ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นับถอยหลังกฎหมายแจงบัญชีโครงการประมูลงานรัฐ เริ่ม 1 เม.ย. 55 – นักบัญชีชี้ ป.ป.ช. ไม่เข้าใจวิธีทำบัญชี

นับถอยหลังกฎหมายแจงบัญชีโครงการประมูลงานรัฐ เริ่ม 1 เม.ย. 55 – นักบัญชีชี้ ป.ป.ช. ไม่เข้าใจวิธีทำบัญชี

13 มีนาคม 2012


ในวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ หรืออีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้า ประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทําและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในการจัดหาพัสดุ หรือการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายเงินของโครงการต่อกรมสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยแบ่งเวลาและมูลค่าโครงการออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรก ต้องยื่นบัญชีโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ถึง 31 มีนาคม 2556 เพื่อเป็นการนำร่อง และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป จะเปลี่ยนมูลค่าโครงการที่ต้องยื่นบัญชีเป็นตั้งแต่ 5 แสนบาททั้งหมด (อ่านเพิ่มเติม ป.ป.ช. แก้เกณฑ์เปิดบัญชีโครงการประมูลงานรัฐ เริ่ม 1 เมษา’55 – ปรับวงเงินจาก 5 แสน เป็น 2 ล้านบาท)

แต่จนถึงวันนี้ ยังคงมีเสียงคัดค้านและความไม่เข้าใจในฝ่ายผู้ปฏิบัติคือ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และที่สำคัญคือนักบัญชี ที่ต้องจัดทำบัญชีให้ตรงกับข้อกฎหมายที่ ป.ป.ช. ได้กำหนดไว้

ฝ่าย ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรต้นเรื่อง ผู้ร่างกฎหมาย และมีหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ให้เหตุผลว่า การยื่นบัญชีโครงการ ป.ป.ช. เป็นมาตรการทางกฎหมาย ซึ่งมีที่มาจาก พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช. เพื่อช่วยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคลหรือนิติบุคคล โดยการแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนี้ จะช่วยสร้างความโปร่งใส ทำให้สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการของคู่สัญญาได้

แต่ในภาคธุรกิจ แม้หลายฝ่ายจะเห็นด้วยกับจุดประสงค์ของ ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แต่ในทางปฏิบัติ ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยไม่คำนึงถึงหลักการดำเนินธุรกิจของเอกชน ที่มีรูปแบบการบัญทึกบัญชีที่แตกต่างจากภาครัฐ โดยการบัญทึกบัญชีเป็นรายโครงการจะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานกับภาครัฐในอนาคต ทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการทำบัญชี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจรายเล็กที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการทำบัญชี ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ (อ่านเพิ่มเติม กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ในสายตาของภาคธุรกิจ ใครเข้าข่ายต้องแจงบัญชีรายโครงการ)

และที่สำคัญที่สุดคือ นักบัญชี ในฐานะผู้ที่ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายเงินของโครงการยื่นต่อกรมสรรพากร เป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายนี้โดยตรง

นางสาววิไล วัชรชัยสิริกุล เว็บมาสเตอร์ เวบไซต์นักบัญชีดอทคอม (http://www.nukbunchee.com/) ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าว่าแม้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้กับเจ้าของกิจการแต่ผู้ที่ต้องลงมือปฏิบัติงานจริงคือนักบัญชี การที่กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ที่บอกให้ยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายเงินของโครงการต่อกรมสรรพากรนั้นอาจจะมีปัญหาและอุปสรรค

เนื่องจากในทางปฏิบัติ หลักการบัญทึกบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายการบัญชีและมาตรฐานการบัญชี ตามกฎหมายวิชาชีพ จะบัญชีบันทึกบัญชีตามเกณฑ์คงค้าง (Accrual basic) ไม่ได้บันทึกบัญชีในลักษณะรายรับและรายจ่ายเหมือนหลักการงบประมาณของภาครัฐ บัญชีรายได้และค่าใช้จ่ายแต่ละบัญชีแยกเป็นคนละบัญชีจากภาษีขายและภาษีซื้อ

สถานะของบัญชีภาษีขายก็คือรายการที่กิจการเป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากร ส่วนบัญชีภาษีซื้อก็คือกรมสรรพากรเป็นหนี้ต้องคืนภาษีให้กิจการ เมื่อสิ้นเดือนภาษีแต่ละเดือนต้องปิดบัญชีภาษีขายภาษีซื้อ ที่บันทึกไว้มาหักกลบลบหนี้กัน เพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งหรือขอคืนจากกรมสรรพากร

“ดังนั้น เมื่อถึงวันสิ้นเดือนแต่ละเดือน บัญชีภาษีซื้อกับภาษีขายจะมียอดเป็นศูนย์ การที่ป.ป.ช. จะให้กรอกตัวเลขรายรับรายจ่ายโดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่ากับบังคับให้เอกชนคู่สัญญาของรัฐต้องกระทบรายการรายได้ ค่าใช้จ่ายทุกรายการ ตั้งแต่ต้นปีภาษี” นางสาววิไลกล่าว

ในขณะที่การกรอกรายรับโดยรวมภาษีขายจะทำให้รายการบัญชีรับจ่ายของป.ป.ช. ไม่ตรงกับบัญชีพยานเอกสารที่เอกชนต้องเก็บไว้ 5 ปี ไม่ตรงกับงบการเงินที่ส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และไม่ตรงกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ด้วย จึงไม่ควรให้กรอกบัญชีรับจ่ายโดยภาษีมูลค่าเพิ่มลงไป

และการที่สัดส่วนของกำไรแต่ละโครงการถูกบิดเบือนไม่ตรงกับความจริง จะทำให้การตรวจสอบหาความผิดปกติของรายการต่างๆ ในภายหลังเป็นไปได้ยาก ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายที่จะตรวจสอบความโปร่งใสของบัญชีโครงการได้ ทาง ป.ป.ช. จึงต้องเร่งทำความเข้าใจว่า รายรับและรายจ่ายในที่นี้คืออะไร

นอกจากนี้ ทางด้านค่าใช้จ่าย การทำธุรกิจภาคเอกชนย่อมมีค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นค่าจ้างแรงงาน การซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้กรอกรายจ่ายรวมภาษีซื้อจึงเป็นภาระต้องตรวจสอบ

“ขณะที่บทลงโทษของกฎหมายรุนแรงถึงขนาดขึ้นแบล็คลิสต์ไม่ให้หน่วยงานของเอกชนทำสัญญากับรัฐอีกในอนาคตซึ่งการยื่นแบบบัญชีโครงการนี้ต้องยื่นพร้อมกับภงด.50 ซึ่ง ภงด.50 นั้นทำง่ายกว่าบัญชีโครงการมาก เพราะกำหนดให้บริษัทยื่นเพียงแค่ยอดรวมแต่บัญชีโครงการของ ป.ป.ช. มีความยุ่งยาก ต้องแจกแจงทีละโครงการหากบริษัทในหนึ่งปีเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐหลายโครงการแต่ทำบัญชีไม่ทันเพียงแค่โครงการเดียว บริษัทก็จะถูกขึ้นแบล็คลิสต์ซึ่งเป็นบทลงโทษที่รุนแรง ป.ป.ช. จึงควรมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนกว่านี้” นางสาววิไลกล่าว

ส่วนเรื่องของมูลค่าสัญญาที่ในอนาคตกำหนดให้สัญญาที่ต้องยื่นมีมูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาท เป็นต้นไป หากในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐในมูลค่า 5 แสนบาท สมมุติว่าโครงการนี้ภาคเอกชนได้กำไรสุทธิ10% เป็นเงิน 50,000 บาท แต่ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการทำบัญชีโครงการของ ป.ป.ช.สุดท้ายกำไรสุทธิจะลดลง ป.ป.ช. จึงควรกำหนดมูลค่าสัญญาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ภาคเอกชนมากเกินไป

“ความพยายามของ ป.ป.ช.ในการออกกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามเรื่องการทุจริตเป็นแนวคิดที่ดีและควรสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันกัน ก็ควรคำนึงถึงความพอดีเพื่อให้ภาคปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติใช้จริงได้ด้วย” นางสาววิไลกล่าว

ส่วนฝ่าย ป.ป.ช. หลังจากที่มีการประกาศกฎหมายนี้ในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2554 นั้น ทาง ป.ป.ช. ได้จัดงานทำความเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายนี้แก่นักธุรกิจ และนักบัญชีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ โดยนายภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แสดงความเห็นในกรณีที่มีผู้วิพากวิจารณ์กฎหมายนี้ว่า

“เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกฎหมาย จึงต้องมีการบังคับใช้ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนเรื่องที่มีการแสดงความคิดเห็นกัน ก็ขอยืนยันว่าก่อนที่จะมีการออกกฎหมายมา ทาง ป.ป.ช. ได้เชิญตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ มารับฟังความเห็นแล้ว ส่วนความเห็นต่างๆ ที่มีตอนนี้ ทาง ป.ป.ช. ก็จะพยายามสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อให้กฎหมายสามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนี้ หากมีความเห็นอะไรเพิ่มเติม ป.ป.ช. ก็พร้อมที่จะรับฟังความจากทุกฝ่าย” นายภักดีกล่าว