
แม้รัฐบาลจะประกาศเดินหน้าตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555 แต่การดำเนินการจัดตั้งที่มีข้อพิรุธมากมาย (อ่าน เปิดข้อพิรุธตั้งกองทุนพัฒนาสตรี จัดเต็มงบ 7.7 พันล้านบาท กำหนดนิยาม “เอื้อ” – หละหลวม ไม่โปร่งใส) ทำให้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในนามคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มีความเห็นว่า ไม่ควรประกาศใช้ร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555
โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 เพื่อนำเสนอให้นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนตามความเห็นและข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในนาม คปก. (รายละเอียดหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก.ฯ)
ทั้งนี้ ความเห็นหลักๆ ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีคือ การดำเนินนโยบายใดๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมากถึง 7,700 ล้านบาท ควรตราเป็นพระราชบัญญัติ ไม่สมควรกำหนดเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ในขณะเดียวกัน ที่มาของเงินตั้งเป็นกองทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืม จึงเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประเทศและประชาชนอย่างไม่จำเป็น เพราะในขณะนี้มีช่องทางขององค์กรและสถาบันการเงินจำนวนมาก ที่สามารถจัดให้ผู้หญิงที่มีความยากลำบากในพื้นที่ต่างๆ ได้กู้ยืมเงินอยู่หลายช่องทาง หากสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการกู้ยืมได้มากขึ้น
ที่สำคัญ ลักษณะการตั้งกองทุนและการบริหารกองทุนพัฒนาสตรีนี้มีแบบอย่างจากกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งปรากฏการสำรวจและวิจัยผลงานทางวิชาการหลายแห่งว่า ประสบความสำเร็จเพียง 10% ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างหนี้ให้กับประชาชนมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่า กระบวนการของการจัดการบริหารกองทุนพัฒนาสตรียังไม่มีความชัดเจน แทนที่จะเป็นไปตามหลักการ “ทั่วถึงและเท่าเทียม” ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกภาคส่วนได้เข้าถึงกองทุนฯ อย่างเสมอภาค แต่กลับสร้างช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่ม ที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ เท่านั้น
รวมทั้งกระบวนการจัดทำนโยบายและการดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังขาดการมีส่วนรวมจากภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายองค์กรสตรีและกลุ่มสตรีทั่วประเทศ และประเด็นที่สำคัญคือ กองทุนฯ สมควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ควรเป็นกองทุนที่จัดสรรเพื่อตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง
สำหรับข้อเสนอแนะ คปก. มี 3 ข้อ คือ
1. รัฐบาลต้องมีนโยบายและมาตรการในการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การจัดการกองทุนดังที่ปรากฏในร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นการเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิงอย่างแท้จริง
2. รัฐบาลจะต้องเร่งตรากฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของการเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ให้เร็วขึ้นมากกว่าที่ได้แถลงนโยบายด้านนิติบัญญัติว่าจะดำเนินการตรากฎหมายนี้ภายในปี พ.ศ. 2557
และ
3. รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อประกันว่า ผู้หญิงจะได้รับความเป็นธรรมทางสังคม โดยการกำหนดมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ ในทุกระดับ
นอกจากนั้น ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสารงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ได้เปรียบเทียบความเหมือนและต่างระหว่างร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ยกร่างโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรีในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ 2) พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศฉบับประชาชน เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และ 3) ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. … (รายละเอียดการเปรียบเทียบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ)
ทั้งนี้ การเปรียบเทียบดังกล่าว ดำเนินการไว้เมื่อวันที 6 กุมภาพันธ์ 2555 ก่อนที่ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 จะมีผลบังคับใช้้