ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “openworlds ตอบโจทย์” ความเชื่อและความฝันของคนทำหนังสือ

“openworlds ตอบโจทย์” ความเชื่อและความฝันของคนทำหนังสือ

5 พฤษภาคม 2012


ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds

สำนักพิมพ์ openworlds ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยมีภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, สฤณี อาชวานันทกุล, แอลสิทธิ์ เวอร์การา, กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล, พลอยแสง เอกญาติ, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และปกป้อง จันวิทย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

openworlds สนใจตีพิมพ์หนังสือแปลแนวเศรษฐกิจการเมือง ธุรกิจสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ และปัญญาความรู้หลากหลายสาขา

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน openworlds มีหนังสือออกวางแผงแล้ว 12 เล่ม เป็นชุด “ความรู้ฉบับพกพา” (Very Short Introductions Series) ของ Oxford University Press 6 เล่ม และหนังสือแปลแนวประวัติศาสตร์ ความรู้ และเศรษฐกิจ อีก 6 เล่ม

ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา หลังจากสำนักพิมพ์เริ่มลงหลักปักฐานในวงการหนังสือ และผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้อ่านแล้ว ถ้าเปรียบเป็นคนก็คงเหมือนคนที่เริ่มคุ้นหน้ากัน แต่อาจไม่เคยคุยกัน สำนักพิมพ์จึงคิดว่านี่คือเวลาดีที่จะมาแนะนำตัวและทำความรู้จักกับผู้อ่านอย่างจริงจัง

วันที่ 28 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ สาขาสยามพารากอน งาน “openworlds ตอบโจทย์” จึงเกิดขึ้น เพื่อให้คนทำหนังสือได้มาบอกเล่าความเป็นมาและเป็นไป ของสำนักพิมพ์กับคนอ่าน

“สมัยที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศ สิ่งหนึ่งที่ปัญญาชนญี่ปุ่นทำคือ การรวมตัวกันออกเงินพิมพ์หนังสือที่คิดว่าดีที่สุดจากต่างประเทศ มาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยใช้คนที่เก่งที่สุด เพื่อให้คนญี่ปุ่นเข้าถึงปัญญาที่ถูกเก็บไว้ในรูปแบบภาษาอังกฤษ คำถามคือ หากคิดว่าคนจำนวนมากควรจะเข้าถึงปัญญาเหล่านี้แต่มีข้อจำกัดเรื่องภาษา วิธีที่ง่ายที่สุดและถูกที่สุดคือ การให้คนที่เก่งมาแปลหนังสือเหล่านี้ให้คนได้อ่านกัน”

“ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks ที่หลายคนเริ่มคุ้นหน้าในฐานะพิธีกรฝีปากกล้าจากรายการ “ตอบโจทย์” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เริ่มเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds

จากที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่เริ่มทำหนังสือที่สำนักพิมพ์ openbooks ความรู้จัก ความคุ้นเคย และจุดร่วมที่ทุกคนต่างมีคือ ความรักในการทำหนังสือ ทำให้บรรดาผู้ก่อตั้งทั้งหลาย ชักชวนกันมาทำหนังสือดีๆ ที่มาจากต่างประเทศให้คนไทยได้อ่าน

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

“สำนักพิมพ์ openworlds แปลว่าเปิดโลก สิ่งที่เราพยายามทำคือเปิดโลกที่มีอยู่ให้กว้างขึ้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่า คำว่า worlds เติม “s” เพราะเราเชื่อว่าโลกมีหลายใบ มีความหลากหลาย เราไม่เชื่อว่าจะมีโลกหนึ่งเดียวที่ดีที่สุด สิ่งที่เราเสนอคือโลกอีกใบที่เปิดโอกาสให้ถกเถียงกันได้ แต่เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งหลายคนจบเศรษฐศาสตร์ ความสนใจของเราจึงเน้นไปที่การทำความเข้าใจเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเป็นหลัก”

“ปกป้อง จันวิทย์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง อธิบายแนวคิดในการทำงาน ก่อนพูดถึงวิธีเลือกหนังสือของสำนักพิมพ์ว่า อย่างน้อยหนังสือที่เลือกมาก็ควรจะอ่านสนุกและมีเสน่ห์ในแบบของมัน ที่สำคัญ หนังสือเหล่านั้นต้องทำให้คนอ่านเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ บนโลกใบนี้ เพื่อที่จะทำความเข้าใจและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้

อย่างเช่นหนังสือชุดความรู้ฉบับพกพา ที่แปลมาจากหนังสือภาอังกฤษของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปัจจุบัน openworlds หยิบมาแปลแล้ว 6 เล่ม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในหัวข้อต่างๆ คือ โลกาภิวัตน์ (Globalization), ทุนนิยม (Capitalism), ญี่ปุ่นสมัยใหม่ (Modern Japan), จีนสมัยใหม่ (Modern China),ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) และกฎหมาย (Law)

