ThaiPublica > คนในข่าว > “ถาวร เสนเนียม” ภาคต่อ “ปฏิญญาสงขลา” กับคำสาบส่ง “บิ๊กบัง” หลังความตาย

“ถาวร เสนเนียม” ภาคต่อ “ปฏิญญาสงขลา” กับคำสาบส่ง “บิ๊กบัง” หลังความตาย

30 มีนาคม 2012


“…ถ้ายกเลิกคำพิพากษา คนที่จะไม่เห็นด้วยนอกจากในสภาแล้ว มันก็ต้องชุมนุมพูดจากันบ้าง หรือการแก้รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลยากขึ้น เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจบาตรใหญ่กันอย่างไร ทุจริตกันอย่างไร แบบนี้เราก็ต้องออกมาเตือน…”

นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ปฏิกิริยาของพลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แสดงออกในเชิงต่อต้าน “วาระสำคัญ” ของสังคมอย่างไม่ปิดบัง แบบ 2 กรรม 2 วาระซ้อน ถูกตีความแตกต่างหลากหลาย

25 กุมภาพันธ์ ปชป. ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในวาระ 1 ในการประชุมร่วมรัฐสภา

แต่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ยังผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 399 เสียง ต่อ 199 เสียง งดออกเสียง 14

ทำให้ ปชป. ส่งคนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 11 คน จากทั้งหมด 45 คน

โดยล่าสุด กมธ. ซีก ปชป. ขู่ถอนตัวจากการร่วมวงละเลง “มาตรา 291” หลังพรรคเพื่อไทย (พท.) แพ้โหวตมาตรา 291/1 (ที่มา ส.ส.ร.) ให้แก่ กมธ. “เสียงข้างน้อย” ก่อนที่ประธานจะสั่งกลับมติ-พลิกโหวตในวันถัดมา

27 มีนาคม ปชป. วอล์คเอาท์ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อขอมติเห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นประธาน ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ

ก่อนที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะมีมติเห็นชอบตามคาด ด้วยคะแนน 346 ต่อ 17 งดออกเสียง 7

โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน กมธ. ปรองดองซีก ปชป. 9 ชีวิต ได้ชิงลาออกเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ “เสียงข้างมากลากไปตามธงการเมือง”

ชุดคำอธิบายที่ “ขุนพลสะตอ” มีต่อปรากฏการณ์ทั้งหมด คือความเชื่อที่ว่า “2 วาระร้อน” เป็นเพียง “วาระซ้อนเร้น” เพื่อกรุยทางกลับบ้านให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างขาวสะอาด

และพยายามชี้ชวนให้สังคมระวังติดกับดักพรรค-พวก “พ.ต.ท.ทักษิณ”

แต่ขณะเดียวกันทำให้ ปชป. ถูกเพ่งเล็งว่าไม่ได้อยู่ใน “ขบวนประชาธิปไตย” ตั้งแต่ต้น และกำลังขวาง “ขบวนปรองดอง” หรือไม่อย่างไร

“สำนักข่าวไทยพับลิก้า” จึงนัดสนทนากับ “ถาวร เสนเนียม” รองหัวหน้า ปชป. เพื่อแกะรอยความคิดในวันปรากฏภาพ “พรรค 65 ปี” ฝืนกลไกในสภา

กลเกมแบบไหนที่ ปชป. เลือกเดินในวันตกที่นั่งฝ่ายค้าน ในภาวะที่ “ระบอบทักษิณ” กลับสู่โครงสร้างอำนาจเต็มคราบ

ไทยพับลิก้า : เหตุใด ปชป. ถึงฝืนเกมในสภา ทั้งการโหวตไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการวอล์คเอาท์ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อขอมติให้สภาล่างรับทราบรายงานการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

ขณะนี้การเมืองไทย 1. พรรคหลักที่ได้เสียงข้างมากเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่พรรคการเมืองในอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2. เสียงข้างมากในสภา เป็นเสียงภายใต้การคอนโทรลของ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงผู้เดียว 3. นโยบายของรัฐบาลและตัวรัฐบาลเองก็เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณแต่เพียงผู้เดียว 4. ข้อสั่งการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและญัตติปรองดอง ก็เป็นข้อสั่งการที่มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณและเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณแต่เพียงผู้เดียว 5. การจัดให้มี ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า ก็เป็นข้อสั่งการจาก พ.ต.ท.ทักษิณแต่เพียงผู้เดียว

