การประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Global Social Venture Competition (GSVC) เป็นการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่เปิดรับผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก เป็นการแข่งขันแห่งแรกของโลกที่มีประวัติการแข่งขันยาวนานที่สุด มีการจัดครั้งแรกในปี 1999 และจัดต่อเนื่องมาตลอดทุกปีที่ University of California at Berkeley
การแข่งขันนี้มีความแตกต่างจากการประกวดแผนธุรกิจของที่อื่นๆ คือ แผนธุรกิจที่เข้าประกวดจะต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีเป้าหมายหลักไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการแข่งขันจะมีการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social impact assessment) และดูความยั่งยืนทางการเงินของธุรกิจ แม้ว่าธุรกิจนั้นจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ แต่ถ้าไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยทุน หรือผลกำไรที่เกิดจากการประกอบกิจการของตนเอง ก็ไม่สามารถถือว่าธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ดีได้
ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดนี้ และได้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปี 2007 คือทีมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดความสนใจและการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรจัดการแข่งขันในปีต่อมา
ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา การแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงถูกจัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมในการแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้แข่งขันในภูมิภาคไปแข่งรอบชิงชนะเลิศที่สหรัฐอเมริกา
สำหรับการแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2012 นี้ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา จากทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกในรอบแรกทั้งหมด 13 ทีม จากทั่วภูมิภาค และมีทีมจากประเทศไทย 3 ทีม เพื่อคัดเลือกผู้ชนะในระดับภูมิภาค 2 ทีม ไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ
โดยในรอบนี้ ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมดจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นผู้ตัดสิน ผลที่ออกมาคือ ทีม Micro Oasis จาก Prasetiya Mulya Business School ประเทศอินโดนีเซีย และทีม Marine Gifts จาก Hanoi Cultural University ประเทศเวียดนาม เป็น 2 ทีมที่ชนะในระดับภูมิภาค และเป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแข่งขันในระดับโลกต่อไป
Micro Oasis จากประเทศอินโดนีเซีย มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง โดยการพัฒนาทักษะทางการเกษตรและการบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง ด้วยธุรกิจที่ให้บริการทางการเกษตรแบบบูรณาการ และช่วยสร้างระบบชลประทานสำหรับพื้นที่แห้งแล้งในราคาย่อมเยาว์ โดยใช้ระบบการให้ปุ๋ยละลายน้ำผ่านเหยือกรดน้ำ (Pitcher Fertigation)
ที่หมู่บ้าน “กุนูคิดูล” เมืองยอกยากาตาร์ ตอนใต้ของประเทศอินโดนีเซีย มีพื้นที่แห้งแล้งกว่า 670 ตารางกิโลเมตร เกษตรกรในหมู่บ้านนี้สามารถทำการเพาะปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง คิดเป็นช่วงเวลา 2 – 3 เดือนในแต่ละปี ส่วน 8 – 9 เดือนที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันไปประกอบอาชีพรับจ้างและเป็นผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ยังคงยากจน ไม่มีการศึกษา และเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่สามารถออกจากวงจรของความยากจนได้
สิ่งที่ Micro Oasis เข้าไปทำก็คือ การสร้างระบบชลประทานแบบบูรณาการ ด้วยระบบการให้ปุ๋ยละลายน้ำผ่านเหยือกรดน้ำ (Pitcher Fertigation) ที่ทำจากดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้สามารถรดน้ำที่มีการผสมปุ๋ยลงไปในดินได้ น้ำผสมปุ๋ยจะค่อยๆ ซึมลงดินอย่างช้าๆ ทำให้ดินในบริเวณที่มีเหยือกดินเผาฝังอยู่มีความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกได้นานขึ้น จากเดิมที่ทำการเพาะปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ก็ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ถึง 4 ครั้งใน 1 ปี
ในขั้นตอนการผลิตเหยือกรดน้ำ โรงงานที่ผลิตเหยือกจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดย Micro Oasis มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกษตรกรตั้งแต่เริ่มการผลิต ช่วยเหลือตั้งแต่การเข้าไปสำรวจพื้นที่ในการเพาะปลูก ว่าจะมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเป็นการวางระบบเหยือกรดน้ำ
ในระหว่างการขั้นตอนเพาะปลูก Micro Oasis จะเข้าไปช่วยเกษตรกรในการเลือกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ระหว่างที่รอผลผลิตเติบโตจะมีการให้คำปรึกษา อบรมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพ และเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด Micro Oasis จะใช้เครือข่ายที่มีช่วยเกษตรกรในการระบายสินค้า
รายได้หลักของ Micro Oasis เกิดจากการแบ่งปันผลกำไรหลังจากที่เกษตรกรขายสินค้าได้แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 18.5% ของกำไรที่เกษตรกรได้รับ
ส่วนทีมที่ชนะอีกทีมหนึ่งคือ Marine Gifts จากประเทศเวียดนาม Marine Gifts มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ท้องทะเล และสนับสนุนให้ผู้หญิงที่อาศัยในบริเวณเขตอนุรักษ์ทางทะเลมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และขายสินค้าหัตถกรรมจากทรัพยากรทางทะเล ที่ผลิตโดยหญิงชาวบ้านที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ทางทะเลนั้น
ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ฝั่งตะวันออกทั้งหมดติดทะเลจีนใต้ ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 3,200 กิโลเมตร มีน่านน้ำเป็นพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร ด้วยชายหาดที่สวยงามและความหลากหลายทางระบบนิเวศนี้ ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 9 ล้านคนในแต่ละปี โดยมีสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โรงแรม และรีสอร์ทหรู ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก
แต่ปรากฎว่า รายได้ที่มากกว่า 100 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ถูกนำมาพัฒนาชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่นเพียงไม่ถึง 1% ของรายได้ทั้งหมด ผู้หญิงที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ทางทะเลยังคงยากจน ไม่มีการศึกษา และขาดทักษะในการประกอบอาชีพ
สิ่งที่ Marine Gifts ได้เข้าไปทำก็คือ การเข้าไปรับซื้อสินค้าหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ผลิตโดยหญิงชาวบ้านที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ทางทะเล เพื่อนำไปขายต่อ และให้บริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรัษ์ธรรมชาติ และสร้างความเข้าใจในวิถีชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลให้แก่นักท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายสินค้าและการท่องเที่ยว
โดยกำไรที่เกิดขึ้น Marine Gifts จะนำไปฝึกทักษะในการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มสตรี และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตอนุรักษ์ทางทะเลต่อไป
จากการแก้ไขปัญหาทางสังคม ความมั่นคงทางรายได้ และความยั่งยืนของธุรกิจ ทำให้คณะกรรมการตัดสิน เลือกทั้ง 2 ทีมนี้เป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่ University of California Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป