ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (3)

ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (3)

17 ธันวาคม 2011


‘หมานิลมังกร’

วันที่ 21 ตุลาคม 2554 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนโดยนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดแจ้งการพิมพ์ ว่ามีเนื้อหาลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงหลักการจากที่เคยประชุมกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

ก่อนหน้านี้ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกรมศิลปากร และพนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัด ต้องไปจดแจ้ง ณ สำนักงานศิลปากรเขต ให้เป็นการจดทะเบียนต่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด จึงมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หาได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนไม่

หากเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเสนอร่างแก้ไข พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ไม่เพียงหลักการที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” และถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากยังเป็นความพยายามที่จะตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ เลย ที่จะแก้ไข พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ นอกจากการฉกฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติ มาเป็นประโยชน์ในการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนาจในการกำกับ ควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเท่านั้น

นอกจากนี้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์และชี้แจงเพิ่มเติมในบทความ พ.ร.บ.จดแจ้งฉบับใหม่ โซ่ตรวนหนังสือพิมพ์ อีก โดยมีรายละเอียดในประเด็นสำคัญ ก็คือ ร่างแก้ไขของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์นี้จะเลวร้ายกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปด้วยผมของการตราบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งฯ มีการบัญญัติให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนกับเจ้าพนักงานการพิมพ์ใน พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งฯ กำหนดให้มีการต่อใบอนุญาต ให้อำนาจ ผบ.ตร. ออกคำสั่งห้ามพิมพ์ สั่งเข้า หรือนำเข้า จะทำให้ ผบ.ตร.มีอำนาจเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ก่อนพิมพ์ การกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง ผบ.ตร. ในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นประเด็นที่เพิ่มเข้ามาใน ร่าง พ.ร.บ.ฯ

ข้อวิจารณ์ดังกล่าวเมื่อตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้

ประเด็นสำคัญใน พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพ คือ ให้อำนาจอธิบดีกรมตำรวจหรือเจ้าพนักงานการพิมพ์ มีอำนาจห้ามการสั่งเข้า นำเข้า มีอำนาจสั่งห้ามขายหรือจ่ายแจกหากเห็นว่าอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อย มีอำนาจตักเตือน และสั่งให้ส่งหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ให้ตรวจก่อน มีอำนาจสั่งพักใช้หรือถอนใบอนุญาต โดยทั้งหมดดังกล่าวนั้น ครอบคลุมทั้ง “สิ่งพิมพ์” และ “หนังสือพิมพ์” เช่นเดียวกัน คือบังคับใช้กับทั้งหนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์ไม่แตกต่างกัน โดยสรุปก็คือรัฐมีอำนาจในการห้ามสั่งเข้า นำเข้า มีอำนาจในการเตือน ตรวจ และห้ามพิมพ์ และมีอำนาจในการถอนใบอนุญาตหรือปิดโรงพิมพ์นั่นเอง โดยที่การใช้อำนาจเหล่านั้นต้องทำตามลำดับ คือต้องเตือนก่อน จึงจะตรวจหรือห้ามได้ และสามารถอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์กับรัฐมนตรีได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญเหล่านี้ทั้งหมดนั้นไม่อาจบังคับใช้ได้ หรือกล่าวอีกทางว่าได้ถูกยกเลิกโดยอ้อมไปแล้วตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาตรา 39 ระบุชัดเจนว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อริดรอนเสรีภาพตามาตรานี้ จะกระทำมิได้

การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทวุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง

ดังนั้น อำนาจของรัฐในการตรวจ และห้ามพิมพ์ หรือถอนใบอนุญาตทั้งสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ หรือปิดโรงพิมพ์นั้น ไม่มีอีกต่อไป เหลือเพียงแต่อำนาจในการห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้า และอำนาจในการเตือนเพียงเท่านั้น

จึงถือกันว่าสื่อไทยมีเสรีภาพสมบูรณ์ ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา และอันที่จริง ในทางปฏิบัติแล้ว สื่อก็มีเสรีภาพใกล้เคียงกันตั้งแต่มีกระบวนการปฏิรูปสื่อซึ่งดำเนินมาก่อนที่จะมาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540

ในทางปฏิบัติแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีการยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 แต่ผลของการบังคับใช้ทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของสื่อนั้น ไม่มีแล้ว เหลืออยู่แต่บทบัญญัติที่คุ้มครองไม่ให้สื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นเท่านั้น เช่น

มาตรา ๔๐ หนังสือพิมพ์ใดลงโฆษณาเรื่องราชการคลาดเคลื่อนจากความจริง กระทรวงหรือกรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือกรมการโฆษณา หรือเจ้าพนักงานการพิมพ์อาจสั่งให้แก้เอง หรือลงพิมพ์หนังสือแก้ปฏิเสธเรื่องนั้น

มาตรา ๔๑ หนังสือพิมพ์ใดโฆษณาเรื่องเกี่ยวแก่บุคคลโดยคลาดเคลื่อนจากความจริง อาจจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นอาจแจ้งเป็นหนังสือขอให้บรรณาธิการหนังสือพิมพนั้นแก้เอง หรือลงพิมพ์หนังสือซึ่งแก้หรือปฏิเสธเรื่องนั้น

