ThaiPublica > คนในข่าว > “สันติภาพ อินทรพัฒน์” อดีต ผอ.องค์การค้าของ สกสค. แก้ต่างทุกข้อกล่าวหา

“สันติภาพ อินทรพัฒน์” อดีต ผอ.องค์การค้าของ สกสค. แก้ต่างทุกข้อกล่าวหา

20 กุมภาพันธ์ 2012


นายสันติภาพ อันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
นายสันติภาพ อันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

สำนักข่าวไทยพับลิก้าเสนอข่าวซีรีส์ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาคพิสดารขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ชุดใหญ่ โดยเปิดตอนแรกในวันที่ 12 ธันวาคม 2554 คือเรื่ององค์การค้าของ สกสค. แต่งตั้งนางพรทิพย์ เขมะรัตน์ เป็นผู้ประสานการขายขององค์การค้าของ สกสค. เข้าไปติดต่อขายสินค้าให้กับรายการครอบครัวข่าว 3 (อ่าน”เปิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง “องค์การค้าของสกสค.”)

ขณะที่ประธานคณะกรรมการกองทุนครอบครัวข่าว 3 ปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักกับนายพรทิพย์ และยืนยันว่า ทุกครั้งที่มีการนำเงินบริจาคของประชาชนไปซื้อสินค้า ช่อง 3 จะสั่งซื้อตรงจากบริษัทผู้ผลิต ไม่เคยซื้อผ่านนายหน้า (อ่าน “ช่อง 3 แจงสั่งซื้อตรงจากองค์การค้าของ สกสค. ไม่ผ่านนายหน้า รมช.ศึกษา ชี้ หากมีมูลชงดีเอสไอ-ปปช.-ปปง. สอบต่อ”)

จากนั้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2554 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เสนอข่าว ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ขายที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการของ สกสค. (อ่านเพิ่ม “ครูสุราษฎร์ฝันสลาย องค์การค้าฯขายที่ดิน 48 ไร่ ส่อขัดมติบอร์ดสกสค.ต้องสร้างบ้านขายสมาชิกครู”)

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยพับลิกก้าได้มีการนำเสนอข่าวซีรีส์ชุดนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมา น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. มีคำสั่งย้ายนายสันติภาพออกจากตำแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 (อ่าน “บอร์ด สกสค. นัดพิเศษ สั่งย้าย “ผอ.องค์การค้าฯ” พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง”)

และในวันนั้น เป็นวันที่นายสันติภาพเดินทางมาชี้แจงกับคณะกรรมการ สกสค. สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงขอสัมภาษณ์ทั้งในกรณีการขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และกรณีแต่งตั้งผู้ประสานการขายขององค์การค้าของ สกสค. ขายสินค้าให้ครอบครัวข่าว 3 โดยนายสันติภาพได้ตอบถามในประเด็นต่างๆดังนี้

ไทยพับลิก้า : การขายที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำไมคุณสันติภาพไม่ขออนุมัติบอร์ดก่อนขาย

ผมเข้าใจว่าเรื่องการขายที่ดิน เป็นอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เพราะที่องค์การค้าฯ ซื้อที่ดินมา เจ้าหน้าที่ลงบัญชีว่าเป็นสินค้า ตรงนี้ขอให้ฟังให้ดี ถ้าเจ้าหน้าที่ลงบัญชีเป็นสินทรัพย์หรือทรัพย์สิน ผมขายไม่ได้แน่นอน ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการของ สกสค. ก่อน แต่นี่เจ้าหน้าที่ลงบัญชีไว้ในงบดุลของทุกปี บรรจุอยู่ในหมวดของสินค้ามีไว้เพื่อขาย ซึ่งมีอยู่หลายรายการ และที่ดินก็อยู่ในหมวดนี้ด้วย

ถ้าย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์การค้าของ สกสค. ตั้งขึ้นมาเพื่อค้าขาย หากำไร และที่ผ่านมาไม่เคยมีมติคณะกรรมการ สกสค. ระบุว่าผู้อำนวยการองค์การค้าขายสินค้าได้ทุกเรื่องยกเว้นที่ดิน เคยมีมติคณะกรรมการเขียนไว้อย่างนี้ไหม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ลงบัญชีไว้เช่นนั้น ทำให้ผมเข้าใจว่าเป็นสินค้า ผมก็ขายได้

ที่ดินแปลงนี้ซื้อมาเมื่อปี 2537 ในราคา 12 ล้านบาท ก่อนจะขาย ผมทำหนังสือถามไปที่สำนักงานที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า ราคาประเมินที่ดินแปลงนี้เท่าไหร่ สำนักงานที่ดินฯ ตอบกลับมาว่า 5.2 ล้านบาท ยังไม่พอให้บริษัทประเมิน ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการคลังประเมินอีก บริษัทบอกว่า 25 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่บอกว่า มีคนมาติดต่อขอซื้อที่ดินขอองค์การค้าของ สกสค. แบบยกแปลงในราคา 36 ล้านบาท

ไม่ใช่ผมไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่ แต่ผมแอบขึ้นเครื่องบินไปดูสภาพของที่ดินด้วยตาของตนเอง พบว่ามันเป็นป่า จากนั้นผมก็กลับมาตั้งเงื่อนไขชนิดที่เรียกว่าไม่อยากจะขาย ผู้ซื้อเสนอราคาที่ 36 ล้านบาท แต่ผมตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องขายได้ไร่ละ 1 ล้านบาท ขายยกแปลงรวมเป็นเงิน 47 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ซื้อต้องออกค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายการโอนทั้งหมด องค์การค้าของ สกสค. รับเงินอย่างเดียว 47 ล้านบาท

สรุปจากราคาประเมิน 25 ล้านบาท มีคนมาขอซื้อ 36 ล้านบาท ผมตั้งราคากลับไป 47 ล้านบาท คนทั่วไปยังมองว่าผมเอาเปรียบคู่สัญญามาก คือ 1. ผู้ซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี 2. อนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าไปพัฒนาที่ดิน เช่น ถมที่ดิน วางระบบระบายน้ำ ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ผู้ซื้อออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากผู้ซื้อไม่สามารถโอนได้ทันตามกำหนด ต้องรับค่าใช้จ่ายนี้ไป โดยจะมาเรียกร้องจากผู้ขายไม่ได้ และ 3. ผมไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อปรับองค์การค้า ปกติถ้าผู้ขายไม่สามารถโอนที่ดินให้ผู้ซื้อได้ จะต้องถูกผู้ซื้อปรับ 3-4 เท่าของราคาที่ดิน ผมบอกอย่าปรับองค์การค้า สกสค. เลย เราต้องขายให้อยู่แล้ว เรามีเจตนาบริสุทธิ์ ผู้ซื้อก็ไม่ปรับ

เวลาเขียนสัญญาต้องโอนภายใน 8 เดือน แต่ไปใส่ 9 เดือน ก็อาจจะผิดพลาดทางตัวเลข แต่พอเราทำสัญญากับผู้ซื้อเสร็จ ผู้ซื้อต้องการให้องค์การค้าฯ รีบโอนที่ดินผืนนี้โดยเร็ว แค่ 3 เดือนหลังทำสัญญาเสร็จ ลูกค้าก็มาขอนัดโอนที่ดินแล้ว การกระทำการใดๆ ที่อยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการขององค์การค้าของ สกสค. ผมถือว่าเป็นอำนาจผม ผมไม่ทุจริต ไม่โกง ผมถึงตอบคำถามของคุณได้ทุกประเด็น

ไทยพับลิก้า : ที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์มี 2 แปลง กรณีสัญญาระบุว่า ผู้ซื้อสามารถโอนที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งก่อนได้ ถ้าจ่ายเงินเกินครึ่งหนึ่ง และสัญญายังระบุอีกว่า เมื่อถึงวันทำนิติกรรมสัญญาสามารถโอนเปลี่ยนมือไปให้ผู้ซื้อรายอื่นได้ ทั้ง 2 กรณี ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ซื้อไหม

ไม่ๆ คืออย่างนี้ ผมไม่อยากให้สังคมไขว้เขว เราทำสัญญาไว้ เราบอกว่าเมื่อผู้ซื้อซื้อที่ดินเราไป หลังจากที่ทำสัญญาเสร็จ ผู้ซื้อประสงค์จะโอนต่อให้นาย ก หรือ นาย ข ก็เป็นเรื่องของผู้ซื้อ แต่เราต้องได้รับเงินเต็ม สมมติ แปลงแรกผู้ซื้อจ่ายเรา 30 ล้านบาท ประสงค์จะโอนให้นาย ก เลยก็เรื่องของผู้ซื้อ เราไม่รับรู้ เราได้รับเงินเต็ม เราเสียหายตรงไหน

บางคนตั้งประเด็นว่า สัญญาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อ ผมขอชี้แจงว่า ถ้าผมโอนที่ดินไปให้ผู้ซื้อแล้ว และผู้ซื้อเอาไปขายต่อ จะต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน 2 ครั้ง ตรงนี้ต้องนึกถึงคนทำธุรกิจด้วย ผู้ซื้อจะไปโอนต่อให้ใครนั้นองค์การค้าฯ ไม่เสียหาย เราได้รับเงินเต็มจำนวน ตอนซื้อมา 12 ล้านบาท ผมขายไป 47 ล้านบาท และผมไม่เคยรู้จักผู้ซื้อมาก่อน ผมตอบคำถามของสังคมได้ทุกเรื่อง ถ้าใครถามผม ผมก็ตอบแบบนี้

ไทยพับลิก้า : ส่วนกรณีแต่งตั้งผู้ประสานการขาย เพื่อขายสินค้าขององค์การค้าฯ ให้ครอบครัวข่าว 3 ซึ่งช่อง 3 ออกมาปฎิเสธว่าไม่รู้จักและไม่เคยติดต่อกับผู้ประสานการขายรายนี้ จะชี้แจงอย่างไร

เอาอย่างนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าช่องทางการจำหน่ายขององค์การค้าของ สกสค. มีอยู่ 3 ช่องทาง คือ 1) ขายผ่านร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ 10 สาขา 2) ขายผ่านเอเย่นต์ หรือ ซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย 240 ร้านค้า 3) ผู้ประสานการขาย 50 ราย

ผมไม่ได้ใช้อำนาจผม แต่เรื่องผู้ประสานการขาย เราขออนุมัติบอร์ดว่าเราจะมีผู้ประสานการขาย เพื่อให้สินค้าของเราไปถึงทุกท้องที่ทุกตำบล และผู้ประสานการขายไม่มีค่ารถ ค่าจ้าง ไม่มีค่าน้ำมัน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง เขาไม่ได้อะไรจากเราเลย ใครมาเป็นผู้อำนวยการก็เซ็นรับรองการเป็นผู้ประสานการขายได้ แต่เวลาผู้ประสานการขายสั่งสินค้ามา เราก็ไปสั่งให้เพราะเป็นผู้ประสานการขาย ไม่มีค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายให้

แน่นอน องค์การค้าฯ ต้องขนส่งให้และไปบวกเอากับผู้ซื้อ แต่ผู้ประสานการขายก็เป็นแต่เพียงนายหน้าติดต่อ สมมติว่า ผู้ประสานการขายไปเอาช่อง 3 มาซื้อหน่อยสิ ช่อง 3 ก็มาซื้อ มาซื้อดีไหม แทนที่เมื่อก่อนเขาซื้อผ่านนายหน้าหรือซื้อผ่านตัวแทนร้านค้า ตัวแทนร้านค้าก็ไปสั่งบริษัท บริษัทก็จะส่งมาที่ร้านค้า ช่อง 3 ก็ซื้อแพงไง และที่สำคัญที่สุด หนังสือไม่ได้ตรงตามความต้องการของโรงเรียน แต่เขาซื้อตรงนี้ ครูบอกว่า หนังสือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ เขาก็สั่งมาก 800-1,000 ชุด เราก็ไปส่งให้ที่ลพบุรี

ไทยพับลิก้า : ทางช่อง 3 บอกว่า ช่อง 3 สั่งซื้อตรงกับองค์การค้าไม่ได้ผ่านตัวแทนหรือนายหน้า

ซื้อตรงก็มี แต่ผมตอบไม่ได้ แต่ก็มีสั่งซื้อผ่านผู้ประสานการขาย ถ้าสั่งซื้อผ่านผู้ประสานการขายและจะต้องดำเนินการตามระเบียบ ผมไปยุ่งไม่ได้ ส่วนผลตอบแทนของผู้ประสานการขายและร้านค้ามีหลายอัตรา ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและมีมติกรรมการฯ ของ สกสค. รองรับ

“ผมผิดตรงไหน ผมยังหาคำตอบไม่เจอ ดีเสียอีกสิ ถ้าองค์การค้าขายของได้เยอะๆ และที่มาว่าก็คือคนที่เคยไปหาช่องและผ่านตัวแทน ก็ไอ้คนในองค์การค้าฯ นี่แหละ หากินอยู่กับร้านค้า”

ไทยพับลิก้า : ล่าสุด บอร์ดของ สกสค. เพิ่งมีมติแขวนคุณสันติภาพ จะทำอย่างไร

ถ้าเป็นมติบอร์ดก็โอเค ผมไม่ว่าอะไร แต่อย่าลืม ผมมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ข้าราชการ หากกรรมการของ สกสค. จะเลิกจ้างผม ตามสัญญาจ้างจะมีอยู่ 2 กรณีคือ พบว่ามีการกระทำทุจริตอย่างร้ายแรง หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

แต่ผมเข้ามารับตำแหน่งที่นี่ หารายได้ให้กับองค์การค้าของ สกสค. ผมเข้ามาบริหารที่นี่ยอดขาย 1,900 ล้านบาท พอผมเข้ามาบริหาร ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 2,700 ล้านบาท จะเอาอย่างไร หนี้สินลดลงด้วย องค์การค้าฯ เคยเป็นหนี้ธนาคาร 1,500 ล้านบาท ตอนนี้เหลือ 1,200 ล้านบาท ค่าจ้างพิมพ์ ค่าสั่งซื้อกระดาษ ผมเคลียร์หมดไม่มีติดค้าง เงินค่าบำเหน็จเจ้าหน้าที่ปี 2552-2554 ผมทยอยจ่ายไป ปี 2552 และปี 2553 ผมปิดบัญชีหมดแล้ว ส่วนปี 2554 ผมจ่ายค่าบำเหน็จให้กับพนักงานไปอีกกว่า 30 ล้านบาท

“จะเอาอะไรกับผมอีก พนักงานที่มาประท้วง ไปฟ้องผม พอผมฟ้องกลับบ้างก็มาประท้วงกัน องค์การค้ามีพนักงานกว่า 1,600 คน แต่มาประท้วงแค่ 200 คน โรงพิมพ์ผมเปิดทำการตามปกติ พนักงานยังขนหนังสือไปส่งลูกค้าตามปกติ ผมถึงพูดว่าใครไคร่หยุดก็หยุด ใครไคร่ทำงานก็ทำ อนาคตที่นี่คือหม้อข้าวของท่าน ท่านจะทำงานอะไร ก็เรื่องของท่าน ผมไม่ขัดขวาง”

พวกที่มากล่าวหาผมว่า “ทุจริต” ขณะเดียวกัน ก็มีพนักงานบางคนโดนไป 2 เรื่อง ผมส่งฟ้องคดีที่ศาลอาญา ศาลประทับรับฟ้องคดีว่ามีมูล ที่มีประท้วงกล่าวหาผม ผมถือว่าเป็นคนวิตกจริต ผมไม่ได้เครียด ว่ากันไปตามสบาย ผมไม่ได้ชั่วอย่างนั้น ผมจึงไม่สะทกสะท้าน

ไทยพับลิก้า : กรณีที่กรรมการ สกสค. สั่งให้มาทำงานที่ สกสค. คุณสันติภาพไม่ได้ทำงานที่องค์การค้าฯ แล้วจะประเมินผลงานได้อย่างไร

ถ้าแขวนผมก็ต้องมีเหตุผล และถ้าจะประเมินผลงานผมก็ประเมินไป แต่ไม่ใช่จะมาประเมินแค่ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผมทำงานที่นี่มาเป็นปี ต้องมาดูผลงานของผมย้อนหลังว่าเข้ามาบริหารแล้วขาดทุนลดลงไหม ประการที่ 2 พนักงานให้ความร่วมมือไหม

ก่อนผมเข้ามาบริหารที่นี่ องค์การค้าฯ ขายเศษกระดาษ เศษขยะ ได้เดือนละ 2 แสนบาท พอผมเข้ามาบริหารที่นี่รายได้ส่วนนี้เพิ่มเป็น 2 ล้านบาทต่อเดือน ผมทำได้อย่างไร ก็คือผมนิมนต์คนที่ไม่ทำงานออกไปเยอะมาก คนกุมเรื่องขายวัสดุ ขายเศษ โกงทั้งราคาทั้งน้ำหนัก โกงทั้งปริมาณ ราคาเศษกระดาษมีทั้งกิโลกรัมละ 5 บาท 7 บาท 12 บาท และ 16 บาท เวลาเขาลงบัญชีเขาลงราคาเดียวกิโลกรัมละ 5.50 บาท

ไทยพับลิก้า : หนี้สูญขององค์การค้าฯ ที่เพิ่มสูงกว่าประมาณการมาก เป็นเพราะอะไร

หนี้สูญเป็นอย่างนี้ครับ การพิมพ์หนังสือ ก่อนผมเข้ามาบริหารที่นี่ หลักสูตรการเรียนปี 2544 ถึง 2554 มีอายุ 10 ปี ฉะนั้น การพิมพ์หนังสือต้องระวัง สมมุติ หลังสือใกล้สิ้นสภาพปี 2554 ต้องดูด้วยว่าสภาพตลาดเป็นอย่างไร พิมพ์หนังสือเหลือไม่ได้ และต้องระวัง หนังสือตกหลักสูตร คือสิ้นผลบังคับแล้ว เวลาเราพิมพ์ เราต้องระวัง สมัยผม ผมระวัง หนังสือไม่มีเหลือหรอก แต่ก่อนที่ผมมาเข้าบริหาร ใครพิมพ์อะไรไว้ ก็มีกรรมการบอร์ด ต้องไปดูว่าใครเสนอให้พิมพ์ ใครอนุมัติพิมพ์ ใครรับผิดชอบก็ว่ากันไป

ไทยพับลิก้า : กรณีที่กรมสืบสวนคดีพิเศษระบุว่า องค์การค้าฯ ไปจ้างเอกชนมาพิมพ์สมุดขายให้ อบจ.อุดรธานี มูลค่า 31 ล้านบาท เข้าข่ายฮั้วประมูล เรื่องนี้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร

ผมไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งที่นี่ แต่องค์การค้าฯ ไม่ใช่หน่วยงานราชการ องค์การค้าฯ ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย องค์การค้าฯ ไม่เคยได้รับงบประมาณแม้แต่สลึงเดียวจากรัฐบาล ตั้งแต่ก่อตั้งถึงปัจจุบัน รัฐไม่เคยสนับสนุน องค์การค้าฯ เสียอีกที่พิมพ์หนังสือสนับสนุนรัฐบาลภายใต้ราคาต้นทุนที่กำหนดโดยรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อราคาถูกกำหนดโดยรัฐ เวลาพิมพ์หนังสือออกมาขาย องค์การค้าฯ ก็จะขาดทุนเล่มละ 7 บาท ปีหนึ่งพิมพ์ 35 ล้านเล่ม ก็ขาดทุนเกือบ 250 ล้านบาท องค์การค้าฯ ต้องมาแบกรับภาระขาดทุนทุกปีๆ แล้วมันเรื่องอะไร ขาดทุนสะสมมา 4 ปี ประมาณ 1,000 ล้านบาท พอปีที่ 5 กลายเป็น 1,250 ล้านบาท ปัจจุบันมีหนี้สะสมกว่า 3,000 ล้านบาท ถามว่าทำไมองค์การค้าฯ ต้องมาแบกรับผลขาดทุนจำนวนมาก

เวลาองค์การค้าจะพิมพ์หนังสือ ก็ถูกล็อกเอาไว้ด้วยคุณภาพของกระดาษ ต้องขายราคาที่รัฐกำหนด องค์การค้าฯ จึงขาดทุน ทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล แต่เหตุผลที่องค์การค้าฯ ต้องมาแบกการขาดทุนแทนรัฐบาล เพราะเราคิดว่าหนังสือคือมันสมองของชาติในอนาคต น้ำมัน ก๊าซเอ็นจีวี รัฐอุดหนุน แต่อันนี้ทำไมไม่ช่วยองค์การค้าฯ เราพิมพ์หนังสือขายให้กับโรงเรียนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี ขาดทุนเล่มละ 7 บาท แน่นอน ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ผมท้วงติงไปทีหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีผลอะไร

ไทยพับลิก้า : ทำไมไม่ขึ้นเงินเดือน 3% ให้กับพนักงานตามมติ ครม. ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาตัดสินออกมาแล้วว่าให้จ่าย

ประเด็นนี้ตอบง่ายนิดเดียว คือ องค์การค้าฯ ไม่มีเงิน แล้วจะให้ผมทำอย่างไร จะไปกู้แบงก์ก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ แค่มีเงินเดือนจ่ายพนักงานในแต่ละเดือน จ่ายตรงเวลาก็ดีแล้ว ในแต่ละปี ผมตั้งงบฯ จ่ายเงินเดือนพนักงานไม่เคยขาด ซึ่งก่อนหน้าที่ผมเข้ามา ต้นเดือนจ่ายที กลางเดือนจ่ายอีกที พอผมมาบริหารที่นี่ ผมวางแผนการใช้เงิน ผมแต่งตั้ง “ไอเอ็มเอฟ” ประจำโรงพิมพ์ คือมีที่ปรึกษาวางแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูองค์กร คอยให้คำแนะนำผม ตรงนี้จ่ายได้ ตรงนี้จ่ายไม่ได้ ผมถึงมีเงินจ่ายพนักงานปีหนึ่งเต็มๆ ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ผมจ่ายเงินเดือนเร็วขึ้นกว่าปกติที่ต้องออกทุกสิ้นเดือน แค่วันที่ 25 ของทุกเดือน เงินเดือนก็ออกกแล้ว

“ปี 2547 ครม. มีมติให้ขึ้นเงินเดือน 3% บวก 2 ขั้น แล้วจะเอาเงินที่ไหน ผมอยากฝากข้อคิดให้กับคนที่อยู่ในองค์กร องค์การค้าฯ ให้สามี ให้ภรรยา ให้การศึกษาบุตร ให้บ้าน ให้รถ ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทำไมไม่เสียสละกันบ้าง”

ไทยพับลิก้า : การแก้วิกฤตทางการเงินขององค์การค้าของ สกสค. ต้องทำอย่างไร

ถ้าจะให้องค์การค้ารอด พนักงานต้องให้ความร่วมมือ และไม่เป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดี ผมบอกเลย พูดกับสาธารณะชนได้ ผมไม่ได้ว่าผมเก่ง แต่หลัง 6 เดือน ถ้าผมไม่อยู่ที่นี่แล้วองค์การค้ารอดได้ ผมถือว่าสุดยอด เพราะผมรู้สถานการณ์ขององค์การค้าดี ผมถึงพูดกับพนักงาน ใครไคร่หยุด-หยุด ใครไคร่ทำ-ทำ ที่นี่คืออนาคตของท่าน ท่านจะทุบหม้อข้าวตัวเองก็ตามใจ คือผมพูดให้พนักงานเกิดความรู้สึกรักหวงแหนองค์กร และเกิดความรู้สึกว่าองค์กรแห่งนี้คืออนาคตของพวกเขา

ถ้าองค์กรพัง พนักงานกว่า 1,000 คน ตกงานจะส่งผลกระทบไปถึง 5,000 คนนะ เพราะ 1 คนมีทั้งสามี ภรรยา บุตร พ่อ แม่ ผมจึงให้แนวคิดพนักงานว่า อนาคตองค์การค้าฯ อยู่ในมือพวกท่าน นโยบายของผมคือ ผมรู้อะไรพนักงานต้องรู้เท่าผม ผมไม่ปิดบัง ผมแจ้งให้ทราบทั้งหมด

ส่วนพวกที่มากล่าวหาผม ถามว่าทำอะไรผมได้สักเรื่องไหม คำตอบคือผมไม่โกง ไม่ได้ทุจริต ผมไม่เดือนร้อน ผมมาจากประธานมูลนิธิการกีฬา ผมมีหมู่บ้านจัดสรร 2-3 หมู่บ้าน ผมไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ที่ผมมาบริหารที่นี่ ผมต้องการทำให้คนเห็นว่าผมมีความสามารถในการแก้ปัญหา วางแผนงาน วางแผนคน และวางแผนการเงิน ขณะที่องค์การค้าฯ งานก็ไม่ได้เรื่อง คนก็มีปัญหา เงินก็ไม่มี แล้วมันจะไปได้อย่างไร

สุดท้าย ผมขอแถมอีกสักเรื่อง คือเรื่องสหกรณ์องค์การค้าของคุรุสภา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2520 คุณต้องทราบข้อเท็จจริง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สถานที่ พนักงาน คนทำความสะอาด เป็นภาระองค์การค้าฯ ทั้งหมด ทุกเดือนพนักงานผมต้องหักเงินคนที่กู้เงินให้กับสหกรณ์อีก แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับองค์การค้าฯ องค์การค้าฯ อยู่ไม่ได้ สหกรณ์ฯ ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีองค์การค้าฯ ไม่มีสหภาพแรงงานฯ และก็ไม่มีสหกรณ์ฯ มาใช้องค์การค้าทุกอย่าง กระทั่งไปทำนิติกรรมที่กรมที่ดินก็มาใช้คนขององค์การค้าฯ แล้วมันเรื่องอะไร

ผมจึงขอให้สหกรณ์ฯ ช่วยจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ หน่อย คุณเป็นคนใช้สถานที่ขององค์การค้าฯ ทุกอย่าง ขอเดือนละ 5,000 บาท ก็ไม่ให้ เพราะอะไร เพราะตัวประธานสหภาพแรงานฯ เป็นประธานสหกรณ์ฯ และเวลาประชุมสหกรณ์ฯ คุณหยุดงานที่โรงพิมพ์ คุณประชุมสหภาพฯ คุณหยุดทำงาน ทำให้เสียหายวันละ 7 ล้านบาท ก็ผมไม่ยอมไง จึงเกิดความขัดแย้ง ถ้าผมจะมาแสวงหาผลประโยชน์ ผมต้องตามใจสหภาพแรงงานฯ ถูกไหม แต่ผมไม่ยอมไง จึงเป็นแบบนี้ ผมต้องต่อสู้เพื่อองค์กร