ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > GSVC เสวนากับนักคิด SOUL≥SELL: FROM PASSION TO IMPACT ใช้ใจ-สร้างกำไร-ให้สังคม

GSVC เสวนากับนักคิด SOUL≥SELL: FROM PASSION TO IMPACT ใช้ใจ-สร้างกำไร-ให้สังคม

7 มีนาคม 2012


มูฮัมหมัด ยูนุส (ขวา) และผู้ที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารกรามีน
มูฮัมหมัด ยูนุส (ขวา) และผู้ที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารกรามีน

ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นหลังจากที่โลกเริ่มมองเห็นผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นแต่เพียงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ที่มุ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ จนนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรืออุบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดจากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติถูกทำลาย จนหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืนได้ในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างสมดุล

แม้ปัจจุบัน เรื่องนิยามและความหมายของธุรกิจเพื่อสังคม ยังเป็นประเด็นถกเถียงไม่จบสิ้นว่ามีความหมายที่ครอบคลุมแค่ไหน แต่ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า คุณสมบัติเบื้องต้น หรือเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมคือ ธุรกิจนั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่กำรสูงสุด แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผลประกอบการของธุรกิจจะต้องสามารถหล่อเลี้ยงตัวธุรกิจเองได้อย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจแบบธุรกิจเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ตอนนั้นธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ถูกเรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม เนื่องจากคำว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีก็คือ ธนาคารกรามีน หรือธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก ในประเทศบังคลาเทศ ก่อตั้งโดย มูฮัมหมัด ยูนุส ในปี 1976 หรือกว่า 34 ปีที่ผ่านมา

เป้าหมายของธนาคารกรามีนคือ การนำบริการของสถาบันการเงินไปสู่คนจน เพื่อช่วยให้สามารถต่อสู้กับความยากจนได้ ด้วยการปล่อยเงินกู้ขนาดเล็ก มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายสัปดาห์ และอนุมัติเงินกู้แบบกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน เพื่อให้ผู้ขอกู้เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ซึ่งกันและกัน เป็นการใช้แรงกดดันทางสังคมสร้างแรงจูงใจให้ชำระหนี้ตรงเวลา โดยลูกหนี้ทุกคนในกลุ่มต้องชำระหนี้ให้ครบจำนวนก่อน จึงจะมีการอนุมัติเงินกู้ก้อนต่อไป ซึ่งหากใช้หลักการทางธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรสูงสุดแล้ว คนจนเหล่านี้มีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำ เพราะคนจนมีความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้สูง

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี 2011 ธนาคารกรามีนปล่อยกู้ให้ผู้ยากไร้ไปแล้ว 8.349 ล้านคน โดย 97% ของผู้กู้เป็นผู้หญิง มีสาขาทั่วประเทศกว่า 2,500 สาขา ครอบคลุม 81,379 หมู่บ้าน คิดเป็น 97% ของหมูบ้านทั้งหมดในบังคลาเทศ และที่สำคัญ ความสำเร็จของธนาคารกรามีนยังเป็นแรงบันดาลใจให้ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้อื่นๆ อีก 250 แห่งในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก จนทำให้มูฮัมหมัด ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2006 ในที่สุด

สำหรับประเทศไทย เมื่อพูดถึงธุรกิจเพื่อสังคม คนส่วนใหญ่ยังคงสับสนระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่มักจะเรียกทับศัพท์ว่า CSR (Corporate Social Responsibility) ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน โดยความแตกต่างระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมกับ CSR นั้น อยู่ที่เป้าหมายขององค์กร โดยธุรกิจเพื่อสังคมมีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ CSR เป็นการนำเงินของบริษัทมาทำประโยชน์ให้กับสังคม

จากข้อมูลของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกิจการหรือธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ได้มีการยกตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นรูปธรรมในไทย เช่น ไทยคราฟท์ องค์กรธุรกิจที่นำงานหัตถกรรมจากช่างฝีมือจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย มาหาตลาดและจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีจุดมุ่งหมายที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านงานหัตถกรรมไทย

หรือกลุ่ม Try Arm เป็นกลุ่มแรงงานที่เคยผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์ดัง แต่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ได้รวมตัวกันเพื่อประกอบธุรกิจ โดยนำฝีมือแรงงานและประสบการณ์ที่มีมาตัดชุดชั้นในขายในราคาที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้ซื้อ หรือที่เรียกว่าแฟร์เทรด

หรือธุรกิจเพื่อสังคมอื่นของไทย ที่ดำเนินการเป็นรูปแบบมูลนิธิจนเป็นที่รู้จักในระดับสากล เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวเขา โดยส่งเสริมและหาตลาดให้งานหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ และดูแลไม่ให้ชาวเขาเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง มีตราสินค้าดอยตุงเป็นผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งรายได้ที่ทำให้มูลนิธิสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยกำไรทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ จะถูกนำกลับไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ดอยตุงและการบริหารจัดการองค์กร

ที่ผ่านมา ความพยายามในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมมีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุเนื้อหาลงในวิชาบริหารธุรกิจ หรือประชาสัมพันธ์จากองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนดังตัวอย่างข้างต้น แต่วิธีการเผยแพร่วิธีหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากคือ การจัดการแข่งขันแผนธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการเผยแพร่องค์ความรู้ ที่ให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนแผนธุรกิจเพื่อสังคมส่งประกวด และมีกรรมการเป็นผู้ตัดสิน โดยระหว่างการแข่งขันจะมีให้ความรู้ทั้งผู้แข็งขันและผู้เข้าร่วมไปพร้อมๆกัน

บรรยากาศการแข่งขัน GSVC ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รอบคัดเลือก
บรรยากาศการแข่งขัน GSVC ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รอบคัดเลือก

ในระดับโลก การประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Global Social Venture Competition (GSVC) เป็นการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมแห่งแรกของโลก ที่มีประวิติการแข่งขันยาวนานที่สุด มีการจัดครั้งแรกในปี 1999 และจัดต่อเนื่องมาตลอดทุกปีที่ University of California at Berkeley โดยเปิดรับผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก การแข่งนี้มีความแตกต่างจากการประกวดแผนธุรกิจอื่น คือ แผนธุรกิจที่เข้าการประกวดจะต้องเป็นธุรกิจใหม่ที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถวัดมูลค่าของการแก้ปัญหาเหล่านั้นออกมาเป็นตัวเงิน (Social impact assessment) ได้ และตัวธุรกิจสามารถสร้างกำไรทางการเงินอย่างยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดนี้ และได้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปี 2007 ซึ่งเป็นทีมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนนำไปสู่การให้ความสนใจและการเข้าเป็นพันธมิตรร่วมจัดการแข่งขัน โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีต่อมา

ทำให้ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา การแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถูกจัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมในการแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้แข่งขันในภูมิภาคไปแข่งรอบชิงชนะเลิศที่สหรัฐอเมริกา

และในปี 2012 นี้ การแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะจัดขึ้นในวันที่ 17–18 มีนาคม 2555 ที่กรุงเทพมหานคร โดยงานแบ่งเป็น 2 ช่วง วันที่ 17 มีนาคม 2555 จะเป็นการแข่งขันโดยมีผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบจาการคัดเลือก ในรอบแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 13 ทีม มีทีมจากประเทศไทย 3 ทีม มานำเสนอแผนธุรกิจ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นผู้ตัดสิน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะในระดับภูมิภาค 3 ทีม ไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ University of California Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนช่วงที่ 2 วันที่ 18 มีนาคม 2555 จะเป็นการสัมนาด้านธุรกิจเพื่อสังคมในหัวข้อ “SOUL≥SELL: FROM PASSION TO IMPACT ใช้ใจ…สร้างกำไร…ให้สังคม” ที่ทางฝ่ายจัดงานได้เชิญผู้นำนักคิด ผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมในระดับประเทศและระดับโลก เช่น ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์และเร่ร่อนช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วอาฟริกา พระสุบิน ปณีโต ผู้ริเริ่มกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ใช้ธรรมะบริหารเงิน ซึ่งช่วยสร้างวินัยในการออมให้แก่ชาวบ้าน และยังจัดให้มีกองทุนสวัสดิการให้แก่สมาชิก

นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจเพื่อสังคมชาวต่างชาติ ได้แก่ ไรอัน ดิคส์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Gigabase จากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นระบบ Database ด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อนักออกแบบหัวใจสีเขียว เซบาสเตียน มาโรต์ ผู้ก่อตั้ง Friends International ศูนย์ฝึกอาชีพแก่เด็กด้อยโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮอนดูรัส อียิปต์ และอื่นๆ ซึ่งได้รับรางวัลผู้ประกอบการเพื่อสังคมดีเด่นแห่งเอเชีย มาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยน เล่าถึงประสบการณ์และวิธีการจัดการธุรกิจเพื่อสังคม

การแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการสัมนาที่จะจัดขึ้น เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการส่งเสริมและสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย โดยทั้งสองงานเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gsvc-sea.org)

การแข่งขัน GSVC ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2012
การแข่งขัน GSVC ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2012

10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย GSVC รอบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2012

1.Agrotourism (อินโดนีเซีย) ITB

กัมบังเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม พนักงานในโรงงาน หรือไม่ก็ว่างงานอยู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชุมชนนี้ แต่กลับส่งผลกระทบในเชิงลบกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทางกลุ่ม Agrotourism จึงต้องการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน ควบคุมคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และสร้างความเจริญให้กับชุมชน