มาตรา ๔๘ เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ

ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย

ในส่วนของ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ที่เสนอขึ้นเป็นกฎหมายด้วยน้ำมือของสื่อเอง และอ้างว่าเป็นการ “ปลดแอก” หรือ “ปลดโซ่ตรวน” จาก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 นั้น เนื้อหาในส่วน “หนังสือพิมพ์” กำหนดเพียงให้หนังสือพิมพ์ต้องมีการจดแจ้ง และกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจดแจ้ง คุณสมบัติของผู้จดแจ้ง ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของกิจการ เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีเจ้าพนักงานการพิมพ์ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 อีกต่อไป และรัฐไม่มีอำนาจเตือนอีกต่อไป ขณะเดียวกัน กฎหมายที่คุ้มครองไม่ให้หนังสือพิมพ์ไปละเมิดบุคคลอื่นที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 นั้นก็ถูกยกเลิกไปด้วย เพราะไม่มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550

ข้อกล่าวอ้างที่ว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 เป็นการปลดปล่อยสื่อมวลชนจาก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 นั้น ในประเด็นเสรีภาพของสื่อ จึงเป็นเรื่องจริงเฉพาะในกรณียกเลิก อำนาจในการเตือนของรัฐเท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่มีผลบังคับสื่อมวลชนได้จริงแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีอำนาจในการตรวจ และห้ามพิมพ์

ดังนั้น ผลของการบัญญัติ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 นั้น จึงไม่ได้เป็นการปลดปล่อยสื่อมวลชนจากอำนาจรัฐแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการปลดปล่อยสื่อมวลชนออกจากกฎหมายควบคุมไม่ให้ละเมิดบุคคลอื่น ซึ่งก็คือการยกเลิกความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคมไม่ให้มีความรับผิดทางกฎหมาย โดยในการผลักดัน พ.ร.บ.นี้ ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์นั้น สื่อต่างอ้างว่ามีกฎหมายหมิ่นประมาท และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายอื่น ๆ รองรับในกรณีที่สื่ออาจจะละเมิดบุคคลอื่นอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีสภาการหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นองค์กรสื่อคอยควบคุมกันเอง

ในกรณีของ “หนังสือพิมพ์” ประเด็นว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ถูกยกเลิกไปด้วยผลของการตราบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 จริงหรือไม่ จึงไม่เป็นความจริงในแง่ของเสรีภาพสื่อจากอำนาจรัฐ แต่จริงในแง่ของเสรีภาพสือจากความรับผิดชอบต่อสังคม

ในขณะที่ในหมวดของ “สิ่งพิมพ์” ซึ่งโดยทั่วไปก็คือหนังสือเล่ม พ็อกเก็ตบุค ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 กลับปรากฏมาตราที่ริดรอนสิทธิ เสรีภาพอย่างสำคัญ คือมาตรา 10 ที่เป็นการยกข้อความจากกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามาระบุเป็นความผิด ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายซ้ำซ้อน และเพิ่มเข้ามาทั้งที่ไม่มีบัญญัติใน พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484

ส่วนในร่างแก้ไขได้มีการบัญญัติบทควบคุมแบบเดียวกับมาตรา 10 เดิมที่ใช้กับ “สิ่งพิมพ์” เพิ่มเข้ามาควบคุม “หนังสือพิมพ์” ด้วย และเพิ่มการ “ห้ามพิมพ์ เผยแพร่” เข้ามาทั้งในกรณีของ “สิ่งพิมพ์” และ ในกรณีของ “หนังสือพิมพ์” และเพิ่มโทษปรับมากกว่าเดิมจากไม่เกินหกหมื่นบาท เป็นไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ดังนั้น ในประเด็นที่ว่า ร่างแก้ไขของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์เลวร้ายกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงต้องกล่าวว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 นั้นเลวร้ายกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 อยู่แล้วในกรณีของหมวด “สิ่งพิมพ์” การให้อำนาจ ผบ.ตร. ออกคำสั่งห้าม สั่งเข้า หรือนำเข้า การกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง ผบ.ตร. ในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ “มีอยู่แล้ว” ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 เพียงแต่ใช้ควบคุม “สิ่งพิมพ์” (หนังสือเล่ม) โดยไม่ควบคุมถึงหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ร่างแก้ไขนี้ ขยายมาควบคุม “หนังสือพิมพ์” ด้วย และทำให้เลวร้ายขึ้นกว่าเดิมด้วยการเพิ่มการ “ห้ามพิมพ์ เผยแพร่” และเพิ่มโทษปรับ ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ข้อสังเกตคือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 นี้ เป็นผลงานของสื่อเอง และเป็นผลงานที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะบรรดาตัวแทนหนังสือพิมพ์ ยกมาอวดอ้างว่าเป็นการผลักดันสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้ก้าวหน้าขึ้น การริดรอนสิทธิ์อย่างเลวร้ายในกรณีของมาตรา 10 เดิมซึ่งใช้ควบคุม “สิ่งพิมพ์” ก็เป็นผลงานของสื่อหรือตัวแทนหนังสือพิมพ์เอง แต่เมื่อมีการเสนอร่างแก้ไขโดยขยายการควบคุมในทำนองเดียวกันจาก “สิ่งพิมพ์” มาสู่ “หนังสือพิมพ์” ซึ่งอันที่จริงเป็นการบัญญัติโดยสื่อเอง บรรดาสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ กลับพากันกล่าวประณาม