ที่พูดมานี้ผมไม่ได้ดูถูกนักการเมืองด้วยกันนะ แต่เส้นทางและหนทางมันพิสูจน์ได้ ตั้งแต่เขาบอกว่าโคลนนิ่งนายกฯ มากับมือ และยังมีนโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ทักษิณสั่ง เพื่อไทยทำ ก็คือเสียงข้างมาก นี่คือต้นเหตุว่าทำไม ปชป. ถึงแสดงบทบาทในบางเรื่อง ดูฝืนๆ บทบาทปกติของเรา

เช่น กรณีเราไม่อยากกระทบกระทั่งกับ ส.ส. ด้วยกัน คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ (มภ.) ในยามปฏิวัติ อ้างเหตุจำเป็น 4 ประการ และในแถลงการณ์ฉบับแรกของ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็บอกจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ปรากฏว่าล้มเหลวทั้ง 4 ประการ และกลับมาออมชอม ประนีประนอมกับสิ่งที่ท่านอ้างเพื่อใช้ยึดอำนาจของประชาชน จะให้เรานิ่งเฉยไม่แสดงออกให้เขารู้สึกบ้างคงไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าเราไม่ได้ผิดแนวทาง แต่เราเคลื่อนไหวอยู่ในระบบ เราไม่ได้ออกไปเผาบ้านเผาเมืองเหมือนที่บางพรรคสั่งการให้ลิ่วล้อออกไปเผาบ้านเผาเมือง หรือเราจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนนอกแนวทางการมีสิทธิตามกฎหมายแน่

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่ ปชป. เห็นว่าผิดจนต้องออกมาคัดค้าน เป็นเพราะวัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้น หรือกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง

เอ่อ…เป็นทั้งกระบวนการและวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์คือช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณในคดีที่ต่อสู้ตามกระบวนยุติธรรมอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว แต่เมื่อคำพิพากษาออกมาไม่ถูกใจ ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เขาก็อยากช่วยไม่ให้ติดคุก ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ตามคำพิพากษา ส่วนกระบวนการก็ตั้งแต่เอาคนใส่เสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวในนาม นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) แต่เมื่อปลุกไม่ขึ้นก็เปลี่ยนเป็น นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) อ้างเอาโครงสร้างของสังคมไทย พอปลุกขึ้น ปัง! ก็ระดมสรรพกำลังในปี 2552 แต่พ่ายแพ้ กระทั่งมีกองกำลังติดอาวุธเข้ามา เขาก็สามารถชนะได้ สุดท้ายเมื่อได้อำนาจไป ก็ต้องการเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุประสงค์ของเขา

เรารู้ เราเห็น เราทราบ จึงจำเป็นต้องเคลื่อนไหวในบางเรื่อง เช่น การวอล์คเอาท์ การขัดขวางการประชุม การนับองค์ประชุม สิ่งเหล่านี้เขาทำมากกว่าเราด้วยซ้ำไป ซึ่งไม่ใช่ว่าเราจะเอามาเลียนแบบนะ แม้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะใช้เสียงข้างมากก็จริง แต่สิทธิเสรีภาพที่มีกฎหมายรองรับให้เสียงข้างน้อยได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดก็มีอยู่ เราก็ดำเนินการไปตามนั้น

ไทยพับลิก้า : ความจริงทั้งเรื่อง “นายกฯ โคลนนิ่ง” และการชูนโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่อ้างถึง เป็นสิ่งที่ พท. รณรงค์ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งปี 2554 และ ปชป. ก็ชี้ประเด็นตั้งแต่ตอนนั้น จะถูกมองได้หรือไม่ว่าสังคมปฏิเสธแนวทางการต่อสู้แบบ ปชป. ผ่านผลการเลือกตั้งแล้ว

ในยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง กาลเวลาหนึ่ง คนเคยไม่ชอบพรรคการเมืองหลายพรรค แต่หลังๆ เมื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาชอบ รัก และเลือกคือหนทางหายนะ เขาก็ไม่เลือกได้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยใช้เสียงข้างมาก คุณอ้างได้ แต่เสรีภาพของเสียงข้างน้อยที่เราจะอธิบาย ทำความเข้าใจ ไม่เห็นด้วย ก็ยังมีอยู่ วันนี้คนเลือกเราน้อย คนเห็นด้วยกับนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ คนชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ เราไม่เถียง แต่อย่าคิดว่ามันจะชอบจนถึงกาลปาวสานหรือนิรันดร นโยบายประชานิยมในหลายประเทศที่คนเคยชื่นชอบแล้วทำชาติหายนะ เลยกลับมาไม่ชอบรัฐบาลที่เอาประชานิยมมาใช้ก็มี ไม่ใช่ไม่ชอบ ปชป. แล้วจะไม่ชอบตลอดกาล จนสิ้นชาติ จนโลกสลายนะฮะ ยังไม่ต้องรอให้โลกสลายหรอก ในปี 2549 ถ้า พล.อ.สนธิไม่ปฏิวัติ ผมคิดว่าประชาชนคงได้แสดงออกอะไรบางอย่างแล้ว

ไทยพับลิก้า : แสดงออกอย่างไร

ผมคิดว่าการเลือกตั้งในคราวนั้น เสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณต้องลดลง ผมมั่นใจ

ไทยพับลิก้า : ถ้า ปชป. มั่นใจว่าเสียงของพรรคไทยรักไทยน้อยลง ทำไมถึงบอยคอตการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2549

เพราะ…อย่าคิดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งนักการเมืองต้องการชนะอย่างเดียวนะครับ เราต้องรักษาความถูกต้องด้วย คุณทำสื่อ ถ้าบอส (เจ้านาย) คุณไม่ถูกกับอุดมการณ์ของคุณ คุณลาออก มีใช่ไหมครับ โลกนี้ไม่จำเป็นต้องเดินตามเกมที่คนชั่วมันขีดให้เดินหรอก มีทางออกเยอะ

ไทยพับลิก้า : ตราบที่ประชาธิปไตยยังชี้เป็นชี้ตายด้วยเสียงข้างมาก ปชป. จะเคลื่อนไหวอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่าแพ้เลือกตั้งแล้วพาล

อ๋อไม่ฮะ (ตอบอย่างรวดเร็ว) การเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยในสภา เราก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านไป เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนไป ไม่ใช่พูดก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ต้องฟังเสียงข้างมากเขานะ ผมว่าไม่ใช่หรอก ประชาชนไม่ได้ต้องการอย่างนั้นหรอก ผมว่าประชาชนอยากให้ฝ่ายค้านเป็นหมาเฝ้าบ้านให้เขา คอยเตือนให้เจ้าของอำนาจตื่นตัวขึ้นมาบ้าง แต่คนเรามันต้องได้รับบทเรียน ซึ่งบทเรียนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องพิสูจน์โดยใช้เวลา บางประเทศใช้เวลา 8 ปี บางประเทศใช้ 12 ปี ถึงจะรู้ว่าอ๋อ…หนทางนั้นไม่ถูก หนทางนี้ถูก

คนที่ไม่ได้อยู่ในฐานะฝ่ายค้านอย่าเพิ่งใจร้อน พวกผมเป็นฝ่ายค้านยังสบายดี ประชาชนอย่าเพิ่งใจร้อน ผมไปไหน คนถามว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่มาได้ 7-8 เดือน ทำไมไม่ล้มให้ได้เสียที โหย…อย่าเพิ่งใจร้อนสิ กติกาเขามี 4 ปีนะ อีก 4 ปีค่อยมาว่ากันใหม่ พอถึง 4 ปีวันนั้น ถ้าเราเลือกตั้งแพ้เขา ก็ว่าอีก ทำไมถึงแพ้ ก็แพ้นะสิ ก็พวกคุณไม่เลือกนี่ ก็ยังไม่ตายนะ เลือกตั้งแพ้ไม่ตายหรอก เป็นฝ่ายค้านก็ไม่ตาย ดังนั้นทุกคนต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ พิสูจน์ ค่อยๆ ทำหน้าที่

ไทยพับลิก้า : การล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” จะเป็นผลจากการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ หรือการเดินเกมจรยุทธ์ของ ปชป. กันแน่

รัฐบาลทุกรัฐบาลจะล้มได้อยู่ที่การทุจริต หรือการใช้อำนาจบาตรใหญ่ มีแค่ 2 เรื่องนี้ เราค่อยๆ เปิดโปง วันนี้เขาทำงานมาได้ 7-8 เดือน การติดตามตรวจสอบยังไม่ถึงแก่นที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตาย แต่ยืนยันว่าเราจะทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ ส่วนการแวะระหว่างทางของ ส.ส. บางคน แย็บบ้าง ตอดบ้าง ก็แล้วแต่บุคลิกของเขา เรื่องการล้มรัฐบาล เรารู้ว่าเสียงข้างมากมันไม่ชนะหรอก แต่เสียงในใจของประชาชนที่จะให้ผ่านหรือตกอยู่ที่การอภิปรายไว้วางใจ

ผมเป็นนักอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นคนยื่นถอดถอน คนทุจริตการเลือกตั้ง ผมก็เอาเข้าคุกมาแล้ว แต่ยังเสียใจอย่างมากที่อภิปรายตั้งแต่ปี 2547 ยื่นถอดถอนไปแต่ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ไม่ทำงานให้เสร็จเสียที นี่คือเสียใจว่าทำงานล่าช้า ถ้าผมอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2555 นับไปอีก 7 ปี ไปปี 2562 ไม่รู้ตัดสินหรือยัง นี่คือสิ่งที่ควรไปติดตามกันด้วย เอากระจกไปส่อง ป.ป.ช. ให้ดูสิว่าหน้าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะมันคือหนทางที่จะทำให้แผ่นดินของบ้านเมืองสูงขึ้น

