแต่เหตุการณ์ที่อำเภอหาดใหญ่มีการผสมผสานของอาชญากรรมท้องถิ่น มียาเสพติด น้ำมันเถื่อน ผลประโยชน์ทางธุรกิจ นำกลุ่มบางกลุ่มมาใช้ในการต่อรอง หากสถานการณ์ใดขึ้นหน้า 1 ของข่าว สถานการณ์นั้นจะมีประเด็นทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาหรือให้ตอบรับอะไรบางอย่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2555 ได้ประกาศยกระดับกลุ่มหัวรุนแรง ยกระดับเข้มข้นในการโจมตี ซึ่งเขาก็ทำจริงๆ ตั้งแต่ต้นปี”

มีหลายเรื่องที่ผิดปกติจากปีก่อนๆ มีการโจมตีศูนย์การค้า ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว เห็นได้ว่าเป็นแนวโน้มใหม่ ซึ่งห้างค้าปลีกที่ใหญ่โตที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยถูกโจมตีด้วยเหตุหลายอย่าง อาทิ เป็นศูนย์กลางความเข้มแข็งทางธุรกิจของชุมชน เป็นแหล่งจ้างงานของทุกคน เป็นแหล่งนัดพบแลกเปลี่ยน ทำให้พื้นที่จุดนั้นจะไม่โดนอะไรเลย รวมถึงมีการวางระบบตรวจสอบป้องกันการก่อเหตุอย่างดี แต่ในที่สุดก็เกิดเรื่อง ทำให้เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

ขณะเดียวกัน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็ประสบความสำเร็จมากขึ้นในแง่เชิงกลยุทธ เพราะข้อมูลการข่าวดีขึ้น ชาวบ้านเบื่อหน่าย เห็นได้ชัดว่าเด็กเรานี้ไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน เป็นแต่อันธพาลสร้างความวุ่นวาย โดยข้อมูลส่วนใหญ่ก่อนการโจมตี เราได้รับการแจ้งเตือนจากตัวบุคคล มีเครือข่ายมากขึ้น มีข้อมูลการข่าวเชิงลึก แต่การประสานงานเพื่อใช้ข้อมูลยังไม่ดี ซึ่งเรามีหน่วยงานกลาง มีศูนย์ประสานงานข่าวกรอง กอ.รมน. ก็มีศูนย์ แต่ยังไม่ได้ทำงานเชิงรุกในพื้นที่ในการกระชับ ตรวจสอบ ซุ่มตรวจ ยังไม่ดีเท่าไร ซึ่งการโจมตีแต่ละครั้งไม่ได้มีปัญหาที่ข่าวกรอง เพราะมีข่าวแจ้งอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการนำเอาข่าวไปใช้ต้องมีกลไกและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ มีตัวบุคคลที่ผลักดัน

ไทยพับลิก้า : เจ้าหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพในการนำข่าวแจ้งเตือนมาใช้ เพราะการทำงานของ กอ.รมน., ศอ.บต., กระทรวง, ทบวง, กรม, ทหาร, ตำรวจ ยังไม่มีเอกภาพ

โครงสร้างยังไม่พร้อมทั้งหมด การทำงานเป็นเอกภาพบ้าง เริ่มดีขึ้นหากเปรียบเทียบช่วงตอนยุบ ศอ.บต. ซึ่งปัจจุบันมี กอ.รมน. กับ ศอ.บต. และมี พ.ร.บ.ความมั่นคงมาหนุน พร้อมกับโครงสร้างที่มีแล้ว ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาหลายปี เพราะตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นทำให้โครงสร้างนั้นยังหลวมๆ อยู่ ต้องพึ่งตัวบุคคลที่มีความสามารถกว่าโครงสร้าง พอโครงสร้างเสร็จตัวบุคลจะมีความหมายน้อย ตอนนี้พอหมุนตัวบุคคลเข้าไปเรื่อยๆ เปลี่ยนเลขาฯ ศอ.บต. เปลี่ยนกองกำลังบ่อยๆ ทำให้แปรปรวนแบบนี้