“ตัวอย่างซีรีส์ที่เป็นแกนของสำนักพิมพ์คือ หนังสือชุดความรู้ฉบับพกพาที่ให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือที่สามารถเก็บความในเรื่องต่างๆ ตามหัวข้อของหนังสือได้ครบ เขียนโดยนักวิชาการที่จับเรื่องเหล่านี้มาเป็นเวลานาน หนังสือแต่ละเล่มเหมือนเป็นประตูก้าวแรกที่จะพาคนอ่านไปสู่เรื่องนั้น โดยที่ไม่ต้องไปอ่านตำราเป็นพันหน้า เป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องอื่นๆ ที่ตัวเองไม่ถนัด ที่เลือกหนังสือชุดนี้มาทำเพราะเราอยากผลิตองค์ความรู้ขั้นพื้นฐาน ให้เป็นฐานสำหรับการพูดคุยและถกเถียงกันต่อได้”

openworlds ในความเห็น “ปกป้อง” จึงเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่มาเติมเต็ม ให้วงการอ่านการเขียนในบ้านเรามีความหลากหลายสมบูรณ์ขึ้น

ปกป้อง จันวิทย์
ปกป้อง จันวิทย์

ส่วน “สฤณี อาชวานันทกุล” นักเศรษฐศาสตร์ที่หันมาเอาดีทางด้านการเขียน ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนของสำนักพิมพ์ ชี้ให้เห็นปัญหาในวงการหนังสือบ้านเราว่า

“หนังสือชุดความรู้ฉบับพกพาเป็นหนังสือที่คนเขียนพยายามหาวิธีสื่อสารที่ไม่ใช่วิชาการจ๋า ทำให้คนอ่านไม่ต้องใช้ความพยายามมากเหมือนอ่านงานวิชาการ เป็นแนวหนังสือที่ตลาดในบ้านเรายังขาด ในต่างประเทศเขามีหนังสือที่พยายามถ่ายทอดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายมานานแล้ว เขามีหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อ่านง่าย หรือป็อปไซน์ (Pop Science) ต่อมาก็มีเรื่องอื่นๆ อย่างเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ที่มีความสนุกและไม่อ่านยากอย่างที่คิด แต่บ้านเรายังมีน้อย”

ทำไมหนังสือวิชาการในบ้านเราที่อ่านง่ายหรือหนังสือแนวป็อปมีน้อย “ปกป้อง” มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักวิชาการไทยไม่ได้อ่านหนังสือแบบนักอ่านที่มีความหลากหลาย พอนักวิชาการไม่อ่านหนังสือก็เขียนหนังสือไม่เป็น ทำให้ไม่สามารถผสมความรู้ทางเทคนิคเข้าไปในโลกแห่งความจริงได้ ปัญหาคือนักวิชาการบ้านเราอ่านเฉพาะเรื่องที่เรียน อ่านเพื่อทำวิจัย นักวิชาการที่อ่านหนังสือแบบนักอ่านยังมีไม่มาก และการเขียนหนังสือแนวป็อป ก็ดูเหมือนไม่ใช่ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับนักวิชาการบ้านเรา

หลายคนคิดว่าภารกิจของงานวิชาการคือการเขียนงานในเชิงเทคนิคเท่านั้น “ปกป้อง” ไม่ได้ตำหนินักวิชาการเหล่านั้น เพราะเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน แต่ในความคิดของเขา ถ้ามีนักวิชาการที่เป็นนักอ่านมากขึ้นคงเป็นเรื่องดี

หนังสือชุดความรูฉบับพกพาที่ออกมาแล้ว 6 เล่ม กับหนังสือแปลแนวประวัติศาสตร์ ความรู้ และเศรษฐกิจ อีก 6 เล่ม มีคนถามว่านอกจากความรู้ที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพแล้ว ทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีก เป็นศิลปินทำไมต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจ หรือถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทำไมต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของดอกไม้ ซึ่ง “ภิญโญ” เปรียบเทียบเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า

“ทุนนิยมมันเกี่ยวกับอาชีพการงาน การทำมาหากิน แต่ดอกไม้มันคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ถ้าถามว่าคุณทำมาหากินไปเพื่ออะไร ก็เพื่อหาความสุขในชีวิต ถ้าคุณทำมาหากินแล้วไม่มีความสุขในชีวิต คุณจะทำไปทำไม ถ้าถามกลับกันว่าถ้ามีความสุขในชีวิต มีดอกไม้ แล้วทำไมต้องสนใจทุนนิยมด้วย เพราะคุณอาจจะได้เรียนรู้ว่าจะเอาดอกไม้ไปขายอย่างไร มันเป็นหน้าและหลังซึ่งกันและกัน เป็นเหรียญสองด้านที่เราจำเป็นต้องรู้”

แน่นอนว่าการที่คนปลูกต้นไม้จะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย “สฤณี” เปรียบเหมือนการเดินขึ้นภูเขา เธอไม่อยากให้ตั้งต้นว่าหนังสือทุกเล่มจะต้องอ่านง่าย เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือความคุ้มค่าเมื่ออ่านจบ บางทีเนื้อหาที่ยากทำให้เวลาอ่านหนังสือเหมือนเดินขึ้นภูเขา ความรู้สึกตอนที่อ่านอาจจะยากและเหนื่อย แต่ถ้าเดินถึงยอดเขาแล้วก็อาจได้เห็นอะไรที่สวยงาม ได้เปิดโลกทัศน์ ซึ่งถือว่าคุ้มค่า “สฤณี” คิดว่าหนังสือของ openworlds เป็นแบบนนั้น

นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว เรื่องการออกแบบ เรื่องปก ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง “Wrongdesign” หรือ “กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล” นักออกแบบปกหนังสืออันดับต้นๆ ในวงการที่ออกแบบปกหนังสือให้ openworlds ทุกเล่ม เล่าให้ฟังว่าก่อนจะออกแบบได้ เขาต้องอ่านต้นฉบับหรือคุยกับบรรณาธิการก่อนทุกเล่ม เพื่อให้เข้าใจหนังสือและสามารถออกแบบให้ปกหนังสือสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ คือดึงดูดคนอ่าน

สฤณี อาชวานันทกุล
สฤณี อาชวานันทกุล

แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าคนไทยไม่ได้เป็นนักอ่านตัวยง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกที่มีวัฒนธรรมการอ่านหยั่งรากลึกลงไปในสังคมแล้ว ก็คงพูดได้ว่าคนไทยยังอ่านหนังสือน้อย แล้วสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือนอกกระแส หรือบางเล่มที่อาจถึงขั้นทวนกระแส จะอยู่รอดได้อย่างไรในสภาวะเช่นนี้

“ปกป้อง” มองว่า ความอยู่รอดของสำนักพิมพ์อิสระขนาดเล็ก สิ่งสำคัญคือเงินทุนตั้งต้น เขายอมรับว่าแต่ละคนมีกันไม่มาก และด้วยน้ำพักน้ำแรงที่มีอยู่จำกัด ปีหนึ่งจึงทำหนังสือได้ประมาณ 8 เล่มเท่านั้น ปัญหาคือต้องทำอย่างไรจึงจะผ่านช่วงที่ยาก 2-3 ปีแรกนี้ได้

“หนังสือที่เราทำ ขนาดของตลาดไม่ใหญ่ พิมพ์ไม่มาก ต้นทุนต่อเล่มจึงสูง ถ้าคนที่ชอบอ่านซื้อหนังสือ ทำให้ฐานคนอ่านใหญ่ขึ้น ราคาต่อเล่มก็จะถูกลง ปัญหาตรงนี้ก็จะผ่านไปได้ ในเรื่องความช่วยเหลือเราคงไปหวังพึ่งรัฐหรือพึ่งคนอื่นที่เป็นปัจจัยภายนอกตัวเราไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือตัวเราเอง ถ้ามีจังหวะ มีความพร้อม เมื่อถึงเวลาก็ต้องลงมือทำ”

“ปกป้อง” ย้ำว่า สิ่งที่เขาและเพื่อนยึดเป็นหัวใจมาตลอดในการทำหนังสือไม่ว่ายุคสมัยไหนก็คือ “อย่ามั่วและอย่าชุ่ย” เขาบอกว่าเขายอมกับความมั่วและชุ่ยไม่ได้ openworlds กว่าจะออกหนังสือได้แต่ละเล่มจึงต้องตรวจกันหลายรอบ เพราะพวกเขารู้ตัวว่าทุนหลักของทุกคนไม่ใช่เงิน แต่คือ “ความน่าเชื่อถือ” คนเห็น openworlds ต้องคิดว่าสำนักพิมพ์นี้ไว้ใจได้ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำหนังสือ

“เราทำหนังสือที่ออกมาแล้วเราภูมิใจกับมัน ทุกครั้งที่ผมทำหนังสือ ผมภูมิใจกับมันทุกเล่ม หนังสือบางเล่มอาจมีความเป็นเทคนิค มีความยาก ทำให้ไปได้ยากในตลาดหนังสือ แต่เพราะเป็นหนังสือดี มันก็เป็นเกียรติของสำนักพิมพ์ที่ได้ทำ เรื่องขาดทุนกำไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราคิดว่าเราได้ช่วยทำให้แวดวงการอ่านการเขียนในบ้านเรามีความหลากหลายขึ้น”

