ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ไม่เหนือการคาดเดา!! “ก๊วนแถลงข่าวซุกหุ้น 2 กุมภา 49” ถูกดันยกแผง

ไม่เหนือการคาดเดา!! “ก๊วนแถลงข่าวซุกหุ้น 2 กุมภา 49” ถูกดันยกแผง

15 กันยายน 2011


นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ในขณะนั้นร่่วมแถลงข่าวยืนยันว่าดีลชินคอร์ป ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549   ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ในขณะนั้นร่่วมแถลงข่าวยืนยันว่าดีลชินคอร์ป ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง

ก๊วน 2 กุมภาพันธ์ 2549

เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ คนก็เปลี่ยนตาม จึงมีคนที่สมหวังและผิดหวัง

การประกาศโผแต่งตั้งคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงโผโยกย้ายกระทรวงการคลัง ไม่ได้เหนือการคาดเดาใดๆ เพราะรายชื่อที่ได้รับการปูนความชอบคือบรรดา “ก๊วน 2 กุมภาพันธ์ 2549”

ทำไมเป็น “ก๊วน 2 กุมภาพันธ์ 2549”

ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นยังคงบันทึกไว้ หากใครจำเหตุการณ์ช่วงข่าวซุกหุ้นที่อื้อฉาวได้ พาดหัวข่าวของ น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจหน้า 1 ..”ธีระชัย” ป้องนายกฯ โชว์หลักฐานขายหุ้น… ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549

นั่นคือเหตุการณ์ที่ 3 หน่วยงาน “คลัง – ก.ล.ต. – ตลาดหลักทรัพย์” ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นการนำทีมโดยปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมชี้แจงโชว์หลักฐานการขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริช ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรทั้งหมดให้นายพานทองแท้

การแถลงข่าวครั้งนั้นมีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง นายศิโรจน์ สวัสดิ์พานิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การแถลงข่าววันนั้นเพื่อยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการขายหุ้นบริษัทแอมเพิล ริชให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ในราคา 1 เหรียญ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ก่อนที่จะเข้ามาเล่นการเมือง โดยบริษัทแอมเพิลริชถือหุ้นชินคอร์ปอยู่ จากนั้นบริษัทแอมเพิลริชเพิ่มทุนจาก 1 เหรียญ เป็น 5 เหรียญ และนายพานทองแท้ได้โอนหุ้นแอมเพิลริชให้น้องสาวคือนางสาวพิณทองทาจำนวน 20 % ต่อมา 2 พี่น้องได้ซื้อหุ้นชินคอร์ปจากแอมเพิลริชในราคา 1 บาท นอกตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะขายให้เทมาเส็กในราคา 49.25 บาท/หุ้น ซึ่งนายธีระชัยชี้แจงว่าเป็นการซื้อหุ้นในบริษัทของตัวเอง จึงไม่เข้าข่ายว่ามีการเอาเปรียบผู้อื่น

วันนี้ ก๊วน 2 กุมภาพันธ์ 2549 ได้ถูกดันขึ้นยกแผง

แม้ไม่มีชื่อ “ศุภรัตน์” ที่ได้ปูนบำเหน็จ แต่ก่อนหน้านี้ เขาอยู่ลิสต์ที่ถูกเลือกแล้วว่าจะเป็นรมช.คลัง คู่กับธีระชัย โดยมีดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่จะมานั่งเป็นรองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

แต่ศุภรัตน์ไม่รับ เพราะคนที่เคยนั่งตำแหน่งปลัดคลัง คงไม่ใช่แค่รัฐมนตรีช่วย ต้องรัฐมนตรีว่าการเท่านั้น เมื่อไม่ได้ก็ไม่รับ โผจึงมาหล่นที่ “ธีระชัย”

เด้งที่สองเมื่อดร.วิชิตไม่มา “กิตติรัตน์” ซึ่งนั่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตรอยู่ เดิมคั่วเก้าอี้ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ได้ควบ 2 เก้าอี้คือรมว.พาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี

ส่วน “เบญจา หลุยเจริญ” รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่เคยตกเป็นข่าวในปี 2547 ว่าเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารกรมสรรพากร ที่มีมติกรณีการซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 329.82 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะขายในตลาดหลักทรัพย์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ให้กองทุนเทมาเส็ก ว่าไม่ต้องเสียภาษี

วันนี้ “เบญจา” ก้าวขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต จากการเปิดเผยโผโยกย้ายของกระทรวงการคลัง ล่าสุดเมื่อ 6 กันยายน 2554 จากเดิมที่หลายคนคาดว่าจะไปนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสรรพากร หรือไม่ก็เป็นปลัดกระทรวงการคลัง

ขณะที่ “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” อธิบดีกรมสรรพสามิต ถูกโยกไปเป็นรองปลัดกระทรวงแทน แม้จะมีอำนาจคุมอธิบดี แต่เหมือนไม่มีอำนาจ หากให้เลือกแล้วตำแหน่งอธิบดีมีอำนาจให้คุณให้โทษและมีอำนาจมากกว่าในทางปฏิบัติ

การถูกย้ายในครั้งนี้หลายฝ่ายมองว่า เป็นเพราะการให้ข่าวเรื่องยึดทรัพย์ “ทักษิณ” ในช่วงที่ผ่านมาที่ “พงษ์ภาณุ” เคยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่รับใช้ชาติครั้งนี้ โดยการยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน…”

ส่วน “ไพฑูรย์ พงษ์เกสร” ซึ่งเปลี่ยนชื่อ-สกุลใหม่เป็น “รวิฐา พงษ์นุชิต” ในช่วงที่มีปัญหาตีความการเสียภาษีการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากรคุมฝ่ายกฎหมาย ระหว่างที่อยู่ห้วงของการตีความ ได้ถูกโยกให้มาดูแลงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากรแทน ซึ่งวันแถลงข่าวเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ในฐานะที่ดูแลงานประชาสัมพันธ์ได้ช่วยทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าวนอกรอบในฐานะที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ เพราะเคยคุมฝ่ายกฏหมายมาก่อน

วันนี้รวิฐา เป็น Chief of Staff ของรมต.คลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” นอกจากเป็น “ก๊วน 2 กุมภา 49” แล้ว 2 คนนี้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นวตท.3 หรือหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน โดยเข้าไปเรียนสมัยที่นั่งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร ขณะ “ธีระชัย” เป็นเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. อบรมในช่วงกันยายน-ธันวาคม 2549 เป็นปีเดียวกันที่ร่วมกันแถลงข่าว ในห้วงที่คดีซุกหุ้นยังคุกรุ่นนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ได้เหนือการคาดเดา!!!