ThaiPublica > เกาะกระแส > สื่อ-ภาคประชาสังคมผนึกเครือข่ายจับตา กสทช. เน้น-ปฏิรูปสื่อ คุ้มครองผู้บริโภค

สื่อ-ภาคประชาสังคมผนึกเครือข่ายจับตา กสทช. เน้น-ปฏิรูปสื่อ คุ้มครองผู้บริโภค

25 เมษายน 2012


งาน เวทีสื่อไทยครั้งที่ 1 “ความร่วมมือทางสังคมในวงกว้างเพื่อกำหนดการทำงานสื่อประชาธิปไตย”
เวทีสื่อไทยครั้งที่ 1 “ความร่วมมือทางสังคมในวงกว้างเพื่อกำหนดการทำงานสื่อประชาธิปไตย”

วันที่ 24 เมษายน 2555 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ (Friedrich Ebert Foundation) และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Böll Foundation) ร่วมกันจัดงาน เวทีสื่อไทยครั้งที่ 1 “ความร่วมมือทางสังคมในวงกว้างเพื่อกำหนดการทำงานสื่อประชาธิปไตย” โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปสื่อเพื่อประชาธิปไตย และสร้างกลไกติดตามนโยบายการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ได้กล่าวในประเด็นเรื่องความสำคัญของภาคประชาสังคมในการปฏิรูปสื่อเชิงก้าวหน้าว่า สิ่งที่ตนเองและคณะกรรมการ กสทช. ส่วนใหญ่มองเห็นก็คือ การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคตที่จะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสื่อหรือคนที่พยายามทำหน้าที่เป็นสื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชนที่มีมากกว่า 6,000 สถานี การเข้าถึงทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีของคนกว่า 10 ล้านครอบครัว ซึ่ง กสทช. มีหน้าหน้าที่ในการเข้าไปดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยให้กับสื่อต่างๆด้วย

แต่ในเรื่องของการปฏิรูปสื่อ นางสาวสุภิญญากล่าวว่า “การปฏิรูปสื่อในตอนนี้ ยังไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ทีวีดาวเทียมที่มีอยู่หลายร้อยช่องในปัจจุบัน กว่า 70% ของรายการทั้งหมดเป็นรายการหรือช่องขายของ และพบว่ามีการร้องเรียนในเรื่องของการโฆษณาและเผยแพร่ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค กสทช. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องต่างๆ เหล่านี้จึงต้องมีการพัฒนาอีกมาก และต้องอาศัยภาคประชาสังคมต่างๆ ในการช่วยผลักดัน และเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”

และนางสาวสุภิญญาได้กล่าวต่อในเรื่องที่ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปในการตรวจสอบ กสทช. คือ 1. เรื่องธรรมาภิบาล ที่ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีสิทธิพิเศษในการจัดเก็บรายได้เอง และสามารถใช้จ่ายเองโดยที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่กลับมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการดูแลผลประโยชน์สาธารณะ 2. เรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของ กสทช. 3. เรื่องความเป็นอิสระของ กสทช. ในการตัดสินใจที่ปราศจากการแทรกแซงโดยกลุ่มทุนและกลุ่มการเมือง สร้างให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและเกิดการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม 4. เรื่องการปกป้องผู้บริโภค และ 5. การส่งเสริมเสรีภาพสื่อ สนับสนุนให้สื่อมีการกำกับดูแลกันเอง และส่งเสริมให้คนรู้เท่าทันสื่อ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ด้านนายมาร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นเรื่องแผนแม่บท กสทช. การปฏิรูปสื่อ และสื่อประชาธิปไตยว่า ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งปัจจัยทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ทำให้สื่อในตอนนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ตัวเองได้อย่างเต็มที่ในระบบประชาธิปไตย ในขณะที่ความพยายามในการปฏิรูปสื่อยังสับสนและเน้นเรื่องที่เป็นนามธรรมมากเกินไปจนไม่สามารถนำมาสู่การปฏิบัติได้

“การปฏิรูปสื่อจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกัน ที่จะผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้นักการเมือง และผู้ที่สามารถกำหนดนโยบายได้นำไปปฏิบัติ ด้วยการสร้างเครือข่ายในการผลักดัน เริ่มตั้งแต่สื่อ ไปจนถึงภาคประชาสังคม เพื่อสร้างให้เกิดแนวทางการทำงานของสื่อที่สามารถทำหน้าที่ตัวเองได้อย่างเต็มที่ในระบบประชาธิปไตย”

นายมาร์คได้มองว่า การจะปฏิรูปสื่อได้อาจต้องใช้เวลายาวนานเป็นสิบปี แต่ในตอนนี้ จุดเริ่มต้นของการทำงานในการปฏิรูปสื่อของไทยควรเริ่มจากการจับตาดู กสทช. เนื่องจาก กสทช. เป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายสายสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์ต่างๆ มากมาย ดังนั้น กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบและให้การสนับสนุนการทำงานของ กสทช. เพื่อผลักดันสังคมสนใจในเรื่องปฏิรูปสื่อ และบังคับให้นักการเมืองนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติ

ด้านนายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ตัวแทนจาก บริษัท สยามอินเทเลเจนท์ ยูนิต (Siam Intelligence Unit) กล่าวว่า บทบาทของ กสทช. ในมุมมองของคนทั่วไปยังไม่ชัด โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่าการทำงานของ กสทช. จะทำให้เกิดอะไรขึ้น กสทช. จึงต้องทำหน้าที่ในการเสนอภาพ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการทำงานของ กสทช. จะนำไปสู่อะไร และเกิดผลดีผลเสียต่อสังคมอย่างไร

“ในเรื่องความร่วมมือในการจับตานโยบายของ กสทช. นั้น การตัดสินใจในเชิงนโยบายควรอยู่บนข้อมูลที่จับต้องได้ แต่ปัญหาคือข้อมูลที่จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบมีน้อยมาก เช่น การเก็บข้อมูลย้อนหลังของรายการโทรทัศน์ ที่หากมีการร้องเรียนเรื่องการโฆษณา การขอเทปเพื่อมาเป็นหลักฐานในภายหลังยังทำได้ยาก กสทช. จึงต้องทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเชิงค้นคว้าและการตรวจสอบด้วย” นายอิสริยะกล่าว

ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า ขณะนี้สื่อต่างๆ กำลังพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด โดยฝ่ายผู้บริโภค ฝ่ายนายทุน และฝ่ายสื่อ ยังมีมุมมองในเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อต่างกัน และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมดูแลสื่อ เช่น เคเบิลทีวีต่างๆ ที่มีอยู่หลายร้อยช่อง จะมีการดูแลเนื้อหาอย่างไร หรือหาก กสทช. จะให้สภาวิชาชีพดูแล ก็ยังมีปัญหาที่ปัจจุบันสภาวิชาชีพสื่อแตกออกไปหลายกลุ่ม หากเรายังเน้นเรื่องการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ รายการหรือช่องที่ไม่มีกลุ่มสังกัดก็จะไม่มีผู้ไปดูแล ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการทำให้ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งเข้าไปช่วยกำกับดูแล

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยจัดการอย่างจริงจังกับสื่อ ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยที่ไม่เคยเข้าไปจัดการ มีสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่ง กสทช. มีอำนาจในการปิดสื่อได้ด้วยวาจาในกรณีที่มีเหตุร้ายแรง การยุยงสร้างความเกลียดชัง และความรุนแรง จึงต้องมีการวางกรอบและใช้มาตรการบทลงโทษ ตอนนี้จึงควรเลิกพูดอะไรที่เป็นนามธรรมและหันมาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง” นายประสงค์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะทำ จากข้อมูลของ กสทช. เรื่องสื่อที่เป็นโสตทัศน์ ตอนนี้ฟรีทีวีมีคนเปิดรับที่ 48.5% ขณะที่ เคเบิลทีวีมี 28% และดาวเทียม 25.5% เมื่อรวมกันแล้ว ตอนนี้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมมีคนเข้าถึงมากกว่าฟรีทีวี

“ดังนั้นสื่อท้องถิ่นจึงเป็นผู้กุมเสียงใหญ่ในตอนนี้ และการเข้าไปควบคุมดูแลสื่อต่างๆ ก็มีระดับความเข้มงวดต่างกัน เช่น อินเทอร์เน็ตทีวี จะถูกควบคุมน้อยกว่าทีวีทั่วไป หรือภาพยนต์ที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากกว่าทีวีทั้งที่ทีวีมีคนดูมากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน การปฏิรูปสื่อจึงต้องให้ความสำคัญ การเข้าถึง และพิจารณาเรื่องปัญหาที่ที่สร้างด้วย” ผศ.ดร.พิรงรองกล่าว