ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คำต่อคำ “กิตติรัตน์- ธีระชัย” แถลงพ.ร.ก.โอนภาระชำระหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ

คำต่อคำ “กิตติรัตน์- ธีระชัย” แถลงพ.ร.ก.โอนภาระชำระหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ

12 มกราคม 2012


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 ได้อนุมัติรับร่างหลักการพ.ร.ก. การเงิน 4 ฉบับ ได้แก่

1.ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูระบบการเงินในปี 2540 ที่มียอดเงินต้นอยู่ 1.14 ล้านล้านบาท

2.ร่างพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

3.ร่างพระราชกำหนดกองทุนประกันภัย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการประกันภัยพิบัติให้กับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชน สามารถซื้อประกันความเสี่ยงได้ในอัตราค่าธรรมเนียมไม่แพง

4.ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อผ่อนปรน ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan วงเงิน 300,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากในการแถลงข่าวไม่มีการแจกร่างพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับ โดยเฉพาะฉบับแรกที่พรรคฝ่ายค้าน และหลายๆ คนไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า จะแก้ไขในประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ เป็นกังวลหรือไม่ จึงต้องเขียนเป็นคำต่อคำ เพื่อให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐบาล

โดยภายหลัง ครม. มีมติผ่านร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online/2012/01/13261101151326110144l.jpg
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online/2012/01/13261101151326110144l.jpg

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า พระราชกำหนดทั้งหมดนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจยกร่างว่าเนื้อหาและถ้อยคำต่างๆ ที่ ครม. เห็นชอบ ควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งเลขาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำตัวร่างไปปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง และเสนอกลับมาในที่ประชุม ครม. วันนี้ และก็ได้เห็นสอดคล้องกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า

“การดำเนินการเตรียมการเรื่องการเงินให้มีความพร้อมสำหรับการลงทุนเพื่อปรับปรุงมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะยาว โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับอุทกภัย เป็นเรื่องจำเป็น มีความเร่งด่วน และความฉุกเฉิน ในเรื่องของความพร้อมในการดำเนินงาน และความมั่นใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง”

รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าขอย้ำอีกที เรื่องนี้มีความจำเป็น มีความเร่งด่วน และมีความฉุกเฉิน เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่า มีความพร้อมด้านแผนแม่บท ที่วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบที่ กยน. เสนอ ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ ในการดำเนินกิจการ ในการดำเนินชีวิตเป็นปกติสุข ดังนั้น ครม. จึงมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ควรเป็นพระราชกำหนดเพื่อจะได้ดำเนินการต่อได้ด้วยความรวดเร็ว

“พระราชกำหนดสอดรับกับมติ ครม. ในวันที่ 27 และย้ำอีกทีในวันที่ 4 ม.ค. ว่าจะไม่นำไปสู่ หนึ่ง การช่วยเหลือให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ชำระหนี้เงินต้น 1.14 ล้านล้านบาท ด้วยการพิมพ์ธนบัตรใหม่ เพราะจะเสียวินัยการเงิน สอง จะไม่เปลี่ยนเงื่อนไขการบริหารเงินทุนสำรองเงินตรา สาม ขอให้หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ไม่เป็นหนี้สาธารณะที่เป็นภาระงบประมาณ” นายกิตติรัตน์กล่าวยืนยันในกรอบหลักการการโอนภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ บริหารจัดการ

รองนายกรัฐมนตรี อธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินเพื่อสร้างอนาคตประเทศได้ เพราะจะไม่ติดสัดส่วนอัตราการชำระเงินต้นกับดอกเบี้ยรายปีต่องบประมาณ ( debt service ratio ) ซึ่งงบประมาณประจำปี 2555 วงเงิน 2.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น debt service ratio ต้องไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ทำให้มีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะถ้าต้องตั้งงบประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท ถือว่ามีนัยสำคัญ เมื่อไม่เป็นภาระงบประมาณก็สามารถทำให้รัฐบาล ไม่ติดกรอบเงินต้นกับดอกเบี้ยต่องบประมาณ

จากนั้น นายกิตติรัตน์ ได้ให้นายธีระชัย ชี้แจงพระราชกำหนด 4 ฉบับ โดยนายธีระชัยกล่าวว่า กฎหมาย 4 ฉบับเป็นกฎหมายสำคัญอันดับต้น ฉบับที่จะต้องอธิบายมากหน่อยคือ ฉบับที่เกี่ยวกับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู โดยสิ่งแรกที่ต้องชี้คือ มันไม่ใช่อะไรบ้าง

“มันไม่ใช่รัฐบาลพยายามจะโอนหนี้ของรัฐบาลไปเป็นหนี้ของแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ปัจจุบันหนี้ออกมาเป็นพันธบัตรรัฐบาล ไม่ใช่บังคับให้แบงก์ชาติไปออกเป็นพันธบัตรแบงก์ชาติ และไม่ใช่อีกอันหนึ่งคือ ไม่ใช่กระบวนการเอาหนี้ไปซุก ไปซ่อน หลบอยู่ในบัญชีแบงก์ชาติ”

นายธีระชัยกล่าวว่า หลักการคือ บริหารจัดการหนี้ซึ่งค้างมาเป็นเวลานาน และที่ผ่านมาขบวนการจะลดต้นเพื่อให้หนี้มีการชำระอย่างจริงจังเกิดขึ้นน้อยมาก ปล่อยทิ้งไว้รังจะเป็นปัญหาต่อความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ เพราะฉะนั้นต้องมีการแก้ไขหนี้อยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้คาราคาซังต่อไปนานๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ เป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อประเทศ

เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องแก้ไขอยู่แล้ว แต่เรามีความจำเป็นเร่งด่วนขึ้นมาอีกในขณะนี้ เป็นเพราะปีที่ผ่านมาเรามีภาระดอกเบี้ย ซึ่งเอาจากเงินงบประมาณ เอาจากภาษีประชาชนทุกคนเอาไปชำระประมาณ 60,000 ล้านบาท และตลอดตั้งแต่ต้นมา เอาภาษีประชาชนไปชำระแล้ว 670,000 ล้านบาทเศษ เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหานี้แบบครบวงจร

วิธีการทำคือ จุดแรก เอาไปรวมศูนย์อยู่ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หมายความว่า เราใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็น “พาหนะ” โดยหนี้ยังเป็นหนี้ของรัฐบาล เพราะหนี้ที่ออกเป็นพันธบัตรรัฐบาล เมื่อยังไม่ครบกำหนดเราก็ยังค้างไว้อย่างนั้นอยู่ ในระยะต่อไปพอหนี้ครบกำหนดแล้ว เป็นไปได้เราอาจจะออกเป็นพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อันนั้นต้องว่ากันอีกที

“แต่หลักเวลานี้คือ เราจะใช้กองทุนฯ เป็นพาหนะ แล้วเราจะใช้คนขับพาหนะนี้ไปให้มันสุดทางคือธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คือให้แบงก์ชาติเป็นคนมาช่วยดูแลจัดการตัวพาหนะนี้”

นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ที่มาภาพ : http://124.109.24.121/vayupak/images/news/fulls/fm06Dec11-01%5Bcover%5D-20111206151336.JPG
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ที่มาภาพ : http://124.109.24.121/vayupak/images/news/fulls/fm06Dec11-01%5Bcover%5D-20111206151336.JPG
รัฐมนตรีคลังกล่าวว่า แหล่งเงินที่จะเอามาใช้ขับเคลื่อนพาหนะนี้ มีอยู่ 3 แหล่ง ซึ่ง 2 แหล่ง กำหนดอยู่ในกฎหมายเดิม แหล่งแรกคือ เวลาแบงก์ชาติมีกำไรก็ขอให้เอากำไรของแบงก์ชาติ ร้อยละ 90 มาชำระหนี้ แหล่งที่สองคือ ทุนสำรองเวลามีรายได้ตามกกิตากฎหมายเดิม เอารายได้มาใช้ได้ระดับหนึ่ง

ที่เพิ่มเติมเวลานี้หรือที่แก้ไขมีอยู่อย่างเดียว คือแหล่งที่สาม ที่เปิดโอกาสให้แบงก์ชาติเรียกเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน เพื่อเอามาใช้แก้ปัญหาตรงนี้ และอัตรานี้เรียกได้นี้เมื่อรวมกับอัตราที่สถาบันการเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 1

เพราะฉะนั้นวิธีการตรงนี้จะทำให้รถคันนี้มี “น้ำมัน” เข้าไปที่จะเป็นรายได้ ชำระต้นและดอกเบี้ยได้โดยไม่เป็นภาระงบประมาณอีก แล้วก็จะมีเงินเหลือสามารถค่อยๆ ทยอยชำระเงินต้น โดยที่ไม่เป็นภาระต่อระบบสถาบันการเงินมากเกินไป อันนี้เป็นหลักของฉบับแรก

“ขอย้ำ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างโดยปรึกษาหรือกับแบงก์ชาติแล้ว เพราะฉะนั้นตัวร่างเดิมซึ่งอาจเขียนไว้กว้างไปหน่อย เวลานี้ได้บีบแคบลงไปหน่อยให้แน่ใจว่า ทรัพย์สินที่จะโอนเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพราะนั้นย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด”

นี่คือ การแถลงข่าวของนายกิตติรัตน์กับนายธีระชัย เกี่ยวกับร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

หลังจบการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ มีคำถามรอบนอกจากผู้สื่อข่าวในประเด็นร่างพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวเพิ่มเติม โดยนายกิตติรัตน์และนายธีระชัยร่วมกันชี้แจง

คำถาม ร่างเดิมกับร่างใหม่ที่ปรับจากกว้างให้แคบ คืออย่างไร

นายกิตติรัตน์ เดิมผู้ที่ร่างอาจไม่ใช่นักกฎหมายเต็มที่ เขียนบอกว่า ถ้ามีสภาพคล่องก็ช่วยนำมาชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งร่างแรกจะพูดถึงการที่ ครม. มีหน้าที่พิจารณารอบคอบว่า จะรับโอนส่วนที่เป็นทรัพย์สินจากธนาคารแห่งประเทศ หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่ที่จริงแล้วเจตนาไม่ต้องการไปยุ่งทรัพย์สินของแบงก์ชาติ อย่างที่รัฐมนตรีคลังบอกคือต้องการให้เป็นผู้ขับขี่พาหนะ คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

ร่างที่เป็นสุดท้ายขณะนี้ ก็ตัดธนาคารแห่งประเทศไทยออก เป็นว่า ครม. มีหน้าที่ในการที่จะรับสภาพคล่องทางการ หรือทรัพย์สินจากกอทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เปลี่ยนตรงนี้แล้วก็ไม่มีใครติดใจอะไร เพราะทรัพย์สินทางการเงินและทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนี้ตรงเป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้้ การปรึกษาเรื่องร่าง สื่อมวลชนเก่ง อาจเห็นร่างบางอัน ที่ระบุต้องเป็นหนี้ในเฉพาะในส่วนที่ไม่มีภาระผูกพัน ซึ่งเป็นไปได้ที่ทรัพย์สินบางส่วน (ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) อยู่ระหว่างฟ้องร้องกันอยู่ หรือมีภาระผูกพันอยู่ ถ้าไปโอนหนี้มาก็จะยุ่งกันใหญ่ ข้อนี้พอคุยกัน เมื่อ ครม. มีหน้าที่พิจารณารอบคอบ จะไปโอนหนี้ภาระผูกพันมาทำไม ถ้าเขียนเอาไว้ แล้วเกิดกรณีในอนาคตถ้าแบงก์ชาติในฐานะเป็นผู้ที่ดูแลนโยบายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูนฯ หากเกิดอยากจะให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ออกพันธบัตรเพื่อนำมาลดหนี้ เพราะสามารถออกพันธบัตรได้ในระดับต้นทุนที่ต่ำ ถ้าเขียนไว้จะกลายเป็นติดขัด เพราะออกพันธบัตรทรัพย์สินที่แลกมาได้เงินมา เมื่อจะนำเงินไปส่งชำระหนี้ ก็อาจจะบอกว่า เงินตรงนี้เป็นภาระหนี้ ก็จะเกิดเป็นปัญหา สุดท้ายร่างที่ออกมา ก็เป็นเรื่องของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และไม่มีคำขยายความที่ทำให้บีบแคบลง

ขณะนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันดี ตรงกันอย่างยิ่ง กระทรวงการคลังเองที่เป็นผู้ต้องร่วมวางแผนในการทำให้เกิดการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านรับเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สามารถดูแลให้ชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นได้ แทบเป็นประเด็นเดียวที่ดูเหมือนจะเมื่อร่างแรกออกมาสร้างความกังวล พอชัดเจนว่าเป็นเรื่องกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แล้วทางธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีคลังก็เห็นด้วยว่า ไม่ต้องมีถ้อยคำเรื่องทรัพย์สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ต้องปลอดจากภาระผูกพันด้วยซ้ำ

“ดังนั้นขณะนี้ ผมมั่นใจทุกตัวอักษร เป็นร่างกฎหมายที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติได้ดี”

คำถาม แหล่งเงิน 3 ด้าน จะสามารถชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้เพียงพอหรือไม่

นายกิตติรัตน์ อันแรกที่จริงกำไรของ ธปท. ถ้อยคำเป็นไปตามกฎหมายเดิมที่อยู่ในกำกับหนี้ทั้ง 2 ส่วน ที่มารวมกันเป็นหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ที่เป็นกำไรสุทธิ ซึ่งหักขาดทุนสะสมแล้ว ตรงนี้เป็นถ้อยคำเดิม อีกเรื่องประโยชน์จากการบริหารทรัพย์ แนวทางปฏิบัติก็เหมือนเดิม และที่กระทรวงคลังในแนวทางไว้ตั้งแต่ต้น ว่าความจริงมีกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่ง กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ได้ให้สิทธิเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินจากยอดเงินฝากเฉลี่ยที่ได้รับการคุ้มครอง กฎหมายเขียนให้เก็บได้ถึงไม่เกิน ร้อยละ 1 ที่ผ่านมาเก็บอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อเดือนเป็นต้นมา

ขณะนี้มีเงินอยู่จำนวนที่พอสมควร และการที่รัฐบาลเห็นว่า การที่รัฐบาลจะช่วยคุ้มครองเงินฝากตามเงื่อนไขเดิมตามยอดที่ควรจะได้รับคุ้มครอง รัฐบาลอยู่ในวิสัยจะให้ความคุ้มครองได้โดยไม่จำเป็นต้องเร่งเพิ่มเงินเข้ากองทุนคุ้มครอง ในร่างจึงกำหนดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินจากฐานเดียวกันที่นำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก และเขียนระบุชัดเจนว่า อัตราที่เก็บเมื่อรวมกับอัตราที่สถาบันการเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้วไม่ต้องเกินร้อยละ 1 ดังนั้น กฎหมายจึงเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแหล่งเงินชำระดอกเบี้ยและเงินต้นอีกทางหนึ่ง

แม้ไม่ได้อยู่ในกฎหมาย แต่ก็เรียกชี้แจงหลายครั้งแล้ว เป็นนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีคลัง ว่า การที่กองทุนคุ้มครองเงินฝากมีเงินฝากสูงระดับหนึ่งแล้ว การที่จะชะลอจากเดิมที่เก็บร้อยละ 0.4 เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกเก็บเงินจากฐานเดียวกัน สามารถเรียกเก็บจากฐานะเดียวกันแล้วรวมกนอาจไม่เกินยอดปัจจุบันที่ 0.4 ก็เป็นเรื่องทำได้ รัฐมนตรีคลังก็พร้อมพิจารณาจำนวนนั้น

“ขณะนี้แนวทาง ผมมั่นใจว่าถ้าจะลดลงมาต่ำทำได้ ผมมั่นใจว่า จะไม่เก็บเกินร้อยละ 0.1 ในส่วนของการคุ้มครองเงินฝาก เพราะในการหารือ ไม่มีรัฐมนตรีท่านใดพูดตัวเลขสูงกว่านี้ แต่บางท่านบอกว่าเก็บน้อยกว่านี้ก็ได้ อาจจะเป็น 0.0 อะไรสักอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีพิจารณาเพื่อกำหนดให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นยอดรวมตรงกัน ตรงนี้จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแหล่งเงินที่พร้อมนำส่งให้กองทุนฯ นำไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้น”

คำถาม เงินนำส่งกองทุนเงินฝาก กับ ที่ธปท. เรียกเก็บยอดจะเป็นร้อยละ 0.4 เท่าเดิมหรือต่ำ หรือสูงกว่าเดิม

นายกิตติรัตน์ เรื่องนี้ไม่อยู่ในกฎหมาย แต่เชื่อว่า ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศ รวมทั้งระดับนโยบายที่ดูแลสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็คงไม่อยากให้อยู่ในระดับไม่เกินที่เป็นเดิม แต่จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของท่าน (ผู้ว่าการแบงก์ชาติ)

คำถาม ความสามารถในการชำระหนี้ของแบงก์ชาติ มีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเงินต้น

นายกิตติรัตน์ อย่างที่รัฐมนตรีคลังบอกแล้ว เมื่อรวมๆ ทุกอย่างแล้วน่าจะเพียงพอดูแลดอกเบี้ย แล้วก็จะค่อยๆ พิจารณาลดเงินต้นอย่างมีแบบแผนได้ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่า แม้ไม่รวมแหล่งเงินใหม่ ก็อาจสามารถบริหารจัดการดอกเบี้ยเงินต้นได้ตามพอสมควรอยู่แล้ว แต่การมีแหล่งเงินใหม่ทำให้มีความมั่นใจอีกชั้นหนึ่ง และมั่นใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่นำแหล่งเงินใหม่มาเป็นเรื่องหลัก แต่จะนำมาประกอบกันเพื่อทำให้มีความพร้อมอย่างยิ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

คำถาม เงินต้นจำนวนนี้ มีแผนหรือไม่ว่าทำให้ลดลงได้อย่างไร

นายธีระชัย ผมลองคุยเรื่องนี้กับผู้ว่าการแบงก์ชาติ เวลานี้ผู้ว่าแบงก์ชาติได้ ให้ทีมงานทำ Debt service exercise เพื่อที่จะวางโปรแกรมออกไป ผมคิดว่า ถ้าเราไปเร่งชำระเงินต้น วางโปรแกรมนี้เร็วเกินไป ก็จะทำให้แบงก์ชาติเรียกเก็บเงินนำส่งในอัตราที่สูง เพราะฉะนั้น ในส่วนของแบงก์ชาติคิดว่าเวลานี้กำลังวางแผน และผมลองปรึกษาหารือกับท่านผู้ว่าฯ ว่าสมมติตั้งเป็นเป้าคร่าวๆ ว่า สมมติชำระต้นให้หมดภาย 25 ปี การคิดภาระกับสถาบันการเงินอาจไม่สูงเกินไปได้หรือไม่ อันนี้ท่านผู้ว่าฯจะไปทำการศึกษา

แต่ต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า สมมติว่า สุดท้ายแบงก์ชาติพิจารณาแล้ว เห็นว่าต้องเรียกเก็บเงินนำส่งจากระบบสถาบันการเงินมากขึ้นกว่าร้อยละ 0.4 ก็อย่าลืมว่าเวลานี้รัฐบาลลดภาษีให้สถาบันการเงินจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็ช่วยลดภาระปัญหาไปได้บางส่วน

