ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (2)

ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (2)

20 พฤศจิกายน 2011


‘หมานิลมังกร’

ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้

การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย

สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย

ข้อความดังกล่าวข้างต้นซึ่งบรรจุอยู่ใน มาตรา 10 ของ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีประเด็นสำคัญซึ่งน่าจะถอดแบบมาจากฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยข้อความที่เป็นใจความสำคัญนั้น กล่าวได้ว่าแทบจะลอกตัวอักษรกันมาเลยทีเดียว (กฎหมายอาญามาตรา 112: ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี) ที่สำคัญก็คือการระบุข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในพระราชบัญญัติการพิมพ์ของไทย

แม้แต่ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งสื่อมวลชนมักกล่าวอ้างกันว่าเป็นกฎหมายเผด็จการที่ริดรอนสิทธิ เสรีภาพ ของสื่อมวลชนและประชาชน ก็ไม่เคยมีข้อห้ามในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในกฎหมาย เนื่องจากข้อห้ามดังกล่าวได้มีการระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่แล้ว อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีการกำหนดโทษที่รุนแรง และมีการบังคับใช้ที่เข้มงวด และเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการควบคุมการกระทำผิดดังกล่าวมาตลอดโดยไม่ต้องใช้กฎหมายเกี่ยวกับการพิมพ์แต่อย่างใด

ลักษณะการแก้ไขในร่างแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ของกระทรวงวัฒนธรรมนี้ เป็นการพยายามขยายขอบเขตและเพิ่มโทษในกรณีที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในรูปของการแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ดังที่ปรากฏในประเด็นที่ สอง และ เจ็ด ในร่างแก้ไขดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 1

(ร่าง มาตรา 5) ให้ยกเลิกความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 10 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้

การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย

สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย

จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มคำว่า “ห้ามพิมพ์” เข้ามาด้วยในร่างมาตรา 10 ที่จะแก้ขึ้นใหม่ ซึ่งมาตรา 10 นี้ อยู่ในหมวด “สิ่งพิมพ์” ใช้บังคับผู้พิมพ์ “หนังสือเล่ม” หรือพ็อกเก็ตบุคโดยทั่วไป พร้อมกันนั้น ร่างแก้ไขนี้ก็เพิ่มมาตรา 18/1 ของหมวด “หนังสือพิมพ์” เข้ามาด้วย จากที่ มาตรา 18 เพียงระบุให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวัน ก็เพิ่มมาตรา 18/1 โดยยกข้อความจากมาตรา 10 ทั้ง 3 วรรคมาอยู่ในมาตรานี้ด้วย และแก้คำว่า “สิ่งพิมพ์” เป็น “หนังสือพิมพ์” เพื่อขยายข้อห้ามให้ครอบคลุมรัดกุมยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของ “หนังสือ” และ “หนังสือพิมพ์” ไม่ให้มีช่องโหว่ได้

จากนั้นก็ไปเพิ่มโทษปรับในมาตรา 27 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา 10 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” มาเป็น “(ร่างมาตรา 14 แก้ไขมาตรา 27) ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา 10 หรือมาตรา 18/1 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” กล่าวคือเพิ่มโทษปรับจากหกหมื่นบาท มาเป็นหนึ่งแสนบาท

ดังนั้น ดูเฉพาะกรณี่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ร่างแก้ไขที่มีการเสนอขึ้นมาในครั้งนี้ ได้ขยายขอบเขตอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากเดิมที่มีอำนาจในการ ห้าม “สั่งเข้า” หรือ “นำเข้า” เพื่อเผยแพร่ซึ่ง “สิ่งพิมพ์” ใดๆ ให้มีอำนาจในการ “ห้ามพิมพ์” สิ่งพิมพ์ในราชอาณาจักร และหนังสือพิมพ์ในราชอาณาจักรด้วย โดยมีโทษปรับเพิ่มขึ้นอีกสี่หมื่นบาท

ประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือ การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เป็นกฎหมายลักษณะหมิ่นประมาท ซึ่งโดยปรกติไม่ควรอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากมีลักษณะเป็นอัตวิสัย กล่าวคือ ขอบเขตของคำว่า “ดูหมิ่น” หรือ “หมิ่นประมาท” นี้มีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันว่า แค่ไหน เพียงใด จึงเรียกว่าเป็นการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท การวิจารณ์หรือกล่าวถึงข้อเท็จจริงโดยทั่วไป จะถือว่าเป็นการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทหรือไม่อย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความละเอียดอ่อน และจะต้องไม่อยู่ในดุลยพินิจของคนเพียงคนเดียว แต่กฎหมาย พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ กลับให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการ “ใช้ดุลยพินิจโดยลำพัง” และเสนอเพิ่มอำนาจให้นอกจากสั่งห้ามนำเข้าสิ่งพิมพ์แล้ว ยังสามารถห้ามพิมพ์หนังสือ หรือหนังสือพิมพ์ อีกด้วย ผลของกฎหมายนี้จึงเท่ากับให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตัดสินได้ด้วยตนเองว่า หนังสือเล่มใด หรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด “ดูหมิ่น” หรือ “หมิ่นประมาท” และสามารถสั่งห้ามพิมพ์ได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่เป็นกังวล กลับไม่ใช่เรื่องห้ามการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เป็นความต่อมาที่กล่าวว่า หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งสื่อมีความเห็นว่าตีความได้กว้าง และรัฐสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการริดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ ท่าทีของสื่อมวลชนในครั้งนี้ อย่างน้อยสะท้อนให้เห็นว่า สื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่เคยใส่ใจในเรื่องการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย แต่กลับเป็นกังวลว่ารัฐจะมาละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชน ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งที่กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็สามารถอ้างใช้ได้เช่นเดียวกับเรื่องความมั่นคง และอันที่จริง ก็มีกรณีให้เห็นว่ามีการอ้างใช้มาโดยตลอด

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยตัวเองเพียงลำพัง มีปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างวิกฤตอยู่แล้ว อีกทั้งการบังคับใช้ยังไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งหมวดสิทธิ เสรีภาพ และในเรื่องการได้สัดส่วนของการกระทำผิดและบทลงโทษ โดยที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายรัฐ และสื่อมวลชน ต่างไม่เคยเหลียวแลหรือพยายามบรรเทาปัญหาดังกล่าวแม้แต่น้อย

ฝ่ายรัฐบาล นอกจากจะไม่แก้ไข หรือบรรเทาปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ยังพยายามขยายขอบเขตของกฎหมายดังกล่าว ในรูปของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ตามที่กระทวงวัฒนธรรมเสนอ ในขณะที่สื่อมวลชน ซึ่งแท้จริงแล้ว มีส่วนในการร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และกล่าวได้ว่าเป็นฝ่ายที่นำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มาครั้งนี้ก็พากันแสดงการปกป้อง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ด้วยข้ออ้างในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และแสดงความคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า เป็นความพยายามจะละเมิดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ โดยไม่เอ่ยถึงแง่มุมในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแม้แต่น้อย

จึงน่าจะตรวจสอบต่อไปว่าเบื้องหลังท่าทีและการแสดงเหตุผลของสื่อมวลชนดังกล่าว และเนื้อหาสาระและบทบาทที่แท้จริงของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ร่างเดิมที่สื่อมวลชนพยายามปกป้องไม่ให้แก้ไขนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร และจุดมุ่งหมายของการแก้ไขครั้งนี้ของฝ่ายรัฐนั้น น่าจะเป็นดังที่สื่อโจมตีหรือไม่อย่างไร