ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คลิปแฉกับกฎหมาย ป.ป.ช. สู่การสืบค้นความผิดพลาดบริหารจัดการน้ำท่วมรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

คลิปแฉกับกฎหมาย ป.ป.ช. สู่การสืบค้นความผิดพลาดบริหารจัดการน้ำท่วมรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

29 พฤศจิกายน 2011


พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ผู้อำนวยการ ศปภ. - ที่มา bangkokbiznews
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ผู้อำนวยการ ศปภ. - ที่มา bangkokbiznews

หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา โดยมีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะในการไต่สวน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ 1.ความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำ มีนายเมธี ครองแก้วและนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน 2.การทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ มีนายประสาท พงษ์ศิวาภัยและนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน และ 3.กรณีที่เกี่ยวข้องกับถอดถอน ส.ส. และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. มีนายนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน โดยการสอบสวนจะย้อนไปถึงเจ้าหน้าที่ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย เนื่องจากมีข้อร้องเรียนมาก่อนหน้านี้

แต่เนื่องจากข้อกล่าวหาทั้งหมดยังยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล พยาน หลักฐาน เพื่อชี้มูลความผิด การออกมาเปิดเผยถึงผู้กระทำความผิดและประเด็นความผิดที่ชัดเจนในเบื้องต้นแก่สาธารณชนจึงยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ การพิจารณาข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น อยู่ในอำนาจของกฎหมาย “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542” ที่ให้อำนาจแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดูแลไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุจริตต่อหน้าที่

ล่าสุด แหล่งข่าวป.ป.ช. ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว โดยได้ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดของประเด็น ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช.ว่ามี 2 ประเด็นคือ บุคคลที่มีความผิด และลักษณะความผิด

เนื่องจากการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม เป็นการกระทำที่ใช้อำนาจของรัฐโดยตรง ส่วนการดูแลสิ่งของบริจาคหรือการจัดซื้อจัดจ้าง หากเป็นการดูแลจัดการโดยมีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ที่กำหนดไว้ว่าบุคคลใดๆก็ตามที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางการปกครองของรัฐในการดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ ให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐก็ตาม

แหล่งข่าวได้ระบุถึงผู้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นหมายความว่า หากคุณได้อำนาจหรือใช้อำนาจของ ศปภ. ไม่ว่าคุณจะเป็น ส.ส. ข้าราชการหรือพนักงาน ในการไปดูแลจัดการเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องการจัดการน้ำ การไปดูแลจัดซื้อจัดจ้างถุงยังชีพ สุขาต่างๆ หากพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยทุจริตหรือไม่ถูกต้อง คุณก็เข้าข่ายมีความผิดไปด้วย”

ส่วนลักษณะความผิดนั้นถูกระบุอยู่ในมาตรา 123 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น กับประเด็นต่อมาคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

ถุงยังชีพของ ศปภ.
ถุงยังชีพของ ศปภ.

เมื่อผู้สื่อข่าวถามไปถึงประเด็นการนำถุงยังชีพที่ได้รับบริจาค มาติดชื่อตนเองเพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายข้อนี้หรือไม่นั้น แหล่งข่าวได้แสดงความเห็นว่า “เรื่องถุงยังชีพก็ต้องดูว่ามีการเอาของที่เป็นของราชการ หรือมีตราของราชการไปใช้ในประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ก็ถือว่ามีความผิด โดนโทษตามกฎหมาย ป.ป.ช. มันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาของส่วนรวมไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนอยู่แล้ว”

ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำหากมีการพิสูจน์ว่าผิดพลาดจริง ส่วนของข้าราชการ ที่เป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยตรง ความผิดจะอยู่ในมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่เข้าไปแทรกแซง ทำให้เกิดความเสียหายความผิดจะอยู่ในมาตรา 123/1 ของกฎหมาย ป.ป.ช. แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องมีการสอบสวนก่อน โดยต้องดูสาเหตุที่น้ำท่วมด้วย

“อย่างเรื่องการเปิดประตูน้ำในเวลาที่ควรเปิดหรือมีนักการเมืองแทรกแซงจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบดูได้ อย่างเรื่องการปล่อยน้ำ กรมชลประทานก็มีคณะกรรมการน้ำ มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการจัดการน้ำว่า น้ำต้องกักเก็บเท่าไร อยู่ในระดับไหนถึงควรจะปล่อย เป็นระเบียบที่ทำกันมาเป็นสิบๆปี ดังนั้นการที่เราจะพิจารณาเราก็ต้องดูว่า ข้อเท็จจริงวิธีปฏิบัติปกติถูกต้องตามหลักการหรือไม่ ถ้าทำแล้วน้ำยังท่วม มันก็ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติจริงๆ แต่ถ้าไม่ทำแล้วเกิดความเสียหาย คนที่รับผิดชอบก็ต้องอธิบายได้ว่าทำไมไม่ทำตามระเบียบปฏิบัติ เป็นการพิจารณาโดยยึดระเบียบ ยึดกฎหมาย” แหล่งข่าวกล่าว

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงหลักฐานที่จะถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาสำนวนนั้น แหล่งข่าวได้เปิดเผยว่า ทาง ป.ป.ช. ได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานและข่าวต่างๆตามที่ปรากฎในสื่อ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจและในสังคมออนไลน์มาประกอบการพิจารณาในสำนวนด้วย ซึ่งคลิปและภาพต่างๆที่ออกมาจะถูกตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือก่อนถูกนำไปใช้เป็นหลักฐาน และมีการนำข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐบาลมาถ่วงน้ำหนักด้วยว่าข้อชี้แจงและหลักฐานที่ได้สมเหตุสมผลหรือไม่

โดยขั้นตอนต่อไป หลักจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ทางอนุกรรมการไต่สวนจะทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปข้อเท็จจริง หากพบว่าพยานหลักฐานต่างๆมีมูล จะแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว พบว่ามีมูลความผิด กรรมการ ป.ป.ช. ก็จะชี้มูลความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ให้มีการถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือแจ้งผู้บังคับบัญชาให้เพิกถอนสิทธิและมีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป แต่หาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าเป็นความผิดทางอาญา จะมีการส่งให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป

คลิปแฉ ศปภ. จากเฟซบุคสู่รัฐสภา

หากจะไล่เรียงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ศปภ. ตั้งแต่ต้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นของกระแสต่างๆมักจะเกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์เป็นที่แรกเสมอ ผ่านการนำภาพและคลิปที่ถูกถ่ายมาลงในเวบไซต์ยูทูบและเฟซบุค มีการแพร่กระจายแบ่งปันกันในหมู่เพื่อนที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกัน จนเกิดเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์และแพร่ขยายไปในสื่อกระแสหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ จนล่าสุดภาพและคลิปจำนวนมากที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการแบ่งปันในสื่อสังคมออนไลน์ ได้กลายมาเป็นสื่อที่ใช้ประกอบการอภิปรายในสภาของ ส.ส. ฝ่ายค้าน

เมื่อตรวจสอบไปในเวบไซต์ยูทูบจะพบว่า เมื่อพิมพ์คำค้นว่า “ศปภ.” จะพบกับคลิปแฉที่ถูกถ่ายลงในเวบไซต์เพื่อสะท้อนความผิดพลาดในการบริหารจัดการของ ศปภ. โดยคลิปที่เป็นกระแสและมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก มี 3 คลิปด้วยกัน

ศปภ.แอบซ่อน กักตุน ของบริจาคน้ำท่วม

คลิปแรก เป็นการถ่ายภาพภายในคลังสินค้าที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นที่เก็บของที่มีผู้นำมาบริจาคให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่น้ำกำลังเข้าท่วมท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ยังพบของบริจาคอยู่เป็นจำนวนมากโดยไม่มีการขนย้ายแต่อย่างใด ซึ่งภายหลังทาง ศปภ. ได้ออกมาชี้แจงว่า ของที่ได้รับบริจาคทั้งหมดถูกขนย้ายแล้วก่อนที่น้ำจะท่วม แต่จะมีของบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้เนื่องจากชำรุดหรือใช้การไม่ได้

นักศึกษาแฉศปภ.

คลิปที่สอง เป็นการถ่ายภาพศูนย์บริจาคสิ่งของ ในขณะที่อาสาสมัครและชาวต่างช่าติกำลังช่วยแพ๊คของและลำเลียงสิ่งของขึ้นรถที่มีข้อความ “บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยรักและห่วงใย จาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร” โดยหลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปนี้ออกมา นายวิม รุ่งวัฒนจินดา ซึ่งเป็น โฆษก ศปภ. ในขณะนั้นได้ออกมาชี้แจงว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดงได้นำถุงยังชีพมาบริจาคให้กับศูนย์ ศปภ.แต่ไม่ได้ย้ายของลง เพราะต้องการให้ ศปภ.แจ้งพื้นที่บริจาค แต่การนำรูป หรือ ชื่อของ พันตำรวจโททักษิณ มาติดนั้น อาจเป็นเรื่องความนิยมส่วนตัว ส่วนป้ายระบุชื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทาง ศปภ.ทราบเรื่องแล้ว ซึ่งรถที่นำมาใช้อาจเป็นของ ส.ส.ที่ยังคงติดไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งโดยไม่ได้ปลดออก โดยเชื่อว่าไม่ได้เป็นการนำถุงยังชีพไปหาผลประโยชน์แต่อย่างใด

บิณฑ์ เห็นอะไรที่ ศปภ.ดอนเมือง

และคลิปสุดท้าย เป็นคลิปของนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ดารานักแสดง ได้พูดถึงการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ ศปภ. ไม่ให้ความช่วยเหลือ มีคนนำสิ่งของบริจาคมาใส่ชื่อตนเองก่อนจะแจกจ่ายไปให้ผู้ประสบภัย และมีการพูดถึงกรณีน้ำท่วมจนห้องสุขาที่ได้รับบริจาคลอยเกลื่อนกลาดใน ศปภ.

นายศิริโชค โสภา นำคลิปมาใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประเด็นบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยผิดพลาด

แม้ว่าคลิปต่างๆจะมีจุดเริ่มต้นจากโลกอินเตอร์เนตในสื่อสังคมออนไลน์ แต่หลังจากที่มีการเผยแพร่จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จนเป็นกระแสสังคม ทำให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำคลิปต่างๆเหล่านี้มาเป็นหลักฐานในการประกอบสำนวนการไต่สวนเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและล่าสุดในกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้นำคลิปต่างๆเหล่านี้มาประกอบการอภิปรายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คลิปหลักฐานต่างๆที่มีอยู่ในขณะนี้ แม้สังคมจะให้ความสนใจมากแค่ไหน แต่ยังคงมีความไม่ชัดเจนเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ที่ก่อนที่จะมีการนำคลิปต่างๆเหล่านี้ไปใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการไต่สวนตามกฎหมายของ ป.ป.ช. นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทาง ป.ป.ช. จะมีการตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อน ซึ่งทาง ป.ป.ช. ยืนยันว่า จะมีการตรวจสอบโดยชั่งน้ำหนัก และมีการนำข้อแก้ตัวของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาพิจารณาประกอบด้วย ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นหลักฐาน