ThaiPublica > คนในข่าว > ลวดลายของ “ชวน หลีกภัย” ลูกไม้ของประชาธิปัตย์ ม็อบของสุเทพ ทางปฏิรูปของอภิสิทธิ์ ไม่ไปเลือกตั้ง-ไปปราศรัยทุกพื้นที่ การันตี “ผมรู้จักระบอบทักษิณดีที่สุด”

ลวดลายของ “ชวน หลีกภัย” ลูกไม้ของประชาธิปัตย์ ม็อบของสุเทพ ทางปฏิรูปของอภิสิทธิ์ ไม่ไปเลือกตั้ง-ไปปราศรัยทุกพื้นที่ การันตี “ผมรู้จักระบอบทักษิณดีที่สุด”

3 กุมภาพันธ์ 2014


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กSuthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ผลการเลือกตั้งออกมาให้เห็นเป็นตัวเลขแล้ว แต่ผลลัพธ์ของตัวเลขเลือกตั้งยังนำไปแปรผลเป็นคำตอบทางการเมืองไม่ได้

สมติฐานของฝ่าย “ม็อบสุเทพ” หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศ “ชัยชนะ” บนตัวเลขคณิตศาสตร์การเมืองที่ว่า ตัวเลขคนไม่ไปเลือกตั้ง บวกตัวเลขคนไปเลือกตั้งแต่โหวตโน เท่ากับจำนวนคนเลือกฝ่ายประชาธิปัตย์และฝ่ายม็อบสุเทพ

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ประกาศ “ชัยชนะ” บนตัวเลขแบบเส้นยาแดงฝ่าแปดของคนส่วนใหญ่ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ คือราว 50 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้าที่คูหาการเลือกตั้งจะเปิด และถูกปิดสนิททั่วพื้นที่ภาคใต้ ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสนทนาศิลปะการเมือง กับหัวขบวนฝ่ายประชาธิปัตย์ ผู้มีบารมีแห่งม็อบ กปปส. จอมหลักการแห่งพรรคอนุรักษ์นิยม เจ้าของวรรคทอง “ผมไม่ซื้อเสียง”

นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค ปรากฏตัวทั้งข้างเวที กปปส. และหน้าเวที เปิดตัวพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพมหานคร

เขาบอกว่า ตั้งแต่มีการจัดการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวทีสถานีรถไฟสามเสน ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เขาไปเป็นกำลังใจให้กับผู้ชุมุนุม ด้วยการไปวาดภาพประวัติศาสตร์ “คนการเมือง” ในอิริยาบถต่างๆ ไว้แล้ว หนากว่าสามนิ้ว

นายชวน หลีกภัย ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายชวน หลีกภัย ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

“ผมชอบวาดภาพท่าทางของคนที่มาชุมนุม โดยเฉพาะคราวนี้ ทุกคนมีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ต่างไปจากทุกครั้ง คือมีอย่างหนึ่งอย่างใดในเครื่องแต่งกายที่เป็นธงชาติบ้าง ใส่หมวกสีไตรรงค์บ้าง บางคนก็มีท่าทีที่แข็งกร้าว บางคนก็มีรอยยิ้มที่น่ารัก เป็นมิตรครับ” นายชวน เล่าความชมชอบชีวิตในม็อบมวลมหาประชาชน

แคมเปญก่อนเข้าสู่โค้งอันตรายทางการเมือง ทั้ง 2 พรรคใหญ่ ต่างชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ขณะที่พรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดปราศรัยปิดเกมที่กรุงเทพฯ และฝ่ายประชาธิปัตย์จะจัดให้มีอีเวนต์ หรือแคมเปญของพรรค เรื่องโหวตโน แต่พอเข้าโค้งสุดท้าย ปัจจัยสารพัดที่ไม่อาจควบคุมก็เกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดศึกมีปัญหากับรัฐบาลเรื่อง “เลื่อน-ไม่เลื่อน” เลือกตั้ง ฝ่ายพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีอีเวนต์ปราศรัยปิดฉากในเมืองหลวงเหมือนทุกครั้ง ฝ่ายประชาธิปัตย์จึงผ่อนคลายความอึดอัด ไม่จัดให้มีแคมเปญการเมืองออกมาสู้

แต่ฝ่ายประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ชิงลงมือส่งสัญญาณผ่านสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ก่อนวันลงคะแนน 3 วัน ว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นโมฆะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่บอกนัยการเมืองชัดแจ้งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้การเลือกตั้งต้องจัดวันเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ

ท่ามกลางความอลหม่าน ของสมาชิกพรรค ส.ส. ของพรรค อดีตกรรมการบริหารพรรค ที่ต้องกำหนดท่าทีส่วนตัว หาคำอธิบายสำหรับการไป-ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อรักษาสิทธิทางการเมือง

การขับเคลื่อน 2 ขา บนฐานการเมือง 2 ข้าง ทั้งข้างพรรคประชาธิปัตย์ และข้างผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. จึงก้าวไปข้างหน้าในจังหวะคิดเดียวกัน คือ “ไม่ไปเลือกตั้ง”

ใครๆ ในเวทีการเมืองต่างรู้กันทั่ว และมีภาพจำว่า ชื่อ “ชวน หลีกภัย” เป็นจอมหลักการ-หลักประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อเวที กปปส. เคลื่อนไหวบางประเด็นเข้าข่าย “เลยธง” อาจทำให้ “นายชวน” ส่ายหน้าไม่เห็นด้วย แต่ความจริงแล้ว “นายชวน” บอกว่า แคมเปญการเมืองของประชาธิปัตย์ กับอีเวนต์การเมืองหรือวาระของ กปปส. ไม่มีประเด็นใดขัดแย้งกัน เพราะทั้งสองขา ต่างเห็นด้วยกับเรื่อง “หลักประชาธิปไตย”

ดังนั้น ภาพนายชวน หลีกภัย เดินสายไปให้กำลังใจนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้างเวที กปปส. และไปเป็นกองเชียร์หน้าเวที ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค แถลงเปิดตัวการปฏิรูปการเมือง จึงยังเป็นภาพที่สะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง 3 ขั้วอำนาจ 3 หุ้นส่วนการเมืองแห่งค่ายประชาธิปัตย์ ทั้งสายนายชวน หลีกภัย, สายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายชวน หลีกภัย(เสื้อขาวถือสมุด) - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กSuthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายชวน หลีกภัย (เสื้อขาวถือสมุด) – นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

นายชวนบอกว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติพรรคว่า “ไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง” เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เป็น “มติพรรคที่ไม่ชุ่ย” มีคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองได้ เพราะหลังการ “บอยคอต” การเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญเสมอ

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่นักเลือกตั้งตลอดชีวิตอย่าง “นายชวน หลีกภัย” ยังทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และมีความถี่ยิ่งกว่าฤดูกาลการเลือกตั้ง

ในช่วงที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เขาเดินสายพบปะผู้นำศาสนา ไปคลุกคลีกับผู้นำท้องถิ่น สอบถามปัญหาระดับเจาะลึก ในระดับความถี่ที่ไม่ทำให้นักการเมืองปักษ์ใต้ขั้นเทพแบบเขา “เอาต์” จากรากการเมืองและเกมอำนาจในชายแดนใต้

และแม้ว่า ไม่มีการเปิดเวทีปราศรัยเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง อย่างเป็นทางการ แต่การปราศรัยของนายชวน หลีกภัย นักการเมืองภาคใต้ จัดขึ้นเป็นวาระคราวใด เรียกแขก เรียกคนมาฟังเต็มพรึบ พร้อมเพรียง ทุกเวที

ในช่วงที่ กปปส. เร่งเครื่องยกระดับการเคลื่อนไหวในเมืองกรุง ปิดกรุงเทพฯ เปิดทางปฏิรูป นายชวน หลีกภัย ก้าวขึ้นเวทีย่อย ที่หน้าศาลากลาง จังหวัดตรัง ปราศรัยกับญาติการเมือง

“แม้เราไม่ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งทั่วไป แต่พรรคจำเป็นต้องชี้แจงแนวทางการเมืองกับฐานเสียงและพี่น้องของเรา ผมปราศรัยอธิบายทำความเข้าใจกับพี่น้องว่า เราชาวปักษ์ใต้ถูกเลือกปฏิบัติทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และโอกาสทางสังคม เช่น เขาประกาศนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ด ใช้งบประมาณหลายแสนล้าน แต่ราคายางพารากลับตกต่ำ ไม่ได้รับการดูแล ถนนหนทางไม่ได้พัฒนาต่อเนื่อง คนใต้ไม่ได้รับความเป็นธรรม…นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พี่น้องชาวใต้เข้าสู่การชุมนุมกับ กปปส. จำนวนมาก” นายชวนอธิบาย

ถามเรื่องอนาคตการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นหัวใจของฝ่ายประชาธิปัตย์และม็อบ กปปส. นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 20 บอกคล้ายกับที่ตอบ-ตอก นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ว่า “ผมบอกท่านบรรหารไปว่า การปฏิรูป ต้องมีการปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่พูด ผมกล้าพูด ว่าที่ผมชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ผมไม่เคยซื้อเสียง นี่คือความจริง ไม่ใช่แผ่นเสียงตกร่อง”

เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 มาทำหน้าที่ทูตปฏิรูป ให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อประคองอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ในห้วงที่คนทั่วทั้งท้องถนนจัดแถวตั้งแนวต้าน “ระบอบทักษิณ” นายชวนจึงไม่ลังเล ร่วมเป็นกำลังใจ ออกเดินร่วมทางกับมวลมหาประชาชน พร้อมการันตีว่า “ผมเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ที่รู้จักระบอบทักษิณมากที่สุด”

ก่อนลาจากกัน นักข่าวถามทิ้งท้ายว่า จะมีโอกาสเห็นภาพ นายชวน หลีกภัย ไปลงเลือกตั้งหรือไม่ เขาไม่ตอบตรง แต่ตอบสวน ทีเล่นทีจริง ด้วยลวดลาย ลูกไม้การเมืองรุ่นเก๋า ว่า “เลือกตั้งนายกฯ อบต. หรือ?”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ความทีเล่นทีจริงข้อนี้มีนัยการเมือง คือ หากไม่ไปเลือกตั้งทั่วไป ทำให้เสียสิทธิ์การเมือง แต่ถึงอย่างไรเขาก็ต้องไปเลือกตั้งนายกองค์การบริหารตำบล หรือเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่ถูกจัดขึ้นเป็นระยะ การกากบาทครั้งถัดไป ก็จะทำให้สิทธิคืนสู่มือนักการเมือง นักเลือกตั้ง…อีกครั้ง

การเมืองเวลานี้ ยังเปิดโอกาสให้ ทั้งนายชวน หลีกภัย, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้โลดแล่น ใช้ศิลปะการเมือง วาดลวดลาย ขีด-เขียน เส้นทางชีวิต ให้กับคนการเมืองและมวลมหาประชาชน ไปได้อีกหลายฤดูกาล

แต่ปลายทางของเส้นชีวิต ของเกมอำนาจ จะบรรจบ จนบรรทัดสุดท้ายเมื่อใด บุรุษผู้เชี่ยวชาญการเมืองเกือบทั้งชีวิต ทั้ง 3 คนยังยากจะคาดเดา