ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผลศึกษาต้นทุนเอ็นจีวี “จุฬาฯ-สนพ.” ตอบคนละข้อ ราคาต่างกัน 1.58 บาท/กก.

ผลศึกษาต้นทุนเอ็นจีวี “จุฬาฯ-สนพ.” ตอบคนละข้อ ราคาต่างกัน 1.58 บาท/กก.

5 เมษายน 2012


หลังจากที่สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจาก สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้ศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) สำหรับยานยนต์ เพื่อให้กระทรวงพลังงานใช้เป็นแนวทางในการทบทวนการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี เพื่อให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2555 สถาบันวัจัยพลังงาน จุฬาฯ จึงได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ “การศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ (NGV) ครั้งที่ 1” โดยเชิญหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อนำข้อเสนอแนะจากงานสัมมนาครั้งนี้ไปปรับปรุงผลการศึกษาฯ ให้มีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าของผลการศึกษาฯ เบื้องต้นให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแล้ว โดยแหล่งข่าวจาก สนพ. กล่าวว่า เมื่อนำผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงานไปเปรียบเทียบกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พบว่าราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 8.90 บาทต่อกิโลกรัม แต่ที่มีความแตกต่างกันคือในส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยระบุว่ามีต้นทุนอยู่ที่ราคา 5.56 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ อยู่ที่ราคา 3.98 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำไปรวมกับราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ ทำให้ราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีหรือราคาขายปลีกซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีความแตกต่างกันประมาณ 1.58 บาทต่อกิโลกรัม

เอ็นจีวี

สาเหตุที่ทำให้ผลการศึกษาราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีมีความแตกต่างกัน เนื่องจากสถาบันวิจัยพลังงาน ได้สำรวจค่าใช้จ่ายของสถานีบริการของเอกชน ซึ่งลงทุนก่อสร้างสถานีแม่ และมีค่าขนส่งก๊าซเอ็นจีวีมาส่งสถานีลูกเหมือนกับ ปตท. พบว่าสถานีบริการของเอกชนมีต้นทุนต่ำกว่าสถานีบริการของบริษัท ปตท. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงานฉบับเบื้องต้น จึงแนะนำให้ ปตท. ไปหาทางปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยนโยบายพลังงาน ยังได้ศึกษากรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เสนอให้แยกต้นทุนแอลเอ็นจีที่นำเข้าจากต่างประเทศออกจากการสูตรคำนวณราคาพูลก๊าซ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีที่ไม่รวมมูลค่าเพิ่ม ปรับลดลงจาก 12.88 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 12.63 บาทต่อกิโลกรัม

“สูตรในการคำนวณราคาพูลก๊าซ จะใช้ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซที่ซื้อมาจากอ่าวไทย, พม่า และแอลเอ็นจี มาคำนวณหาราคาเฉลี่ยของต้นทุนเนื้อก๊าซ แต่ก๊าซแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าก๊าซที่ซื้อมาจากอ่าวไทยและพม่า ดังนั้น หากไม่นำก๊าซแอลเอ็นจีมารวมคำนวณตามข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ก็จะทำให้ราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ในภาคขนส่งถูกลงไปอีก 0.25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนภาคขนส่ง” แหล่งข่าวจาก สนพ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ จะมีการจัดสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 เวลา 13.00 น. โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ จากนั้นก็จะต้องจัดส่งรายงานผลการศึกษาฯ ฉบับสมบูรณ์มาให้ สนพ. เพื่อนำเสนอให้นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาทบทวนการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2555