อย่างไรก็ตาม วันนี้มีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเยอะ นับวันฝ่ายก่อความไม่สงบก็มีปัญหามากขึ้น เพราะเวลาเขาเริ่มจะหมดลงคนเริ่มเปลี่ยนไปเกลียดความรุนแรง นับวันคนเริ่มเห็นว่ารัฐมีความพยายาม จึงเริ่มฟังมากขึ้น จากที่บอกว่ารัฐไม่ฟังเสียงประชาชน รัฐไม่พยายาม ซึ่งก็มีบ้างที่เจ้าหน้าที่ไม่ดี ถึงเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ แม้ยังไม่มีคำตอบ แต่ว่าสถานการณ์ก็ลดลง ทำให้ที่ประชุมโลกหรือนานาชาติเห็นความจริง โดยเฉพาะการถามคนในพื้นที่ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศไหนมีอิสรภาพมากกว่า ที่ไหนอยู่ดีกว่า คำตอบมีอยู่แล้ว

“เขาต้องการธรรมมาภิบาลเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องการปกครองตนเองยกตัวเป็นนครหรือมหานคร เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ทางการเมืองของผู้ปกครอง จะเอาอย่างไรให้คนรู้สึกมีความหวังและพอใจ แต่ในความเป็นจริง คนในพื้นที่ต้องการอย่างเดียวคือวิถีชีวิตที่สงบสุข จะเป็นแบบอิสลาม มุสลิมไทยที่เขาพอใจ มีอิสรภาพในการนับถือศาสนา มีหน่วยงานที่มาดูแลให้สิทธิในการที่มีตัวตน ซึ่งเห็นได้ว่าเขาไม่เคยคิดจะย้ายไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านเลย ไม่เคยขอเป็นพลเมือง ไม่เคยขอเป็นประเทศ แต่ส่วนแกนนำอีกเรื่องหนึ่ง โดยรัฐไทยยังมีความได้เปรียบประชาชน 3 ล้านยังอยู่กับเรา ที่สำคัญเขาชอบกษัตริย์เรามากกว่าสุลต่านเยอะ แต่ทำอย่างไรให้เขาพอใจ การกระจายอำนาจ การจัดการความมั่นคงในเรื่องความปลอดภัย”

ไทยพับลิก้า : มองการแต่งตั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดอย่างไร

เป็นความพยายามที่จะปรับปรุงการดำเนินนโยบายให้ชัดเจน หรือที่นายกฯ ใช้คำว่าเพื่อให้การทำงานมีเอกภาพมากขึ้น คิดว่าการมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมาดูแลภาคใต้โดยเฉพาะค่อนข้างได้ผล ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ทำเช่น ให้นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง จะเห็นได้ชัดว่าการผลักดันให้นโยบายเดินไปอย่างรวดเร็วและมีเอกภาพทำได้ง่ายขึ้น

“การกำหนดให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์เข้ามาดูแลภาคใต้หากสามารถผนึกการทำงานร่วมกันระหว่าง กอ.รมน. กับ ศอ.บต.ได้ดี ผลักดันให้แต่ละกระทรวงทำงาน เช่น งานพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข ยุติธรรม จะทำให้ทิศทางดีขึ้น แต่ประเด็นที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์จะทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง รวมทั้งจะสามารถลงพื้นที่ได้ทุกอาทิตย์หรือไม่ อยู่ที่นั่นได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามซึ่งทาง พล.อ.ยุทธศักดิ์ไม่คุ้นเรื่องภาคใต้ เพราะในอดีตขณะที่ดำรงตำแหน่ง รมช.กลาโหมหรือปลัดกลาโหม ก็ไม่ได้ถูกมอบหมายให้ดุแลภาคใต้ แต่ตัว พล.อ.ยุทธศักดิ์มีความยืดหยุ่นเข้าได้กับทุกฝ่ายเป็นคนรับฟัง”

ไทยพับลิก้า : นโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ถูกทางจริงหรือไม่

ในภาพรวมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งคงไม่มีทางอื่น หลังลองผิดลองถูกมาหลายปี แต่ความเอาใจใส่ของรัฐบาลอาจแตกต่างกัน ขณะนี้สัญญาณของรัฐบาลเรื่องใต้ก็อ่อน และผู้นำไม่ได้ลงพื้นที่บ่อย แต่ถ้าดูระบบราชการไทย ตำรวจ ทหาร คุ้นเคยความซับซ้อนสมัยใหม่มากขึ้นและระวังมากขึ้น เดี๋ยวนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคนเป็นคนท้องถิ่น บางพื้นที่ผู้ว่าฯ ผู้กำกับสถานีตำรวจ ผู้นำหน่วยราชการเป็นคนท้องถิ่นเกือบหมด การกระจายอำนาจดีขึ้น

“ทิศทางนโยบายโดยรวมถือว่าไปถูกทาง แต่ต้องเน้นที่รายละเอียดแต่ละคนทำงานตอบสนองจริงจังเร็วและสอดคล้องหรือไม่ ฟังมากขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่นโยบายนี้ 3 ปีค่อยทำ แต่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเลย ต้องลงไปดูระดับพื้นที่ด้วยเพื่อใส่รายละเอียดเป็นจุดๆ เช่น พื้นที่ในตัวเมืองจังหวัดยะลา เป็นพื้นที่เป้าหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของชุมชนที่มีชาวไทยพุทธอยู่เยอะ จะโดนโจมตีเป็นระลอก จึงต้องควบคุมพื้นที่สร้างเป็นโซนให้ปลอดภัย อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับพื้นที่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เป็นพื้นที่ถูกโจมตีอันดับที่ 2 ดังนั้นต้องดูแลให้ดี”

“ขณะที่พื้นที่เชิงอุดมการณ์ในจังหวัดปัตตานี มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน เป็นพื้นที่ทางศาสนา การเมือง มีอดีตสุลต่าน มีอดีตผู้นำ มีอดีตผู้แบ่งแยกดินแดน ดังนั้นต้องทำให้จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่การถกเถียง เป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยน ส่วนพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จะเป็นแหล่งซ่องสุมตามเทือกเขา จะอยู่ในอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอเจาะไอร้อง มีค่ายหลายค่ายที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ดังนั้น เราจะปิดอย่างไรให้หมด หากจะปฏิบัติการทางทหารต้องตัดสินใจปฏิบัติการที่เข้มข้น หากปล่อยเป็นแบบนี้คนร้ายก็จะออกมาเป็นระยะๆ เรื่องนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากมากในการปฏิบัติการเชิงรุก”

ไทยพับลิก้า : ผู้ก่อความไม่สงบยังมีเป้าหมายแยกตัวออกจากไทย หรือต้องการยกระดับสถานการณ์

เป้าหมายการแยกตัวคิดว่ายังไม่พร้อมเท่าไร ยินดีที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้อำนาจในการปกครอง จะเรียกว่าเป็นนครรัฐ เทศบาล คนกลุ่มเหล่านี้พร้อมที่จะพูดคุย เพราะเขารู้ว่าการยกตัวเองมาเป็นประเทศคนในพื้นที่อาจไม่หนุน การตั้งประเทศปัตตานี นราธิวาส หรือยะลา ประชาชนคงไม่เอาด้วยง่ายๆ อยู่ดีๆ จะไปตั้งสุลต่านคุมยะลาหรือปัตตานี เขาคงจะทำสงครามกลางเมืองกัน ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตก็ทำสงครามมาหลายร้อยปี ปัตตานีก็ไม่ชนะเสมอไป ยังมีสุลต่านชัยบุรี สายบุรี รามันท์ ยะหริ่ง ถามว่าเขาพูดคุยกันหรือยัง ซึ่งคงยังไม่มีการพูดคุย

แต่สำหรับกลุ่มเด็กที่นิยมความรุนแรงผสมศาสนา และต้องการครอบครองพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ตนเอง กลุ่มนี้ไม่พูดคุยแน่ รวมถึงยังมีกลุ่มใหม่ๆ ทางศาสนา ที่เห็นความสับสนวุ่นวายก็รับเงินมาเพื่อตั้งมูลนิธิช่วยชุมชน ได้รับอิทธิพลทางทางการเมืองและมีบทบาทมากขึ้น ที่สำคัญคนเหล่านรี้เริ่มมีผู้ตามมากแล้ว ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในพื้นที่ และต่างประเทศสนใจกลุ่มนี้มากและให้เงินสร้างกิจกรรมใหญ่โต มีนักเรียนทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเรียนที่นี่ ดังนั้น รัฐต้องดูว่าจะทำอย่างไรกับมูลนิธิเหล่านี้

ไทยพับลิก้า : มองแนวคิดการเจรจาอย่างไร

1. รัฐบาลไทยไม่สามารถเจรจาเพื่อแบ่งแยกดินแดนกับองค์กรอะไรได้เลย เพราะผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ 2. รัฐบาลชาติใดก็ไม่สามารถเจรจากับกลุ่มคนที่มีคดีทางอาญา เพราะต้องขึ้นอยู่กับศาล ดังนั้น 2 เรื่องนี้ต้องตั้งไว้ก่อนว่าไม่เจรจา แต่นอกเหนือจากนี้สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในพื้นที่ ที่จะร่วมกันสร้างกระบวนการในการบริหารพื้นที่ร่วมกัน ในกรอบที่เราทำคือ ไม่แบ่งแยกดินแดนในรูปแบบองค์กรบริหารพื้นที่พิเศษ เช่น ศอ.บต. หรือถัดไปสู่นครปัตตานี แต่ก็มีปัญหาเยอะเพราะสวนกระแสการกระจายอำนาจ แต่ไปรวบอำนาจบริหารมาไว้ในเทศบาลเดียว หากเทศบาลตันหยงมัสมาขึ้นกับเทศบาลปัตตานีก็ยุ่ง

ไทยพับลิก้า : แนวทางการเจรจาจะทำให้เหตุการณ์ภาคใต้สงบหรือไม่

เป็นความเชื่อสากลว่าในที่สุดต้องมีการพูดคุยกันที่โต๊ะเจรจา แต่ก่อนการพูดคุยบางกลุ่มอาจไปทำกิจกรรม บางกลุ่มก็ไม่ทำรอผลการพูดคุย แล้วคนส่วนใหญ่ที่ไม่นิยมความรุนแรงก็ยินดีที่จะสร้างพลวัตในการพูดคุยกัน เป็นการเจรจาต่อรองในการบริหารจัดการ

ไทยพับลิก้า : ฝ่ายมั่นคงมองว่า ตอนนี้มีการสร้างสถานการณ์และมีการตั้งเป็นองค์กร หากมีการเจรจาจะกลายเป็นการยกระดับเข้ากรอบของโอไอซี

มีหลายองค์กรมีหลายพวกที่รับผิดชอบ นโยบายเราคือเจรจากับทุกฝ่าย ไม่ใช่องค์กรเดียว โดยเจรจาทุกฝ่ายที่ต้องการเข้ามาสร้างความสงบ ส่วนใครจะยกระดับเป็นเรื่องของโอไอซีเป็นเรื่องสหประชาชาติ เขาอยากจะยกก็ยกได้ เป็นสิทธิ์ของเขา วันดีคืนดีเขาอยากจะประกาศรับรององค์กรพูโลก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อเรา แต่เขาจะทำหรือไม่ซึ่งเขาก็ไม่ทำ เพราะอะไร? เพราะเขารู้ว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรที่มีศักยภาพจริง แต่ก็ต้องอยู่ที่เขา หากวันนี้สหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ก็ต้องรับรอง นานาชาติจะโหวตให้เพราะมีขั้นตอนแบบนี้ หากวันนี้จะรับรองกลุ่มบีอาร์เอ็นก็รับรองสิ แต่เขาจะกล้ารับรองหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคดีอาญาทั้งนั้น

“โอไอซีเขาสนใจในประเด็นนี้และให้ผู้แทนแต่ละกลุ่มเขาไปสังเกตการณ์ แต่ไม่มีแนวโน้มรับรององค์กรใด เขาจะรับรองทุกองค์กรไหม บีอาร์เอ็น บีอาร์เอ็นซี หรือบีอาร์เอ็นใหม่ๆ พูโลใหม่ๆ เขายังตัดสินใจไม่ได้เลย และโอไอซีก็ให้เราเข้าไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและเขาก็ฟังเสียงจากเรา นอกจากนี้ ในโอไอซีเราก็มีเพื่อนอยู่หลายประเทศที่เขามาดูและเห็นว่ากลุ่มนี้ไม่น่าไปในทิศทางที่ถูกต้อง”

ดังนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องทำงานต่อเนื่องมากขึ้นในองค์กรนานาชาติในการสร้างความเข้าใจ กดดันไม่ให้เขาเปลี่ยนแปลงทิศทางที่เป็นผลลบกับเรา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศก็นำคนโอไอซีมาสังเกตการณ์พร้อมลงพื้นที่ให้ข้อมูลและมีจุดยืนที่ชัดเจน

“การเสียดินแดนไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครรับรองใคร เช่น สหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์มาหลายปีแล้ว ก็ยังตั้งประเทศไม่ได้ แต่แน่นอนอาจเป็นพัฒนาการที่เพิ่มน้ำหนักก็ต้องระวัง หากดูปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา ที่เราไปมีปัญหาสหประชาชาติก็เข้ามาตั้งแต่แรกก็ยังไม่สามารถตัดสินอะไรได้เลย เพราะมีกระบวนการที่ซับซ้อนมาก”

อย่างไรก็ตาม คนในพื้นที่เริ่มมีความรู้สึกว่ารูปแบบวิธีที่เราใช้ไม่แก้ปัญหาในระยะยาว แก้ปัญหาเพียงระยะสั้น ระยะกลาง เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ในระยะยาวต่อการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษภาคใต้ ต้องคิดรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มโครงสร้างและกฎหมายใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญร่างเสร็จก็ต้องดูรูปแบบการปกครองในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงขนาดไหน เปิดช่องให้ทำโครงสร้างใหม่ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

“รูปแบบการปกครองพิเศษ การปกครองตนเองไม่ใช่รูปแบบใหม่ จีนก็มี คอมมิวนิสต์ก็มีเขตปกครองตนเอง การปกครองพิเศษอเมริกาก็มี ไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้น ในเมืองไทยในระยะยาวอาจต้องไปสู่การปกครองพิเศษแบบใดแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่ทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยเข้าใจและไม่กระทบต่อเอกภาพ ไม่กระทบต่อประชาธิปไตย ไม่กระทบต่ออธิปไตย”

ไทยพับลิก้า : การตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษจะทำให้เหตุการณ์สงบ

ความขัดแย้งมีมานานเป็นร้อยๆ ปี ฉะนั้นอาจควบคุมได้ง่ายขึ้น เพียงแต่เหมือนโรคบางโรค เช่น เบาหวาน อาจไม่หายแต่ควบคุมได้ ทำให้ไม่ลุกลามจนทำให้เรามีปัญหา ดังนั้นมันต้องควบคุม แล้วในที่สุดทางออกที่ดีที่สุดก็จะเห็นอย่างในยุโรป ที่มีเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่ผ่านยุคสงครามมาแล้ว จะมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการปกครองความรุนแรงแบบนี้อีกแบบ จะต่อต้าน จะไม่รับ จะให้น้ำหนักเรื่องอธิปไตยน้อยลง ให้น้ำหนักการเชื่อมโยงวัฒนธรรมมากขึ้น

“แกนเปลี่ยนขั้วเปลี่ยน สงครามเย็นสิ้นสุดลง เกิดองค์กรใหม่อย่างสหภาพยุโรป เดี๋ยวนี้การข้ามพรมแดนไม่มีปัญหา ไม่เหมือนสมัยสงคามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ความเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ หรือประเทศเล็กๆ อาจมีปัญหาบ้าง แต่พอรวมกันแล้วปัญหาน้อยลงกว่าเดิมเยอะ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตัวแปรเปลี่ยน ในที่สุดคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไม่ได้ยึดติดกับคนรุ่นเก่า”

ดังนั้น คำตอบการแก้ไขปัญหาภาคใต้ คงต้องใช้เวลากับปัจจัยใหม่ๆ แต่สิ่งที่รัฐทำได้คือประคับประคองและผลักดันในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และแก้ปัญหาในเชิงรายละเอียดรอให้ปัญหานั้นหลุดไปจากวงจร