ด้วยความที่หลายคนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครจะเข้าใจกลไกตลาดได้ดีกว่าพวกเขา พื้นฐานวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่บอกว่าจุดดุลยภาพจะเกิดจากความต้องการซื้อและความต้องการขายมาเจอกัน แต่สำหรับ openworlds ยังคงมีคนสงสัยว่า ทำไมความต้องการขายถึงชิงมาก่อนความต้องการซื้อ ทั้งที่รู้ว่าการทำยอดขายถล่มทลายจากหนังสือแนวนี้เป็นเรื่องยาก แต่ทำไมถึงยังทำอยู่

“ปัญหาเรื่องนี้เป็นเหมือนปัญหาไก่กับไข่ ที่หลายวงการ หลายประเทศถกเถียงกันมานานแล้ว อย่างรายการโทรทัศน์ดีๆ ที่ควรจะเกิดก่อน หรือควรจะรอให้ผู้ชมโตก่อน หรือเรื่องประชาธิปไตย ที่ประชาธิปไตยควรเริ่มก่อน แล้วประชาชนจะฉลาดขึ้น หรือประชาชนควรฉลาดก่อนแล้วค่อยเอาประชาธิปไตยไปให้ เรื่องแบบนี้มันเถียงกันมาเป็นร้อยปี ปัจจุบันก็ยังเถียงกันไม่จบ แต่ถ้าเรามองเห็นความเชื่อมโยง ไก่กับไข่มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน อย่าไปสนว่าอะไรมันเกิดก่อน ถ้าคุณเชื่อคุณก็ทำไป ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วมันก็จะเกิดของมันเอง ผมไม่เคยคิดว่ายอดขายจะเป็นยังไง เพียงแค่ทำไปตามความเชื่อ ทำไปเรื่อยๆ ในที่สุดไก่มันก็ออกไข่เอง” นี่คือความเชื่อของภิญโญ

ด้วยเวลาที่มีจำกัด ทำให้คำตอบและคำอธิบายในวันนี้สะท้อนได้เพียงความคิดส่วนหนึ่งจากทั้งหมดของคนทำหนังสือเท่านั้น สุดท้าย ถ้าคนอ่านอยากรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อ สิ่งที่พวกเขาทำคืออะไร คงหนีไม่พ้นที่จะต้องไปหยิบจับ ไปอ่านหนังสือของพวกเขา ไปดูความคิดและความเชื่อที่สะท้อนอยู่บนหน้ากระดาษ เผื่อท่านจะเห็นด้วยกับความฝันที่จะ “เปิดโลก” และ “ตอบโจทย์” ให้กับสังคมนี้ ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ในหนทางอีกยาวไกลข้างหน้า ลำพังคนทำหนังสือคงไม่สามารถทำสำเร็จได้ ถ้าไม่มีคนอ่านอย่างเราๆ ท่านๆ คอยสนับสนุน

เปิดประเด็น ขบคิด วิเคราะห์ ติดตาม ตั้งคำถาม “สยามวาระ”

พิธีกรรายการสยามวาระ
พิธีกรรายการสยามวาระ

นอกจากการทำงานในวงการหนังสือแล้ว สมาชิกผู้ก่อตั้งหลายคนของ openworlds ยังมีผลงานในวงการโทรทัศน์ในชื่อรายการ “สยามวาระ” ซึ่งเป็นรายการสารคดีเชิงวิเคราะห์ ที่อธิบายปรากฎการณ์ของสังคมไทยในบริบทโลก หยิบยกประเด็นทางสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่สังคมให้ความสนใจ หรือเป็นวาระของสังคม มาวิเคราะห์อย่างเจาะลึกและนำเสนออย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมในประเด็นต่างๆ โดยใช้ข้อมูลที่มีฐานงานวิจัยสนับสนุนเป็นเครื่องมือหลักในการนำเสนอ ประกอบกับการเล่าเรื่องด้วยอินโฟกราฟฟิค (info graphic) ที่จะนำเสนอให้เรื่องราวที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย

รายการสยามวาระ ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 20.25-21.15 น. ทางช่องไทยพีบีเอส

ที่ผ่านมา รายการสยามวาระออกอากาศไปแล้ว 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องผู้นำไทย, ปัญหาของแรงงานไทยและค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, ความทุกข์และชีวิตผู้บริโภค, SMEs ไทยในความเปลี่ยนแปลง, พลังแห่งการสื่อสาร พลังชุมชนเข้มแข็ง และพลังจิตอาสา ในช่วงมหาอุทกภัยที่ผ่านมา และเรื่องล่าสุด ปัญหาก๊าซ NGV ในประเทศไทย

สามารถติดตามข่าวสารและดูรายการย้อนหลังได้ที่นี่ สยามวาระ