นอกจากนี้ เท่าที่ดูแนวโน้มของเงินฝากจากการดูแนวโน้มในอดีตจะพบว่า เงินฝากในระบบมีโอกาสขยายตัวมาก เพราะฉะนั้นในอัตราที่ไม่เพิ่มมากในอนาคตก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังกำไรจากการบริหารทุนสำรอง ถ้าวันหนึ่งการบริหารทุนสำรองของแบงก์ชาติมีแนวที่พลิกแพลงไปกว่าเดิม ที่ทำให้เกิดรายได้หรืออัตราผลตอบแทนสูงกว่าเดิม ตรงนี้ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นในขณะนี้ควรให้เวลาแบงก์ชาติไปทำศึกษาเสียก่อน

คำถาม ปัจจุบันกำไรสุทธิของแบงก์ชาติ และการบริหารเงินทุนสำรองเป็นอย่างไร

นายธีระชัย กำไรสุทธิของแบงก์ชาติตอนหนี้หวังมากไม่ได้ เพราะมีขาดทุนสะสมอยู่ ดังนั้นถ้ามีกำไรแต่ละปีก็ต้องไปหักขาดทุนสะสมก่อน แต่ส่วนที่เป็นรายได้ทุนสำรอง แต่ละปีขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท ปีนี้เท่าที่ดูแล้วทำท่าจะได้อยู่ในระดับไม่น้อย เท่าที่คุยกับผู้ว่าฯ ถ้าจำไม่ผิดอาจเป็นระดับเกิน 20,000 ล้านบาท สำหรับเฉพาะรายได้จากทุนสำรอง แต่ไม่ยืนยันตัวเลขต้องไปถามท่านอีกที

คำถาม พูดได้หรือไม่ว่า มาตรา 7 (3) ถูกตัดไป

นายกิตติรัตน์ มาตรา 7 ( 3) ยังอยู่ เพียงแต่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ให้เป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

คำถาม กรณีครบกำหนดไถ่ถอน จะให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ออกพันธบัตรแทนหรืออย่างไร

นายธีระชัย เมื่อพันธบัตรรัฐบาลครบกำหนด กระทรวงคลังจะมีความยืดหยุ่น แต่ถ้าในขณะนี้เห็นว่าเห็นว่าสภาพตลาดเหมาะที่จะออกพันธบัตรโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเอง ก็สามารถออกได้ แต่เราจะให้ออกเมื่อตลาดมองเห็นแล้วว่า พาหนะคันนี้มีแหล่งเงินเข้ามามากเพียงพอโดยรัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็พยายามเชียร์ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ออกพันธบัตร แม้อัตราดอกเบี้ยอาจแพงกว่าหน่อย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าในวันนั้นยังไม่ได้อาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นแหล่งเงินเข้ามาจนมั่นใจ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าอีกกี่ปี ในระหว่างนั้นถ้าครบกำหนดกระทรวงคลังก็สามารถต่ออายุเป็นพันธบัตรรัฐบาลไปก่อน

คำถาม พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้สาธารณะหรือไม่

นายธีระชัย หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็เป็นภาระหนี้รัฐบาล เพียงแต่ว่าไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

คำถาม ช่วงแรกในการออก พ.ร.ก. มีข่าวว่าคุณธีระชัยมีความขัดแย้งกับคุณกิตติรัตน์ ตอนนี้เห็นตรงกันแล้วใช่ไหม

นายธีระชัย เวลานี้เห็นพ้องกัน ต้องเข้าใจวิธีการทำงาน ถ้าหากมีการปรึกษาหารือ ถึงแม้มีการถกเถียงในเชิงวิชาการ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

คำถาม ตอนนี้ไม่เกาเหลากันแล้วใช่ใหม

นายธีระชัย ไม่มีครับ