
“บัตรเครดิตชาวนา” หนึ่งในนโยบายหาเสียงระหว่างเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเริ่มใช้ได้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดโครงการทดสอบระบบ “บัตรสินเชื่อเกษตรกร” ที่อำเภออุทัย กับ อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 จังหวัดนำร่อง (เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี)
โดยมีทั้งชาวนาผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตร และร้านค้าเครือข่ายที่ได้รับคัดเลือกให้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (Electric Data Capture: EDC ) มารับฟังขั้นตอนการดำเนินการด้วยความสนใจ เพราะจะเป็นครั้งแรกที่ชาวนาไทยมีบัตรเครดิตใช้เพื่อ “รูดปรื๊ด” ซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธ์ข้าว ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง
ทั้งนี้ การให้บัตรสินเชื่อเกษตร มี 2 ระยะ ระยะแรก (15 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2555) เป็นโครงการนำร่อง ธ.ก.ส. ได้ออกบัตรให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์แล้วจำนวน 5,522 บัตร ใน 5 จังหวัด พร้อมกับติดตั้งระบบและเครื่องรูดบัตรให้กับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สหกรณ์การเกษตร และร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนกับ สกต. จำนวนไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด
ส่วนระยะที่สอง (1 เมษายน – 15 มิถุนายน 2555) จะขยายพื้นที่เพิ่มให้ครบ 77 จังหวัด และจะออกบัตรให้เกษตรผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 2 ล้านบัตร พร้อมจะติดตั้งเครื่องรูดบัตรเพิ่มเป็น 3,000 เครื่อง ทั้งนี้ ในระยะที่สอง ธ.ก.ส. คาดว่าช่วงแรกจะออกบัตรครบ 1 ล้านบัตรได้ในเดือนพฤษภาคม และทยอยดำเนินการจนครบ 2 ล้านบัตรในปีหน้า
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ชี้แจงกับเกษตรกรว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่จะยกระดับด้านการเงินการธนาคารให้กับพี่น้องเกษตรกร จากเมื่อ 2-3 ปี มีบัตรเอทีเอ็ม และนับแต่นี้เป็นต้นไปที่พี่น้องเกษตรกรจะมีบัตรสินเชื่อเกษตรกร หรือบัตรเครดิตเกษตรกร โดยปีแรกจะจำกัดการใช้ให้รูดบัตรซื้อได้เฉพาะปัจจัยการผลิต 3 ประเภทเท่านั้น คือ เมล็ดพันธุ์ข้าว ปู๋ย และยาฆ่าแมลง แต่ถ้าเกษตรกรรายใดใช้บัตรตามวัตถุประสงค์ และมีความสามารถในการบริหารจัดการก็จะไม่ควบคุมการใช้จ่าย
“วันนี้ เมื่อซื้อสินค้ารูดบัตร หรือวันที่มีการใช้บัตรเครดิต ร้านค้าจะเรียกเก็บเงินกับธนาคาร เพราะฉะนั้นวันนี้จะเป็นวันที่ท่านเป็นหนี้กับธนาคาร” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว
นายลักษณ์ย้ำว่า การใช้บัตรขอให้ใช้เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตจริงๆ อย่านำไปแลกเงินสด หากถ้าใครใช้บัตรตามวัตถุประสงค์ วงเงินในบัตรจะขยายเพิ่มขึ้น และปีต่อๆ ไปจะไม่จำกัดวัตถุประสงค์ แต่ถ้าใครไม่ทำตามวัตถุประสงค์ และ ธ.ก.ส. จับได้ จะยกเลิกบัตรและเรียกคืนสินเชื่อทันที

ทั้งนี้ เงื่อนไขของเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อคือ ต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระและไม่เป็นลูกค้าตามโครงการพักชำระหนี้ และต้องมีอาชีพทำนาข้าว และมีผลผลิตข้าวส่วนเหลือเพื่อขาย และต้องนำผลผลิตข้าวของตนเองมาจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
สำหรับวงเงินสินเชื่อเกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตของเกษตรนั้น ธ.ก.ส. กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของผลผลิตส่วนเหลือเผื่อขาย แต่ในส่วนของบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. จะกำหนดวงเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมในการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละราย แต่วงเงินสูงสุดกำหนดไว้ไม่เกิน 50,000 บาท โดยเมื่อรูดใช้บัตรจะได้รับการยกเว้นหรือปลอดดอกเบี้ย 30 วัน จากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ (MRR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7% ต่อปี
นายลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า วงเงิน 70% ของผลผลิตส่วนเหลือเผื่อขาย สมมติเป็นเงินสินเชื่อ 100,000 บาท จะแบ่งจ่ายให้เกษตรกรเป็นเงินสด 70,000 บาท และอีก 30,000 บาทเป็นวงเงินสำหรับบัตรเครดิตชาวนา หรือแบ่งสัดส่วนให้เป็นเงินสด 70% และวงเงินบัตรสินเชื่อเกษตร 30% แต่บางรายอาจวงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกรอาจได้สูงสุดถึงเพดานที่กำหนดไว้ 50,000 บาท
“บัตรเครดิตชาวนา เป็นวงเงินสินเชื่อเดิมที่ ธ.ก.ส. ให้ลูกค้าอยู่แล้ว เพียงแต่แบ่งวงเงินส่วนหนึ่งมาเปิดเป็นวงเงินบัตรเครดิต หรือเปลี่ยนวิธีใช้จากเงินสดมาเป็นบัตรเครดิต เพื่อความสะดวกสบายในการซื้อปัจจัยการผลิต จึงไม่ได้ทำให้เกษตรกรก่อหนี้มากขึ้น หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เพราะไม่ใช่สินเชื่อใหม่” ผู้จัดการ ธ.ส.ก. กล่าว
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. มั่นใจว่า บัตรสินเชื่อชาวนาจะเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องถือเงินสดติดตัว และการซื้อสินค้าเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตจากจุดบริการที่ ธ.ก.ส. ขึ้นไว้ทะเบียนจะทำให้มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพและราคา รวมถึงความปลอดภัยของเกษตรกรที่ใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้คุณภาพ

“ที่ สกต. สหกรณ์ และที่ร้านค้าขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. จะติดป้ายบอกราคาสินค้าไว้ และมีใบแสดงราคาสินค้าแต่ละชนิดให้ดูอย่างละเอียด เพื่อใช้เปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ทำให้เกษตรกรเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเป็นธรรม”
ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรชาวนาได้รับมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรแล้ว ก็มีการนำไปรูดซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธ์ข้าว และยาฆ่าแมลง ได้ที่่ร้านค้าของ สกต. สหกรณ์การเกษตร และร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนกับ สกต. โดยการทดสอบระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกรในครั้งแรกนี้ ได้ให้เกษตรกรผู้มีบัตรสินเชื่อเกษตรกรดำเนินการรูดบัตรซื้อสินค้าที่ได้สั่งไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้าน สกต.

นางจู ทองมูล ผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสินเชื่อชาวนา มีพื้นที่อำเภออุทัย มีที่ทำนา 82 ไร่ ได้วงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกร 30,000 เล่าว่า วันนี้จะมารูดบัตรฯ ซื้อเมล็ดพันธ์ข้าวที่ สกต. ปกติจะซื้อจากร้านค้าทั่วไป ซึ่งถ้าซื้อแบบเงิน “เชื่อ” ยังไม่จ่ายเงินจะถูกคิดดอกเบี้ย 3% ต่อเดือน แต่รูดบัตรฯ เดือนแรกไม่เสีย และจากนั้นจะเสียดอกเบี้ย 7% ต่อปี ก็น่าจะช่วยประหยัดขึ้น
หลังจากผ่านกระบวนการรูดบัตรซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จนมาถึงขั้นตอนรับสินค้า นางจูบอกว่า สะดวก ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องพกเงินสดมาซื้อของ และต่อไปถ้าจะรูดบัตรฯ ซื้อของเพิ่มเติมก็ไม่ลำบาก เพราะแถวบ้านมีร้านค้าเครือข่ายที่มีเครื่องรูดบัตรฯ

นางจูบอกว่า แต่ถ้าของที่ต้องการซื้อ เช่น ปุ๋ย หรือ ยาฆ่าแมลงชนิดที่ต้องการไม่มี ก็คงไปซื้อร้านค้าทั่วไป แต่ต้องใช้เงินสดไปซื้อ หรือถ้าซื้อแบบเชื่อก็จะถูกคิดดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือถ้าวงเงินบัตรฯ หมดก็ต้องไปซื้อร้านค้าทั่วไปอยู่ดี
นายมานิจ คงสุวรรณ์ เกษตรกรอำเภออุทัย ผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสินเชื่อชาวนาบอกว่า เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทำนาอยู่ 60 ไร่ ได้วงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกร 50,000 บาท แต่ขอวงเงินกำหนดไว้เพียง 10,000 บาท เนื่องจากได้สินเชื่อระยะสั้นจากธนาคารมาก่อนหน้านี้ จึงไม่อยากเปิดวงเงินไว้เยอะ แต่ถ้าต่อไปไม่พอก็ไปบอกธนาคารให้เพิ่มวงเงินได้ เพราะธนาคารไม่ได้บังคับว่าต้องใช้วงเงินเต็มตามที่กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“รอบนี้จะซื้อแค่ปุ๋ยอย่างเดียว ถ้ารอบหน้าซื้อเยอะก็อาจจะขอวงเงินเพิ่ม ซึ่งก็ต้องระมัดระวังเหมือนกันจะได้ไม่เป็นหนี้เยอะ และถ้าไม่มีภัยธรรมชาติ ปกติก็ชำระหนี้ส่งตามกำหนดธนาคารได้ทุกปี” นายมานิจกล่าว
ขณะที่นายโสภา ศรีรักษา เกษตรกรอำเภอภาชี มีที่ทำนา 40 ไร่ ได้สิทธิ์รับบัตรสินเชื่อเกษตรกรวงเงิน 50,000 บาท และได้รูดบัตรฯ ในวันแรกเพื่อซื้อปุ๋ย 1 ตัน ราคา 14,400 บาท เล่าความรู้สึกหลังใช้บัตรฯ ว่า ก็เหมือนเงินกู้ แต่ไม่ต้องเสียเวลาเซ็นสัญญา และไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

นายโสภาบอกด้วยว่า การกู้เงินแบบนี้จะไม่เสียดอกเบี้ยดอกเบี้ย 30 วัน หลังจากนั้นธนาคารจะคิดดอกเบี้ย 7% ต่อปี และการชำระคืนเงินกู้จำนวนนี้ เริ่มผ่อนชำระในเดือนที่ 4 หรือตามฤดูการผลิต จึงมั่นใจว่าสามารถผ่อนชำระได้ตามที่ธนาคารกำหนดไว้
นอกจากนั้น จากการสอบถามเกษตรกรที่ได้รับบัตรสินเชื่อเกษตรกรหลายๆ ราย พบว่า ส่วนใหญ่พึงพอใจกับการมีบัตรสินเชื่อเกษตรกร และไม่กังวลเรื่องบัตรหายเมื่อเทียบกับบัตรเอทีเอ็ม เพราะไม่มีเงินสดอยู่ในบัญชี และการใช้ต้องใช้คู่กับบัตรประชาชนทำให้มั่นใจว่า ถ้าบัตรหายก็ไม่มีใครสามารถนำไปใช้ได้ ทำให้เกษตรกรสบายใจที่จะถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรไว้ใช้ซื้อปัจจัยการผลิต
ส่วนตัวแทนร้านค้า 2-3 ราย จากการสอบถามพบว่า ร้านค้าที่ได้รับคัดเลือกจะต้องวางขายสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ สกต. กำหนด ทำให้เกษตรกรได้ของดี มีคุณภาพ และน่าจะทำให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถขายปัจจัยการผลิตได้มากขึ้น เพราะเกษตรกรที่มีบัตรต้องมาใช้บัตรซื้อปัจจัยการผลิตกับร้านที่มีเครื่องรูดบัตร
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางราย ไม่แน่ใจว่าจะแข่งขันกับร้านค้าทั่วไปได้หรือไม่ เพราะร้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่จะมีสินค้าหลากหลายชนิด หลายสูตร และเมื่อซื้อสินค้าครบตามจำนวน หรือวงเงินที่กำหนดจะมีของแจกของแถมให้เยอะมาก เช่น แจกพัดลม เป็นต้น แต่ถ้าซื้อที่ สกต. ที่สหกรณ์ หรือร้านค้าตัวแทนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้เฉพาะเงินปันผลแต่ละปีเท่านั้น
ทั้งนี้ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตร หากดำเนินการครบ 2 ล้านบัตร ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีสิทธิ์ได้รับบัตรทั้งหมด นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ประเมินว่า วงเงินสินเชื่อบัตรทั้งหมดจะมีประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแต่ละบัตรจะมีวงเงินประมาณ 20,000 บาท
นอกจากนี้ หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า จะต่อยอดบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้เป็นบัตรเครดิต และอาจขยายบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปสู่เกษตรกรอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากอาชีพทำนา
บัตรสินเชื่อเกษตรกร จึงถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งของบริการทางการเงิน ที่จะยกระดับการบริการด้านการเงินการธนาคารให้กับเกษตกร ทำให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทันสมัยและปลอดภัยเหมือนอาชีพอื่นๆ