ThaiPublica > คนในข่าว > แค่ตั้งต้นก็พบ “ตำหนิ” –คำวิพากษ์ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ” ก่อนคลอด รธน. ฉบับลบแผล “ทักษิณ”

แค่ตั้งต้นก็พบ “ตำหนิ” –คำวิพากษ์ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ” ก่อนคลอด รธน. ฉบับลบแผล “ทักษิณ”

25 กุมภาพันธ์ 2012


“…การดำเนินการของรัฐบาล ของ พท. และของ นปช. คนเขามองทะลุแล้วว่าผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร เขารู้ทันแล้ว เมื่อรู้ทัน เขาก็ไม่ร่วมมือด้วย ถ้าคุณจะยังดันทุรัง รัฐธรรมนูญของคุณก็เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารทำ ถ้าเขาทำโดยใช้เสียงข้างมากและคิดว่าสำเร็จ มันก็สำเร็จได้เหมือนกันนะ แต่พอสำเร็จแล้ว การยอมรับมันไม่มี มีประเด็นแย้ง คล้ายๆ มันมีตำหนิ…”

หลายครั้งเมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวในการ “เรียกร้องประชาธิปไตย-ปฏิรูปการเมือง” มักมีชื่อของ “เขา” เข้าไปพัวพัน

ในยุคต่อสู้ของขบวนการนิสิตนักศึกษาเมื่อปี 2516 “เขา” คือ “เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)”

กว่า 30 ปีผ่านไป “เขา” กลายเป็นนักวิชาการเต็มขั้น

ทว่า บทบาทของ “เขา” ที่ถูกกล่าวขานถึงในช่วง 5 ปีหลังมานี้ กลับไม่ได้อยู่ในฝ่ายที่อ้างตัวเป็น “นักประชาธิปไตย” เมื่อได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

รวมทั้งเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็น “ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” หรือ “18 อรหันต์” ในรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หลังผ่านเหตุการณ์กระชับพื้นที่ 19 พฤษภาคม 2553

ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะคณะที่ปรึกษา ของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมกับนักวิชาการอื่นอีกรวม 10 ชีวิต เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550
ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะคณะที่ปรึกษา ของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมกับนักวิชาการอื่นอีกรวม 10 ชีวิต เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550

และล่าสุด “เขา” เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น “คณะที่ปรึกษา” ของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมกับนักวิชาการอื่นอีกรวม 10 ชีวิต เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 คู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวของรัฐสภา ที่เพิ่งผ่านวาระ 1 รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….

บทบาทใหม่ที่ได้รับ ได้เรียก “ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกจาก “ห้องสมุด” เพื่อวิพากษ์ประเด็นร้อนในสังคม ในขณะที่คนการเมืองใน “สภา (ล่าง) 500” และ “สภาสูง 150” รุมฟาดฟัน บ้างก็ปกป้อง “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18”

ไทยพับลิก้า : มีความหวังว่าการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ของรัฐสภาในรอบนี้ จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ปัญหาสำคัญของเราคือยังมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ และดูเหมือนฝ่ายที่ขัดแย้งกันมีเป้าหมายแตกต่างกัน โอกาสจะให้ทั้ง 2 ฝ่ายยุติการเผชิญหน้าเป็นไปได้ยาก ตราบเท่าที่ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถบรรเทาหรือลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดอยู่นี้ได้ เช่น ฝ่ายสนับสนุนคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) ก็ต้องการแก้ไขเพื่อคลี่คลายคดีของคุณทักษิณทั้งหมด ส่วนฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณ ก็ต้องการให้คุณทักษิณได้รับโทษตามกฎหมาย แค่ประเด็นนี้ก็คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะส่อจะส่งสัญญาณว่าจะทำให้คุณทักษิณพ้นจากคดีต่างๆ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คงจะไม่ยอมรับ และอาจเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้าน ทำให้การเมืองร้อนขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาอาจจะยากขึ้นไปอีก

ความจริงของสภาพบ้านเมืองทุกวันนี้ เรายังมีปัญหาวิกฤตที่ต้องไปแก้ไขหลายอย่าง เช่น ปัญหามหาอุทกภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายมาก รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากไปฟื้นฟูแก้ไข ทำให้งบที่จะใช้ทำเรื่องอื่นๆ ลดลงไป แต่ในขณะที่เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน รัฐบาล หรือพรรคของรัฐบาลก็ไปดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้อาจทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหาขึ้น หากสามารถทำให้สำเร็จราบรื่นไปได้ก็จะดี แต่ถ้าไม่ราบรื่นก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหลักอีก เพราะถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหา มันก็เป็น แต่เป็นปัญหารอง ปัญหาส่วนตัวจริงๆ เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณมากกว่า เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แม้มีบางประเด็นที่อาจต้องแก้ไข แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐบาล ถ้าจะแก้ แก้บางประเด็นไปก่อนก็ทำได้ง่าย แต่การแก้ไขมาตรา 291 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปเลย แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แบบนั้นมันไม่ใช่การแก้ไขนะ วัตถุประสงค์มันล้มล้างไปเลย

ไทยพับลิก้า : มองว่าห้วงเวลาไม่เหมาะสมในการลุกขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ณ วันนี้ และตั้งโจทย์จากปัญหาส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ

อย่างที่บอก หากไม่มีเรื่องคุณทักษิณ ความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนี้นี่น้อยมาก

ไทยพับลิก้า : ถ้าเช่นนั้น ตัวชี้วัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่กระบวนการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือประเด็นที่เสนอแก้ไข

ถ้าเขาอ้างกลไกรัฐสภา มันก็ทำได้ เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลสามารถเสนอแก้ไขมาตรา 291 ได้ ถึงฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะพอลงมติกันแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็ชนะ มันก็จะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ส่วนที่เขาว่าให้แต่ละจังหวัดเลือก ส.ส.ร. มา 77 คน และอีก 22 คนให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้สถาบันการศึกษาส่งมา แล้วให้รัฐสภาเลือก ฟังดูเหมือนดี แต่ถ้าดูรายละเอียดจริงๆ ส.ส.ร. ชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาไม่เหมือน ส.ส.ร. 1 นะ เพราะตอนนั้นไม่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ไม่มีแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนเหมือนปัจจุบัน ปัจจุบันมันแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ถ้าไปภาคใต้ก็จะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไปอีสานเป็นของพรรคเพื่อไทย (พท.) ไปภาคเหนือ พท. ไปภาคกลางแบ่งๆ กัน แต่รวมทั้งประเทศแล้ว พท. มากที่สุด ถ้าไปรวมกับผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน เสียงข้างมากทั้งในสภาและในวุฒิสภา ก็ยังเป็นฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิก็ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของรัฐบาล จึงกล่าวได้ว่า ส.ส.ร. 99 คนจะเป็นฝ่ายรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ เวลาตัดสิน หากขัดแย้งกันก็ต้องลงมติ สุดท้ายเสียงข้างมากก็ชนะ

รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นก็จะได้ฉายาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พท. หรือ นปช. อย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย ก็บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ดังนั้นไอ้ทำน่ะทำได้ แต่ถามว่าราบรื่นไหม ผมเชื่อว่าคนที่เขามีความรู้ ความเข้าใจ เขาเห็นว่าไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับประเทศ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีวาระซ่อนเร้น คนเหล่านี้ก็ไม่รับมันอีก คุณว่าคนอื่นเขา แต่คุณกลับทำแบบเดียวกับที่เขาทำ คุณไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ เขาก็ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับคุณ ในวันข้างหน้าเขาก็จะมาเคลื่อนไหวขอเปลี่ยนอีก จะไม่มีที่จบสิ้นสักที และไม่เป็นประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ

ไทยพับลิก้า : การที่ ปชป. และ ส.ว. บางส่วน คัดค้านการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขมาตรา 291 ในวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ เท่ากับเป็นการปฏิเสธกลไกในรัฐสภา คิดว่ามันจะนำไปสู่อะไร

อย่างที่ผมเรียนเมื่อสักครู่ การดำเนินการของรัฐบาล ของ พท. และของ นปช. คนเขามองทะลุแล้วว่าผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร เขารู้ทันแล้ว เมื่อรู้ทัน เขาก็ไม่ร่วมมือด้วย ถ้าคุณจะยังดันทุรัง รัฐธรรมนูญของคุณก็เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารทำ ถ้าเขาทำโดยใช้เสียงข้างมากและคิดว่าสำเร็จ มันก็สำเร็จได้เหมือนกันนะ แต่พอสำเร็จแล้ว การยอมรับมันไม่มี มีประเด็นแย้ง คล้ายๆ มันมีตำหนิ และทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีความยั่งยืน

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ที่บรรดาคนรู้ทันจะเข้าไปอยู่ในกระบวนการในรัฐสภา หรือใน ส.ส.ร. เพื่อคัดง้างประเด็นที่คิดว่าไม่เหมาะสม แทนที่จะส่งเสียงกันอยู่ข้างนอก

โอ้ว…คุณเข้าไปอย่างไรมันก็เป็นเสียงข้างน้อยแหล่ะครับ (พูดเสียงดัง) คุณจะไปเถียงอย่างไร พอลงคะแนนคุณก็แพ้ คุณเข้าไปส่งเสียงหรือคุณเป็นฝ่ายค้านนี่ ไม่ว่าจะค้านดังแค่ไหน อภิปรายดีแค่ไหน ถึงเวลาลงมติ ฝ่ายรัฐบาลเขาก็ชนะ คนเขาเลยคิดว่าจะมีประโยชน์อะไรหากจะไปเป็นเครื่องมืออยู่ในนั้น เขาก็…ไม่ร่วมมือดีกว่า คุณอยากทำก็ทำไป

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่เสียงข้างน้อยในสภาทำได้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมคืออะไร

ผมมองไม่เห็นประโยชน์ ในเมื่อมันมีพื้นฐานความขัดแย้งกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างตั้งป้อมว่าจะไม่เป็นเครื่องมือของอีกฝ่าย คุณจะไปทำอย่างไรให้เกิดความเห็นร่วมกัน เป็นไปไม่ได้ในสภาพความขัดแย้งแบบนี้ ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็บอกว่าผมไม่เป็นเครื่องมือคุณหรอก ผมไม่ร่วมมือกับคุณหรอก ถ้าคุณทำได้ ก็ทำไป เป็นพวกเสียงข้างมากพวกเดียวจริงๆ และก็เป็นตราบาปอยู่อย่างนั้นแหล่ะว่าร่างจากพวกคุณพวกเดียว

ไทยพับลิก้า : แต่โดยธรรมชาติ นักการเมืองกลัวตกขบวนประชาธิปไตย อย่างตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 บางพรรคบอกว่าไม่ร่วม แต่สุดท้ายก็กลับลำ

ตอนนั้นมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องปกติ เหมือนกับคนกำลังจะจมน้ำ แล้วก็มีฟางเส้นหนึ่งผ่านมาคือเรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้า ส.ส. ยังไม่ให้ความเห็นชอบอีก รัฐบาลไม่ให้ความเห็นชอบอีก ประเทศชาติคงล่มจมแน่ ในที่สุด พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ในขณะนั้น) จึงต้องสั่งให้พรรครัฐบาลให้ความเห็นชอบ สถานการณ์มันคนละอย่าง มันไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : ในครั้งนี้เป็นไปได้แค่ไหนที่ ปชป. จะพลิกมาร่วมวง หรือมาสนับสนุนในช่วงกลางหรือท้ายกระบวนการ

ฟังจากสิ่งที่เขาพูด ดูจากท่าทีของพรรคที่แสดงออกมา ไม่น่าจะมีโอกาสเปลี่ยนใจกลับมาร่วมอีก

ไทยพับลิก้า : แล้วเสียงของคนที่เคยโหวตผ่านประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ควรแสดงออกอย่างไร

คนที่โหวตให้กับรัฐธรรมนูญปี 2550 อาจมีความคิดหลายส่วน ส่วนหนึ่งคิดว่าให้ผ่านไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ทีหลัง อีกส่วนก็เห็นด้วยจริงๆ ถึงวันนี้ไม่รู้ว่าจิตใจเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนอย่างไร การตัดสินใจในวันหนึ่งนานมาแล้วกับการตัดสินใจวันนี้อาจไม่เหมือนกันก็ได้ ดังนั้น จะไปสรุปว่าคนที่เคยให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 จะมาปกป้อง ก็คงไม่ใช่

ไทยพับลิก้า : แล้วส่วนตัวอาจารย์จะแสดงออกอย่างไร เมื่อได้รับแต่งตั้งจากผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็น 10 อรหันต์ ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อันนี้คนละส่วนกัน ดร.ประวิช (รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ไม่ใช่รัฐบาล ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตามมาตรา 244 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมาติดตามการใช้รัฐธรรมนูญ ถ้าพบว่ามีปัญหาก็ควรเสนอแนวทางแก้ไข ก็ได้แค่เสนอความเห็นเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอำนาจไปแก้ไขอะไร ที่ ดร.ประวิชพยายามทำ ที่เชิญผมมา เขาบอกว่าเพราะเขามีหน้าที่ และสนใจว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอะไรอย่างไร จึงเชิญผู้รู้มาปรึกษาหารือกันหน่อย ผมก็ไม่เห็นความเสียหายอะไร ก็รับปากท่านไป ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกวันที่ 29 กุมภาพันธ์

ไทยพับลิก้า : ในยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์” อาจารย์เคยนำเสนอ 6 ประเด็น ให้รัฐบาลแก้ไข พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูปการเมืองในภาพใหญ่ ถึงวันนี้ข้อเสนอเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร

ยังเหมือนเดิมหลายส่วน นอกจากเรื่องมาตรา 190 (การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา) และเรื่องเขตเลือกตั้ง ส.ส. ที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็มีส่วนอื่นๆ ดังนี้

หนึ่ง มาตรา 237 การยุบพรรคจากการทุจริต ซึ่งถือเป็นยาแรง ใช้เพื่อป้องกัน เพื่อปรามไม่ให้คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ทุจริตเลือกตั้ง แต่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมการเมืองไทย และใช้ไม่ได้ผล ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ พอยุบไปแล้วเขาก็ไปรวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ได้ เราเลยเห็นว่าควรให้เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ถ้าเป็นสมาชิกพรรคทำผิดก็ตัดสิทธิ 5 ปี ถ้า กก.บห. ทำผิดตัดสิทธิ 10 ปี ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคตัดสิทธิ 15 ปี และยกเลิกการยุบพรรคเพราะการทุจริตเลือกตั้ง แต่ให้คงเหลือการยุบพรรคเพราะเป็นปฏิปักษ์ร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตย

สอง มาตรา 265-266 ไม่ควรให้ ส.ส. แทรกแซงหน่วยงานของรัฐ อันนี้ให้คงไว้ แต่ให้ ส.ส. ที่พบปัญหาประชาชนสามารถยื่นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อให้เขาไปแก้ไข

สาม ที่มาของ ส.ว. การที่ ส.ว. จะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง เราเห็นว่าทำได้ทั้ง 2 แบบ หากให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดแบบอังกฤษ อันนี้ต้องมีอำนาจน้อย ทำหน้าที่แค่กลั่นกรองกฎหมาย หากมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมแบบฝรั่งเศส ก็จะมีอำนาจมากขึ้น แต่น้อยกว่าสภา ถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดโดยตรง จะมีอำนาจเท่ากับสภา สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ ตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองได้ ทีนี้มาดูประเทศไทย ส.ว. ที่เรามีอยู่ทำหน้าที่เหมือนอังกฤษ คือกลั่นกรองกฎหมาย แต่เพิ่มบทบาทถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นจะมี 2 ระบบก็ได้ แต่กลไกการสรรหาแบบเดิมที่มี 7 คนมาเลือกมันน้อยไป เราเลยกำหนดให้มีตัวแทนองค์กรวิชาชีพทางกฎหมาย แล้วก็ส่งคนมาร่วมด้วย เท่าที่ดู ส.ว. สรรหาชุดนี้ ก็ทำงานได้ผลดี

ไทยพับลิก้า : หากดูการเลือกตั้งปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นครั้งที่ 2 มีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม

ผมยังมองที่ภาพใหญ่ ที่ต้องมีการปฏิรูปการเมือง เพราะการเมืองบ้านเรามันใช้เงินกันมาก ที่เรียกว่าธนกิจการเมือง เวลาไปเลือกตั้ง ถามว่าจริงๆ จ่ายเงิน ส.ส. เท่าไร บางคน 20-30 ล้านบาท แต่กฎหมายบอกให้ใช้ได้แค่ 1.5 ล้านบาท แล้วไปเอาเงินมาที่ไหน ไม่มีบัญชี คนสมัครรับเลือกตั้งก็รายงานแค่ 1.5 ล้านบาท กกต. ก็เชื่อหมด มันเป็นการเมืองที่ทำให้คนมีความรู้ความสามารถแล้วไม่โกงเข้าสู่การเมืองยากมาก นอกจากจะไปยอมเป็นสมุนนายทุนสามานย์ หรือนายทุนการเมือง เราเลยเสนอให้ประชาชนบริจาคภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลให้พรรคการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนได้สูงถึงร้อยละ 1 ซึ่งมีความหมาย เพราะปัจจุบันภาษีส่วนนี้มีมูลค่าอยู่ 6-7 แสนล้านบาท ถ้าร้อยละ 1 ก็ประมาณ 6-7 พันล้านบาท ต่อไปหากประเทศโตขึ้นก็จะเป็น 1 ล้านล้าน มันก็จะเป็นหมื่นล้านเลย ต่อไปเมื่อประชาชนจะเสียภาษีอยู่แล้ว ก็ให้ไปเลย พรรคการเมืองก็จะได้ 2-3 พันล้านบาท ได้อย่างโปร่งใส ได้เงินไปแล้ว คุณเอาคนดีๆ ทำการเมืองดีๆ ก็แล้วกัน นี่ไม่ใช่การคิดใหม่ เป็นเรื่องที่ กกต. ทำอยู่แล้ว แต่ให้คนละ 100 บาท พรรคที่เคยได้เงินบริจาคสูงสุดได้อยู่ 8 ล้านบาท ถามว่าทำอะไรได้

อีกเรื่องคือ วันนี้ที่เป็นปัญหามากในการเลือกตั้งคือการเลือกตัวบุคคล เราเลยเสนอให้เลือก ส.ส. แบบเขต กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออย่างละครึ่ง เพื่อลดการโกงตรงนั้น อย่างในแอฟริกาใต้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์เลยนะ เพราะเขาเห็นว่าประเทศเขายังไม่เหมาะจะเลือกตั้ง ส.ส. เขต ก็ทำได้

ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

นอกจากนี้ ยังเสนอให้เลือกตั้งพรรค แทนการเลือกตั้งคน โดยกำหนดให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองหนึ่งมาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเลย พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ก็ตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรคก็ทำหน้าที่นายกฯ โดยนายกฯ จะเลือกใครก็ได้เป็นรัฐมนตรี แต่คนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ต้องเสนอให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติเสียก่อน มันก็จะมีการตรวจสอบ ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส. แล้ว ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกฯ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยมันทำได้

เมื่อมีหลักแยกอำนาจแบบนี้ ฝ่ายบริหารก็ควรทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว ก็ยุบเลิกอำนาจในการยุบสภาของนายกฯ เสีย ส่วนเรื่องการตรวจสอบให้ยกเลิกการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยการลงมติ ซึ่งตอนนั้น ปชป. เขายึดมั่นการเมืองในระบอบรัฐสภา เขาก็ไม่ชอบข้อเสนอนี้ จริงๆ มันไปสอดคล้องกับ พท. นะ เพราะนายกฯ พท. เขาไม่ชอบไปสภาหรอก คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ไม่ชอบไปสภาหรอก กระทู้ก็ไม่เคยตอบ ดังนั้น ตอนเราคิด เราไม่ได้เสนอเพื่อให้ใครได้ประโยชน์ แต่มองหลักของประเทศ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกวันนี้มันเป็นปาหี่ คนอยากจะติดตามที่ไหน เพราะมันประท้วงเป็นชั่วโมง กักขฬะ ถ่อย เถื่อน มีประโยชน์อะไรกับประเทศ ในแง่พัฒนาการเมืองก็ไม่มี เป็นเรื่องการเล่นเกมกันอยู่ในสภา

ถามว่าในระบบประชาธิปไตยมีไหม ประเทศที่ไม่ใช้รูปแบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีเยอะ เพราะถือว่าไม่มีประโยชน์ เขาให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบ ให้อัยการอิสระมาฟัง ถ้าพบความผิดก็ฟ้องศาลเลย เข้าคุกเลย ได้ผลมากกว่าเยอะ ของเราใช้รูปแบบอังกฤษ แต่พอเอามาใช้ในประเทศไทย มันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ เราใช้มา 80 ปีแล้ว ไม่เคยมีฤทธิ์เดชที่จะไปกำจัดนักการเมืองฉ้อฉลได้ ไม่เป็นประโยชน์ มีแต่ทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง ถ้าเราเปลี่ยนมาให้ประชาชนเลือกพรรค พรรคก็ต้องทำงานหนักเพื่อให้ประชาชนรู้จัก มันก็จะส่งเสริมการทำงานของพรรคในการเข้าถึงประชาชน และทำให้มีเสถียรภาพ เพราะพรรคไหนได้เป็น ก็อยู่จนครอบเทอม

ไทยพับลิก้า : วิธีให้ประชาชนเลือกรัฐบาลโดยตรง มีประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี ใช้รูปแบบนี้บ้างหรือไม่

อย่าไปถามทำนองว่าต้องมีคนอื่นทำแล้วคุณถึงจะทำ ตอนอังกฤษให้เลือก ส.ส. แล้วให้ ส.ส. ไปตั้งรัฐบาล แต่อเมริกาบอกไม่เอา ให้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรงเลย ถามว่ามีใครทำไหม ไม่มีล่ะ แล้วทำไมเขาทำใหม่ได้ ถ้าไปยึดว่าต้องมีคนอื่นทำก่อน คุณก็ทำอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ คำถามคือมันเป็นหลักประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าเป็น เราก็ทำใหม่ได้

ไทยพับลิก้า : ที่ต้องถามเพราะสังคมไทยอ่อนไหวกับคำว่า “ประธานาธิบดี”

ไม่ๆๆๆ เลือกพรรคนี่ไม่ใช่ประธานาธิบดี ถ้าเลือกนายกฯ โดยตรงคนจะอ่อนไหวง่าย (sensitive) ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะมันจะมีคนสมัครนายกฯ เยอะ พวกนายทุนที่มีเงินเยอะๆ จะชนะ เพราะต้องใช้เงินเลือกตั้งทั้งประเทศ ต้องรวยเท่านั้นแหละ แบบนี้อาจไม่เหมาะกับประเทศไทย ต่างประเทศที่เขาทำได้เพราะประชาชนบริจาคเงินให้คุณ แล้วคุณก็เอาไปใช้หาเสียง ดังนั้น การเลือกนายกฯ มันยังไม่สอดคล้องกับประเทศไทย แต่ถ้าเลือกพรรค พรรคคุณก็ต้องแข็งแรง รูปแบบเราไม่ใกล้กับประธานาธิบดี เพราะเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกคน นอกจากนี้รูปแบบแบ่งแยกอำนาจ ประเทศไทยเอามาใช้กับการเมืองท้องถิ่นนานแล้ว ตั้งแต่ กทม. อบจ. เทศบาล อบต. ซึ่งเลือกฝ่ายบริหารโดยตรง ภายใต้ข้อเสนอต่างๆ ถ้าจะเอามันต้องเอาทั้งหมด จะหยิบเป็นบางข้อไม่ได้ แต่ไอ้ที่ทำๆ กันอยู่วันนี้ มันไม่ใช่การปฏิรูป

ไทยพับลิก้า : ประเมินว่า ส.ส.ร. 3 จะหยิบไปทำบ้างไหม

พูดไม่ได้ เพราะเขาต้องดูว่าเขาได้ประโยชน์หรือเปล่า ส.ส. และ ส.ว. คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากให้เขากำหนด เขาก็จะกำหนดกฎเกณฑ์แบบที่เขาได้ประโยชน์ ถ้ากฎเกณฑ์ดี แต่เขาไม่ได้ประโยชน์ เขาก็ไม่เอาหรอก นี่คือสัจธรรม

ไทยพับลิก้า : มั่นใจได้อย่างไรว่าข้อเสนอของนักวิชาการหลายสำนักที่โยนออกมา จะไม่ถูกนักการเมืองหยิบไปใช้เฉพาะที่เป็นประโยชน์ของพวกเขา

คุณอย่าไปคาดหวังอะไรมากกับสังคมนี้ ว่าถ้าคุณคิดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องมีคนเห็นคุณค่า มีคนนำไปใช้ เพราะวันนี้ไม่ว่าเราจะคิดอะไรอย่างไร เมื่อเห็นว่าได้ประโยชน์คนเขาจะเอาไปใช้ก็ต่อ ถ้าไม่ได้ประโยชน์เขาไม่หยิบไปใช้หรอก แต่เวลาเราคิด เราไม่ได้คิดว่าใครได้ประโยชน์ เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับประเทศ อย่างน้อยเราก็แสดงความคิดเห็นว่าเราคิดอย่างไร ถ้ามันมีคนกลางๆ ที่ไม่ได้เป็นพรรคพวกใคร เขาก็จะรู้ว่าเอ้อ…ความเห็นนี้น่าสนใจนี่ แต่ไอ้พวกเลือกข้างมันก็ไม่สนใจอยู่แล้ว ก็อย่าไปตั้งใจ อย่าไปคิดว่าเฮ้ย! เสียเวลาเรา ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเสนออะไรแล้ว

ไทยพับลิก้า : จินตนาการว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ของไทยจะมีโฉมหน้าอย่างไร

ถ้าฟังที่เขาพูดๆ กัน คงคล้ายๆ แบบปี 2540

“ทายาทอสูร” ข้อหาที่ไม่มีทางทำ “สมบัติ” ผูกคอตาย

ในยุคก่อนเมื่อสังคมรบพุ่งทางความคิด ปะทะทางความเห็น ข้อเสนอแนะ-เสียงท้วงติง-มุมมองของ “นักวิชาการ” มักนำไปสู่ “ทฤษฎีใหม่” เพื่อทลายทางตันทางการเมือง

ปัญญาชนที่ได้รับเทียบเชิญให้ออกจาก “รั้วมหาวิทยาลัย” มาร่วมวงศึกษาแก้ไขกฎหมายหลัก-ปัญหาสำคัญของบ้านเมือง มักถูกยกขึ้นเป็น “อรหันต์”

แต่ไม่ใช่ในยุคสมัยนี้ ที่คนไทยเลือกสี-แบ่งข้าง-ฝักใฝ่ขั้วหนึ่งขั้วใดชัดเจน

ทำให้ “ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” และคณะรวม 18 คน ที่เข้ามาร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็น “ทายาทอสูร”

“สังคมที่มีความขัดแย้งก็แบบนี้ ถ้าเขาเห็นว่าสนับสนุนฝ่ายเขา เขาก็ชอบ เขาเห็นว่าไม่สนับสนุนฝ่ายเขา เขาก็ไม่ชอบ เขาไม่ได้ดูว่าความเห็น ว่ามันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับประเทศ เขาพูดถึงเรื่องเลือกข้างน่ะ ถ้าคุณไปแสดงความเห็นตรงกับประโยชน์เขา เขาก็พอใจคุณ แต่ถ้าไปแสดงความเห็นไม่ตรงกับประโยชน์เขา เขาก็จะบอกว่าคุณมันฝ่ายตรงข้าม”

แม้เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย-เป็นแนวหน้าของขบวนการนักศึกษา ทว่าวันนี้ “สมบัติ” กลับถูกผลักให้ไปยืนเคียงข้างฝ่ายเผด็จการ พร้อมฉาบ “สีเหลือง” เข้าใส่

ลึกๆ ในความรู้สึกนึกคิดของ “สมบัติ” เป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่เขาแสดงออกคือ…

“อย่าไปใส่ใจ ถ้าใส่ใจมาก คุณก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มองถึงตัวตนความเป็นมาของคุณ เขามองเรื่องประโยชน์ ถ้าไปเดือดร้อนใจ คุณก็เป็นเหยื่อเขาเปล่าๆ ก็ถือว่าใครมีสิทธิจะพูดอะไร ก็ปล่อยเขาไป เราเป็นตัวตนเรามาถึงทุกวันนี้ เราเป็นของเราแบบนี้ตั้งแต่เป็นหนุ่ม เรียกร้องประชาธิปไตย จุดยืนเป็นอย่างนี้ ไม่เคยไปขายตัวให้นายทุนสามานย์คนไหน ไม่เคยเป็นลูกสมุนใคร เราทำหน้าที่ของเราแบบนี้ตลอด…มันธรรมดาในสังคมน่ะครับ อันนี้ปกติ คุณไปเอาสาระไม่ได้หรอก ถ้าไปเอาสาระ คุณก็ต้องผูกคอตาย”

“ไอ้คนที่มาว่าเราเนี่ย ถามว่าเส้นทางชีวิตมันเป็นอย่างไรบ้าง?”

เขาตั้งคำถามกลับไปที่พรรค-พวกที่ตั้งสมญา “ทายาทอสูร” ให้ ก่อนชิงตอบเองอย่างรวดเร็ว

“ถ้าสื่อสนใจไปศึกษาดูหน่อย ก็จะเห็นว่ามันไม่มีราคาที่จะเอาตัวเราไปเกลือกกลั้วด้วย เขาจะพูดอะไรมันเรื่องของเขา เขามีปาก เราไปห้ามเขาไม่ได้ ยกเว้นมาพูดหมิ่นประมาทโดยตรง แบบนี้เราป้องกันตัวเราได้”

หากใครเคยเข้าเว็บไซด์วิกิพีเดีย จะพบว่า คำอธิบายตัวตนของชายชื่อ “สมบัติ” คือ “อธิการบดีที่ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” ซึ่ง “บุรุษผู้ถูกนิยาม” ไม่ขอต่อความยาวสาวความยืดกับ “ผู้นิยาม” เพราะมองว่าวันนี้ใครอยากจะเขียนอะไรก็ไปเขียนได้ ใส่สีคนอื่นมันง่ายนัก

“เพียงเพราะนายกฯ อภิสิทธิ์ตั้งผมเป็นประธานแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือ ถามว่าข้อเสนอของผมมันตรงกับความต้องการของ ปชป. ไหม แล้วพรรคเขาชอบไหม พรรคก็ไม่ได้ชอบ เราประชุมกันนี่ ถามว่ากรรมการมีอิสระไหม ตั้งแต่ผมเป็นกรรมการ คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยมาพูดอะไรกับผมเรื่องนี้ ผมมีทั้งเพื่อนทั้งลูกศิษย์อยู่ใน ปชป. ก็ไม่มีใครมาพูดอะไรกับผม เขารู้ว่าผมเป็นใคร กรรมการทุกคนถามว่ามีใครพยายามมาล็อบบี้ไหม ก็ไม่มี เราก็ทำงานกันตรงไปตรงมา แต่เขาก็จับเราง่ายๆ สังคมไทยมันป้ายสีกันง่าย มันจับคู่อะไรกันได้ แต่ไม่ได้สนใจไปดูจริงๆ ว่ามันเป็นอย่างไร”

สอดคล้องกับน้ำคำของ 1 ใน 18 อรหันต์ ที่บอกว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวเจ็บช้ำจากรัฐบาล ปชป. เพราะสุดท้าย “อภิสิทธิ์กับพวก” เลือกหยิบเพียง 2 ประเด็น ที่ตรงกับความต้องการของเขา จากที่เสนอไป 6 ประเด็น

“สมบัติ” พยักหน้ารับ ก่อนบอกว่า “ถูกต้องๆ ใช่ๆ เพราะเราเสนอไป 6 ข้อ แต่ก็ถูกหยิบเฉพาะส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์”

ท้ายที่สุด “นักวิชาการที่ถูกฉาบสี” ทวนความคิด-แสดงตัวตนผ่านคำพูดที่จงใจเน้นย้ำอีกครั้งว่า “ในชีวิตผมไม่เคยไปรับใช้ผู้อื่นเพื่อจะหาประโยชน์ใส่ตัวเอง โดยเฉพาะรับใช้คนชั่ว รับใช้นักการเมืองฉ้อฉล ไม่เคยไปทำอย่างนั้น”