ไทยพับลิก้า : หากให้ ป.ป.ช. ส่องกระจก หรือแม้กระทั่ง ปชป. คนอาจบอกว่าเห็นเงาอำมาตย์อยู่ข้างหลัง ข้อกล่าวหานี้ถูกหรือผิด และบัดนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือยัง

คนที่กล่าวหาคือคนใส่เสื้อแดง คนที่มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ พอไม่ได้ดั่งใจก็หาว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขา และคำพูดที่พูดแล้วให้อารมณ์ก็คืออำมาตย์กับไพร่ ตอน นปก. ออกมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่มีคำนี้ แต่เมื่อลัทธิเหมาอิสต์ เลนินนิสต์ มาร์กซิสต์ ซึ่งอยู่ในตัวละครบางตัวที่แสดงอยู่บนเวทีสีแดง เขาได้อ่านหนังสือ ได้เห็นลัทธิเหล่านี้พูดอะไรแล้วประชาชนสะใจ พูดแล้วมีประชาชนให้คะแนน คล้อยตาม เขาก็หยิบยกเอาวาทกรรมนี้มาใช้ ถามว่าอำมาตย์คือบุคคลที่อยู่ชั้นสูงใช่ไหม มีความเป็นอยู่ที่ดีใช่ไหม มีเงิน 3 แสนล้านบาท มีเครื่องบินส่วนตัว เป็นอำมาตย์ไหม มีบ้านอยู่ที่ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา เนื้อที่ 4 ไร่ และกำลังซื้อที่ดินเพิ่มอีกเยอะ แต่งตัวชุดละ 2-3 หมื่นเป็นอำมาตย์หรือเปล่า พี่น้องผมที่กรีดยางทุกเช้า เป็นไพร่หรือเปล่า ดังนั้นวาทกรรมที่หยิบยกขึ้นมาพูดแล้วคนเคลิบเคลิ้ม แล้วมีคนถูกติดชิป เคลิบเคลิ้ม คล้อยตาม อันนี้อันตราย

ก่อนหน้านี้แกนนำที่นิยมซ้ายเขาวางแผนผิด ไม่ได้หยิบยกเอาจุดอ่อนของสังคมไทย ซึ่งมีอยู่จริงนะ เรื่องความแตกต่างทางโครงสร้างของสังคมไทยมีอยู่จริง แต่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมา เพราะเรียกหาแต่ความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างเดียว จึงไม่ได้จี้จุดอ่อนให้สังคม พอตั้งหลักได้ เขาเลยหยิบยกเรื่องความไม่เท่าเทียมขึ้นมา

ไทยพับลิก้า : จุดอ่อนในสังคมที่ว่า กลายเป็นจุดแข็งของบางฝ่ายในบางช่วงหรือไม่ เช่น หลังปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ใหม่ๆ เครือข่ายอำมาตย์ก็ถูกมองว่าได้ดียกแผง

เดี๋ยวก่อน คำว่าอำมาตย์หมายถึงอะไร ถามว่าเป็นรัฐมนตรีมีสถานะสูงไหม เป็นนายกฯ มีลูกหนี้เทียม ลูกหนี้จริง มีเจ้าหนี้เทียมนี่เป็นอำมาตย์ไหม ใสเครื่องแต่งกายสวยๆ ชุดละ 3 หมื่น ขับรถคันละ 8 ล้าน 10 ล้านเนี่ยเป็นอำมาตย์ไหม

ไทยพับลิก้า : ปฏิญญาหาดใหญ่ 8 ข้อที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นว่า ปชป. กำลังปรับโหมดไปสู่การรบไร้รูปแบบมากขึ้นหรือเปล่า

ปฏิญญาหาดใหญ่เป็นการตกผลึกของประธาน 50 สาขาในการประชุมที่ภาคใต้ สิ่งแรกที่คิดกันได้คือ ที่นี่คือฐานที่มั่นซึ่งค่อนข้างมีความพร้อมในเรื่องการต่อสู้ จิตใจไม่ฝ่อ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของน้ำเงิน ดังนั้น การปลุกระดมเพื่อให้ลุกขึ้นมาสู้กับสิ่งไม่ถูกต้องจึงเกิดขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ เช่น การออก พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้ติดคุกคือสิ่งที่เราคิดว่าปรองดองไม่ได้ แต่มันต้องถึงจุดหนึ่งเสียก่อน คนถึงจะออกมาแสดงความคิดเห็นที่เข้มข้น หลายคนถามว่าเฮ้ย! ถาวรเคยพูดถึงมวลชนติดตัว มวลชนติดสาขาพรรค เมื่อถึงเวลาต้องระดมได้ แต่การระดมฝูงชนไม่ใช่เรื่องที่จะไม่เสียนะ อาจมีการเสียหาย บาดเจ็บล้มตาย แล้วใครจะรับผิดชอบ เอาเงิน 7.75 ล้านบาทไปแจกอีกหรือ

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ที่สุกงอมคือต้องไปถึงขั้นไหนอย่างไร มวลชนนอกสภาถึงจะมากันพรึบ

สมมุติถ้ายกเลิกคำพิพากษา คนที่จะไม่เห็นด้วยนอกจากในสภาแล้ว มันก็ต้องชุมนุมพูดจากันบ้าง หรือการแก้รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลยากขึ้น เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจบาตรใหญ่กันอย่างไร ทุจริตกันอย่างไร แบบนี้เราก็ต้องออกมาเตือน ไม่ได้หมายความว่าชุมนุมยืดเยื้อแบบสีเหลืองนะ คงไม่ใช่ ถ้าจะมีการพูดจากันบ้าง ก็เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อเตือนสติคน ไม่ใช่ออกมาชุมนุมเรียกร้องยืดเยื้อจนกระทั่งเกิดการปะทะ แล้วทหารถือโอกาสรัฐประหารอีก อย่างนี้เราไม่เอา เรากลัวคนอย่าง พล.อ.สนธิเหมือนกันนะ กลัวมากเสียด้วยพอเจอเข้าอย่างนี้

นายถาวร เสนเนียม
นายถาวร เสนเนียม

ไทยพับลิก้า : กลัว พล.อ.สนธิเพราะอะไร

เขาปฏิวัติแล้วไม่ได้ทำตามสิ่งที่อ้าง อำนาจของประชาชนถูกยึดไปแล้วโดยที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย ซ้ำตัวเองกลับได้ตำแหน่งเป็นรองนายกฯ พอหมดโอกาสไประยะหนึ่ง ลงเลือกตั้งคนก็ยังชื่นชอบอยู่บ้าง พอเข้ามาเป็น ส.ส. เพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันไม่ชอบจากการที่รัฐประหารก็ไปช่วยแก้ให้เขาเสียเลยอย่างนี้ น่ากลัวทั้งการทำให้ความเจริญงอกงามของประชาธิปไตยถูกทำลาย และกลัวเพราะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มคนหรือกลุ่มตัวเอง แล้วอ้างเอาความเดือดร้อนของประชาชนมารัฐประหาร ทำให้ประเทศชาติถอยหลัง

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้เหตุการณ์กลับตาลปัตรไปได้ขนาดนี้ เพราะเมื่อปี 2549 ปชป. และ คมช. คือแนวร่วมล้มระบอบทักษิณ แต่ล่าสุดกลับไปล้อมกรอบ พล.อ.สนธิกลางสภา ขณะที่ พท. เป็นฝ่ายให้กำลังใจ

ผมว่าสังคมคงไม่งงนะ เพราะเขารู้ เขาติดตามพฤติกรรมของ พล.อ.สนธิ ไปปฏิวัติอยู่ดีๆ วันหนึ่งมาช่วยเหลือคนที่ตัวเองปฏิวัติ เขาไม่งง แต่เขารังเกียจ พล.อ.สนธิ ผมไปออกกำลังกาย ไม่มีใครสักคนที่ชื่นชอบ พล.อ.สนธิ มีแต่วิจารณ์ในทำนองเสียหาย คนมันไม่ได้โง่หรอก และไม่ได้งงอย่างไม่มีเหตุผลหรอก

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองในมุมคน พท. อาจเห็นว่า พล.อ.สนธิสำนึกผิดที่ปฏิวัติ เลยกลับมาแก้ไขอดีต ไม่คิดจะให้โอกาสเขาบ้างหรือ

อ๋อไม่ใช่ฮะ ไอ้นั่นไม่ใช่การแก้ไขผลของการปฏิวัติ เป็นการไปช่วยเหลือคนที่ตัวเองทำการปฏิวัติ ถ้าแก้ไขปัญหาสิ่งที่ตัวเองทำชั่วไว้ เช่น ในยุคที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ มีการนำโครงการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยางเข้า ครม. มีการทุจริตเกิดขึ้นเนี่ย หากในยุคนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งชั่ว ก็ออกมาแก้ไขเสียที ใครเป็นผู้รักษาการนายกฯ ใครเป็นผู้นำเรื่องเข้า ครม. ในยุคนั้น ก็ไปแก้เสียสิ ไม่ใช่มาแก้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณถูกพนักงานสอบสวนที่ตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งในยามปกติ เวลาจะสอบสวนใครในเรื่องใหญ่ๆ ก็ตั้งพนักงานสอบสวนจากกรมนั้นกรมนี้มานั่งสอบเหมือนกัน พอสอบสวนเสร็จก็ไปอัยการ ไปศาล พ.ต.ท.ทักษิณก็แต่งตั้งทนายไปสู้ พอสู้แพ้กลับบอกว่า คตส. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาโดยผิด เป็นปฏิปักษ์กับตัวเองตั้งแต่ต้น ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณไม่สู้เรื่องนี้มาก่อนล่ะ ถามว่าสาระของการสอบมีไหมล่ะ คตส. เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เอา คตส. ติดคุกยังได้เลย ถ้าใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณน่ะ ดังนั้นคนอย่าง พล.อ.สนธินี่ ผมไม่รู้ว่าตายแล้วสามารถไปพบอัลเลาะห์ได้หรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ทางออกที่ดีที่สุดของ พล.อ.สนธิในเวลานี้คืออะไร

พูดเรื่องจริง กระทบกระเทือนถึงใคร ถึงอะไรบ้าง ก็พูดมา คนที่อยู่เขาจะได้โต้ตอบ ได้ชี้แจง สมมุติเขาบอกว่าถ้วยนี้เป็นคนสั่งเขา ถ้วยจะได้ชี้แจง และบอกว่าอย่าโกหก คุณพูดจริงไม่หมด พูดแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ กล้าทำก็ต้องกล้ารับสิ ผมไม่เชื่อว่าคนอย่าง พล.อ.สนธิจะเก็บเอาความไม่สบายใจ เอาความไม่ดีไว้กับตัวเพื่อปกปิดความไม่ดีของคนอื่น หลังรัฐประหารได้ 1 เดือน มีสื่อคนหนึ่งบอกประธาน คมช. ว่าผมมีข้อเท็จจริงบางเรื่องอยู่ เสร็จแล้วประธาน คมช. อยากพบผม ผมก็เอาข้อมูลที่เกี่ยวกับการทุจริตที่ว่านั้นไปให้เขาที่บ้านพัก ผบ.ทบ. ที่สะพานเกษะโกมล จากวันนั้นถึงวันนี้ยังไม่เห็นทำอะไรเลย ดังนั้นผมคิดว่าเขาเป็นคนไม่จริง ไม่จริงในสิ่งที่อ้าง ไม่จริงในสิ่งที่จะทำ ไม่จริงจังน่ะ มีคนถามว่าที่ปฏิวัติ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณจะปลดเขาจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. หรือเปล่า ผมเชื่อนะ

ไทยพับลิก้า : ตีเจตนาของ พล.อ.สนธิที่ลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกปรองดองในวันนี้อย่างไร

ก็เพื่อไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณโกรธ เขาโกรธกันอยู่ระยะหนึ่ง ส่วนอะไรอยู่เบื้องหลังบ้างต้องไปพิสูจน์ แต่ถามว่าถ้า พท. เขาไม่รู้กัน ตำแหน่งประธาน กมธ. ปรองดองจะเป็น พล.อ.สนธิหรือ มันเป็นไปได้หรือ

ไทยพับลิก้า : ก่อนเกิดเหตุ 19 กันยายน 2549 หลายคนคิดว่า พล.อ.สนธิเล่นตามอุดมการณ์ของชนชั้นนำ

ไม่จริงน่ะไม่ใช่ คนไม่ได้คิดอย่างนั้น คนคิดว่า 1. ระบอบทักษิณทุจริต 2. คนเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองกำลังจะฆ่ากันตาย 3. มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเยอะ 4. มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ก็เห็นๆ กันอยู่ หากปล่อยให้ระบอบทักษิณเดินเกมต่อไป ประเทศชาติจะเป็นปัญหามากขึ้น ตอนนั้นก็กำลังจะเลือกตั้งกัน หาก พ.ต.ท.ทักษิณมาอีก ตัวเองต้องถูกปลดจาก ผบ.ทบ. แน่ ผมคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุจูงใจมากกว่าเรื่องอื่น

ไทยพับลิก้า : ช่วงนั้นแนวต้านระบอบทักษิณเข้มแข็งทั้งในและนอกสภา แต่ปัจจุบันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แตกกระสานซ่านเซ็น ซ้ำยังแตกคอกับ ปชป. อีก ดังนั้นแนวรบนอกสภาในขณะนี้จะมีพลังเท่าเก่าหรือไม่

ต้องถามว่ามวลชนของเสื้อเหลือง หรือนายสนธิ (ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม.) ที่มีปัญหากับ ปชป. แบบนั้นดีกว่า มวลชนเสื้อเหลืองนี่นะฮะ ถ้ามีอยู่ 100 คน จะมีปัญหากับ ปชป. ถึง 90 คนหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าแกนนำบางคน เช่น นายสนธิมีปัญหากับ ปชป. หรือไม่ ตอบว่าใช่

ไทยพับลิก้า : แล้วอย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม. อีกรายล่ะ เพราะเคยนำทัพสันติอโศกมาชุมนุมต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์กรณีไทย-กัมพูชา

การไม่เห็นด้วย กับการขัดแย้งคนละเรื่องนะ อย่าไปผสมกัน

ไทยพับลิก้า : ถือว่า พธม. กับ ปชป. ยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านระบอบทักษิณได้ใช่หรือไม่

ไม่รู้สิ ว่าเขาไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณเรื่องอะไรบ้างล่ะ แล้วเราไม่ชอบเรื่องอะไร ถ้าไม่ชอบเรื่องเดียวกันก็ออกไปต่อต้านได้ แม้แต่คุณ ถ้าไม่ชอบระบอบทักษิณ ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อเหลือง หรือเสื้อฟ้า คุณมีสิทธิตามกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : เพื่อความไม่ประมาท ปชป. ก็ให้ ส.ส. จัดมวลชนติดตัวอย่างน้อยหัวละ 100 คน เหมือนกัน

ไม่ใช่แค่ 100 คนหรอก ถ้าหัวคะแนนบอกนายหัว บอกพี่ ผมอยากจะไปชุมนุม ผมอยากจะจัดปราศรัย เขาก็มีสิทธิทำได้อยู่แล้ว คือคนที่คิดเหมือนเรา แค่ 100 คนเนี่ย เอาไหนเอากัน มันมีอยู่แล้ว ผมได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 6 หมื่นกว่า ถ้าคนแค่ 100 คน ผมหาไม่ได้ ผมก็ต้องเลิกเป็น ส.ส. ไปแล้ว

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้คิดว่าชื่อ “พ.ต.ท.ทักษิณ” คือตัวช่วยสมานแผลให้ พธม. กับ ปชป. หรือแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณยังมีลมหายใจอยู่

ผมไม่เห็นว่าการต่อว่า ปชป. เวลาทำอะไรไม่สะใจพวกคุณแล้วนั่นคือมันไม่หายใจนะ หรือฮาร์ดคอร์บางคนเห็น ปชป. ยังล้มคว่ำ พท. ไม่ได้เสียที แล้วอยากให้ปล่อยหมัดน็อคเลย ถามว่าหมัดน็อคคืออะไร เดินขบวนเผาบ้านเผาเมืองหรือ ปชป. ไม่ทำเด็ดขาด หมัดน็อคที่ ปชป. จะปล่อยใส่รัฐบาลไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม คือการทำทุจริตครับ การทำผิดกฎหมายครับ อย่าไปคิดเป็นอย่างอื่น ส่วนถ้า ปชป. จะมีการจัดปราศรัยชุมนุมทางการเมืองบ้าง ก็เป็นเรื่องการให้ความรู้ ให้ความคิดแก่ประชาชน

เบื้องลึก “เสือหนั่น” ออกจากถ้ำ เคลียร์ “ป๋า” พ้นข้อหาปฏิวัติ

เพราะ “บุรุษผู้โยนคำถาม 3 ข้อ” เกี่ยวกับเบื้องหลัง 19 กันยายน 2549 ใส่ “อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” คือ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

เป็น “พล.ต.สนั่น” ที่เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยาวนานที่สุดถึง 13 ปี

เป็น “พล.ต.สนั่น” ผู้ให้โอกาสทางการเมืองแก่ “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา ปชป.

ทำให้คนสนิท “เสธ.หนั่น” มีโอกาสล่วงรู้ข้อมูล-การข่าว-แผนการ ก่อนถึงวัน ว. เวลา น. ที่ “เสือเถ้า” จะออกเผด็จศึก

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2531 ขณะ “พล.ต.สนั่น” เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเป็นผู้ออกคำสั่งปิดป่าสัมปทานไม้ทั่งประเทศ จนถูกเจ้าของโรงเลื่อยฟ้องเรียกค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท

“ถาวร” คือหนึ่งในที่ปรึกษาของทีมอัยการ ที่ช่วยแก้ต่าง-ต่อสู้คดีดังให้ “เจ้ากระทรวงผักหญ้า”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักนักการเมืองที่ชื่อ “สนั่น”

แต่มาสนิทใจ-ได้ใจกันในปี 2538 เมื่อ “ถาวร” ตัดสินใจทิ้งสถานะ “อัยการจังหวัดสงขลา” มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กับ “ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม”

“ตอนลาออก เขายังไม่รับผมเป็นผู้สมัคร ส.ส.สงขลา (ในการเลือกตั้งปี 2538) นะ ในระหว่างการพิจารณาว่าสงขลามี ส.ส. เพิ่มได้ 1 คน จะเอาใคร ก็มีสมพงษ์ สระกวี, ถาวร เสนเนียม, ลูกลุงคล้าย ละอองมณี ตอนนั้น เสธ.หนั่นเป็นเลขาธิการพรรค ก็เห็นความตั้งใจดีของเรา ก็ทุบโต๊ะ มีคนค้านเยอะ คนที่อยู่ในพรรคจนเดี๋ยวนี้มีอย่างน้อย 2-3 คนที่คัดค้าน แต่ผมก็ได้รับความกรุณาจาก เสธ. เป็นบุญคุณกัน แต่ก็เป็นมติพรรคนะครับ ก็ได้ใจ คบค้าสมาคมกันมาตั้งแต่ตอนนั้น”

จากสถานะ “คนรู้จัก” จึงพัฒนาเป็น “คนสนิท” แบบ “ถาวร” ของ “พ่อบ้าน ปชป.” อย่างไม่ต้องสงสัย

มาถึงปริศนา “คำถาม 3 ข้อ” ที่ “พล.ต.สนั่น” จงใจ “ทิ้งบอมบ์” ใส่ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตประธาน คมช. กลางวงเสวนาเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาตินั้น

“ถาวร” ยอมรับว่าเคยได้ยิน “เสธ.หนั่น” เปรยเรื่องนี้เมื่อหลายเดือนก่อน

“ท่านบอกว่าจะตั้งคำถามนี้ใส่ พล.อ.สนธิ เพราะสังคมไทยสงสัยกันมากว่าใครสั่งใครใช้ให้มีการรัฐประหาร และคนที่อ้างก็มักอ้างเพื่อให้ตัวเองดูดี และก็รู้กันอยู่แล้วว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง จึงต้องการเคลียร์เรื่องนี้ให้จบๆ จะได้รู้ว่าคนที่ทำรัฐประหารเป็นความคิดของพวกเขา ไม่ใช่ใครใช้ ซึ่งความจริงท่านได้ข้อมูลมานานแล้ว แต่จู่ๆ จะลุกขึ้นมาพูดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยก็ไม่ใช่กาลเทศะ”

เหตุที่ “เสือเฒ่า” ตัดสินใจออกจาก “ถ้ำ” มาเปิดโปงเรื่องนี้ เป็นเพราะ “พล.อ.สนธิ” กลายเป็นนักการเมืองเต็มขั้น หากไม่เป็น ส.ส. ป่านนี้คงลอยนวลไปแล้ว

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ “ต้องการเคลียร์ให้ป๋า”

“ถ้าออกจากปากป๋าก็เหมือนแก้ตัวพัลวัน ยิ่งถูกเขียน ถูกวิจารณ์ ถูกใส่ร้ายหนักเข้าไปอีก” เขาบอก

อย่างไรก็ตาม “ถาวร” ซึ่งเป็นคน “เลือดสีน้ำเงิน-ขาว” เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา เหมือนกับ “พล.อ.เปรม” ไม่ขอขยายความว่าอะไรทำให้ “ป๋า” ทนไม่ไหว ถึงกับต้องส่ง “บิ๊กหมง-พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์” ไปขอให้ “บิ๊กบัง” สารภาพความจริงถึง 2 หน

โดยบอกเพียงว่า “อันนี้อย่าไปทายใจท่านเลย”

สิ่งที่ “อัยการเก่า” ผู้เขียนหลักสูตร “การประนอมข้อพิพาท” อยากฝากทิ้งท้ายถึงผู้นำปฏิวัติหนล่าสุดคือ การปรองดองต้องยึดหลักการ และทำความจริงให้ปรากฏ

“ผมไม่เชื่อว่าหนังสือที่เขาเขียนไว้และบอกว่าจะเปิดเผยก่อนตายเป็นเรื่องจริง เพราะถ้าเรื่องจริง ก็พูดเสียวันนี้สิ ไม่ต้องกลัวแล้ว คือการปรองดอง สิ่งที่คุณเขียนไว้หลังจากตาย เพราะคุณโกหก คุณเขียนนิยายให้คนรุ่นหลังอ่าน ถามว่ามีหลักประกันอะไรบอกว่าสิ่งที่เป็นพินัยกรรมของ พล.อ.สนธิเป็นเรื่องจริง เชื่อได้ ผมว่าไม่มี”