2.Be Fresh Packaging (ไทย) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บริษัท Be Fresh Packaging จำกัด ได้จดสิทธิบัตรการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยยืดอายุผลไม้ ทำให้ผลไม้สุกช้าลงและไม่มีจุดสีน้ำตาลบนเปลือกผลไม้ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงได้ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์นี้ผลิตจากขยะจากการเกษตร ทำให้สามารถลดการเผาทำลายขยะจากการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ อันส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วยอีกทางหนึ่ง

3.BioFend (สิงคโปร์) Nanyang Technological University

BioFend เป็นธุรกิจผลิตปุ๋ยชีวภาพที่ช่วยจัดการกับแมลงศัตรูพืชประเภทหัวใต้ดิน ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของทางบริษัทคือ NemaSys เป็นสารที่ผลิตจากจุลินทรีย์ ซึ่งมีจุดประสงค์ไว้ใช้ควบคุมจำนวนประชากรไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นตัวการทำลายผลผลิตมูลค่านับล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางผู้ผลิตคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะช่วยให้เกษตรกรในประเทศที่กำลังพัฒนา ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

4.Braineo Solution (มาเลเซีย) Universiti Putra Malaysia

Braineo Solution ผลิตสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความผิดปกติของสมองที่สัมพันธ์กับทักษะการอ่าน เขียน และสะกดคำ ซึ่งเป็นความผิดปรกติทางพันธุกรรม โดยใช้ซอฟต์แวร์การออกเสียงเป็นตัวช่วย และยังมีอุปกรณ์วินิจฉัยอาการผ่านทางเวบไซต์เพื่อสืบหาว่าเด็กเป็นโรคนี้หรือไม่ ซอฟต์แวร์ตัวนี้จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการอ่านของเด็กที่เป็นโรคนี้ภายใน 6 เดือน และช่วยแก้ปัญหาทางสังคมและอารมณ์ ทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

5.DoctorMe (ไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นฟรีบนโทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ ทำให้ผู้ใช้สามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น นอกจากนี้ DoctorMe ยังช่วยให้ผู้ใช้สนใจที่จะเช็คอาการเจ็บป่วยของตนเองหรือผู้คนใกล้ชิดได้อีกด้วย

6.Aksi Indonesia Mandiri (อินโดนีเซีย) Universitas Indonesia

Aksi Indonesia Mandiri (AIM) เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งหวังจะเพิ่มสวัสดิการให้แก่ชาวอินโดนีเซียชั้นกลางถึงระดับล่าง โดยจัดการศึกษาทางการเงินและช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงินราคาไม่แพง นอกจากนี้ ยังพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Microinsurance อีกด้วย

7.Green Filter (อินโดนีเซีย) Prasetiya Mulya Business School

Green Filter (GF) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาน้ำเสียภายในประเทศ เครื่องกรองชีวภาพนั้นใช้ทั้งจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจน ซึ่งการรีไซเคิลน้ำนั้นช่วยลดปริมาณการใช้น้ำบาดาลและลดปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วย

8.Micro Oasis (อินโดนีเซีย) Prasetiya Mulya Business School

บริษัท Micro Oasis เสนอบริการทางการเกษตรแบบบูรณาการ และระบบชลประทานสำหรับพื้นที่แห้งแล้งในราคาย่อมเยาว์ด้วยระบบ Pitcher Fertigation ซึ่งเป็นการรวมกับของวิธีให้น้ำและปุ๋ย Micro Oasis มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง โดยการพัฒนาทักษะทางการเกษตรและการบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งอีกด้วย

9.TeamUmbrella (ประเทศไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สเปรย์กะลาช่วยป้องกันน้ำและความชื้นให้กับบ้านเรือน โรงงานและสถานที่ราชการจากทั้งภัยธรรมชาติและการใช้งานปกติในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ชนิดผลิตจากวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยเทคโนโลยีนาโน ทำให้มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดตัวเอง ป้องกันความเสียหายที่เกิดจากน้ำและการเติบโตของเชื้อรา ช่วยลดค่าใช้จ่ายและความเสียหายรวมทั้งยับยั่งการแพร่กระจายของโรคต่างๆ

10.Wastenergizer (อินโดนีเซีย) – Magister Management of Gadjah Mada University

Wastenergizer เป็นธุรกิจก๊าซชีวภาพเพื่อสังคม ที่นำของเสียหรือขยะอินทรีย์มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกให้ประเทศอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก Wastenergizer ช่วยเปลี่ยนขยะอินทรีย์มาเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก สำหรับนำมาใช้ทดแทนก๊าซ LPG ซึ่งนอกจากจะช่วยกำจัดขยะแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย